มะเมี๊ยะ : ตำนานรักเรื่องเก่าที่ต้องมองใหม่ เรื่องจริง หรือนิยายอิงประวัติศาสตร์?

ภาพถ่าย เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม ถ่ายภาพกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)
เจ้าอุตรการโกศล (ศุขเกษม ณ เชียงใหม่) หรือเจ้าน้อยศุขเกษม ถ่ายภาพกับเจ้าบัวชุม ณ เชียงใหม่ ผู้เป็นภรรยา (ภาพจากสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ)

ผมรู้เรื่องรักอมตะ “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” เมื่อตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นั่นก็ 20 กว่าปีมาแล้ว จากการอ่าน “เพ็ชร์ลานนา” ของ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง หนังสือเล่มนี้ตีพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. 2507 ผมประทับใจในความรักที่ทั้งสองมีต่อกัน สงสารที่ทั้งสองต้องแยกจากกันทั้ง ๆ ที่ยังรักกันอยู่และต่างก็ยังมีชีวิตอยู่

นี่ถือว่าเป็นทุกข์ระทมอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์เลยก็ว่าได้ ฉากการลาจากกันที่ประตูหายยาเมื่อเดือนเมษายน ปี พ.ศ. 2446 ยังประทับอยู่ในความทรงจำของผม เวลาผ่านไปแถวนั้นก็ยังรำลึกอยู่เสมอ และจำได้ว่าอ่านไปด้วยร้องไห้ไปด้วยราวกับว่ามันเกิดขึ้นกับตนอย่างนั้นแหละ ตอนนั้นผมเชื่อเรื่องนี้ว่าจริง 100 เปอร์เซ็นต์ เชื่อทุกฉากทุกตอน เชื่ออย่างไม่มีข้อสงสัย เชื่อว่าสยามและอังกฤษเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้คนทั้งสองต้องจากกัน

จาก “เพ็ชร์ลานนา” ที่คุณปราณีนำเสนอนั้น เรื่องมีอยู่ว่า ในปี พ.ศ. 2441 เจ้าศุขเกษม บุตรของเจ้าแก้วนวรัฐกับเจ้าแม่จามรี ตอนนั้นอายุ 15 ปี ถูกส่งไปเรียนหนังสือที่มะละแหม่ง ขณะนั้นเจ้าแก้วนวรัฐผู้บิดาดำรงตำแหน่งเจ้าอุปราช ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ตำแหน่งสำคัญของระบบการปกครองล้านนา ที่เรียกว่า “เจ้าขัน 5 ใบ” อันประกอบด้วย เจ้าเมือง เจ้าอุปราช เจ้าราชวงศ์ เจ้าราชบุตร และเจ้าบุรีรัตน์

หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” ของ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง
หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” ของ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง

ด้วยเหตุที่เจ้าศุขเกษมเป็นบุตรเจ้าอุปราช จึงถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสำคัญไม่น้อย ต่อมาเจ้าศุขเกษมได้พบรักกับสาวพม่าเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ชื่อ “มะเมี๊ยะ” และทั้งสองก็ได้เสียเป็นผัวเมียกัน พอถึงปี พ.ศ. 2446 หลังจากอยู่มะละแหม่งได้ 5 ปี เจ้าศุขเกษมต้องกลับเชียงใหม่ เจ้าศุขเกษมก็พามะเมี๊ยะกลับมาด้วย ตอนแรกให้คนสนิทปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

แต่ในที่สุดเมื่อความจริงเปิดเผย ความรักของคนทั้งสองก็ต้องอวสาน เหตุเพราะว่ามะเมี๊ยะเป็นพม่าเป็นคนสัญชาติอังกฤษ เจ้าศุขเกษมซึ่งต่อไปจะได้เป็นเจ้าเมืองครองเชียงใหม่ จะมีชายาเป็นพม่าซึ่งเป็นคนของอังกฤษไม่ได้ เพราะอังกฤษอาจใช้เป็นข้ออ้างเพื่อแทรกแซงหรือยึดเชียงใหม่ และเรื่องนี้ทำให้สยามไม่พอใจ เพื่อไม่ให้เรื่องลุกลามใหญ่โต ทางเชียงใหม่ต้องตัดไฟแต่ต้นลม มะเมี๊ยะต้องกลับพม่าและทั้งสองต้องจากกันอย่างตลอดกาล และแล้วก็มาถึงฉาก “the great goodbye” ที่ประตูหายยา หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” พรรณนาไว้ว่า

“…เจ้าศุขเกษมพูดพม่ากับมะเมี๊ยะได้ไม่กี่คำ เสียงร้องไห้โฮของฝ่ายหญิงก็ดังขึ้น เจ้าศุขเกษมก็พลอยสะอื้นตื้นตันใจคร่ำครวญสุดแสนอาดูรพูนเทวษ จนท้าวบุญสูงมาเตือนครั้งแล้วครั้งเล่าว่าถึงเวลาจะเคลื่อนขบวนเดินทางนั่นแหละทั้งสองจึงยอมแยกจากโอบกอดกัน

แม้จะขึ้นไปบนกูบช้างแล้วก็ตาม มะเมี๊ยะก็ขอลงมาหาเจ้าศุขเกษมอีกจนได้ เธอคุกเข่าลงกับพื้นก้มหน้าสยายผมออกเช็ดเท้าสามีด้วยความอาลัยรัก เรียกน้ำตาของเจ้าศุขเกษมไหลลงนองสองแก้ม แล้วก็โผเข้ากอดรัดกันอีก…ท้าวบุญสูงต้องอึดอัดใจอย่างยิ่งเพราะไหนจะปลอบใจให้มะเมี๊ยะกลับขึ้นไปบนหลังช้าง ไหนมะเมี๊ยะจะดึงดันกลับลงมาอีกเป็นหนที่สองวิ่งเข้าสู่อ้อมกอดเจ้าศุขเกษมอีก กว่าขบวนจะออกเดินทางได้ก็เลยกำหนดเวลาไปนานอักโข เจ้าศุขเกษมยืนเหม่อมองดูจุดเล็กๆ ที่ขยับเขยื้อนเหลียวมองด้านหลังจากบนหลังช้างนั้นตลอดเวลา จนลับจากสายตาจึงยอมกลับสู่คุ้ม”

จำได้ว่าพออ่านมาถึงตรงนี้ มันมีอะไรไม่รู้มาจุกอยู่ที่คอ จากนั้นน้ำตาก็ไหลพรากลงอาบสองแก้ม ผมเชื่อว่าถ้าใครได้อ่านพรรณนาโวหารข้างบนแล้วคงไม่ต่างจากผม แต่ถ้าไม่รู้สึกอะไรเลยก็คงมีปัญหาทางด้านอารมณ์แล้วล่ะครับ (จะว่าตายด้านก็เกรงว่าจะแรงไป)

หนังสือ “เพ็ชร์ลานนา” เสนอเรื่องนี้มาจบลงที่ตรงฉากนี้ อีก 16 ปีต่อมาใน พ.ศ. 2523 คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง ก็ได้ออกหนังสืออีกเล่มหนึ่งชื่อ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” และได้นำชีวิตรักมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมมาเสนออีกครั้งโดยเพิ่มเนื้อหาต่อจาก “เพ็ชร์ลานนา” ความว่าเมื่อมะเมี๊ยะกลับไปมะละแหม่งแล้ว ไปรอเจ้าศุขเกษมจนครบ 3 เดือนตามสัญญา เจ้าศุขเกษมไม่ได้ไปพบ มะเมี๊ยะจึงบวชเป็นชี

หนังสือ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ของ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง
หนังสือ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ของ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง

ต่อมาเจ้าศุขเกษมได้แต่งงานกับเจ้าบัวชุมที่กรุงเทพฯ เมื่อเจ้าศุขเกษมกลับมาเชียงใหม่ แม่ชีมะเมี๊ยะได้มารอพบอยู่ที่หน้าคุ้ม เจ้าศุขเกษมก็ไม่กล้าออกมาพบ ด้วยเหตุที่ตัวเองเป็นคนผิดสัญญาที่ให้ไว้กับมะเมี๊ยะ จึงให้คนนำเงิน 800 บาท พร้อมแหวนทับทิมมามอบให้มะเมี๊ยะแทน และหลังจากนั้นทั้งสองก็ไม่ได้พบกันอีกเลย เจ้าศุขเกษมสิ้นชีวิตเมื่อ พ.ศ. 2456 อายุได้ 33 ปี ด้วยเหตุตรอมใจ ส่วนมะเมี๊ยะบวชชีตลอดชีวิต มาสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 อายุได้ 75 ปี

นี่คือเรื่องราวชีวิตรักมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมที่ผมย่อมาจาก “เพ็ชร์ลานนา” และ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ของ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง

ด้วยความหลงใหลในตำนานรักเรื่องนี้ ผมก็พยายามสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม ผมเคยถามคุณยายชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่ง (ลืมชื่อท่านไปแล้ว) ซึ่งตอนนั้นอายุ 80 กว่าๆ คุณยายเป็นแม่ของพี่น้อยซึ่งมีบ้านติดกันกับบ้านที่ผมอยู่ แถว ๆ ข้างวัดข่วงสิงห์

ผมเชื่อว่าอายุขนาดคุณยายและเป็นคนชาวเชียงใหม่โดยกำเนิดเชื่อว่าคงเคยได้ยินหรืออาจได้เห็นฉากการลาจากอันยิ่งใหญ่ที่ประตูหายยา เพราะเมื่อตอนเกิดเรื่องนี้คุณยายคงเป็นเด็กแต่ก็น่าจะพอจำความได้ แต่ผลปรากฏว่าคุณยายไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนและไม่เคยได้ยินแม้แต่ชื่อ “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม”

แต่ถ้าอ่านจาก “เพ็ชร์ลานนา” เรื่องนี้น่าจะดังมาก ๆ ในสมัยนั้น ประเภท “talk of the town” เลยก็ว่าได้ ไม่เชื่อลองอ่านข้อความที่ผมยกมาจากหนังสือเล่มนี้ดูซิครับ

“เจ้านายข้าราชการและประชาชน รวมทั้งชาวพม่า มอญ เงี้ยว ต่องสู้ ที่ทราบข่าวการตัดสินใจเดินทางกลับมะละแหม่งของมะเมี๊ยะ ยอดหญิงของทายาทเจ้าอุปราชผู้ยอมหลีกทางให้แรงกดดันทางการเมืองเพื่อความสุขสวัสดิ์สถาพรและอนาคตของสามีอย่างน่าสรรเสริญ ต่างก็จับกลุ่มมุ่งสู่ประตูหายยา ซึ่ง ณ ที่นั้นขบวนช้างอันเป็นพาหนะและคนติดตามควบคุมขบวนและเสบียงกรังได้ไปรอคอยอยู่

เสียงสนทนาพาทีของประชาชนเซ็งแซ่ล้วนแต่สงสารเอ็นดูสาวน้อยวัย 16 ผู้มีกรรมจำพราก…มะเมี๊ยะในชุดแต่งกายพม่ามีผ้าคลุมผมก้าวลงจากรถก่อนตามติดด้วยเจ้าศุขเกษม ทั้งคู่มีหน้าหมองคล้ำ ไม่มีอะไรอีกแล้วที่จะปิดบังหรือละอายใจ ถึงแม้ประชาชนจะห้อมล้อมมุงดูอยู่รอบด้านมืดฟ้ามัวดิน…”

ถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นจริง คนเมืองเชียงใหม่คงโจษจันกันทั่ว จากประตูหายยามาข่วงสิงห์อย่างช้าก็ไม่น่าจะเกิน 2 วัน เผลอ ๆ แค่วันเดียวคนที่ข่วงสิงห์ก็็คงรู้กันทั่วแล้ว แต่คุณยายซึ่งตอนนั้นแม้จะยังเด็กแต่เชื่อว่าก็พอจะจำความได้ แต่เหตุใดคุณยายกลับไม่เคยได้ยินเรื่องนี้เลย หรือว่าคุณยายจำไม่ได้เพราะอายุมาก ผมพยายามหาเหตุผลเพื่อให้เรื่องที่ผมประทับใจนี้ยังคงเป็นจริงไม่เปลี่ยนแปลง

ผมตั้งใจว่าในชีวิตนี้จะต้องไปมะละแหม่งให้ได้ จะไปตามสืบเรื่องนี้เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับมะเมี๊ยะ ดีไม่ดีอาจได้พบญาติมะเมี๊ยะ หรือถ้าโชคดีกว่านั้นผมอาจได้เห็นรูปมะเมี๊ยะ จะได้รู้ว่าสวยแค่ไหน ผมเพ้อฝันไปลม ๆ แล้ง ๆ แต่ก็เชื่อว่าคงได้อะไรกลับมาไม่มากก็น้อย เพราะตามที่ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” เสนอนั้นบอกว่ามะเมี๊ยะเพิ่งสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 นี่เอง ผมเชื่อว่าที่มะละแหม่งน่าจะมีหลักฐานเกี่ยวกับมะเมี๊ยะหลงเหลือเป็นแน่ ผมมั่นใจอย่างนั้น

แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้ไปมะละแหม่งสักที แม้ว่าต่อมาจะมีโอกาสไปพม่าหลายครั้งก็ตาม ที่ไม่ได้ไปสักที
ก็เพราะว่าการเดินทางไปมะละแหม่งในตอนนั้นไม่สะดวกสบายทั้งการเดินทางและการถูกควบคุม ชาวต่างประเทศที่จะไปต้องทำเรื่องขออนุญาตก่อน เรื่องไปมะละแหม่งก็เลยเป็นเพียงความฝันและความหวัง แต่ไปพม่าครั้งใดก็พูดแต่เรื่องนี้ ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2549 ขณะรอเครื่องบินอยู่ที่เมืองพุกาม ได้เล่าตำนานรักเรื่องนี้ให้ คุณอดิศักดิ์ ศรีสม คนที่เป็นพิธีกรโทรทัศน์นั่นแหละ ไม่คิดว่านี่จะเป็นเหตุให้ได้ไปเมืองมะละแหม่งสมความปรารถนา

มีอีกท่านหนึ่งที่กระตุ้นให้ผมอยากไปมะละแหม่งเร็วขึ้น ท่านผู้นั้นก็คือ อาจารย์จีริจันทร์ ประทีปะเสน โดยส่วนตัวรู้จักอาจารย์จีริจันทร์มานาน เคยร่วมงานละครเวทีกับอาจารย์ ถือว่าสนิทสนมเลยทีเดียว แต่ไม่ทราบเลยว่าอาจารย์จะสนใจเรื่องนี้ วันหนึ่งได้ข่าวว่าเมื่อปี พ.ศ. 2545 อาจารย์ไปสืบตำนานรักเรื่องนี้ที่มะละแหม่ง พอรู้ว่าอาจารย์ไปได้แล้วก็มาคิดว่าทำไมเราจะไปไม่ได้

ที่สำคัญอาจารย์ไปตามเรื่องที่เราสนใจเสียด้วยซิ แล้วเราจะมัวช้าอยู่ไยและช่างบังเอิญเหลือเกินที่ไม่นานจากนั้น คุณอดิศักดิ์ ศรีสม ได้มาชวนไปมะละแหม่งเพื่อถ่ายทำสารคดีชุด “ประวัติศาสตร์นอกตำรา” เกี่ยวกับเรื่องนี้พอดี มีหรือที่คนอย่างผมจะปฏิเสธ เพราะแค่รู้ว่าจะได้ไปมะละแหม่งเนื้อก็เต้นแล้ว

ชีวิตรักของมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมที่คุณปราณีนำเสนอนั้นต่อมาถูกถ่ายทอดเป็นบทเพลงเมื่อปี พ.ศ. 2520 ชื่อ “มะเมี๊ยะ” โดย คุณจรัล มโนเพ็ชร และที่ประทับใจมากก็เมื่อเพลงนี้ร้องโดยพี่แอ๊ดหรือ คุณสุนทรี เวชานนท์ เพราะร้องทีไรเป็นร้องไห้ทุกที และทุกครั้งที่ไปร้านพี่สุนทรีก็มักจะขอให้พี่แอ๊ดร้องเพลงนี้ มีครั้งหนึ่งเมื่อร้องเพลงนี้เสร็จพี่แอ๊ดก็เดินมาหาแล้วพูดว่า “สะใจหรือยัง” พวกเราแฟนเพลง “มะเมี๊ยะ” ได้แต่ยิ้ม ช่วยไม่ได้ก็คนมันชอบนี่ครับ

จากนั้นในปี พ.ศ. 2537 ดาราวิดีโอก็นำเรื่องนี้เสนอเป็นละครโทรทัศน์มี สุวนันท์ คงยิ่ง และ ศรราม เทพพิทักษ์ เป็นดารานำ แต่ดูจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าไร ผมจำได้คลับคล้ายคลับคลาว่าเมื่อตอนเด็กๆ ก็เคยเห็นเรื่องนี้เป็นละครโทรทัศน์เหมือนกัน แต่ไม่แน่ใจว่าช่องไหน แต่ที่แน่ๆ เรื่องนี้ได้ขยายการรับรู้ไปทั่วเมืองไทยแล้วไม่ใช่เฉพาะที่เชียงใหม่

หลังจากอาจารย์จีริจันทร์ไปมะละแหม่งมาแล้ว อาจารย์ก็ได้นำเรื่องรักอมตะนี้มาเสนอในรูปแบบละครเวทีเมื่อปี พ.ศ. 2546 อันเป็นวาระครบรอบ 100 ปี “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” และในปีนี้ อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง ก็ได้ออกหนังสือชื่อ “100 ปีแห่งรัก หมะเมียะ-เจ้าศุขเกษม” ส่วนหนึ่งของหนังสือเล่มนี้ก็อ้างข้อมูลการไปมะละแหม่งของอาจารย์จีริจันทร์ด้วย ต่อมาอาจารย์จีริจันทร์ได้ออกหนังสือชื่อ “หมะเมียะ” ในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งหนังสือเล่มนี้เป็นทั้งบทละครและรายละเอียดการเดินทางไปค้นข้อมูลที่
มะละแหม่ง

ต้องยอมรับว่าอาจารย์จีริจันทร์เป็นผู้จุดประกายให้คนมาสนใจเรื่องนี้อีกครั้ง เพราะต่อจากนั้นก็มีการจัดเสวนาทางวิชาการรวมทั้งการรายงานของสื่อท้องถิ่น ต้องบอกว่าที่เชียงใหม่คึกคักมากในวาระครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์รักอมตะนี้ กระทั่งมีข่าวน่าตื่นเต้นว่าพบกู่มะเมี๊ยะที่สุสานหลวงวัดสวนดอก

นอกจากนี้รายการ “ย้อนรอย” โดยคุณหนุ่ม (คงกระพัน) ก็ตามไปถ่ายทำเรื่องนี้ถึงที่มะละแหม่ง ทั้งหมดเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก่อนที่ผมจะไปมะละแหม่ง แต่ทั้งหมดดูจะเป็นการตอกย้ำแต่เพียงว่าเรื่องนี้มัน “จริงนะ” แต่ยังไม่สืบค้นว่า “จริงแน่หรือ?” หรือ “จริงแค่ไหน?”

ผมเชื่อว่าการไปมะละแหม่งของผมต้องได้หลักฐานใหม่ ๆ เกี่ยวกับมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมเป็นแน่ นอกเหนือจากข้อมูลที่ได้จากบุคคลที่กล่าวมาทั้งหมด ที่หวังมากที่สุดคือตามหารูปถ่ายของมะเมี๊ยะ แม้จะเป็นรูปที่ถ่ายตอนแก่ก็ตาม เชื่อว่าคงมีเค้าความสวยเหลืออยู่ไม่มากก็น้อย จะเรียกว่าการไปมะละแหม่งคราวนี้เป็นการ “ตามล่าหามะเมี๊ยะ” ก็คงไม่ผิด เพราะผมอยากเจอมะเมี๊ยะจริง ๆ ถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านคงรู้แล้วนะครับว่าผมบ้าเรื่องนี้ขนาดไหน

การไปมะละแหม่งของผมก็อาศัยข้อมูลจากหนังสือ “หมะเมียะ” ของอาจารย์จีริจันทร์นั่นแหละ ไม่ว่าสถานที่ที่จะไป หรือบุคคลที่จะพบ เพราะอาจารย์ได้บุกเบิกไว้ก่อนแล้ว

และแล้วในปี พ.ศ. 2549 ผมก็ไปมะละแหม่ง จากย่างกุ้งเราเช่ารถตู้ไป ระยะทางราวๆ 300 กิโลเมตร ประมาณกรุงเทพฯ-นครสวรรค์ แต่ต้องใช้เวลาถึง 8 ชั่วโมง เพราะถนนไม่ค่อยดี จะด้วยบังเอิญหรือไม่ก็ตามผมได้ไกด์คนเดียวกับที่เคยเป็นไกด์ให้อาจารย์จีริจันทร์ ดังนั้นจึงได้รับความสะดวกเพราะเขารู้จักที่ที่จะไปหรือคนที่จะพบ

ที่หมายแรกก็คือวัดไจ้ตะหลั่น วัดที่คุณปราณีอ้างว่าเป็นที่สาบานรักระหว่างมะเมี๊ยะ-ศุขเกษม วัดไจ้ตะหลั่น เป็นวัดใหญ่ประจำเมือง ตั้งโดดเด่นอยู่บนเขา จากที่นี่จะมองเห็นเมืองมะละแหม่งได้ทั่ว

นามของวัดยังแปลไม่ตรงกัน ไกด์ของผมแปลว่า “วัดโล่ง” คุณองค์ บรรจุน นักวิชาการชาวมอญพระประแดงแปลว่า “วัดพระสยามสร้าง” ในหนังสือ “100 ปีแห่งรักฯ” ของ อาจารย์ธเนศวร์ เจริญเมือง แปลว่า “เจดีย์ลวง” ส่วนในหนังสือชื่อ “วันฤดูหนาวในพม่า” ของ คุณอนุรักษ์ พันธุรัตน์ แปลว่า “วัดถนนสยามชนะ” คำแปลสุดท้ายนี้ไม่ค่อยได้ใจความ ถ้าจะให้น่าเชื่อถือ ต้องใช้คำแปลของ คุณองค์ บรรจุน เพราะคุณองค์รู้ภาษามอญและรู้เรื่องมอญดีที่สุดคนหนึ่งของไทย (คุณองค์ยังบอกอีกว่ามีชาวมอญที่นี่กลุ่มหนึ่งหนีมาอยู่ที่ปทุมธานีมาสร้างวัดที่ใช้ชื่อเดียวกันนี้แต่ออกเสียงเป็นไทยว่า “วัดตาหล่าน”)

พระเจดีย์วัดไจ้ตะหลั่น เมืองมะละแหม่ง
พระเจดีย์วัดไจ้ตะหลั่น เมืองมะละแหม่ง

ที่วัดไจ้ตะหลั่นแห่งนี้ อาจารย์จีริจันทร์เคยมาสัมภาษณ์ “อูปันเย็งต๊ะ” ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสและได้ข้อมูลว่าที่วัดแห่งนี้เคยมีแม่ชีคนหนึ่งชื่อ “ปาระมี” เดิมชื่อ “ด่อนางเหลี่ยน” ว่าง ๆ ก็มวนบุหรี่แล้วให้น้องชายเอาไปขาย เจ้าอาวาสยังบอกอีกว่าแม่ชีเป็นไทใหญ่ อาจารย์จีริจันทร์เชื่อว่าแม่ชีปาระมีคือมะเมี๊ยะ โดยอาศัยเรื่อง “แม่ชี-บุหรี่-วัดไจ้ตะหลั่นที่สาบานรัก” ซึ่งเป็นข้อมูลที่ได้จากคุณปราณีมาเป็นหลักฐานสนับสนุน

ด้วยเหตุนี้ผมจึงต้องมาเริ่มที่วัดแห่งนี้ก่อน จากการสัมภาษณ์ท่านเจ้าอาวาสก็คนเดิมกับที่อาจารย์จีริจันทร์เคยสัมภาษณ์นั่นแหละ ซึ่งท่านอายุมากแล้วราวๆ 80 กว่า แต่ข้อมูลที่ผมได้กลับไม่ตรงกับของคนก่อน ๆ ตอนอาจารย์จีริจันทร์ไปถามท่านบอกว่าแม่ชีท่านนี้เดิมชื่อ “ด่อนางเหลี่ยน” เป็นไทใหญ่

ต่อมาเมื่อรายการ “ย้อนรอย” มาถามกลับบอกว่าชื่อ “นางข่อง” แต่พอผมไปถามท่านบอกว่าจำชื่อไม่ได้แล้ว จำได้แต่ว่าเป็นกะเหรี่ยง สรุปเรื่องแม่ชี “ปาระมี” ที่วัดไจ้ตะหลั่นนั่นน่าจะมีจริง แต่จะเป็นชาติพันธุ์ใดแน่ไม่ทราบ แต่ประเด็นนี้ไม่สำคัญ ที่สำคัญก็คือแม่ชีท่านนี้คือมะเมี๊ยะที่ผมกำลังตามหาใช่หรือไม่?

อูปันเย็งต๊ะ เจ้าอาวาสวัดไจ้ตะหลั่น เมืองมะละแหม่ง
อูปันเย็งต๊ะ เจ้าอาวาสวัดไจ้ตะหลั่น เมืองมะละแหม่ง

ข้อมูลที่ได้ตอนนี้มีเพียงเรื่อง “สถานที่” คือ “วัดไจ้ตะหลั่น” เท่านั้นที่พอจะสอดรับกับข้อมูลที่ผมมีอยู่ ด้วยเชื่อว่าสถานที่แห่งนี้เป็นที่สาบานรักของคนทั้งสอง เมื่อบวชเป็นชีก็น่าจะมาบวชที่วัดนี้ และบังเอิญที่วัดแห่งนี้ในอดีตก็มีแม่ชีอยู่ด้วย ท่านผู้นี้ชื่อปาระมีและมวนบุหรี่เก่ง แต่ถ้าอาศัยแค่เรื่องที่แม่ชีเก่งในการ “มวนบุหรี่” มาเป็นหลักฐานยืนยัน คิดว่ายังไม่มีน้ำหนักพอ เพราะในพม่าเรื่องมวนบุหรี่เป็นทั้งหน้าที่และเสน่ห์ของสตรี หาใช่ความสามารถพิเศษแต่อย่างใดไม่ ดังนั้นต้องหาข้อมูลเพิ่มอีก

ก็จากอาจารย์จีริจันทร์อีกนั่นแหละที่ทำให้ทราบว่ามีคนที่เคยอุปัฏฐากแม่ชีปาระมี ท่านผู้นี้ชื่อ “ด่อเอจิ” ตอนนี้ยังมีชีวิตอยู่ เราก็ไปตามหาแหล่งข้อมูลนี้เป็นรายต่อไป คุณยายด่อเอจิอายุ 80 กว่าปีแล้ว แต่ความจำยังดี ท่านเป็นลูกสาวของ “อูโพด่อง” พ่อค้าไม้ชาวมะละแหม่ง ผู้ที่ถูกอ้างว่าเป็นคนดูแลเจ้าศุขเกษมตอนมาเรียนที่นี่ คุณยายเล่าให้ฟังว่าท่านเป็นผู้ดูแลอุปัฏฐากแม่ชีปาระมีแห่งวัดไจ้ตะหลั่นจริง นี่เป็นหลักฐานสำคัญที่ยืนยันว่าแม่ชี “ปาระมี” ที่วัดไจ้ตะหลั่นนั้นมีตัวตนจริง จากนั้นก็ถามข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับแม่ชีท่านนี้เพื่อจะโยงกับ “มะเมี๊ยะ” ที่ผมตามหา

คุณอดิศักดิ์ต้องการเห็นภาพแม่ชีปาระมี เนื่องจากไม่มีรูปถ่าย เลยให้คนไปหาช่างวาดภาพมาวาดตามคำบอกเล่าของคุณยายด่อเอจิ โดยมีน้องสาวของท่านชื่อ “ล่าเส่ง” มาช่วยให้ข้อมูลด้วยอีกคนหนึ่ง หลังจากปรับโน่นแก้นี่เสร็จแล้ว ก็ได้ภาพแม่ชีปาระมี ดูอายุจะราว 20 กว่าๆ ถือว่าสวยเข้าขั้นเลยล่ะ ถ้าแม่ชีปาระมีคือมะเมี๊ยะจริงแล้วละก็ นี่คงเป็นภาพแรกที่เปิดเผยรูปโฉมของมะเมี๊ยะ

แต่ข้อมูลเกี่ยวกับแม่ชีปาระมีที่เราได้จากคุณยายด่อเอจิ กลับทำให้ต้องผิดหวัง เพราะคุณยายบอกว่าแม่ชีปาระมีบวชมาแต่เด็ก ดังนั้นสมมุติฐานที่ว่าแม่ชีปาระมีคือมะเมี๊ยะเป็นอันจบ เพราะตามข้อมูลที่ได้มาก่อนหน้านั้นบอกว่ามะเมี๊ยะบวชตอนอายุ 16 ปี ที่สำคัญคุณยายบอกว่าไม่เคยทราบเรื่องรักอมตะ “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” เลย

ผมก็ชักแปลกใจ เพราะข้อมูลที่คุณปราณีนำเสนอนั้นบอกว่า “อูโพด่อง” ท่านนี้เป็นคนดูแลเจ้าศุขเกษม แต่เหตุใดลูกสาวของท่านซึ่งถือว่าน่าจะใกล้ชิดกับเหตุการณ์มากคนหนึ่งแต่กลับไม่ทราบเรื่องนี้ แน่นอนว่าตอนที่เกิดเรื่องนี้คุณยายยังไม่เกิด แต่เรื่องใหญ่อย่างนี้ก็น่าจะเล่าสืบๆ ต่อกันมา อย่างน้อยก็ในครอบครัวของอูโพด่อง แต่ทำไมคุณยายรวมทั้งน้องสาวไม่รู้เรื่องนี้เลย ทำไม?

ขณะที่ความหวังเริ่มริบหรี่ ลูกบุญธรรมของอูโพด่องก็เข้ามาพอดี ท่านผู้นี้ชื่อ “อูโอเมี๊ยะ” บอกว่าเมื่อตอนท่านอายุ 7 ขวบ เคยได้ยินเรื่องแม่ค้าบุหรี่ชื่อมะเมี๊ยะ คนที่เล่าให้ท่านฟังก็คือแม่ชี “ด่อเขมา” ท่านผู้นี้ตอนนั้นเป็นเจ้าอาวาสวัดเขมาติริ แต่คุณลุงบอกว่าแม่ชีมะเมี๊ยะคนนี้บวชได้ 3 ปีก็เสียชีวิต เอ๊ะชักยังไง ข้อมูลไม่ตรงกันอีกแล้ว แม่ชีมะเมี๊ยะคนนี้กับมะเมี๊ยะที่ผมตามหาจะใช่คนเดียวกันหรือเปล่าก็ไม่รู้ แต่ก็ช่างเถอะอย่างน้อยก็ชื่อเมี๊ยะๆ คล้ายกัน อีกอย่างก็ได้ทราบแหล่งข้อมูลเพิ่มอีกแห่ง ก็ควรไปสืบค้นกันต่อดีกว่า

วัดเขมาติริเป็นสำนักแม่ชี ตั้งอยู่เชิงเขาใกล้วัดไจ้ตะหลั่นนั่นแหละ เมื่อไปถึงได้พบเจ้าอาวาสชื่อ “ด่อยานะวดี” และผู้ช่วยชื่อ “ด่อเจดาวะดี” ทั้ง 2 ท่านให้ข้อมูลว่ามีแม่ชีที่นี่คนหนึ่ง บวชสมัยเจ้าอาวาสคนก่อน แม่ชีท่านนี้ชื่อ “ด่อเมี๊ยะ” และทั้งสองอ้างว่าเคยได้ยินเจ้าอาวาสคนก่อนเล่าให้ฟังว่า “ด่อเมี๊ยะ” คนนี้เคยไปเมืองไทย ไปตามหาใครสักคนหนึ่ง

ตอนนี้ผมเริ่มตื่นเต้น ชักจะได้อะไรมากขึ้นแล้วเพราะเรื่องเข้าใกล้มะเมี๊ยะที่ผมตามหาเข้าไปทุกที แม่ชีทั้งสองยังบอกอีกว่ามีรูปถ่ายของด่อเมี๊ยะด้วย ผมจึงขอดู แต่เมื่อค้นหาแล้วปรากฏว่าไม่เจอ เลยผิดหวัง อย่างไรก็ตามเรื่องแม่ชี “ด่อเมี๊ยะ” ท่านนี้ดูจะเข้าใกล้มะเมี๊ยะที่ผมตามหามากกว่าแม่ชีปาระมีที่วัดไจ้ตะหลั่น แต่ก็ยังสรุปชัดๆ ไม่ได้ว่าแม่ชีด่อเมี๊ยะที่วัดเขมาติรินี้คือมะเมี๊ยะที่ผมตามหาจริงหรือไม่ แม้ว่าข้อมูลที่ได้ดูจะเข้าเค้าก็ตาม

แต่ก็ฉุกคิดว่าถ้ามะเมี๊ยะมาบวชที่วัดแห่งนี้จริง เหตุใดจึงไม่เปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลี ซึ่งนี่คือธรรมเนียมการบวชโดยทั่วไป เหตุใดยังชื่อ “เมี๊ยะ” อยู่? แปลก?

ต่อมาเมื่อกลับจากมะละแหม่งแล้ว ได้สืบค้นเพิ่มเติมก็พบว่ากลุ่มบุคคลที่ให้ข้อมูลเรื่องแม่ชีด่อเมี๊ยะที่ดูจะใกล้กับเรื่องราวของ “มะเมี๊ยะ” นั้น ปรากฏว่าต่างก็เคยพบอาจารย์จีริจันทร์ หรือไม่ก็รายการ “ย้อนรอย” มาทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงไม่แปลกที่เรื่องราวของแม่ชีด่อเมี๊ยะจะใกล้เคียงกับ “มะเมี๊ยะ” เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้ได้ข้อมูลเรื่อง “มะเมี๊ยะ” จากผู้มาเยือนนั่นเอง

โดยเฉพาะคุณลุงอูโอเมี๊ยะนั้น ตอนที่รายการ “ย้อนรอย” ไปสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ให้ข้อมูลเรื่องแม่ชีด่อเมี๊ยะ แต่พอผมไปเจอกลับเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง สรุปเรื่องแม่ชีด่อเมี๊ยะที่วัดเขมาติรินั้น เท่าที่ได้ข้อมูลมายังขาดหลักฐานชัดๆ ว่ามีแม่ชีชื่อนี้จริงๆ หรือมีตัวตนจริงๆ หรือไม่

บุคคลที่น่าสงสัยอีกคนก็คือไกด์ นายคนนี้เคยเป็นไกด์ให้อาจารย์จีริจันทร์และไม่แน่ใจว่าได้เป็นไกด์ให้รายการ “ย้อนรอย” ด้วยหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ นายคนนี้ต้องรู้เรื่องรักอมตะ “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” จากอาจารย์จีริจันทร์อย่างแน่นอน เพราะเขาต้องทำหน้าที่แปลให้อาจารย์ฟัง รวมทั้งแปลให้ผมและทีมงานด้วย

ถ้าเขา “แปล” และ “ปรุง” ข้อมูลให้สอดรับกับเรื่องที่เขารู้และเป็นเรื่องที่เขารู้ว่าผมต้องการ เพียงเพื่อสร้างความตื่นเต้นให้ชวนติดตามแล้วละก็ ต้องยอมรับว่าผมได้ตกเป็นเหยื่อของนายไกด์คนนี้ไปแล้ว
จริงๆ เพราะผมไม่รู้ภาษาพม่า ไม่รู้ว่าลุงอูโอเมี๊ยะหรือแม่ชีทั้งสองเขาพูดว่าอะไรกันแน่ ที่ได้ถ่ายทอดมาให้ท่านฟังก็ล้วนมาจากการแปลของนายคนนี้ทั้งนั้น ผิดถูกอย่างไรนายคนนี้ต้องรับไปเต็มๆ ท่านว่าจริงไหม?

จากนั้นผมก็ไปที่ตลาดไตกวิน ใน “เพ็ชร์ลานนา” บอกแต่เพียงว่ามะเมี๊ยะเป็นแม่ค้าขายบุหรี่ เชื่อกันว่าต้องขายในตลาดและตลาดที่เก่าแก่ที่สุดของเมืองมะละแหม่งก็คือตลาดแห่งนี้ ดังนั้นที่แห่งนี้ต้องเป็นที่พบรักของมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมแน่ๆ และถ้ามะเมี๊ยะเป็นแม่ค้าบุหรี่ที่นี่จริง เชื่อว่าน่าจะมีหลักฐานอะไรคงค้างอยู่ แม้ว่าเวลาจะผ่านไปร้อยกว่าปีก็ตาม

อย่างน้อยก็อาจมีคนรู้จักมะเมี๊ยะหรือรู้จักครอบครัวมะเมี๊ยะ หรือตำนานรักเรื่องนี้ได้กลายเป็นเรื่องเล่าที่ยังสืบทอดกันมา เพราะตลาดกับเรื่องเล่า (ส่วนมากจะไม่จริง) เป็นของคู่กันอยู่แล้ว ยิ่งตำนานรักอย่างมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมที่จบด้วยความเศร้านั้น ต้องถือว่าเรื่องนี้ถูกปากพวกเราชาวตลาดอยู่แล้ว แต่ก็อีกเช่นเคยคนที่ตลาดแห่งนี้ไม่มีใครเคยรู้เรื่องมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมเลย เป็นไปได้ยังไง? เรื่องเขาออกจะดัง

ผมยังไม่ละความพยายาม ไปต่อที่ร้าน “ดอว์บุ” ร้านขายบุหรี่ที่เก่าแก่ของเมืองมะละแหม่ง คุณยายด่อเมี๊ยะเส่ง อายุเกือบ 80 แล้วเป็นเจ้าของ ที่ร้านแห่งนี้มีพนักงานง่วนอยู่กับการมวนบุหรี่ประมาณ ๑๐ กว่าคน เหตุที่มาที่นี่ก็เพื่อสืบค้นว่ามีใครรู้จักมะเมี๊ยะไหม? เชื่อว่าคนในวงการเดียวกันก็น่าจะรู้จักกันบ้าง แต่ปรากฏว่าไม่มีใครเคยรู้จักมะเมี๊ยะหรือรู้เรื่องรักรันทดของมะเมี๊ยะเลย

แม้แต่คุณยายด่อเมี๊ยะเส่งเอง ซึ่งอายุขนาดท่านอย่างน้อยก็น่าจะเคยเห็นแม่ชีมะเมี๊ยะบ้าง เพราะตามข้อมูลที่คุณปราณีให้ไว้บอกว่าแม่ชีมะเมี๊ยะสิ้นเมื่อ พ.ศ. 2505 นั่นหมายความว่าคุณยายอยู่ร่วมสมัยกับแม่ชีมะเมี๊ยะอย่างแน่นอน ที่สำคัญอยู่ในเมืองเดียวกันเสียด้วยและมะละแหม่งก็ไม่ใช่เมืองใหญ่โต แต่ปรากฏว่าไม่เลย คุณยายบอกว่าไม่เคยได้ยินชื่อมะเมี๊ยะหรือแม่ชีมะเมี๊ยะ เป็นไปได้ยังไง?

โรงเรียนเซนต์แพททริคที่เจ้าศุขเกษมไปเรียน
โรงเรียนเซนต์แพททริคที่เจ้าศุขเกษมไปเรียน

ที่สุดท้ายที่ได้ไปค้นข้อมูลก็คือโรงเรียนเซนต์แพททริค (St.Patrick) โรงเรียนแห่งนี้ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2385 เป็นโรงเรียนกินนอนชายของศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก ข้อมูลเรื่องโรงเรียนแห่งนี้ก็ได้จากอาจารย์จีริจันทร์อีกนั่นแหละไม่ใช่จากคุณปราณี

คุณปราณีให้ข้อมูลแต่เพียงว่าเจ้าศุขเกษมไปเรียนที่มะละแหม่งแต่ไม่บอกว่าไปเรียนที่ไหน ก่อนนั้นผมคิดว่าเจ้าศุขเกษมน่าจะไปเรียนวิชาป่าไม้ แต่พอมาอ่านหนังสือของอาจารย์จีริจันทร์ ผมเชื่อตามนั้นว่าเจ้าศุขเกษมด้วยอายุขนาดนั้นก็น่าจะมาเรียนที่โรงเรียนแห่งนี้ เพราะที่นี่ขณะนั้นเป็นโรงเรียนฝรั่งที่ใหญ่ที่สุดของเมืองมะละแหม่ง เป็นโรงเรียนมัธยมที่ใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนการสอน พวกลูกไฮโซทั้งนั้นที่มาเรียน เจ้าศุขเกษมก็น่าจะมาเรียนที่นี่

ปัจจุบันโรงเรียนปิดกิจการไปนานแล้วเหลือแต่โบสถ์ของโรงเรียนที่ยังทำหน้าที่เป็นศาสนสถานของชาวคริสต์ ผมได้สนทนากับท่านบาทหลวงประจำโบสถ์แห่งนี้ เพื่อขอข้อมูลเกี่ยวกับเจ้าศุขเกษมที่เชื่อว่ามาเรียนที่นี่ แต่ปรากฏว่าไม่มีข้อมูลใดๆ ท่านบอกว่าถ้าจะค้นจริงต้องไปที่สำนักงานใหญ่ที่ปารีส เชื่อว่าที่นั่นน่าจะเก็บข้อมูลไว้อย่างน้อยก็ประวัตินักเรียน เป็นอันว่าที่นี่ก็ไม่มีข้อมูลอะไรเกี่ยวกับเจ้าศุขเกษมเลย ผมถามท่านบาทหลวงว่าท่านเคยได้ยินเรื่องนักเรียนเก่าที่นี่ที่เป็นเจ้าชายจากเชียงใหม่มาหลงรักแม่ค้าขายบุหรี่แต่สุดท้ายทั้งสองต้องแยกกันไหม ท่านบอกว่าไม่เคยได้ยิน เอาอีกแล้ว

เป็นที่น่าสังเกตว่าเรื่องราวของ “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” นั้นเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางในเมืองไทย โดยเฉพาะในปี พ.ศ. 2546 อันเป็นวาระครบรอบ 100 ปีเหตุการณ์รักอมตะ ที่เชียงใหม่จัดงานกันอย่างคึกคักทั้งวิชาการและบันเทิง แต่ที่มะละแหม่งกลับไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย สิ่งที่ผมได้จากการไปเมืองมะละแหม่งครั้งนี้ก็คือคำถามที่ว่า เหตุใดคนที่นี่จึงไม่มีใครรู้เรื่องนี้เลย? ทำไม? ทำไม?

จากนั้นผมก็ตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องราวรักอมตะ “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” ที่รับรู้มาจาก “เพ็ชร์ลานนา” ก็ดี หรือ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ก็ดี มีความจริงแค่ไหน? มีความน่าเชื่อถือแค่ไหน? หรือเรื่องนี้จริงๆ แล้วเป็นเพียงนิยาย? เราหลงเชื่อไปเองใช่ไหม? ตอนนี้ไม่รู้ ได้แต่สงสัย

ไม่เฉพาะผมเท่านั้น คุณอำนาจ จงยศยิ่ง บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ “ภาคเหนือรายวัน” ก็สงสัยในข้อเท็จจริงหลายประการเกี่ยวกับตำนานรักเรื่องนี้ นอกจากสงสัยแล้ว อาจารย์ธเนศวร์ยังได้ตรวจสอบข้อมูลที่คุณปราณีนำเสนอซึ่งพบว่าเป็นข้อมูลที่ผิด 3 ประการ คือ

1. ตอนที่เกิดเหตุการณ์นั้น เจ้าแก้วนวรัฐบิดาของเจ้าศุขเกษมอยู่ในตำแหน่ง “เจ้าราชวงศ์” ไม่ใช่ “เจ้าอุปราช” อย่างที่คุณปราณีเสนอ ดังนั้นการที่คุณปราณีอ้างว่าความรักของเจ้าศุขเกษมกับมะเมี๊ยะต้องสิ้นสุดเพราะเจ้าศุขเกษมจะได้เป็นเจ้าเมืองเชียงใหม่ต่อไปในอนาคตนั้นก็ไม่จริง เพราะตำแหน่ง “เจ้าราชวงศ์” โดย “ตำแหน่งและจารีต” แล้วมีโอกาสเป็นเจ้าเมืองน้อยกว่า “เจ้าอุปราช”

นอกจากนี้สยามได้รวบล้านนาไว้อย่างสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ พ.ศ. 2442 (แม้ว่ายังไม่เรียบร้อยก็ตาม) แต่ก็ถือว่าสยามมีอำนาจเหนือล้านนา 100 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดมาก่อนในอดีต ดังนั้นการที่ใครจะได้เป็นเจ้าเมืองหรือไม่นั้นมิได้อยู่แค่ “ตำแหน่ง” ที่ตนครองอีกต่อไป แต่อยู่ที่สยามว่าจะเลือกใครต่างหาก

2. ต่อเนื่องจากข้อ 1 เมื่อคุณปราณีอ้างว่าเจ้าแก้วนวรัฐเป็นเจ้าอุปราช เจ้าศุขเกษมก็ต้องเป็นราชบุตรเจ้าอุปราช ต่อไปเมื่อบิดาได้เป็นเจ้าเมือง นั่นหมายความว่าเจ้าศุขเกษมก็จะต้องได้เป็นเจ้าเมืองคนต่อไปแน่ๆ ดังนั้นการที่จะเอาพม่าซึ่งเป็นคนในบังคับของอังกฤษมาเป็นเมียนั้นถือว่าทำไม่ได้

คุณปราณีอ้างว่า “ประพฤติปฏิบัติผิดฮีตฮอยของบรรพบุรุษ” แต่อาจารย์ธเนศวร์บอกว่าเรื่องนี้ก็ไม่จริง ความจริงคือเจ้าศุขเกษมเป็นเพียงบุตรเจ้าราชวงศ์ จะมีเมียเป็นสาวใดไม่มีข้อห้าม ข้อนี้ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะต่อมาอนุชาของท่านคือเจ้าอินทนนท์ยังไปแต่งกับเจ้าสุคันธา เจ้าหญิงแห่งเมืองเชียงตุงซึ่งตอนนั้นเจ้าหญิงก็เป็นคนในบังคับของอังกฤษแล้วไม่เห็นเป็นไร

3.อาจารย์ธเนศวร์บอกว่าคุณปราณีเสนอภาพให้อังกฤษเป็นผู้ร้าย ให้สยามเป็นพระเอก ซึ่งเป็นทัศนะ
ที่เข้าข้างสยาม อาจารย์ตั้งข้อสังเกตว่า “จริงหรือที่ขณะนั้นล้านนาหวั่นเกรงว่าอังกฤษจะรุกราน และจริงหรือที่อังกฤษมีแผนการจะยึดล้านนา” ซึ่งเรื่องนี้เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศในช่วงนั้นจะเห็นว่าเรื่องนี้ไม่มีมูลความจริง โดยเฉพาะข้ออ้างที่ว่า “พระนางวิกตอเรียจะขอเจ้าดารารัศมีไปเป็นบุตรบุญธรรม” ผมเคยพูดทีเล่นทีจริงว่าพระนางวิกตอเรียอาจไม่รู้จักเชียงใหม่เสียด้วยซ้ำ ไหนเลยจะมารู้จักเจ้าดารารัศมี

หากใครต้องการศึกษาเรื่องนี้ให้ลึกซึ้งก็ไปหาอ่านได้จากหนังสือ “100 ปีแห่งรักฯ” ของอาจารย์ธเนศวร์เอาเอง ที่ยกมาอ้างอย่างคร่าวๆ นี้ก็เพื่อบอกว่าเริ่มมีการตั้งข้อสงสัยและชี้ข้อมูลที่ผิดที่คุณปราณีได้เคยเสนอไว้ ตอนนี้ไม่สงสัยเฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น แต่ยังสงสัยไปถึงตัวคุณปราณีด้วย

ข้อมูลที่คุณปราณีนำเสนอทั้งใน “เพ็ชร์ลานนา” และ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” นั้น หากศึกษากันจริงๆ แล้วจะเห็นว่ายังมีข้อมูลที่ผิดพลาดหลายจุด ขาดหลักฐานยืนยันก็หลายจุด ถือว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็น่าจะได้ ถ้าจะอ่านเอาสนุกละก็ได้ แต่ถ้าจะอ่านเอาเรื่องต้องไตร่ตรองสักนิด ยิ่งพวกที่นำมาถ่ายทอดต่อใส่สีใส่ไข่อีกทั้งปรุงรสเข้าไปอีก ถ้ารับมาโดยไม่คิดก็หลงเชื่อได้ง่ายๆ

ก็อย่างที่บอกว่าตอนที่มาจากมะละแหม่งนั้นเล่ากันว่ามะเมี๊ยะตัดผมสั้นปลอมตัวเป็นชาย แต่ต่อมาไม่ถึงเดือนก็ต้องมีเหตุให้ต้องจากกัน วันสุดท้ายที่ประตูหายยามะเมี๊ยะ “สยายผมลงเช็ดบาทบาทา ขอลาไปก่อนแล้วจาดนี้…” ทำไมผมขึ้นเร็วจัง ถ้ามะเมี๊ยะตัดผมสั้นจริง แค่เวลาช่วงนั้นผมก็คงยาวอย่างมากก็สักคืบ แล้วจะจับไปเช็ด “บาทบาทา” ได้อย่างไร

นอกจากมะเมี๊ยะจะเอาทั้งหัวถู สรุปเรื่องตัดผมสั้นหรือปลอมตัวเป็นชายก็ไม่น่าจะจริง ตอนที่ออก “เพ็ชร์ลานนา” ก็ไม่ได้บอกว่าปลอมตัวมา แต่ใน “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” บอกว่าปลอมตัวมา เอ๊ะ ยังไง?

จะเห็นได้ว่าตอนที่คุณปราณีออก “เพ็ชร์ลานนา” ในปี พ.ศ. 2507 นั้นเรื่องราวรักอมตะนี้ยังไม่หวือหวาเท่าไร แต่อีก 16 ปีต่อมาเมื่อออก “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ในปี พ.ศ. 2523 นอกจากจะมีเนื้อหาเพิ่มแล้วเรื่องราวยังถูกสร้างให้ยิ่งใหญ่ขึ้น แม้ว่าข้อมูลเก่า-ใหม่จะขัดแย้งกันก็ตาม

เจ้าน้อยศุขเกษม กับเจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ วันฉลองสมรส เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๘
เจ้าน้อยศุขเกษม กับเจ้าหญิงบัวชุม ณ เชียงใหม่ วันฉลองสมรส เมื่อปลายปี พ.ศ. ๒๔๔๘

อย่างเรื่องของเจ้าศุขเกษมหลังจากแยกกับมะเมี๊ยะแล้ว ต่อมาได้แต่งงานกับเจ้าบัวชุม ใน “เพ็ชร์ลานนา” กล่าวถึงชีวิตรักของทั้งสองว่า

“เจ้าศุขเกษมมาอยู่เชียงใหม่ประมาณ 1 ปี จึงลงไปรับเจ้าหญิงบัวชุมมาอยู่ด้วย ชีวิตรักยังคงดำเนินมาโดยราบรื่นเพียง 7 ปี มัจจุราชก็พรากชีวิตเจ้าศุขเกษมไปอย่างไม่มีวันกลับ ทิ้งแต่ความรักอาลัยแก่เจ้าหญิงผู้อยู่หลัง…”

ไม่เห็นมีวี่แววใดๆ ที่จะระบุว่าเจ้าศุขเกษมยังรักและคิดถึงมะเมี๊ยะ แต่พอมาออก “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” คุณปราณีเสนอข้อมูลที่อ้างว่าได้จากปากของเจ้าบัวชุมเองว่า

ตลอดชีวิตเจ้าศุขเกษมไม่มีความสุขและรื่นเริงในชีวิตสมรสเลย เพราะท่านคิดถึงมโนภาพชีวิตรักและคำสาบานของท่านต่อมะเมี๊ยะ ภรรยาคนแรกที่รักของท่านและมะเมี๊ยะก็รักท่าน…เป็นรักครั้งแรกและรักสุดท้าย” เป็นไงล่ะ งงมั้ย

ทำไมเรื่องเดียวกันแต่พอเวลาผ่านไปกลับไม่ตรงกัน เป็นไปได้ไหมที่ว่าเมื่อออก “เพ็ชร์ลานนา” ปี พ.ศ. 2507 นั้น บุคคลสำคัญที่อ้างถึงคือเจ้าบัวชุมยังมีชีวิตอยู่ เลยไม่กล้าปรุงแต่งให้หวือหวาเท่าไร แต่พอมาออก “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ซึ่งตอนนี้เจ้าบัวชุมเสียชีวิตไปแล้วก็เลยใส่ได้เต็มที่ ประกอบกับตอนนั้นเพลง “มะเมี๊ยะ” ของคุณจรัลกำลังดัง ก็เลยทำให้ตำนานรัก “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” ใน “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม

ตอนนี้ก็ยิ่งอดสงสัยไม่ได้อีกว่า แล้วเรื่องมะเมี๊ยะไปบวชเป็นชีนั้นจริงหรือ? หรือจริงแค่ไหน? มีหลักฐานอะไรยืนยัน? ที่คุณปราณีอ้างว่าเจ้าทิพวันและเจ้าสมบูรณ์เคยพบแม่ชีมะเมี๊ยะนั้นเป็นเพียงข้ออ้างที่ขาดหลักฐานขั้นต้น คุณปราณีได้ข้อมูลนี้มาจากเจ้าทิพวันและเจ้าสมบูรณ์โดยตรงจริงหรือไม่? ทั้ง 2 ท่านรู้จักแม่ชีมะเมี๊ยะได้อย่างไร? รู้จักและเคยพบจริงหรือ?

ที่ผมสงสัยก็เพราะตอนที่คุณปราณีนำเรื่องนี้มาเสนอนั้น บุคคลที่ถูกอ้างนี้ก็สิ้นไปหมดแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่เรื่องนี้ไม่มีมูลความจริง? เป็นไปได้หรือไม่ว่าคนที่เจ้าสมบูรณ์ไปพบนั้นคือแม่ชีปาระมีแห่งวัดไจ้ตะหลั่นแล้วหลงคิดว่าเป็นแม่ชีมะเมี๊ยะ? หรือว่าคุณปราณีหลงเข้าใจเองว่าแม่ชีปาระมีคือแม่ชีมะเมี๊ยะ?

เรื่องมะเมี๊ยะไปบวชเป็นชียิ่งคิดก็ยิ่งสงสัย หรือว่าคุณปราณีนั่นแหละที่เป็นคนบวชชีให้ “มะเมี๊ยะ” เพื่อให้เรื่องนี้สนุกสนานเร้าใจยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ ก็คือคุณปราณีแต่งเอาเอง อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสงสัยมากๆ ก็คือที่บอกว่าแม่ชีมะเมี๊ยะสิ้นเมื่อปี พ.ศ. 2505 คุณปราณีได้ข้อมูลนี้มาจากใคร? เชื่อถือได้แค่ไหน? เพราะถ้ามะเมี๊ยะสิ้น พ.ศ. 2505 จริง เหตุใดที่มะละแหม่งจึงไม่มีใครรู้จักแม่ชีมะเมี๊ยะเลย? ทำไม? แล้วคุณปราณีผู้ที่ไม่เคยไปมะละแหม่งรู้เรื่องนี้ได้อย่างไร? สนุกไหมครับท่านผู้ชม

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นหนึ่งที่ผมไม่เห็นด้วยกับอาจารย์ธเนศวร์ นั่นก็คือประเด็นที่อาจารย์บอกว่า “รักของเจ้าน้อยศุขเกษมผิดเพราะ 1. เจ้านายประเทศราชส่งลูกไปเมืองนอกโดยไม่ขออนุญาตจากสยาม…ซึ่งทำให้สยามไม่ไว้ใจ…2. พฤติกรรมของเจ้าแก้วนวรัฐทำให้สยามไม่พอใจ (เข้าใจว่าเรื่องส่งลูกไปเรียนนี่แหละ)…เกรงว่าล้านนาจะหันไปร่วมมือกับพม่า…”

เรื่องนี้ผมว่าไม่จริง เพราะในตอนนั้นขุนนางสยามอยู่เต็มเมืองเชียงใหม่ เจ้าแก้วนวรัฐซึ่งตอนนั้นอยู่ในตำแหน่ง “เจ้าราชวงศ์” ถือว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทและชื่อเสียงไม่น้อย มีหรือที่ขุนนางเหล่านั้นจะไม่ทราบเรื่องลูกชายเจ้าแก้วนวรัฐไปเรียนที่มะละแหม่ง แม้จะบอกหรือไม่ก็ตาม ในปี พ.ศ. 2441 มีลูกหลานเจ้านายเชียงใหม่ไปเรียนต่างแดนสักกี่คน ผมเชื่อว่าคงมีไม่มากและกรณีเจ้าศุขเกษมซึ่งไม่ใช่ no name ที่ไหน ผมเชื่อว่าคนต้องรู้กันทั่ว เพราะนอกจากจะมีพ่อเป็นบุคคลสำคัญของเมืองเชียงใหม่แล้วเจ้าศุขเกษมยังเป็นคนหน้าตาดี มีหรือที่พวกเจ้านายหรือบ่าวไพร่จะไม่รู้และจะไม่พูดถึงเรื่องนี้ เผลอ ๆ มีการเชิญพวกขุนนางสยามมาร่วมงานเลี้ยงส่งเสียด้วยซ้ำ

สรุปก็คือพวกขุนนางสยามที่อยู่ในเชียงใหม่ต้องรู้เรื่องนี้ นั่นหมายความว่าสยามที่กรุงเทพฯ ก็ต้องรู้ด้วยเช่นกัน อีกอย่างผมไม่เคยเห็นกฎระเบียบที่อ้างว่าลูกหลานเจ้านายเชียงใหม่ต้องขออนุญาตสยามก่อนเมื่อจะออกไปเรียนต่างแดน เห็นมีแต่อ้าง ๆ กันแต่ก็ไม่มีหลักฐานยืนยัน ถ้าใครมีช่วยส่งให้ผมด้วย จักขอบพระคุณยิ่ง

ทั้งอาจารย์ธเนศวร์และคุณปราณีต่างก็อ้างว่า การที่เจ้าแก้วนวรัฐส่งลูกไปเรียนโดยไม่ขออนุญาตสยามก่อนเลยทำให้สยามไม่พอใจ เพราะเกรงว่าล้านนาจะหันไปฝักใฝ่อังกฤษ แต่เท่าที่ได้สืบค้นมายังไม่พบหลักฐานที่ว่าสยามไม่พอใจ ถ้าสยามไม่พอใจจริงเหตุใดจึงปล่อยให้เจ้าศุขเกษมเรียนอยู่ที่โน่นถึง 5 ปี ทำไมไม่เรียกกลับ ทำไม? และถ้าไม่เรียกกลับเจ้าแก้วนวรัฐก็สามารถทำเรื่องแจ้งให้สยามทราบทีหลังก็ได้ ไม่ใช่ปล่อยไว้ถึง ๕ ปีแล้วสยามค่อยมารู้และเพิ่งมาแสดงความไม่พอใจอย่างนั้นหรือ? ผมว่าไม่ใช่แน่

เรื่องนี้ไม่มีหลักฐานและเป็นไปแทบไม่ได้ อย่าลืมว่าในช่วงเวลานั้นสยามมีตัวประกันที่สำคัญคือเจ้าดารารัศมีอยู่และสยามได้ล้านนาไปครองแล้ว ดังนั้นที่อ้างเหตุผลว่าความรักมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมต้องถูกทำลายนั้นเป็นเพราะอิทธิพลของสยาม ผมว่าเรื่องนี้ไม่มีหลักฐานและเป็นเรื่องที่ไม่จริง อย่างที่ได้เล่ามาแล้วว่าปี พ.ศ. 2442 สยามยึดล้านนาไปแล้ว

แม้จะมีเหตุการณ์ “กบฏพญาปราบ” ที่เชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2445 เพื่อต่อต้านการรวมศูนย์อำนาจของสยามก็ตาม แต่กบฏนี้ก็ไม่มีผลกระทบมากนัก และสยามก็สามารถปราบได้ในเวลาอันสั้น (และต้องรีบจบเรื่องนี้ให้เร็วเพราะเรื่องนี้โยงไปถึงพระบิดาของเจ้าดารารัศมี ซึ่งเป็นพ่อตาของ ร.5 ด้วย) ส่วนเรื่องความรักมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมนั้นเกิดเมื่อ พ.ศ. 2446 หลังเหตุการณ์ปราบกบฏพญาปราบไปแล้ว ดังนั้นข้ออ้างเรื่องสยามไม่พอใจจนส่งผลกระทบต่อความรักของคนทั้งสองก็ไม่จริง แล้วอะไรล่ะคือเหตุที่แท้จริง?

มาถึงตอนนี้ผมใคร่เสนอประเด็นต่อไปนี้ให้พิจารณา ผมคิดว่ารักอมตะเรื่องนี้มีคุณค่าไม่ต่างจากความรักของหนุ่มสาวทั่วไป รักแรกย่อมยิ่งใหญ่และแรงเหมือนกันทั้งนั้น แต่ที่ดูพิเศษกว่าคู่อื่นๆ ก็เพราะเรื่องนี้มีลักษณะทั้ง “แตก” และ “ต่าง” อันเป็นคุณสมบัติของ “โครงเรื่อง” นิยายเศร้ารันทดต่างหาก ซึ่งคุณปราณีก็ใช้โครงเรื่องนี้มานำเสนอทั้งใน “เพ็ชร์ลานนา” และ “ชีวิตรักเจ้าเชียงใหม่” ซึ่งประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง เพราะคนเชื่อกันมากจริงๆ แม้ว่าเรื่องจะไม่ค่อยจริงก็ตาม

ความ “แตก” เป็นลักษณะเด่นของนิยายรักอมตะ คือเป็นรักที่ต้องพรากจากกัน เป็นการจากกันทั้งๆ ที่ยังรักกันอยู่และมีชีวิตอยู่ ซึ่งมันกระชากอารมณ์ได้ดีนักเชียว คนจะประทับใจในรักอย่างนี้ ไม่เช่นนั้น โรมิโอ-จูเลียต พระลอ หรือแม้แต่สาวเครือฟ้า จะยังฮิตติดอันดับหรือ

ประเด็นต่อมาที่ผมอยากเสนอก็คือความ “ต่าง” ผมว่าประเด็นนี้แหละที่เป็นเหตุให้รักของมะเมี๊ยะ-ศุขเกษมต้อง “แตก” ออกจากกัน เหตุไม่ใช่อยู่ที่สยามหรืออังกฤษดังที่ได้อ้างกันมา แต่อยู่ที่ความ “ต่าง” นี้ต่างหาก  ความ “ต่าง” ที่ว่านี้ก็คือ

ความเป็นพม่า ความเป็นไพร่ ความเป็นคนจน

อาจารย์เบน แอนเดอร์สัน ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์แห่งคอร์แนล ได้ชี้ให้เห็นว่า “ความเป็นพม่า” เป็นสิ่งต้องห้ามในสังคมไทย ถ้าจะนับกันจริงๆ แล้วละก็สมัยรัตนโกสินทร์นี่แหละที่ความรู้สึกนี้ดูจะรุนแรงมาก ไม่เชื่อลองไปอ่าน “นิราศรบพม่าที่ท่าดินแดง” ของกรมพระราชวังบวรฯ ดูก็จะทราบถึงทัศนคตินี้ เรามักไม่ค่อยได้ยินใครอ้างว่าบรรพบุรุษเป็นพม่า ซึ่งความจริงแล้วมีไม่น้อย (ไม่เชื่อไปถามตระกูล “พานิชพันธุ์” หรือ “อุปโยคิน” ดู) ส่วนใหญ่ถ้าบรรพบุรุษเป็นพม่าก็จะเลี่ยงว่าเป็นมอญหรือไทใหญ่แทน เรื่องนี้น่าจะจริงนะครับ

ล้านนาซึ่งพึ่งสยามเพื่อปลดแอกจากพม่า (แต่ยินดีมาสวมแอกใหม่ที่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์เดียวกันคือสยาม) ได้แสดงความจงรักภักดีต่อสยามมาโดยตลอด สิ่งหนึ่งที่แสดงออกก็คือการไม่ชอบพม่าตามสยามด้วย พม่าจึงเป็นบุคคลต้องห้ามทางการเมืองของล้านนา (แต่ไม่ใช่ทางเศรษฐกิจ) นี่มองผ่านสายตาของผู้ปกครองล้านนานะครับ ไม่ใช่ระดับชาวบ้านทั่วไป เพราะในความจริงแล้วมีคนพม่าอยู่ในล้านนาจำนวนมากส่วนหนึ่งมีสายสัมพันธ์ที่ดีกับพวกเจ้า โดยเฉพาะพวกพม่าที่รวยๆ ก็อย่าง “อูโพด่อง” พ่อค้าไม้ชาวมะละแหม่งที่ใกล้ชิดกับเจ้าแก้วนวรัฐ จนได้เป็นผู้ดูแลเจ้าศุขเกษมอย่างที่ได้เล่าให้ฟังแล้ว

แต่พวกเจ้านายฝ่ายเหนือก็ต้องแสดงตนว่ามีระยะห่างพอสมควรกับชาวพม่าเหล่านี้ เพื่อจะทำให้สยาม (หรือตนเอง) พอใจ การที่ลูกหลานเจ้านายอย่างเจ้าศุขเกษมจะไปเอาคนพม่ามาเป็นเมียคงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะจะแสดงว่ามีความ “ใกล้” กับ “พม่า” มากเกินไป เรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับอังกฤษ เป็นเรื่อง “พม่า” ล้วนๆ เป็นเรื่องทัศนคติที่ถูกสร้างมาว่าพม่านั้นเป็นศัตรูของล้านนา (และสยาม) การรักกับลูกหลานศัตรูเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ plot เรื่องก็ไม่ต่างจากโรมิโอ-จูเลียตหรือพระลอแต่อย่างใด แต่
ความเป็นพม่าอย่างเดียวก็ยังพอรับได้ แต่มะเมี๊ยะดันมีคุณสมบัติเพิ่มอีก 2 ประการ คือ ไพร่และจน

ผมคิดว่าความเป็นไพร่และยังจนอีกนั่นแหละคือตัวการสำคัญที่ทำให้มะเมี๊ยะไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัวของเจ้าศุขเกษม พวกเจ้าถือว่าตนมีทั้งยศถาบรรดาศักดิ์อีกเงินทอง มีหรือที่จะรับสะใภ้ที่เป็นไพร่และจนอย่างมะเมี๊ยะ หนำซ้ำยังเป็นพม่าอีก คนอย่างนี้จะเป็นได้อย่างมากก็แค่หม่อมหรืออีหนูตัวเล็กๆ เท่านั้น

แต่ผมว่าตอนนั้นเจ้าศุขเกษมคงหลงรักมะเมี๊ยะจนสุดใจ ก็มันเป็นรักแรกนี่ครับใครๆ มันก็หลงใหลได้ปลื้มเหมือนปลาได้น้ำใหม่ ชายหนุ่มอายุ 20 หญิงสาวอายุ 15 ทั้งหล่อทั้งสวย โลกนี้ยังต้องการอะไรอีกเล่า เจ้าศุขเกษมคงต้องการให้มะเมี๊ยะเป็นเมียออกหน้าออกตา คือเป็นเบอร์หนึ่ง อันนี้ผมเดานะ ก็อย่างที่บอกแล้วว่าคุณสมบัติอย่างมะเมี๊ยะนี้ถ้าจะฝืนเอาให้ได้จริงๆ อย่างมากก็คงเป็นแค่หม่อมที่ไม่ออกหน้าออกตา พูดง่ายๆ ก็คือเมียน้อย แต่เจ้าศุขเกษมคงไม่ต้องการเช่นนั้น เรื่องนี้ก็เลยต้องเจอทางตัน และทางตันที่ว่านี้ก็อยู่ในคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐนั่นเอง ไม่ใช่สยามหรืออังกฤษที่อยู่ไกลโพ้นแต่อย่างใด

มีประเด็นที่น่าสังเกตอีกอย่าง เรื่องนี้ถูกเปิดเผยโดยคุณปราณีไม่ใช่พวกเจ้า หลายครั้งที่ผมได้สอบถามเรื่องนี้กับพวกเจ้า ดูพวกเขาไม่ค่อยอยากจะพูด ไม่รู้ทำไม อาจเป็นเพราะเรื่องที่คุณปราณีนำเสนอนั้นแม้จะไม่ได้กล่าวหาพวกเจ้าตรงๆ ก็ตาม แต่พวกเจ้าก็มีส่วนเป็น “ผู้ร้าย” ด้วย ที่ทำให้ความรัก “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” ต้องสิ้นสลาย แม้แต่แวดวงว่านเครือของเจ้าด้วยกันเอง ชื่อเจ้าศุขเกษมก็ไม่เคยได้ยินใครเอ่ยถึง เพิ่งมาเข้าใจเมื่อได้ข้อมูลจากเจ้าดวงเดือนซึ่งท่านอ้างว่าท่านรู้เรื่องนี้จากเจ้าพ่อเจ้าแม่ของท่านอีกที ท่านบอกว่า

“ได้ข่าวจากเชียงตุงว่า…ไปเฮียนหนังสือมันก็บ่เฮียน ไปเมาสาวเหียะ ถ้ามีลูกมีเต้าจะเยี๊ยะจะได เพราะว่าเขาต้องมาสืบความเป็นเจ้าหลวงต่อนะ มันบ่เฮียนหนังสือ เอามันกลับมาเหียะ ก็เลยเอากลับมา มาก็มากันสองคน คนหนึ่งปลอมเป็นผู้ชายมาคือมะเมี๊ยะ มาแล้วก็บอกว่ามันอยู่กันบ่ได้เลย ก็เลยบอกว่าให้เอาอีมะเมี๊ยะไปส่งเหียะ”

แม้ว่าข้อมูลบางอย่างจะผิด อย่างเรื่อง “สืบความเป็นเจ้าหลวงต่อ” ซึ่งเรื่องนี้ อาจารย์ธเนศวร์ได้ชี้แจงแล้วและผมก็ได้สำทับอีกทีว่าไม่จริง แต่ที่เจ้าดวงเดือนเล่านี้ก็ให้ข้อมูลบางอย่างที่ไม่มีใครมองมาก่อนนั่นคือตัว “เจ้าศุขเกษม” เอง ถ้าพฤติกรรมเป็นอย่างที่เจ้าดวงเดือนเล่า ผมว่าพวกเจ้าคงไม่ค่อยชอบเจ้าศุขเกษมเท่าไร เพราะทำให้เจ้าด้วยกันเสียชื่อ ถ้าผนวกข้อมูลเรื่องการเสียชีวิตของเจ้าศุขเกษมที่อาจารย์จีริจันทร์ค้นคว้ามาบอกว่าเสียชีวิตด้วยโรคเส้นประสาทพิการเรื้อรังอันเกิดจากการดื่มเหล้ามาก เจ้าศุขเกษม
คงเป็นคนประเภทรวย หล่อ และ playboy น่าดู

เข้าใจว่าหลังจากแยกกับมะเมี๊ยะ คงเสียอกเสียใจสักพัก ไม่กี่วันก็หาย อันนี้ผมว่าเองนะไม่ต้องถามหาหลักฐานหรอก วิเคราะห์เอาจากนิสัยของคนประเภทนี้ และผมเชื่อว่าน่าจะเป็นอย่างนี้จริงๆ ท่านลองคิดดูซิถ้ารักมะเมี๊ยะมากขนาดนั้น (ตามที่ถ่ายทอดในหนังสือคุณปราณี) ทำไมไม่แอบหนีไปหามะเมี๊ยะที่มะละแหม่งล่ะ เหตุเกิดปี พ.ศ. 2446 กว่าจะลงไปรับตำแหน่งเป็นเจ้าอุตรการโกศลและแต่งกับเจ้าบัวชุม
ที่กรุงเทพฯ ในปี พ.ศ. 2448 นั้น เวลาผ่านไปตั้ง 2 ปีแน่ะ ทำไมไม่มีอะไรเกิดขึ้น ผมว่าช่วง 2 ปีนี้เย็นๆ คงเมาอยู่แถวถนนท่าแพนั่นแหละ ไหนๆ ก็เดาแล้วก็ขอเดาต่ออีกว่าคงมีอีหนูมาแนบกายอยู่ไม่ขาด ก็ออกจะหล่อขนาดนั้น

สรุปก็คือว่าเจ้าศุขเกษมนั่นแหละที่เป็นตัวการที่ทำให้ครอบครัวไม่พอใจเลยทำให้ความรักระหว่างเขากับมะเมี๊ยะไม่ได้รับการยอมรับ ประกอบกับนิสัยที่ไม่เอาไหนของเจ้าศุขเกษม ทำให้เรื่องราวของเจ้าศุขเกษมเป็น “ประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้ลืม” ในกลุ่มพวกเจ้าๆ ทั้งหลาย และอาจด้วยเหตุนี้กระมังที่ทำให้เจ้าศุขเกษมต่อมาได้รับตำแหน่งเพียง “เจ้าอุตรการโกศล” ซึ่งไม่ใช่ตำแหน่งสำคัญในระบบ “เจ้าขัน 5 ใบ” ของเชียงใหม่

แม้ว่าตอนนั้นเจ้าแก้วนวรัฐผู้บิดาจะได้ครองตำแหน่ง “เจ้าอุปราช” (เมื่อปี พ.ศ. 2447) แล้วก็ตาม ในขณะที่เจ้าเลาแก้วบุตรของเจ้าอินทวโรรสสุริยวงศ์เจ้าเมืองเชียงใหม่ ซึ่งลงไปรับตำแหน่งพร้อมกัน ได้รับตำแหน่ง “เจ้าราชบุตร” ซึ่งเป็น 1 ใน 5 ของระบบ “เจ้าขัน 5 ใบ” ถือว่ามีตำแหน่งที่สำคัญกว่าเจ้าศุขเกษม ดังนั้นที่อ้างกันว่าเจ้าศุขเกษมจะได้ครองเมืองเชียงใหม่ต่อนั้นก็ไม่จริง ที่ไม่จริงเพราะดูจากตำแหน่งที่ได้กับประวัติความไม่ได้เรื่องของเจ้าศุขเกษม อันนี้ผมว่าเองล้วนๆ นะครับ จะเรียกว่ากล่าวหาเจ้าศุขเกษมก็ได้ ถ้าไม่จริงช่วยมาเข้าฝันด้วย

มาถึงตอนนี้ก็ขอย้ำอีกทีว่า “มะเมี๊ยะ-ศุขเกษม” นั้นมีตัวตนจริง เรื่องรักรันทดก็เป็นเรื่องจริง แต่ที่ไม่จริงแน่ ๆ ก็คือความยิ่งใหญ่ของเรื่องนี้และเหตุที่อ้างว่าเป็นตัวการทำลายความรักของทั้งสอง ความจริงแล้วทั้งหมดทั้งปวง “เกิดขึ้น-ตั้งอยู่-ดับไป” ภายในคุ้มของเจ้าแก้วนวรัฐนั่นแหละ เป็นเรื่องความขัดแย้งกันระหว่างครอบครัวเจ้าศุขเกษมกับมะเมี๊ยะ และความขัดแย้งระหว่างเจ้าศุขเกษมเองกับครอบครัว โดยเฉพาะตัวเจ้าศุขเกษมเองน่าจะถูกมองใหม่ให้มากกว่านี้ ใครมีปัญญาช่วยมองต่อให้ที ผมมองได้แค่นี้แหละ

แต่ที่ผมมองเห็นได้ชัดมากๆ ก็คือ คุณปราณี ศิริธร ณ พัทลุง เขียนนิยายอิงประวัติศาสตร์เรื่องนี้ได้เก่งจริง ๆ ถ้าไม่เก่งจริงมีหรือที่คนอย่างผมจะหลงเชื่อมาตั้ง 20 กว่าปี

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาจากบทความ ” มะเมี๊ยะ : เรื่องเก่าที่ต้องมองใหม่” เขียนโดยสมฤทธิ์ ลือชัย ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับธันวาคม 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 ธันวาคม 2559