ฮิโระ โอโนดะ ทหารญี่ปุ่นซ่อนในป่าร่วม 30 ปี เพราะไม่เชื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 จบแล้ว

ฮิโระ โอโนดะ (คนที่ 2 จากซ้าย) เดินออกจากป่าที่เขาหลบซ่อนบนเกาะ Lubang ในฟิลิปปินส์เป็นเวลา 29 ปี หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง ภาพถ่ายเมื่อ 11 มีนาคม ค.ศ. 1974 (ภาพจาก JIJI PRESS / AFP)

ฮิโระ โอโนดะ (Hiroo Onoda) คือ ทหารญี่ปุ่น ที่ร่วมรบในสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อญี่ปุ่นออกประกาศยอมแพ้สงครามในเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1945 ทหารญี่ปุ่นส่วนใหญ่ย่อมยอมวางอาวุธในการทำสงครามเช่นกัน แต่ในข้อเท็จจริงแล้ว ทหารญี่ปุ่นคนสุดท้ายที่ยอมวางอาวุธลงก็ต้องรอเวลาผ่านไปนานร่วม 30 ปี ทหารนายนี้ก็คือโอโนดะ ซึ่งส่งมอบดาบของเขาให้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ปี 1974 เป็นพิธีเชิงสัญลักษณ์แสดงถึงการยอมแพ้

หลังจากการประกาศยอมแพ้ในเดือนสิงหาคม วันที่ 2 กันยายน 1945 มาโมรุ ชิเงมิตซึ (Mamoru Shigemitsu) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น (ในขณะนั้น) ในนามของพระจักรพรรดิ ลงนามในเอกสารยอมจำนนอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อกลุ่มสัมพันธมิตร ถือเป็นสัญลักษณ์ของการสิ้นสุดลงของสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างเป็นทางการ

Advertisement

แต่กว่า ฮิโระ โอโนดะ นายทหารญี่ปุ่นจะยอมรับว่าข่าวนี้เป็นความจริงก็ในช่วงต้นปี 1974 และออกมาจากที่ซ่อนในป่าบนพื้นที่ของฟิลิปปินส์ เขากลายเป็นข่าวที่เป็นกระแสไปทั่วโลกเลยทีเดียว

รายงานข่าวเผยว่า หลังจากโอโนดะเข้าร่วมกองทัพญี่ปุ่นเมื่อปี 1942 หลังจากนั้น 2 ปี ก็อยู่ในเกาะพื้นที่ของฟิลิปปินส์มาตลอด เดิมทีเขาอยู่ร่วมกับทหารอีก 3 ราย แต่ท้ายสุดเหลือแค่เขาคนเดียวที่ยังมีชีวิตรอดออกมาจากพื้นที่ได้

โอโนดะ เกิดเมื่อ ค.ศ. 1922 ในวากายามะ ทางตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น เป็นบุตร 1 ใน 7 คนของ ทาเนจิโร (Tanejiro) และ ทามาเอะ โอโนดะ (Tamae Onoda) เมื่ออายุ 17 ปีก็เข้าทำงานกับบริษัทด้านการค้าในอู่ฮั่นของจีน และเข้าร่วมกองทัพญี่ปุ่นในปี 1942 เขาผ่านการเรียนจากศูนย์ฝึกทางการทหารด้านข่าวกรอง ศึกษาการรบรูปแบบกองโจร ศิลปะการป้องกันตัว การปฏิบัติภารกิจลับ โฆษณาชวนเชื่อ ปรัชญา ศิลปะ และประวัติศาสตร์

ฮิโระ โอโนดะ เดินทางมาที่เกาะ Lubang ซึ่งเป็นพื้นที่ทางยุทธศาสตร์ โดยได้รับคำสั่งให้ทำลายการก่อสร้างท่าเรือและการคมนาคมทางอากาศ เพื่อรบกวนการบุกโจมตีของฝ่ายสหรัฐฯ แต่นายทหารระดับสูงบนเกาะหันมาสนใจกับการเตรียมอพยพเคลื่อนย้ายชาวญี่ปุ่นมากกว่าปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว

กระทั่งกองกำลังของสหรัฐฯ เข้ามาถึงเกาะเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 1945 และชาวญี่ปุ่นเดินทางออกจากพื้นที่ไปหมด หรือถูกสังหารไปแล้ว พลตรีโยชิมิ ทานิกูจิ (Maj. Yoshimi Taniguchi) ออกคำสั่งสุดท้ายให้โอโนดะ “ปักหลักและสู้ ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เราจะกลับมาหา” 

เขาปฏิบัติตามคำสั่ง กระทั่ง 29 ปีผ่านไป ผู้บังคับบัญชาซึ่งเกษียณอายุแล้ว และประกอบอาชีพขายหนังสือเดินทางกลับมาที่ Lubang ตามคำสั่งของทางการ เพื่อทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับนายทหารเมื่อหลายสิบปีก่อน และปลดปล่อยโอโนดะจากคำสั่งนั้น

ฮิโระ โอโนดะ เอาชีวิตรอดจากการรับประทานกล้วยและมะพร้าว รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศหลายแห่งเผยตรงกันว่า บางครั้งเขายังสังหารคนท้องถิ่นไปหลายราย เพราะเข้าใจผิดคิดว่าเป็นศัตรู ภายหลังเขาได้รับการอภัยโทษจากประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ในเวลานั้น คือ นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส โดยในพิธีประกาศยอมรับความพ่ายแพ้ โอโนดะ สวมชุดทหารแห่งจักรพรรดิ ซึ่งมีอายุร่วม 30 ปีแล้ว และยื่นดาบประจำกายที่ยังอยู่ในสภาพดีให้ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (ประธานาธิบดีคืนดาบให้กับโอโนดะ)

โอโนดะ ยินยอมออกมาจากที่หลบซ่อน เพราะมีอดีตผู้บังคับบัญชาซึ่งถึงกับต้องเดินทางไปที่จุดหลบซ่อนของเขาบนเกาะ Lubang ทางตะวันตกเฉียงเหนือของฟิลิปปินส์ เพื่อเกลี้ยกล่อมให้เขาเชื่อว่าสงครามจบลงแล้ว แต่ก่อนหน้านั้น เขาเชื่อมาตลอดว่าความพยายามชักจูงเขาให้ออกจากที่หลบซ่อน เป็นแผนการที่มีรัฐบาลในโตเกียวซึ่งฝักใฝ่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาอยู่เบื้องหลัง

ครั้งแรกที่โอโนดะ เดินทางกลับญี่ปุ่น เขาได้รับการต้อนรับอย่างล้นหลามจากฝูงชน ครอบครัวและผู้ปกครองซึ่งอยู่ในวัยชราภาพแล้ว มีพาเหรดเฉลิมฉลอง แน่นอนว่า สำหรับชาวญี่ปุ่นแล้ว โอโนดะ เป็นตัวอย่างของการยึดมั่นในหน้าที่

เมื่อถูกถามว่า เขาคิดอะไรตลอดเวลาที่อยู่ในฟิลิปปินส์ โอโนดะ ตอบว่า

“ไม่มีเรื่องอื่นนอกจากทำหน้าที่ของตัวเองให้สำเร็จ” 

ในบันทึกความทรงจำของโอโนดะ เขาเล่าว่า คำสั่งสุดท้ายที่เขาได้รับเมื่อปี 1945 คือ “ปักหลักและสู้” ด้วยค่านิยมแบบฉบับชาวญี่ปุ่นที่ให้คุณค่ากับการพลีชีพก่อนการยอมจำนน โอโนดะ จึงยังปักหลักในพื้นที่ขณะที่กองทัพญี่ปุ่นถอนตัวไปเมื่อกองทัพสหรัฐฯ บุกเข้ามาถึงอาณาเขต

โอโนดะ ได้รับเงินบำนาญจากทางการทหารตามระเบียบ และเซ็นสัญญามูลค่า 160,000 ดอลลาร์สหรัฐเพื่อเขียนบันทึกความทรงจำ ใช้ชื่อว่า “No Surrender: My-Thirty Year War.”

โอโนดะ ซึ่งได้รับการฝึกฝนด้านการรบแบบกองโจรมาอย่างดี ร่วมกับเพื่อนทหารอีก 3 นาย พบเอกสารที่มีเนื้อหาว่าสงครามจบลงแล้ว พวกเขาไม่เชื่อเอกสารนี้และคิดว่าเป็นการโฆษณาชวนเชื่อจากฝ่ายตรงข้าม กลุ่มของโอโนดะ เริ่มสร้างกระท่อมไม้ไผ่ ลักขโมยข้าวและอาหารอื่นๆ จากหมู่บ้านใกล้เคียง ฆ่าวัวเพื่อนำเนื้อมาเป็นอาหารประทังชีวิต แม้สภาพภูมิประเทศบริเวณนั้นจะเต็มไปด้วยอุปสรรคอย่างเรื่องอุณหภูมิร้อนจัด หนู และยุง แต่พวกเขายังไม่ยอมแพ้ เย็บซ่อมเครื่องแบบและบำรุงรักษาปืนประจำกายให้อยู่ในสภาพดี

โอโนดะ ถือว่าเป็นคนสุดท้ายที่ยังคงอยู่ในป่า ขณะที่รายหนึ่งมอบตัวกับกองกำลังฟิลิปปินส์เมื่อปี 1950 ส่วนอีก 2 ราย New York Times รายงานว่า ถูกตำรวจยิงเสียชีวิตในปี 1954 และ 1972

โอโนดะ ถูกพบโดยโนริโอะ ซูซูกิ (Norio Suzuki) นักเรียนที่ออกตามหาเขาในปี 1974 ทีแรกโอโนดะ ยังปฏิเสธคำขอให้เดินทางกลับของซูซูกิ จนซูซูกิเดินทางกลับมาอีกครั้งพร้อมภาพถ่าย ส่วนทางการญี่ปุ่นก็ส่งคณะตัวแทนประกอบด้วยญาติพี่น้องของโอโนดะ และอดีตผู้บังคับบัญชาของโอโนดะ เพื่อเกลี้ยกล่อมเขาและปลดปล่อยเขาจากหน้าที่อย่างเป็นทางการ

หลังจากเดินทางกลับญี่ปุ่น รายงานข่าวจากสื่อต่างประเทศระบุว่า เขาพยายามใช้ชีวิตเหมือนคนทั่วไป เรียนขับรถ ออกเดินทาง และทำกิจกรรมเกี่ยวกับการเต้น แต่เขาไม่สามารถปรับตัวเข้ากับญี่ปุ่นในยุคสมัยใหม่ได้ โอโนดะ จึงเลือกเดินทางไปบราซิลในปี 1975 และประกอบอาชีพชาวนา ปีต่อมาเขาแต่งงานกับ Machie Onuku ครูสอนพิธีชงชา

โอโนดะ และภรรยาเดินทางกลับญี่ปุ่นอีกครั้งเมื่อปี 1984 จากนั้นก็เปิดแคมป์การใช้ชีวิตและเอาตัวรอดในธรรมชาติสำหรับเยาวชนในประเทศญี่ปุ่น เขายังเดินทางกลับไปที่เกาะที่มั่นของเขาอีกครั้งในปี 1996 และมอบเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐให้กับโรงเรียนที่นั่น

กระทั่งในปี 2014 มีรายงานข่าวว่า โอโนดะ ในวัย 91 ปีเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในญี่ปุ่นจากภาวะหัวใจล้มเหลว

อันที่จริงแล้ว โอโนดะ ไม่ใช่นายทหารญี่ปุ่นเพียงกลุ่มเดียวที่คิดว่าสงครามยังไม่จบลง ภายหลังการประกาศยอมแพ้สงคราม รายงานข่าวจาก New York Times ระบุว่า ยังมีทหารญี่ปุ่นหลายพันนายกระจายตัวอยู่ในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแปซิฟิกตอนใต้ หลายคนถูกจับหรือไม่ก็เดินทางกลับ ขณะที่อีกหลายร้อยรายหลบซ่อนตัว ไม่ยอมมอบตัวยอมแพ้ ส่วนหนึ่งฆ่าตัวตาย หลายคนเสียชีวิตจากโรคภัยหรือไม่ก็ขาดอาหาร มีผู้รอดชีวิตจำนวนหนึ่งไม่เชื่อข้อมูลในเอกสารเรื่องการประกาศยอมแพ้สงคราม

ในช่วงเวลานั้นมีทหารญี่ปุ่นที่หลบหนีการค้นหาของอเมริกันและฟิลิปปินส์อยู่ด้วย นอกเหนือจากโอโนดะ ยังมี Shoichi Yokoi ทหารญี่ปุ่นซึ่งถูกพบในเกาะกวม เมื่อปี 1972

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

McCurry, Justin. “Hiroo Onoda: Japanese soldier who took three decades to surrender, dies”. Guardian. Online. Published 17 JAN 2014. Access 1 APR 2021. <https://www.theguardian.com/world/2014/jan/17/hiroo-onoda-japanese-soldier-dies>

Robert D. McFadden. “Hiroo Onoda, Soldier Who Hid in Jungle for Decades, Dies at 91”. New York Times. Online. 17 JAN 2014. Access 1 APR 2021. <https://www.nytimes.com/2014/01/18/world/asia/hiroo-onoda-imperial-japanese-army-officer-dies-at-91.html>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 1 เมษายน 2564