ผู้เขียน | ปดิวลดา บวรศักดิ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
มีข่าวออกมาเป็นระยะ ๆ ว่าด้วยเรื่องราคา “โกโก้” ที่พุ่งขึ้นสูง จนสามารถทำ All time high หรือแปลง่าย ๆ คือขึ้นทำราคาที่จุดสูงสุดใหม่เป็นประวัติการณ์ เนื่องจากความต้องการโกโก้ที่เพิ่มสูงมากขึ้น แต่ไม่สามารถผลิตให้เพียงพอได้ ช่วงนี้ของอะไรที่เกี่ยวข้องกับ “โกโก้” หรือ “ช็อกโกแลต” ก็พานต้องขึ้นราคาหรือเปลี่ยนคุณภาพสินค้าเพื่อควบคุมต้นทุนให้ได้มากที่สุด
แต่ “โกโก้” ไม่ได้เพิ่งมีค่าหรือราคาสูงแค่ในช่วงนี้ เพราะเจ้าเม็ดสีน้ำตาลที่มีต้นตอมาจากฝัก ถือเป็นผลผลิตที่สำคัญในทุกยุคทุกสมัย
ก่อนที่ โกโก้ จะกลายมาเป็นเม็ดหรือผงที่เราเห็นอย่างทุกวันนี้ ที่จริงแล้วคือการเอาเมล็ดที่อยู่ในฝักบนต้นโกโก้ ซึ่งอยู่แถบอเมริกากลางและอเมริกาใต้ มาหมัก ตากแห้งและคั่ว
ไม่ปรากฏว่าใครเป็นคนคิดค้นการทำโกโก้ให้กินได้ แต่พบหลักฐานว่าหม้อและภาชนะของชาวโอลเมก เมื่อประมาณ 1,500 ปีก่อนคริสตกาล มีสารกระตุ้นแบบเดียวกับที่พบในช็อกโกแลตกับชา
คาดกันว่าพวกเขาน่าจะใช้โกโก้ทำเป็นเครื่องดื่มสำหรับเฉลิมฉลอง แต่เนื่องด้วยไม่พบหลักฐานที่แน่ชัด จึงทำให้ไม่ทราบว่าเขาใช้โกโก้ผสมกับวัตถุดิบที่หาได้ หรือใช้แค่ส่วนรอบนอกที่เป็นสีขาว ๆ ในฝักกันแน่
ทว่าวันเวลาผ่านไป ความรู้ของชาวโอลเมกก็ได้เข้าไปสู่คนแถบอเมริกากลาง หรือชาวมายา ที่ปรากฏหลักฐาน บันทึกถึงการใช้ช็อกโกแลตเพื่อกินและบูชา ทั้งยังใช้เป็นเงินตราเพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งของ
โกโก้ในสังคมของ ชาวมายา เรียกได้ว่าสำคัญอย่างมาก มันไม่ได้สงวนไว้เฉพาะกลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและอำนาจ แต่คนทั่วไปก็สามารถเข้าถึงได้ ว่ากันว่าหลาย ๆ บ้านของ ชาวมายา มักจะบริโภคโกโก้ในทุกมื้ออาหาร โดยลักษณะจะข้นเหนียว เป็นฟอง ผสมกับพริก น้ำผึ้งหรือน้ำ
ด้าน ชาวแอซเท็ก ก็ไม่น้อยหน้า ใช้โกโก้เพื่อการสดุดียิ่งกว่าหลายเท่า ทั้งยังเชื่อว่าโกโก้เป็นสิ่งที่พระเจ้าของพวกเขามอบให้ เหมือนกับเผ่ามายา เผ่าแอซเท็กมักนำเอาไปทำเป็นเครื่องดื่มร้อน เย็นและเผ็ด บรรจุไว้ในภาชนะหรูหรา ส่วนใหญ่มีเพียงกลุ่มชนชั้นสูงเท่านั้นที่เข้าถึงได้ ส่วนคนทั่วไปมักจะได้กินในวันแต่งงานหรือการฉลองสำคัญ ๆ เท่านั้น
ชาวแอซเท็ก เรียกสิ่งเหล่านี้ว่า “xocolatl” หรือช็อกโกแลตของชนชาวแอซเท็ก และยังใช้โกโก้เป็นเงินตราเหมือนกับชาวมายา ทั้งในวัฒนธรรมของพวกเขาก็ยกให้โกโก้มีมูลค่ามากกว่าทอง!!
กระทั่งเข้าสู่ช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16 ช็อกโกแลตก็หลั่งไหลเข้าสู่สเปน มีตำนานเล่าขานมากมาย บ้างก็ว่าเป็นเพราะว่า คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) นำเข้ามา บ้างก็ว่า เฮอร์นัน คอร์เตส (Hernan Cortés) นักสำรวจชาวสเปน หรือบางคนก็เชื่อว่าเป็นกลุ่มนักบวช
อย่างไรก็ตาม ช็อกโกแลตก็กลายมาเป็นสิ่งที่คนในราชสำนักสเปนชื่นชอบ และนำเข้าเจ้าโกโก้เหล่านี้ ขณะที่ประเทศอื่น ๆ ในยุโรปก็เริ่มรู้จักและหลงใหลในโกโก้และช็อกโกแลตเช่นเดียวกัน
พวกเขาเริ่มนำช็อกโกแลตมาทำเป็นเครื่องบริโภคในสไตล์ของตัวเอง เช่น นำช็อกโกแลตร้อนไปผสมกับน้ำตาลอ้อย, อบเชย หรือวัตถุดิบที่สามารถหาได้
กระทั่งช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ช็อกโกแลตก็เข้าสู่ประเทศอเมริกา และในสงครามปฏิวัติอเมริกา ช็อกโกแลตกลายมาเป็นเสบียงและค่าจ้างแทนเงิน รวมถึงเป็นเสบียงของทหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย
แล้วโกโก้แบบผงและช็อกโกแลตบาร์ อย่างที่เราเห็นและชอบกินกันในปัจจุบันเริ่มต้นตอนไหน?
โกโก้แบบผงเกิดขึ้นในปี 1828 จากการคิดค้นของ คอนราด แวน ฮูเต็น (Coenraad van Houten) ชาวดัตช์ เจ้าของแบรนด์โกโก้ชื่อดัง อย่าง Van Houten (แวน ฮูเต็น) ต่อมาช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 เทรนด์การกินโกโก้ผสมกับน้ำเปล่าก็กลายเป็นนม จน เนสเล่ (Nestlé) บริษัทอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพและโภชนาการ ก็พัฒนาทำผลิตภัณฑ์ เอานมมาใส่ในช็อกโกแลต จนกลายมาเป็นแมสพรอดักส์
ล่วงเลยมาที่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 บริษัทชั้นนำเรื่องช็อกโกแลตมากมายที่เรารู้จัก เช่น Cadbury (แคดเบอรี), เฮอร์ชีส์ (Hershey’s) ก็เริ่มผลิตสินค้าเกี่ยวกับช็อกโกแลตออกมามากมายให้เราได้อิ่มอร่อยกัน
จนตอนนี้ “ช็อกโกแลต” ก็ยังเป็นขนมและรสชาติที่ทุกคนหลงใหลและหลงรัก ด้วยความหวานหอมติดขมหน่อย ๆ มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร นั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม :
- พบ “ช็อกโกแลต 118 ปี” ฟื้นเหตุควีนวิกตอเรียขู่ บ.ช็อกโกแลตชื่อดัง ผลิตแจกทหาร
- นักบินผู้ดร็อป “ช็อกโกแลต” ในเยอรมนี แทนที่ทิ้งระเบิด ห้วงควันหลง “สงครามโลกครั้งที่ 2”
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
https://www.history.com/topics/ancient-americas/history-of-chocolate
https://goodnowfarms.com/a-brief-history-of-cacao/
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 เมษายน 2567