ปัญหาน้ำมันแพงปี 2522 ที่มาของเป็น “เพลงน้ำมันแพง” 

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์
พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ภาพจาก ฯพณฯ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ หนังสืออนุสรณ์เนื่องในงานพระราชทานเพลิงศพ พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์)

ที่ผ่านมาไทยต้องเผชิญกับปัญหา “น้ำมันแพง” หลายครั้ง เช่น พ.ศ. 2516 รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร, พ.ศ. 2522 รัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พ.ศ. 2533-2534 รัฐบาลพลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ, พ.ศ. 2551 รัฐบาลพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์, พ.ศ. 2557 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และ พ.ศ. 2565 รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

บางครั้งปัญหาราคาน้ำมันที่หนักหน่วง จนนายกรัฐมนตรี “ต้องลาออก”

Advertisement

ดังเช่น กรณีของนายกรัฐมนตรี พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (ดำรงตำแหน่งนายกฯ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2520-3 มีนาคม พ.ศ. 2523) รัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ มีการปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศหลายครั้ง ครั้งที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดมี 2 ครั้งด้วยกัน คือ 1. วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 2. วันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 เนื่องจากเพิ่มสูงเฉลี่ยร้อยละ 40-67 และ 24-60 ตามลำดับ น้ำมันที่มีราคาสูงขึ้นมาก คือ น้ำมันดีเซล และน้ำมันก๊าด

การปรับขึ้นราคาน้ำมัน เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ถูกนำมาเป็นประเด็นการอภิปรายในการประชุมรัฐสภาระหว่างสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม อภิปรายแสดงความเห็นว่า การขึ้นราคาน้ำมันสามารถกระทำได้ หากโอเปก (องค์การกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออก) ขึ้นราคานํ้ามัน แต่ต้องให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่การปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันของรัฐบาลทำให้ประชาชนเดือดร้อน เพราะรายได้ไม่ได้เพิ่มขึ้น

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขอให้รัฐบาลลดราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าดลง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน รัฐบาลจึงต้องประกาศลดราคาน้ำมันก๊าดลง ตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2522 ส่วนน้ำมันดีเซลไม่มีการปรับลดราคาเนื่องจากเกรงว่า อาจทำให้ประชาชนจำนวนมากหันมาใช้น้ำมันดีเซล จนเกิดการขาดแคลนขึ้นได้

การขึ้นราคาน้ำมันครั้งนั้นส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าและน้ำประปามีต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น จึงมีการปรับค่าไฟฟ้าและประปาตามมา โดยปรับจากอัตราเดิมอีก 50% มีผลยังคับใช้วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522 แต่เกิดการเคลื่นไหวต่อต้านจากนักการเมือง และประชาชนทั่วไป รวมถึงพรรคร่วมรัฐบาลในเวลานั้น (พรรคกิจสังคม, ประชาธิปัตย์, ชาติไทย) ไม่เห็นด้วยและยื่นญัตติด่วนให้ในสภาฯ (8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2522) สุดท้ายพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงต้องสั่งระงับการขึ้นค่าไฟฟ้า และน้ำประปาเป็นการชั่วคราว

การปรับขึ้นราคาน้ำมันเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 ก็ไม่เป็นที่ยอมรับจากประชาชนและพรรคการเมืองฝ่ายค้านเช่นกัน เกิดการชุมนุมประท้วงของนักศึกษาหลายสถาบัน, ประชาชนหลากหลายอาชีพ ทั้งผู้ใช้แรงงาน ชาวประมง และเกษตรกร ที่สนามหลวง เพื่ออภิปรายคัดค้านการขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันของรัฐบาล

พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ชี้แจงถึงเหตุผลและความจำเป็นในการปรับขึ้นน้ำมันว่า เนื่องจากราคาน้ำมันทั่วโลกปรับขึ้นราคาหลายครั้งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2522 โดยเพิ่มสูงขึ้นจากเดิมมากประมาณร้อยละ 45-60 น้ำมันสำเร็จรูปที่ประเทศไทยนำเข้าจากต่างประเทศก็ขึ้นราคาไปอีกหลายครั้งนับจากที่รัฐบาลประกาศขึ้นราคาครั้งก่อน (กรกฎาคม พ.ศ. 2522)

ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลต้องปรับราคาน้ำมันดีเซลและน้ำมันก๊าดในอัตราที่สูงนั้น ก็เพื่อแก้ไขภาวะการขาดแคลนน้ำมันในระยะยาว โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่มีราคาต่ำมาตลอดนั้น จำเป็นต้องปรับราคาขึ้นให้ใกล้เคียงกับน้ำมันเบนซิน เพื่อไม่ให้อัตราการใช้น้ำมันดีเซลขยายตัวเพิ่มขึ้นจนเกิดการขาดแคลน

อย่างไรก็ตาม การขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลเพิ่งประกาศขึ้นค่าไฟฟ้าไปอีกหน่วยละ 30 สตางค์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 จากนั้นอีกเพียงหนึ่งสัปดาห์ต่อมารัฐบาลก็ปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันอีก ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเพิ่มมากยิ่งขึ้น

แม้รัฐบาลมีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ แต่ก็การขึ้นค่าไฟฟ้าและน้ำประปา, การปรับขึ้นราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ ฯลฯ ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนโดยเฉพาะค่าครองชีพ ทำให้ความรู้สึกต่อต้านรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ขยายตัวกว้างขึ้น มีการชุมนุมอภิปรายโจมตีรัฐบาลในที่สาธารณะ

พรรคการเมืองฝ่ายค้านพยายามชี้แจงให้ประชาชนเห็นถึงข้อบกพร่องของรัฐบาลที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันได้ และยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี โดยมีกำหนดขึ้นในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2523

พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เห็นว่ารัฐบาลขาดเสียงสนับสนุนจากรัฐสภา หากมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจแล้ว รัฐบาลต้องแพ้อย่างแน่นอน ดังนั้น ในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2523 จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ปัญหาพลังงาน “น้ำมัน” รัฐบาลพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ เมื่อ พ.ศ. 2522 ถูก สรวง สันติ (5 มิถุนายน พ.ศ. 2488-23 มกราคม พ.ศ. 2525) นักร้อง นักแต่งเพลงชาวจังหวัดสุโขทัย นำมาถ่ายทอดเป็นบทเพลงชื่อว่า “น้ำมันแพง” แบบหยิกแกมหยอก กับวิกฤติราคาน้ำมันในขณะนั้น โดยมีเนื้อร้องดังนี้

เพลงน้ำมันแพง

น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ มีอะไรเราก็เริ่มฝอย ใกล้เข้าไปอีกนิด ชิดเข้าไปอีกหน่อย น้ำมันมีน้อยมืดหน่อยก็ทนเอานิด

น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ดูอะไรมันก็มืดมิด ถูกนิดถูกหน่อยอย่าถือ มือมันชอบสะกิด ถูกน้อยถูกนิด ก็อย่าไปคิดอะไรเลย

พวกเราชาวนาชาวไร่ ห่างไกลบางกอกหนักหนา ไม่มีไฟฟ้า อย่าไปฝันถึงมันเลย เรามาจุดตะเกียง ไม่ต้องเสี่ยงทรามเชยแต่โอ้อกเอ๋ย น้ำมันไหนดันมาแพง

น้ำมันขาดแคลน คุยกับแฟนก็ต้องดับไฟ ถึงตอนดับไฟ ขวัญใจไม่ต้องระแวง ถ้าพี่ก้าวก่ายล่วงเกิน เชิญให้น้องคิดแช่งความรักรุนแรง น้ำมันแพงเลยดับไฟคุยกัน

ส่วนปัญหาน้ำมันแพงขณะนี้ จะต้องดับไฟคุยกับแฟน หรืออย่างไร คงต้องติดตามต่อไป

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ทัศนีพร วิศาลสุวรรณกร. ผลกระทบของวิกฤติการณ์น้ำมันต่อสังคมไทย (พ.ศ. 2516-2543), ปริญญานิพนธ์ หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, พฤษภาคม 2549

เจด็จ คชฤทธิ์. “ความยากจนในวรรณกรรมเพลงลูกทุ่ง: มุมมองและข้อสังเกตบางประการ” ใน, วารสารวไลยองกรณ์ปริทัศน์ ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม-ธันวาคม 2556


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 เมษายน 2565