รัชกาลที่ 5 ทรงหมั้นหมาย “เจ้าดารารัศมี” ด้วยพระกุณฑลระย้าเพชร จริงหรือ?

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ เจ้าดารารัศมี
(ซ้าย) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 (ขวา) เจ้าดารารัศมี

เมื่อเริ่มรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้น นอกจากมหาอำนาจตะวันตก เช่น อังกฤษจะขยายอิทธิพลทางการค้าเข้าสู่สยามประเทศแล้ว ในหัวเมืองประเทศราชล้านนา เช่น เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ก็มีชาวตะวันตกและคนในบังคับหลั่งไหลกันเข้ามารับสัมปทานทำป่าไม้สักกันมาก 

ยิ่งผลประโยชน์จากการค้าไม้ขอนสักทวีจำนวนสูงขึ้น เหตุกระทบกระทั่งระหว่างเจ้านายและขุนนางล้านนาผู้เป็นเจ้าของสัมปทานกับผู้รับสัมปทานชาวตะวันตกและคนในบังคับก็ทวีจำนวนมากขึ้น อังกฤษจึงเป็นชาติแรกที่ฉวยเอาเหตุดังกล่าวขอจัดตั้งสถานกงสุลขึ้นที่ริมแม่น้ำปิงในเมืองนครเชียงใหม่ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของชาวอังกฤษและคนในบังคับ

พร้อม ๆ กับการจัดตั้งสถานกงสุลอังกฤษในเมืองนครเชียงใหม่นั้นเอง ก็เกิดมีข่าวลือขึ้นในเมืองนครเชียงใหม่ จนมีการบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ว่า

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบข่าวระแคะระคายว่า ได้มีทูตจากประเทศพม่าตอนใต้ไปเจรจาทาบทามพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษทรงมีพระราชประสงค์ที่จะรับเอาพระธิดาน้อยซึ่งประสูติจากเจ้าแม่เทพไกรสรไว้ในพระบรมชินูปถัมภ์

ด้วยพระราชกุศโลบายอันล้ำลึก ฉลาด สุขุม และเยือกเย็น และด้วยวิธีการโน้มน้าว ผูกพันความรู้สึกและสายเลือดของปวงชนชาวเชียงใหม่และชาวไทยทั้งมวล ให้มีความรู้สึกว่าพวกเขาทั้งหลายนั้นเปรียบเสมือนเป็นบุคคลในครัวเรือนเดียวกัน… เป็นชาวไทยชาติเดียวกัน

ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากรเชิญพระกุณฑลและพระธำมรงค์ประดับเพชรขึ้นไปทรงหมั้นพระธิดาน้อยของพระเจ้าอินทวิชยานนท์ที่ประสูติจากแม่เจ้าเทพไกรสร คือ เจ้าดารารัศมี นครเชียงใหม่ในปี .. 2426 ขณะนั้นเจ้าดารารัศมีทรงมีพระชนมายุเพียง 11 พรรษาเท่านั้น…” [1]

ความในตอนที่ว่า มีทูตจากประเทศพม่าตอนใต้ไปเจรจาทาบทามพระเจ้าอินทวิชยานนท์เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่องค์ที่ 7 ว่า สมเด็จพระบรมราชินีนาถแห่งประเทศอังกฤษทรงมีพระราชประสงค์ที่จะรับเอาพระธิดาน้อยซึ่งประสูติจากเจ้าแม่เทพไกรสรไว้ในพระบรมชินูปถัมภ์นั้น  ออกจะเป็นเรื่องที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เพราะอังกฤษยึดถือหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่าประเทศซึ่งไม่เปนเอกราชเต็มที่นั้นก็ไม่เปนอิศรเต็มที่อยู่เอง โดยเหตุที่ถูกตัดอำนาจภายนอกเสียไม่ได้มีเต็มเหมือนประเทศซึ่งนับว่าเปนเอกราชเต็มที่ [2]

ฉะนั้นเมื่อมีกรณีพิพาทเรื่องสัมปทานป่าไม้ในตอนปลายสมัยพระเจ้ากาวิโลรสสุริยวงษ์ต่อเนื่องมาถึงต้นสมัยพระเจ้าอินทวิชยานนท์ อังกฤษจึงได้เรียกร้องให้สยามในฐานะรัฐผู้มีอำนาจเหนือประเทศราชล้านนาเข้าจัดการสะสางปัญหาข้อพิพาทนั้นให้เสร็จสิ้น อันทำให้มีการตั้งข้าหลวงพิเศษจากกรุงเทพฯ ขึ้นไปประจำที่นครเชียงใหม่ เพื่อทำหน้าที่เป็นข้าหลวงต่างประเทศติดต่อกับไวส์กงสุลต่างประเทศที่ขึ้นไปประจำที่นครเชียงใหม่

สถานกงสุลอังกฤษริมแม่น้ำปิงในนครเชียงใหม่

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า การที่ทูตอังกฤษจะติดต่อตรงไปยังพระเจ้าเชียงใหม่ย่อมเป็นการผิดแบบธรรมเนียมการทูต และคงถูกรัฐบาลสยามหรือข้าหลวงใหญ่สามหัวเมืองที่ประจำรับราชการอยู่ที่เชียงใหม่ประท้วงให้กระทบถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างสยามกับอังกฤษเป็นแน่

อนึ่ง เมื่อตรวจสอบความในพระประวัติพระราชชายา จ้าดารารัศมี ซึ่งเจ้าแก้วนวรัฐฯ ผู้เป็นเชษฐาได้เรียบเรียงไว้ ก็พบความตอนหนึ่งว่า

เมื่อพระราชชายาฯ ทรงพระเยาว์ ได้ทรงศึกษาอักษรไทยเหนือ ไทยใต้ และทรงเข้าพระทัยในขนบธรรมเนียมขัติยประเพณีเป็นอย่างดี เมื่อ .. 2426 พระชนมายุย่างเข้า 11 พรรษาเศษพระบิดาโปรดให้มีพิธีโสกันต์และมีมหกรรมอย่างครึกครื้น คราวนั้นพระยาราชสัมภารากร [3] เปนข้าหลวงประจำเชียงใหม่ได้ช่วยเปนธุระในงานโสกันต์ตลอด

ภายหลังเมื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงพิชิตปรีชากร ขึ้นมาทรงจัดตั้งตำแหน่งเสนาทั้งหก ก็ได้โปรดเกล้าฯ ให้เชิญพระกุณฑลประดับเพ็ชร์มาพระราชทานเปนของขวัญด้วย และได้โปรดเกล้าฯ ตั้งให้นางเต็มเปนแม่นางกัลยารักษ์ ให้นายน้อยบุญทา เปนพญาพิทักษ์เทวี ตำแหน่งพี่เลี้ยงทั้งสองคนตั้งแต่ครั้งนั้น [4]

ความในพระประวัติที่เจ้าแก้วนวรัฐฯ เรียบเรียงไว้นี้สอดคล้องกับความในพระราชหัตถเลขาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานไปยังพระราชสัมภารากร เมื่อวันศุกร์ เดือน 12 แรม 9 ค่ำ ปีมะแมเบญจศก จุลศักราช 1245 (วันที่ 23 พฤศจิกายน .. 2426) โดยมีพระราชกระแสให้พระยาราชสัมภารากรเชิญไปชี้แจงแก่พระเจ้าอินทวิชยานนท์ และเจ้าทิพเกสร ทราบว่า

พระราชชายาเจ้าดารารัศมี

เรื่องโกนจุกนั้น เมื่อพระเจ้าเชียงใหม่ลงมาอยู่กรุงเทพฯ ทิพเกสรก็ได้บอกให้รู้ เรารับไว้ว่าจะทำขวัญ จึ่งได้ส่งตุ้มหูระย้าเพชรคู่หนึ่งขึ้นมา ให้พระยาราชสัมภารากรนำไปทำขวัญ แต่ต้องชี้แจงให้ทราบ ว่าธรรมเนียมเจ้าแผ่นดิน ทำขวัญโกนจุกโดยทางราชการนั้นไม่มี เปนแต่เมื่อบุตรข้าราชการที่ถวายตัวทำราชการอยู่ในวังทูลลาโกนจุก ก็พระราชทานเงินพระคลังในที่ทำขวัญบ้าง แต่บุตรข้าราชการที่ไม่ได้ทำราชการนั้น ต่อทรงพระกรุณาบิดามาก จึงได้พระราชทานบ้าง มีน้อยราย แต่ก็เปนของพระคลังข้างที่ทั้งนั้น ไม่นับว่าเปนราชการแผ่นดิน จึ่งไม่ได้มีศุภอักษรส่งของขึ้นมาตามทางราชการ[5]

ดังนี้จึงเห็นได้ว่า เพราะเหตุที่เนื่องจากเด็ก ๆ ชาวล้านนาในยุคนั้นไม่มีธรรมเนียมไว้จุกเช่นเด็กชาวสยาม ฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ส่งพระกุณฑลระย้าเพชรขึ้นไปพระราชทานเป็นของทำขวัญในคราวโสกันต์หรือตัดจุกพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ซึ่งประจวบกับในเวลานั้นมีคนในบังคับอังกฤษที่มาจากเมืองมะละแหม่งมาเล่าลือกันว่า ควีนวิกตอเรียจะทรงขอธิดาน้อยของพระเจ้าเชียงใหม่ไปเป็นพระธิดาบุญธรรม

แล้วต่อมาพระราชชายา เจ้าดารารัศมีได้ตามพระบิดาลงไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท กรุงเทพฯ[6] เมื่อวันจันทร์ ขึ้น 3 ค่ำ เดือน 3 เหนือ ปีจอ ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน .. 2429 แล้วเลยอยู่รับราชการฉลองพระเดชพระคุณฝ่ายในเปนเจ้าจอม ได้โปรดเกล้าฯ ให้มีการสมโภชเปนการรับรองด้วย [7]

ชาวเชียงใหม่รุ่นหลังที่ไม่ทราบความละเอียดจึงพากันสำคัญผิดไปว่า พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระกุณฑลระย้าเพชรนั้นไปทรงหมั้นหมายพระราชชายา เจ้าดารารัศมี

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] แสงดาว เชียงใหม่. พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. . 65-67.

[2] พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว. หัวข้อกฎหมายนานาประเทศ แพนกคดีเมือง. . 25.

[3] นามเดิม เลื่อน สุรนันทน์

[4] เจ้าแก้วนวรัฐฯ. พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. . 1-4.

[5] หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. .5 รล. – .. เล่ม 10.  เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ชุดสมุดพิเศษ เล่มที่ 10 .. 1245.

[6] เจ้าแก้วนวรัฐฯ. พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. . 1-4.

[7] เรื่องเดียวกัน.

บรรณานุกรม :

หอจดหมายเหตุแห่งชาติ. .5 รล. – .. เล่ม 10. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ชุดสมุดพิเศษ เล่มที่ 10 .. 1245.

______. .5 รล. – .. เล่ม 26. เอกสารเย็บเล่ม กรมราชเลขาธิการ รัชกาลที่ 5 ชุดสมุดพิเศษ เล่มที่ 26 .. 1245-1246.

แก้วนวรัฐฯ ผู้ครองนครเชียงใหม่, เจ้า. พระประวัติ พระราชชายา เจ้าดารารัศมี. (พิมพ์ในงานถวายพระเพลิง ปีจอ .. 2477). พระนคร : โรงพิมพ์บำรุงนุกูลกิจ, 2477.

มงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว, พระบาทสมเด็จพระ. หัวข้อกฎหมายนานาประเทศ แพนกคดีเมือง. (คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ฉลองพระกรุณาธิคุณ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุ 80 พรรษา 24 พฤศจิกายน พระพุทธศักราช 2548).  กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2548.

แสงดาว เชียงใหม่. พระดำรัสตรัสเล่า, พระประวัติพระราชชายา เจ้าดารารัศมี 26 สิงหาคม 2416-9 ธันวาคม 2476. (อนุสรณ์ทำบุญสตมวาร (100 วัน) วันถึงแก่กรรม เจ้าแสงดาว เชียงใหม่). เชียงใหม่โรงพิมพ์กลางเวียง, 2517.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ตุลาคม 2562