นักบินผู้ดร็อป “ช็อกโกแลต” ในเยอรมนี แทนที่ทิ้งระเบิด ห้วงควันหลง “สงครามโลกครั้งที่ 2”

เกล ฮาลวอร์เซน นักบินสหรัฐ ดร็อปช็อกโกแลต เบอร์ลิน เยอรมนี สหรัฐอเมริกา
เกล ฮาลวอร์เซน ในวัย 98 ปี อดีตนักบินขนส่งที่ดร็อปขนมผ่านร่มชูชีพขนาดเล็กจากเครื่องบินขนส่งมาให้เยาวชนในเบอร์ลิน ภาพจากวิดีโอขณะกลับไปเยี่ยมเบอร์ลิน เมื่อพฤษภาคม 2019 ภาพจาก JUAN MAZA / AFPTV / AFP

ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดวิกฤตตึงเครียดในฝั่งตะวันตกที่เรียกกันว่า “สงครามเย็น” โดยเฉพาะใน “เยอรมนี” ซึ่งเป็นสงครามระหว่าง 2 โลก นำโดย สหรัฐอเมริกา และ สหภาพโซเวียต 

ช่วงเวลานั้น เยอรมนี อยู่ภายใต้การยึดครองของฝ่ายสัมพันธมิตร ราวเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1948 สหภาพโซเวียตปิดกั้นเส้นทางคมนาคมทั้งทางรถไฟ, ถนน และคลอง ในเส้นทางที่เข้าถึงเบอร์ลิน ฝั่งสัมพันธมิตรจึงร่วมกันปฏิบัติการใช้เครื่องบินลำเลียงเสบียงทางอากาศมาให้พลเมืองในเบอร์ลิน

ปฏิบัติการครั้งนั้นมีนายทหารซึ่งเป็นที่รู้จักจากการดร็อป “ขนม” จากเครื่องบินให้สำหรับเด็ก จนได้รับขนานนามว่า “นักบินผู้ลำเลียงขนมแห่งเบอร์ลิน” (Berlin Candy Bomber)

สงครามเป็นเรื่องน่าเศร้าอีกหนึ่งประการที่มนุษยชาติต้องเผชิญหน้า ท่ามกลางการสู้รบอันนำมาซึ่งความสูญเสียอย่างรุนแรง ยังมีเรื่องราวบรรดาวีรกรรมของทหารกล้าในช่วงสงครามเป็นที่กล่าวขานกันยาวนาน บางวีรกรรมหาใช่เรื่องเกี่ยวกับการเข่นฆ่าศัตรู แต่เป็นเรื่องเชิงมนุษยธรรม อย่างเช่นกรณี เกล ฮาลวอร์เซน (Gail Halvorsen) นักบินแห่งกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นผู้ปล่อยเสบียงที่เป็นขนมจากเครื่องบินขนส่งมาให้เยาวชนเยอรมัน ในช่วงสหภาพโซเวียตปิดกั้นเส้นทางเข้าเบอร์ลินระหว่างปี 1948-1949

พื้นเพเดิมของเกล ไม่ได้เกี่ยวข้องกับทหาร เขาเติบโตท่ามกลางไร่นาการเกษตรแถบยูทาห์ (Utah) และเข้าร่วมกองทัพอากาศในปี 1942 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เกลปฏิบัติหน้าที่ขับเครื่องบินขนส่งเสบียงในอังกฤษ, อิตาลี และแอฟริกาเหนือ ภายหลังสงครามจบลงเขายังทำหน้าที่ในกองทัพ จนกระทั่ง ค.ศ. 1948 เกลได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ลำเลียงเสบียงมาส่งในเบอร์ลินโดยการลำเลียงทางอากาศ จากข้อมูลในเว็บไซต์ของ PBS หรือสื่อสาธารณะแห่ง สหรัฐอเมริกา ระบุว่า เขาได้รับแจ้งก่อนหน้าเริ่มภารกิจไม่ถึงชั่วโมง ซึ่งเจ้าตัวเองเล่าว่า เขาคิดว่าภารกิจจะใช้เวลาไม่กี่สัปดาห์

ช่วงเริ่มต้น ฝ่ายสัมพันธมิตรไม่มีเครื่องบินเพียงพอสำหรับปฏิบัติภารกิจแบบต่อเนื่อง เมื่อช่วงต้นเดือนกรกฎาคม 1948 เกลเริ่มต้นทำหน้าที่ เขาต้องขึ้นบิน 3 รอบต่อวัน มีเวลานอนพักผ่อน 7 ชั่วโมง เมื่อถึงกลางเดือน เกลอยู่ในช่วงเวลาที่น่าหดหู่ จึงตัดสินใจไปสำรวจในเบอร์ลินด้วยตัวเอง ด้วยความคิดว่าอยากเก็บภาพบรรยากาศในพื้นที่เอาไว้ ก่อนถูกส่งตัวกลับภูมิลำเนา เพราะคิดว่าภารกิจนี้ไม่น่าจะใช้เวลานาน

ขณะกำลังบันทึกภาพเครื่องบินขึ้น-ลงจอดในพื้นที่ เขาสังเกตว่ามีกลุ่มเด็กจ้องมองเขาผ่านรั้วหนามที่ทำจากเหล็ก เกลให้สัมภาษณ์ว่า เด็กคนหนึ่งกล่าวกับเขาว่า “อย่าทิ้งพวกเรา ถ้าเราสูญเสียอิสรภาพ เราจะไม่มีวันได้มันกลับมา” 

หลังจากได้สัมผัสกับเด็กๆ ในเบอร์ลินแล้ว เขารู้สึกเห็นใจ จึงหยิบหมากฝรั่งในกระเป๋ากางเกงมาแจกเด็กๆ เกลให้สัมภาษณ์กับสื่ออเมริกันว่า เขามีหมากฝรั่ง 2 ชิ้น และฉีกครึ่งแบ่งให้เด็กๆ เด็กที่ฉวยหมากฝรั่งได้ฉีกห่อกระดาษออกเป็นชิ้นเล็กๆ และส่งต่อกันไปให้คนที่ไม่ได้หมากฝรั่ง

“พวกเด็กที่ได้รับเศษกระดาษห่อ หยิบกระดาษขึ้นมาแตะจมูกและสูดกลิ่นของมัน”

เกลรู้สึกเห็นใจ เขาสัญญาว่าจะกลับมาใหม่พร้อมลูกกวาดและขนมที่เยอะกว่าเดิมในวันรุ่งขึ้น เกลเล่าว่า เด็กๆ สงสัยว่า พวกเขาจะแยกแยะได้อย่างไรว่าเครื่องบินลำไหนเป็นของเกล

เกลตอบกลับไปว่า เมื่อเครื่องบินของเขาใกล้มาถึง เขาจะขยับปีกเครื่องบินไปมา เมื่อกลับมาถึงฐานทัพ เกลเริ่มต้นดัดแปลงร่มชูชีพโดยพันสายเข้ากับมุมผ้า และเกี่ยวสายเข้ากับขนมแท่ง วันต่อมาเขาทำตามที่สัญญาไว้ และดร็อปขนมอย่างเช่นแท่งช็อกโกแลตลงในพื้นที่

เกลรู้ดีว่าการกระทำของเขาละเมิดระเบียบกองทัพอากาศ เมื่อผู้บังคับบัญชาทราบเข้า เกลโดนว่ากล่าวยกใหญ่ อย่างไรก็ตาม เรื่องราวของเกลเข้าหูหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเบอร์ลิน นายพลวิลเลียม เทิร์นเนอร์ (General William Tunner) อนุมัติให้เขาดำเนินการต่อ โดยเรียกขานชื่อภารกิจว่า “Operation Little Vittles” หรือ “เสบียงจิ๋ว” โดยมีกลุ่มนักบินใช้ผ้าและขนมที่หาซื้อจากร้านขายของในพื้นที่

ภารกิจเล็กๆ นี้เริ่มกระจายไปในฝูงบิน ขณะที่ภูมิลำเนาของเกลก็มีส่วนร่วมด้วย โดยนายทหารชั้นสูงประกาศความต้องการใช้ผ้าสำหรับมาทำภารกิจ สมาคมร้านอาหารและเครื่องดื่มของชาวอเมริกันบริจาคขนมจำนวนมากเพื่อให้มาใช้ในภารกิจ

ตั้งแต่นั้นจนถึงเดือนมกราคม ข้อมูลจากเว็บไซต์ PBS บรรยายว่า มีเสบียงที่ถูกดร็อปมาพร้อมร่มราว 250,000 ชิ้น นำส่งในเบอร์ลิน ภารกิจนี้สร้างความมั่นใจให้ชาวเบอร์ลินว่า พวกเขาจะไม่ถูกทอดทิ้ง

รายงานข่าวเผยว่า ในเบอร์ลินมีโรงเรียนที่ตั้งชื่อว่า Halvorsen อีกทั้งยังมีเครื่องบินลำเลียงซึ่งตั้งชื่อตามเขา เพื่อเป็นเกียรติกับการปฏิบัติหน้าที่ของเกล

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Gail Halvorsen. PBS. Online. Access 10 JUL 2020. <https://www.pbs.org/wgbh/americanexperience/features/airlift-gail-halvorsen/>

David Lauterborn. Interview with Gail Halvorsen, the Berlin Candy Bomber. Historynet. Online. Access 10 JUL 2020. <https://www.historynet.com/interview-with-gail-halvorsen-the-berlin-candy-bomber.htm>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563