เผยแพร่ |
---|
ภายหลังคณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อ พ.ศ. 2475 นโยบายการบริหารต่างๆ หลังจากนั้นเป็นต้นมาส่งผลต่อสภาพบ้านเมืองหลายประการ มิติหนึ่งที่เกิดขึ้นคือเรื่องการจัดการน้ำมัน มีกลุ่มคนในคณะราษฎรเห็นความสำคัญของน้ำมันปิโตรเลียมต่อเศรษฐกิจ เสนอแนวทางให้รัฐบาลเป็นผู้จัดหาซื้อน้ำมันเพื่อลดสภาพขาดดุลต่างประเทศ และลดบทบาทของบริษัทน้ำมันต่างประเทศ
เป็นที่ทราบกันว่า นโยบายทางเศรษฐกิจหลังพ.ศ. 2475 เป็นต้นมา รัฐบาลหลังการปฏิวัติมีนโยบายเศรษฐกิจเชิง “ชาตินิยม” เพิ่มบทบาทรัฐวิสาหกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการค้า ปรากฏการสนับสนุนบทบาทภาครัฐและเอกชนไทยในแง่พัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศ เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากเป้าหมายเรื่องลดบทบาทและการพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศและอุตสาหกรรมของต่างชาติ
การค้าและอุตสาหกรรมน้ำมันไทยเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุนและผลักดันจากรัฐบาล วิทยานิพนธ์เรื่อง “‘ก่อนจะเป็น ปตท.’ : ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2521” โดย อนรรฆ พิทักษ์ธานิน บรรยายไว้ว่า ในเวลานั้น รัฐบาลพยายามเข้ามามีส่วนควบคุมการค้าน้ำมันและพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันภายในประเทศจากที่ช่วงนั้น น้ำมันเป็นสินค้าที่เริ่มมีความสำคัญต่อความมั่นคงของชาติและส่งผลต่อวิถีชีวิตประชาชน
ไม่เพียงเท่านั้น ในทางการทหาร กองทัพสมัยใหม่ในยุคนั้นมียุทโธปกรณ์ที่เป็นเครื่องยนต์ และต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงน้ำมัน “เมื่อมีกองทัพเครื่องยนต์ แต่ไม่มีน้ำมันใช้ ก็เท่ากับมีก้อนหิน ฉะนี้จึงนับได้ว่าน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นยุทโธปกรณ์อย่างหนึ่ง” [1]
ช่วงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2475 นายมังกร สามเสน และนายวณิช ปานะนนท์ ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะราษฎรที่เห็นความสำคัญของน้ำมันปิโตรเลียม ได้เสนอแนวทางให้รัฐบาลเป็นผู้จัดหาน้ำมันเพื่อลดการขาดทุนทางการค้ากับต่างชาติ และยังเป็นการลดบทบาทของบริษัทน้ำมันต่างชาติ 2 แห่งในเวลานั้นคือ สแตนดาร์ด แวคคัมออยล์ และ เชลล์
จากการศึกษาของ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ในวิทยานิพนธ์ว่าด้วยเรื่องประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทยพบข้อมูลในเอกสารขององค์การเชื้อเพลิงในอดีตที่ชี้ว่า บริษัททั้งสอง “ครอบครองการค้าและนำเข้าน้ำมันทั้งหมดของประเทศในสัดส่วนร้อยละ 20 และ 80 ตามลำดับ”
นายมังกร สามเสน ผู้เป็นสมาชิกคณะราษฎรเลขที่ 68 ส่งหนังสือถึงประธานกรรมการคณะราษฎร เนื้อหาส่วนหนึ่งมีใจความว่า
“เวลานี้เป็นสมัยทเศรษฐกิจตกต่ำ วิธีดำเนินการต้องแสวงหานโยบายที่จะก่อให้เกิดโภคทรัพย์ขึ้นในประเทศ แลตัดรายจ่ายหารายได้เข้าประเทศเป็นสิ่งสำคัญของยามต้องเร่งดำเนินการในเวลานี้แลต่อไป ข้าพเจ้าขอเสนอนโยบายให้ท่านพิจารณาดังต่อไปนี้
ประเทศสยามต้องซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศใช้ปีหนึ่งประมาณ 6 ล้านบาท มีน้ำมันก๊าด น้ำมันเบ็นซิล และน้ำมันครูออยล์สำหรับโรงงาน ซื้อจากบริษัทอังกฤษและอเมริกัน ซึ่งบริษัททั้งสองนั้นได้ทำความปรองดองกัน ขายเป็นราคาเดียวกัน น้ำมันก๊าดราคาแกลลอนละ 63 สตางค์ เบ็นซิล 1.10 บาท และครูออยล์ 26 สตางค์ นับว่าเป็นราคาค่อนข้างแพงมาก (…) ได้เสนอแนะให้ซื้อน้ำมันจากบริษัทรัสเซีย ที่มีเอเย่นที่เซี่ยงไฮ้ ซึ่งขายราคาถูกกว่า คือน้ำมันก๊าด 25 สตางค์ เบ็นซิล 35 สตางค์ น้ำมันครูออยล์ 10 สตางค์ ค่าภาษีต่างหาก คือ 15 20 และ 2 ตามลำดับ เราควรซื้อเพราะเงินจะได้ไม่รั่วไหลมาก”
เวลาต่อมา ในเดือนมิถุนายน 2476 รัฐบาลจัดตั้งแผนกเชื้อเพลิงมาควบคุมการเบิกจ่ายและจัดหาน้ำมันเชื้อเพลิงตามความต้องการของหน่วยงานรัฐหน่วยต่างๆ ในกรุงเทพฯ และขยายไปควบคุมการค้าเบนซินในหัวเมืองในช่วงเดือนตุลาคมปีเดียวกัน
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน อธิบายเพิ่มเติมในวิทยานิพนธ์ว่า นายวนิช ปานะนนท์ เป็นหัวหน้าแผนกเชื้อเพลิงในช่วงแรก และเป็นผู้ผลักดันและดำเนินการแผนกฯ โดยเขามีศักดิ์เป็นน้องเขยของนาวาโท หลวงสินธุสงคราม หัวหน้าสายทหารเรือในคณะราษฎร
แผนกเชื้อเพลิงในช่วงแรกเป็นผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศผ่านบริษัทเอ็กซ์ปอร์ตปิโตรเลียม (Export Petroleum Company) และกระจายไปให้หน่วยงานรัฐในราคาถูกกว่าน้ำมันจากบริษัทเอกชน เดิมทีแล้ว เบนซินแกลลอนละ 1.05 บาท ก๊าดปี๊ปคู่ละ 6.40 บาท แต่น้ำมันของแผนกมีราคาเบนซิน 0.75 บาท และก๊าด 3.90 บาท ซึ่งผลจากการดำเนินงานนี้ทำให้บริษัทน้ำมันทั้งสองแห่งลดราคาจำหน่ายน้ำมันลงมาด้วย
ในปี 2476 นายวนิช ปานะนนท์ ยังเสนอแผนโครงการเพื่อพัฒนาการค้าน้ำมันของประเทศ และชี้ประเด็นว่า วิธีการที่รัฐบาลดำเนินการอยู่ส่งผลต่อราคาน้ำมันสำเร็จรูปในประเทศถูกลง แต่วิธีการดังกล่าว “เป็นวิธีการที่แพง อาจหาวิธีอย่างอื่นให้ถูกลงกว่านี้” พร้อมกับแนะนำแนวทาง 3 ขั้นตอน คือ
ขั้นแรก สั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศในรูปแบบถังเหล็ก (steel drums) จากนั้นนำมาจำหน่ายจ่ายแจกไปยังกรมกองที่ต้องการ ทุนรายจ่ายรัฐบาลประมาณ 20 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลยังจะได้ถังเหล็กเอาไว้ใช้เมื่อตั้งโรงงานกลั่นน้ำมันขึ้นเอง
ขั้นที่ 2 ให้ตั้งถังน้ำมันขึ้น 3 ใบสำหรับน้ำมันเบนซิน ดีเซล และก๊าด และซื้อเรือแทงเกอร์มาใช้บรรทุกน้ำมัน จะทำให้ลดรายจ่ายน้ำมันของรัฐบาลได้อีก
ขั้นที่ 3 ให้ตั้งโรงกลั่นน้ำมันโดยมีรัฐเป็นผู้ควบคุม
เกี่ยวกับข้อเสนอเหล่านี้ พระสารสาสน์พลขันธ์ (ลอง สารสาส) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการในเวลานั้น แสดงความคิดเห็นว่า รัฐบาลดำเนินการขั้นแรกอยู่แล้ว ส่วนขั้นที่ 2 ถ้ารัฐบาลจะเป็นผู้จัดจำหน่ายน้ำมันให้ทุกส่วนก็ควรกระทำ แต่ขั้นที่ 3 ไม่เห็นสมควรด้วยเพราะไทยยังไม่สามารถขุดน้ำมันเองได้ (ในเวลานั้น)
กระทั่งวันที่ 6 ตุลาคม 2476 คณะรัฐมนตรีมีมติระงับการตั้งโรงกลั่นน้ำมันไว้ก่อน เวลาไล่เลี่ยกัน รัฐบาลส่งน.ท.หลวงจำรัสจักราวุธ จากกองทัพเรือ ดร.ตั้ว ลพานุกรม อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ และนายวนิช ปานะนนท์ หัวหน้าแผนกเชื้อเพลิง ซึ่งล้วนเป็นสมาชิกคณะราษฎรไปดูงานกิจการน้ำมันในประเทศใกล้เคียง
หลายปีหลังจากนั้น ในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2480 รัฐบาลยกฐานะแผนกเชื้อเพลิงมาเป็นกรมเชื้อเพลิง สังกัดกระทรวงกลาโหม มีนายวนิช เป็นผู้อำนวยการกรมฯ
ทั้งนี้ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ผู้เขียนวิทยานิพนธ์ชี้่ว่าแผนงานจัดหาและพัฒนาการค้าน้ำมันของรัฐบาลเป็นที่รับรู้ของบริษัทน้ำมันต่างชาติทั้งสองบริษัท บริษัทไม่มีท่าทีคัดค้านแต่กลับยื่นข้อเสนอเข้ามามีส่วนร่วมหากรัฐบาลไทยจะดำเนินกิจการน้ำมันเอง
พ.ศ. 2474 กรมเชื้อเพลิงเริ่มดำเนินการตามแผนขั้นที่ 3 จัดตั้งโรงกลั่นน้ำมันขนาด 1,000 บาร์เรลต่อวัน ที่ตำบลช่องนนทรี กรุงเทพมหานคร ได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาลญี่ปุ่น ส่งเจ้าหน้าที่ 16 คนมาช่วยดูแลการก่อสร้างและเดินเครื่อง และเริ่มเปิดดำเนินการในปี พ.ศ. 2483 ใช้น้ำมันดิบจากญี่ปุ่นเป็นวัตถุดิบสำหรับกลั่น ได้น้ำมันส่วนใหญ่เป็นเบนซิน น้ำมันก๊าด และแอลฟัสต์
อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของโรงกลั่นมีปัญหาเสมอมา ด้วยภาวะการกักเก็บน้ำมันดิบของญี่ปุ่นสำหรับสำรองไว้ในการสงครามกับจีนทำให้ขาดวัตถุดิบ
การดำเนินงานของกรมเชื้อเพลิงในเวลาต่อมา ปรากฏว่าเริ่มขยายงานจัดสร้างถังเก็บน้ำมันขนาดใหญ่ 9 ถัง ความจุรวม 5 ล้านแกลลอน จัดซื้อเรือขนส่งน้ำมัน 1 ลำจากญี่ปุ่น บรรทุกน้ำมันดิบที่สั่งซื้อจากสิงคโปร์เข้ามายังถึงน้ำมันที่ช่องนนทรีครั้งแรกเมื่อกันยายน พ.ศ. 2479
พ.ศ. 2481 นายวนิช เดินทางไปญี่ปุ่นเพื่อจัดหาแหล่งน้ำมันทางเลือกสำหรับการค้าของกรมเชื้อเพลิง แต่ด้วยสถานการณ์เวลานั้น ญี่ปุ่นติดพันการรบกับจีน
ในช่วงต้นทศวรรษ 2480 ทั่วโลกเริ่มมีสภาพตึงเครียดจากสถานการณ์สงครามที่เริ่มก่อตัวในหลายภูมิภาค รัฐบาลไทยสมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประกาศใช้พระราชบัญญัติน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2481 สาระสำคัญของพ.ร.บ.คือพยายามสร้างความมั่นคงและสำรองพลังงานเชื้อเพลิงในประเทศ รัฐบาลมีอำนาจกำหนดราคาขายปลีก ขายส่ง และขายในท้องถิ่นเฉพาะของน้ำมันเชื้อเพลิงในไทย หากจะนำเข้าน้ำมันจากต่างชาติต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานหรือรัฐมนตรีที่รับผิดชอบ
พ.ร.บ. ฉบับนี้สร้างความไม่พอใจต่อบริษัทน้ำมันต่างประเทศ 2 แห่งที่มีส่วนแบ่งในตลาดส่วนใหญ่ในไทย รัฐบาลอังกฤษยังแสดงความกังวลต่อพ.ร.บ.ฉบับนี้ การเจรจาไม่ประสบผลสำเร็จ เวลาต่อมา บริษัทน้ำมันทั้งสองแห่งคือ เชลล์ ของอังกฤษ และสแตนดาร์ด แวคคัมออยล์ ของสหรัฐฯ ถอนตัวจากการค้าน้ำมันในไทยราวเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2484
เมื่อบริษัทต่างชาติถอนตัว บทบาทจำหน่ายน้ำมันให้ภาคเอกชนและประชาชนมาอยู่ที่กรมเชื้อเพลิงมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การจำหน่ายเชื้อเพลิงของกรมฯ มีปัญหาตั้งแต่ช่วงปี 2483 เพราะมีน้ำมันไม่เพียงพอจำหน่ายตามความต้องการของประชาชน จากที่ญี่ปุ่นสัญญาว่าจะสนับสนุนน้ำมันให้กรมฯ แต่อ้างว่าต้องใช้น้ำมันมาทำสงครามกับจีน ส่วนอังกฤษและสหรัฐฯ ซึ่งกุมน้ำมันส่วนมากก็เริ่มจำกัดการส่งน้ำมันไปญี่ปุ่น
ปลายพ.ศ. 2484 ปัญหาขาดแคลนน้ำมันจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 และสงครามในจีนส่งผลมาถึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลายเป็นวิกฤตด้านพลังงานของประเทศในช่วงสงครามไปหลายปี
ในภาวะสงคราม ไทยย่อมประสบปัญหาขาดแคลนน้ำมัน ไม่สามารถหาน้ำมันมาป้อนตามความต้องการในประเทศได้จนกระทั่งสงครามยุติในเดือนกันยายน พ.ศ. 2488 หลังจากนั้นก็ได้ฝ่ายสัมพันธมิตรและบริษัทน้ำมันเอกชนต่างประเทศมาช่วยเหลือ บริษัทน้ำมันเอกชนต่างชาติหวนกลับมาไทยหลังสงครามสิ้นสุดแทบจะทันที
ภายหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ลักษณะอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในไทยและการค้าน้ำมันมีสภาพเปลี่ยนแปลงมาก ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นพร้อมกับความต้องการน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
อ่านเพิ่มเติม :
- พัฒนาการของน้ำมันกับรถ เมื่อไทยซื้อน้ำมัน(ก๊าด)ครั้งแรกจากรัสเซีย สู่ใช้รถยนต์ครั้งแรก
- ปัญหาน้ำมันแพงปี 2522 ที่มาของเป็น “เพลงน้ำมันแพง”
เชิงอรรถ :
[1] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ, [2] สร. 0201.61/2 [ปึก1/2]. เรื่อง “โครงการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง” (25 มิถุนายน 2477), อ้างถึงใน “ก่อนจะเป็น ปตท.” : ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2521. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. น. 57.
อ้างอิง :
อนรรฆ พิทักษ์ธานิน. “ก่อนจะเป็น ปตท.” : ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2521. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. น. 55-64.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 11 มีนาคม 2565