พัฒนาการของน้ำมันกับรถ เมื่อไทยซื้อน้ำมัน(ก๊าด)ครั้งแรกจากรัสเซีย สู่ใช้รถยนต์ครั้งแรก

รถขนน้ำมัน สมัยแรก ๆ ในไทย
รถขนน้ำมันสมัยแรกๆ ในไทย

มนุษย์ใช้น้ำมันปิโตรเลียมเป็นแหล่งพลังงานขับเคลื่อนกิจกรรมซึ่งส่งผลสำคัญต่อวิถีชีวิตผู้คนมายาวนาน นับตั้งแต่ปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 เป็นต้นมา ขณะที่ในไทยนั้น มีข้อมูลว่า สั่งซื้อ น้ำมัน ครั้งแรกในรัชสมัยรัชกาลที่ 5 โดยซื้อ “น้ำมันก๊าด” มาจากรัสเซีย เพื่อวัตถุประสงค์สำหรับจุดให้แสงสว่าง หลังจากนั้นเป็นต้นมา บ้านเมืองเริ่มมีใช้ไฟฟ้า และรถยนต์ จึงทำให้การค้าน้ำมันเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย

พลังงานที่มนุษย์ใช้เป็นส่วนใหญ่ในช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 18 มาจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) จำพวกพลังงานจากธรรมชาติ เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ และพลังงานจากการสะสมพลังจากแสงอาทิตย์ เช่น พลังงานจากสัตว์ พืช มนุษย์

Advertisement

เมื่อเกิดปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 1 ราวช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 เครื่องจักรไอน้ำและถ่านหินถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมและการขนส่ง ผลที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นคือ แหล่งพลังงานเริ่มเทน้ำหนักมาสู่ประเภทพลังงานฟอสซิลมากขึ้นในภายหลัง และค่อยๆ กลายเป็นพลังงานหลักของโลก ควบคู่ไปกับการเปลี่ยนแปลงทางการค้าและเทคโนโลยี (Timothy Mitchell, 2011 อ้างถึงใน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, 2556)

ช่วงเวลาใกล้เคียงกัน พลังงานฟอสซิลที่ใช้และผลิตกันแพร่หลายคือ น้ำมันปิโตรเลียม ซึ่งเป็นพลังงานในการให้แสงสว่าง “น้ำมันก๊าด” ที่ผลิตจากน้ำมันดิบเป็นแหล่งพลังงานสำหรับให้แสงสว่างอย่างแพร่หลายในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในทวีปยุโรปในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 19 ก่อนยุคไฟฟ้าเข้ามามีบทบาท

ขณะที่เครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion) ซึ่งคิดค้นและประดิษฐ์ขึ้นช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 19 มีผลทำให้น้ำมันปิโตรเลียมถูกใช้มากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในภาคขนส่ง

สำหรับประเทศไทย ดร. นนทพร อยู่มั่งมี บรรยายไว้ในบทความ “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่” เผยแพร่ในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558 ระบุว่า แหล่งเชื้อเพลิงที่ให้แสงสว่างยามค่ำคืนที่สำคัญในไทยในอดีตคือน้ำมันมะพร้าว

กระทั่งราวพุทธศตวรรษที่ 25 หรือช่วงปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ราษฎรในกรุงเทพฯ เริ่มใช้น้ำมันก๊าดเป็นเชื้อเพลิงให้แสงสว่าง แหล่งที่ราษฎรในเมืองหลวงไปซื้อน้ำมันก๊าดคือโรงขายน้ำมันของชาวจีน ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกับที่เมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้เชื้อเพลิงชนิดนี้ เช่นที่สุราบายา ในเกาะชวา ราษฎรพื้นเมืองใช้น้ำมันก๊าดหลังปี พ.ศ. 2407 (ค.ศ. 1864)

ด้าน ดร. ทองฉัตร หงศ์ลดารมภ์ ซึ่งศึกษาเรื่องประวัติการใช้น้ำมันในไทย อธิบายเพิ่มเติมว่า ไทยสั่งซื้อน้ำมันเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2431 ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 โดยซื้อ “น้ำมันก๊าด” จากประเทศรัสเซีย เพื่อใช้จุดตะเกียงให้แสงสว่างตามบ้านและถนนหนทาง แทนการใช้น้ำมันพืช และไขสัตว์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 รัฐตั้งเสาไฟส่องสว่างลักษณะเป็นเสาโคมตะเกียงน้ำมันก๊าดตามถนนสายต่าง ๆ เพื่อให้แสงสว่างในพื้นที่สาธารณะ กองตระเวนในสังกัดกระทรวงนครบาล เป็นฝ่ายดูแลรับผิดชอบ เมื่อถึงพ.ศ. 2427 กรุงเทพฯ ถึงเริ่มมี “ไฟฟ้า” เป็นแหล่งแสงสว่างชนิดใหม่ของเมือง

ย้อนกลับมาที่เรื่องการใช้น้ำมันก๊าดเพื่อให้แสงสว่างยุคแรกในไทย มีข้อมูลว่า ราษฎรยังไม่คุ้นชิน ทำให้เกิดเพลิงไหม้หลายคดี เรื่องนี้มีปรากฏในบันทึกของพระยาอนุมานราชธน ใจความตอนหนึ่งว่า

“…เพราะไปเข้าใจว่าเหมือนน้ำมันมะพร้าว ไม่รู้พิษสงของมันว่า มันลุกผึบได้ทันทีถ้าใกล้ไฟ พอรู้ก็หวาดเกรงกัน จึงยังมีผู้ดื้อใช้น้ำมันมะพร้าวอยู่ก็เป็นอันมาก ถ้าซื้อน้ำมันก๊าดทั้งปีบมาใช้ เวลาจะเปิดเอาปีบน้ำมันออก ถ้าอยู่ในสวน ก็ต้องหิ้วปีบไปเปิดหรือเก็บไว้ในสวนให้ห่างไกลจากตัวเรือน เพราะกลัวจะระเบิดเกิดลุกเป็นไฟไหม้บ้านเรือนขึ้น”

จากการศึกษาของ ดร. นนทพร อยู่มั่งมี พบว่า เชื้อเพลิงชนิดนี้ยังเป็นของชนิดหนึ่งที่นำมาใช้ก่อคดีสำคัญในกรุงเทพฯ คือคดีลอบวางเพลิง ซึ่งสร้างความหวาดหวั่นต่อราษฎรไปจนถึงชนชั้นนำในการปกครอง

เมื่อ พ.ศ. 2432 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตรากฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการขนย้าย การจำหน่าย และการจัดเก็บน้ำมันก๊าด โดยห้ามผู้หนึ่งผู้ใดเก็บไว้ในสถานที่เดียวกันเกิน 80 แกลลอน

ไม่กี่ปีหลังจากนั้น การใช้น้ำมันเป็นแหล่งพลังงานแพร่หลายมากขึ้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งกรมราชโลหกิจ และภูมิวิทยา (คือ กรมทรัพยากรธรณี ในปัจจุบัน) มารับผิดชอบเรื่องถ่านหินและน้ำมันดิบ มีพระยาภาสกรวงษ์ (พร บุนนาค) เสนาบดีกระทรวงเกษตราธิการ เป็นผู้บังคับบัญชาคนแรก

การใช้น้ำมันในช่วงพุทธทศวรรษ 2430 ช่วงแรกเริ่มที่ไทยนำเข้าน้ำมัน นำเข้าเฉพาะน้ำมันเคโรซีน (kerosene) หรือน้ำมันก๊าดสำหรับใช้ส่องสว่างตามที่กล่าวข้างต้น ภายหลังถึงปรากฏว่านำเข้าน้ำมันแกสโซลีน (gasoline) หรือน้ำมันเบนซิน (benzene) ซึ่งใช้สำหรับเครื่องยนต์ในช่วงพุทธศตวรรษ 2450

น้ำมันที่นำเข้ามาในช่วงพุทธทศวรรษ 2430 มีที่มาจากเนเธอร์แลนด์และเกาะสุมาตราในดัตช์อีสต์อินดีส ดินแดนในการปกครองของเนเธอร์แลนด์เป็นหลัก ผสมกับน้ำมันจากรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สิงคโปร์ ในลำดับรองลงมา อนรรฆ พิทักษ์ธานิน อธิบายว่า น้ำมันจากเกาะสุมาตรานำเข้าไทยครั้งแรกในพ.ศ. 2436 เป็นน้ำมันก๊าดนำเข้าผ่านบริษัทเชลล์ ขนส่งตรงจากพื้นที่ผลิตสู่กรุงเทพฯ ถูกเรียกกันว่า “น้ำมันลังกัด” (Langkat)

ทั้งนี้ มีข้อมูลว่า ใน พ.ศ. 2435 มีบริษัทต่างชาติเข้ามาทำการค้าเกี่ยวกับน้ำมันในประเทศไทยเป็นครั้งแรก คือ บริษัท รอยัลดัทช์และเซลล์ทรานสปอร์ตแอนด์เทรดดิ้ง (ปัจจุบัน คือ บริษัทเชลล์แห่งประเทศไทย จำกัด) โดยนำเข้าน้ำมันก๊าดจากสิงคโปร์เข้ามาจำหน่าย

พ.ศ. 2437 บริษัท แสตนดาร์ดออยล์ แห่งนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา (ปัจจุบัน คือ บริษัทเอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด) เข้ามาเปิดทำธุรกิจค้าน้ำมันก๊าดเป็นบริษัทที่ 2 โดยก่อสร้างคลังน้ำมันขึ้นด้วย

หลังจาก 2455 เป็นต้นมา ถึงเริ่มนำเข้าน้ำมันเบนซินหรือแกสโซลีน ตามความต้องการจากภาคขนส่งทางบกและทางน้ำจากบริบทแวดล้อมที่เครื่องยนต์ลูกสูบสันดาปเริ่มเข้ามาทดแทนเครื่องจักรไอน้ำแบบเดิมและแพร่หลายในสังคมและราชการ

จากการศึกษาของ อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ในวิทยานิพนธ์ “‘ก่อนจะเป็น ปตท.’ : ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2521” พบว่า การขยายตัวของการบริโภค นำเข้า และการค้าน้ำมันปิโตรเลียมในไทยตั้งแต่ทศวรรษ 2430 ถึงปลายทศวรรษ 2480 สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีให้แสงสว่าง การคมนาคม และยุทโธปกรณ์ในกองทัพที่ใช้น้ำมันเป็นหลัก ไปถึงจำนวนรถยนต์และยานพาหนะในกองทัพที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลัก

บริบทด้านความสำคัญของน้ำมันที่เพิ่มมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวส่งผลต่อมาถึงรัฐบาลไทยในทศวรรษ 2470 ซึ่งมีคณะราษฎรเข้ามามีบทบาทในช่วงกลางทศวรรษ 2470 เป็นต้นไป เข้ามาควบคุมการค้าและผลิตน้ำมัน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ยังตั้งข้อสังเกตว่า สอดคล้องกับแนวทางเศรษฐกิจแบบชาตินิยมของคณะราษฎรที่พบเห็นได้ในมิติอุตสาหกรรมและการค้าหลายชนิด และยังสัมพันธ์กับสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เริ่มเพิ่มอุณหภูมิมากขึ้น

การใช้งานและความต้องการน้ำมันปิโตรเลียมของไทยเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษ 2470 อนรรฆ พิทักษ์ธานิน มองว่า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากเทคโนโลยีด้านเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงมีปรากฏในไทยมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงยังกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มภาครัฐ การทหาร การขนส่งบางชนิด ยังไม่ได้แพร่หลายในภาคอุตสาหกรรมและการใช้งานในชีวิตประจำวันมากนัก

ในภาคการขนส่ง สยามประเทศเริ่มตัดถนนแบบสมัยใหม่นับตั้งแต่ทศวรรษ 2400 เพื่อรองรับการสัญจรเดินทาง ภายหลังจากผ่านยุคพาหนะแรงงานสัตว์และคน ในช่วงทศวรรษ 2440 พาหนะที่ใช้เริ่มปรากฏรถยนต์เข้ามา ซึ่งการใช้รถยนต์นี้สัมพันธ์กับการบริโภคและการค้าน้ำมันที่ขยายตัวมากขึ้น

อย่างไรก็ดี อนรรฆ พิทักษ์ธานิน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ช่วงระหว่างทศวรรษ 2440-2480 การใช้รถยนต์ในช่วงนี้กระจุกตัวในเขตเมืองและพระนคร สืบเนื่องจากระบบถนนยังไม่ได้พัฒนาเชื่อมโยงในแต่ละส่วนของประเทศ กระทั่งหลังทศวรรษ 2490 ที่เริ่มปรากฏการพัฒนาถนนอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับรถยนต์คันแรกนั้น มีข้อมูลว่า สั่งเข้ามาโดยพระยาสุรศักดิ์มนตรี (เจิม แสงชูโต) ราวทศวรรษ 2420 ภายหลังกลับจากการทำหน้าที่อุปทูตในราชการพิเศษในทวีปยุโรป เป็นรถยนต์ยี่ห้อ “เปอต์โย” (Peugot) “ใช้น้ำมันปิโตรเลียมจุดไฟคล้ายเตาฟู่ รูปร่างคล้ายรถบดถนน มีที่นั่ง 2 แถว มีหลังคาเป็นปะรำ ล้อยางตัน ขึ้นสะพานไม่ไหว เพราะสะพานกรุงชันมาก” (ชัย เรืองศิลป์, 2522 อ้างถึงใน อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, 2556)

ต่อมาใน พ.ศ. 2447 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีรถยนต์พระที่นั่งคันแรก (อนรรฆ พิทักษ์ธานิน, 2556)

หลังจากพ.ศ. 2452 เป็นต้นมา รถยนต์ในไทยจึงเพิ่มจำนวนอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจาก Statistical Yearbook of Siam ให้ข้อมูลว่า ในปี 2452 มีรถยนต์รวมในกรุงเทพฯ 202 คัน ในปี 2462 มี 877 คัน ต่อมา ปี 2468 มี 2,537 คัน โดยรถยนต์ที่เพิ่มมากขึ้นในไทยสอดคล้องกับการขยายตัวของรถยนต์ในโลก

แน่นอนว่าการใช้รถยนต์ทำให้การบริโภคและความต้องการน้ำมันปิโตรเลียมภายในประเทศขยายตัวมากขึ้น

โดยรวมแล้ว จึงกล่าวได้ว่า เส้นทางจากน้ำมันก๊าดที่ใช้เพื่อให้แสงส่องสว่าง มาถึงเทคโนโลยี “เครื่องยนต์” แทนที่เครื่องจักร “ไอน้ำ” ในระบบการขนส่ง และความนิยมในรถยนต์ (รวมถึงจักรยานยนต์) หลังทศวรรษ 2450 เป็นต้นมา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าและความต้องการน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศขยายตัว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

นนทพร อยู่มั่งมี. “คดีไฟไหม้ในกรุงเทพฯ สมัยรัชกาลที่ 5 : ภาพสะท้อนวิถีชีวิตของราษฎรและการปกครองของรัฐสมัยใหม่”, ใน ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2558.

ชัย เรืองศิลป์. ประวัติศาสตร์ไทยสมัย พ.ศ. 2352-2453 : ด้านเศรษฐกิจ. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2522. น. 318.

อนรรฆ พิทักษ์ธานิน. “ก่อนจะเป็น ปตท.” : ประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2489 ถึง 2521. วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2556. น. 33-52.

แรกใช้ “น้ำมัน” ในสยาม เมื่อ 130 ปีก่อน สั่งซื้อจากไหน? . ศิลปวัฒนธรรม. เว็บไซต์. เผยแพร่เมื่อ 23 พฤษภาคม 2561. เข้าถึงเมื่อ 10 มีนาคม 2565. <https://www.silpa-mag.com/history/article_15580>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มีนาคม 2565