สงครามจิตวิทยาของอเมริกา-ไทยต่อญี่ปุ่น ในช่วงท้ายสงครามโลกครั้งที่ 2

ภาพการเดินสวนสนามของ นร.สห.2488 ร่วมกับเสรีไทยสายอื่นๆ ณ ถนนราชดำเนิน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2488

เข้า พ.ศ. 2488 ฝ่ายสัมพันธมิตรเริ่มมีชัยชนะเหนือสมรภูมิยุโรป จึงหันความสนใจมายังสมรภูมิเอเชียมากขึ้น ส่งผลต่อการดำเนินงานของ ‘เสรีไทย’ จนทำให้ได้รับการสนับสนุนหลายด้านจากฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อต่อต้านญี่ปุ่นในไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เสรีไทยได้รับการฝึกด้านการทหาร แต่ขาดแคลนอาวุธ ฝ่ายสัมพันธมิตรจึงมีหน้าที่ส่งอาวุธให้เป็นหลัก โดยวิธีการในระยะแรกคือ การทิ้งร่มอาวุธยุทธภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น ปืนยาว ปืนสั้น ปินกล ปืนครก ลูกระเบิดมือ กระสุนปืน ฯลฯ แต่เมื่อภายหลังเสรีไทยสร้าง ‘สนามบินลับ’ แล้วเสร็จ วิธีการนี้จึงค่อยหมดไปตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2488

กลางเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2488 กองทัพสหรัฐอเมริกาโดย O.S.S. (Office of Strategic Services คือหน่วยข่าวกรองและหน่วยปฎิบัติการสายลับของสหรัฐอเมริกาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2) ส่งฝูงบิน B-24 จำนวน 18 เครื่อง มาดำเนินการทิ้งร่มลงกลางสนามหลวง ร่มเหล่านี้ไม่ใช่อาวุธ แต่เป็นร่มเวชภัณฑ์ ปฏิบัติการในครั้งนี้เป็นเป็น ‘สงครามจิตวิทยา’ ของ O.S.S. มีจุดมุ่งหมายเพื่อท้าทายญี่ปุ่น

ปรีดี พนมยงค์ส่งหน่วยสารวัตรทหารของหลวงสังวร สุวรรณชีพ ดำเนินการเก็บร่มเวชภัณฑ์ที่ตกลงมา ปรากฏว่าเก็บยังไม่หมดเพราะถูกประชาชนเยื้อแย่ง จึงเหลือเพียง 4 ร่ม ญี่ปุ่นได้พบเข้าจึงนำร่มเวชภัณฑ์กลับไปยังกองบัญชาการ ซึ่งทำให้ญี่ปุ่นโกรธไทยมาก

จากเหตุการณ์นี้ ญี่ปุ่นคงทราบดีแล้วว่าในไทยมีขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นอย่างเปิดเผย สอดคล้องกับ เหตุการณ์ราวเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2488 หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นในพม่าเริ่มถูกรุกไล่จนต้องล่าถอยกลับเข้าสู่ไทย นายพลจือยิ เซลิน เสนาธิการกองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาประจำอยู่ในฐานทัพญี่ปุ่นในไทย ได้เขียนหนังสือเรื่อง ‘นายพลลี้ภัย’ เล่าเหตุการณ์ไว้ว่า

“ทางกองบัญชาการสูงสุดของเขตยุทธการแห่งภาคเอเชียอาคเนย์ กองทัพในไซ่ง่อนได้รายงาน 2 สัปดาห์ก่อน (เดือนมิถุนายน พ.ศ. 2488) ได้แย้มข่าวอันทำให้ตื่นตระหนกตกใจโดยทั่วไปว่า ภายในประเทศไทยอาจมีเหตุการณ์ยุ่งเหยิงอุบัติขึ้นได้…มีข่าวลือรั่วไหลออกมาว่า กองบัญชาการทหารสูงสุดกำลังใคร่ครวญที่จะดำเนินการปลดอาวุธฝ่ายนั้น (ไทย) อยู่แล้ว”

“เหตุการณ์ยุ่งเหยิง” สะท้อนว่าญี่ปุ่นต้องระแคะระคายการดำเนินการของเสรีไทยอย่างแน่นอน ซึ่งเสรีไทยเคยวางแผนการลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่นครั้งใหญ่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2488 แต่แผนดังกล่าวถูกฝ่ายสัมพันธมิตรสั่งชะลอไว้เสียก่อน และที่ว่า “กำลังใคร่ครวญที่จะดำเนินการปลดอาวุธ” ก็แสดงให้เห็นว่า ญี่ปุ่นไม่ไว้ใจไทยอีกต่อไป

ปลายเดือนมิถุนายนนั้น นายพลโท อากิโต นากามูระ ผู้บัญชาการทหารญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ได้เชิญข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และบุคคลสำคัญในคณะรัฐบาลไทยไปกินเลี้ยง ฝ่ายไทยอยู่ในลักษณะ ‘เตรียมพร้อม’ รับมือสถานการณ์ แต่ไม่ปรากฏว่าเกิดเหตุการณ์รุนแรง เพราะญี่ปุ่นได้ระงับ ‘แผนการ’ ที่ไม่ให้จับกุมบุคคลสำคัญของรัฐบาลไทยที่มากินเลี้ยงในงานวันดังกล่าวไว้เสียก่อน

ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ญี่ปุ่นค้นพบสนามบินลับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่เสรีไทยสร้างไว้สนับสนุนปฏิบัติการของฝ่ายสัมพันธมิตร แต่ปรีดี พนมยงค์ ดำเนินการ ‘สงครามจิตวิทยา’ โดยบอกกับญี่ปุ่นว่า สนามบินที่ญี่ปุ่นพบนั้นเป็นสนามบินที่ไทยสร้างขึ้นเพื่อฟื้นฟูการบินพาณิชย์ในเขตที่การคมนาคมยังไม่สะดวก ซึ่งไทยไม่ค่อยได้ใช้สนามบินดังกล่าวมาก่อน

ต่อมา ญี่ปุ่นดำเนิน ‘สงครามจิตวิทยา’ ด้วยการเชิญนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยราว 400 คน ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศกับผู้แทนหนังสือพิมพ์ในไทยไปชมป้อมค่ายของทหารญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม เพื่อแสดงแสนยานุภาพอันเข็มแข็งของกองทัพญี่ปุ่นในไทย นายพลโท อากิโต นากามูระยังได้กล่าวต่อนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของไทยว่า อังกฤษกับสหรัฐอเมริกาได้ส่งพลร่มลงมาและใช้เงินจ้างคนไทยตามชายแดนสร้างสนามบินขึ้นลับ ๆ เพื่อไว้โจมตีญี่ปุ่น

ผลจากสงครามจิตวิทยาครั้งนี้ สละ ลิขิตกุล นักหนังสือพิมพ์ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์วันนั้นบันทึกไว้ว่า

“การแสดงการฝึกอาวุธของกองทัพญี่ปุ่นเพื่อจะให้นักหนังสือพิมพ์ได้เห็นเพื่อแพร่ข่าวถึงวิธีกองทัพญี่ปุ่นในประเทศไทยจะใช้ยุทธวิธีป้องกัน ทั้งนี้เพื่อให้ข่าวนั้นได้แพร่หลายไปถึงฝ่ายตรงข้าม ปรากฏว่าได้ผล…ทำให้ฝ่ายสัมพันธมิตรชะลอการบุกประเทศไทย หรือวางแผนการบุกประเทศไทยใหม่เพื่อให้แนบเนียนและรัดกุม และขณะเดียวกันก็ทำให้หน่วยเสรีไทยในประเทศไทย ซึ่งเตรียมการจะประสานงานกับกองทัพพันธมิตรที่จะบุกประเทศไทย ต้องใช้เวลาเพิ่มประสิทธิภาพในการที่จะต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นอีก”

เดือนกรกฎาคม การคุกคามของทหารญี่ปุ่นต่อรัฐบาลไทยมีมากขึ้น โดยทั้งสองฝ่ายต่างเตรียมสร้างแนวป้องกัน โดยการสร้างป้อมค่ายเพื่อเป็นแนวต้านทาน พร้อมทั้งมีข่าวลือแพร่สะพัดในหมู่ประชาชนว่า ทหารไทยกับทหารญี่ปุ่นจะรบกัน รัฐบาลควง อภัยวงศ์ จึงได้เสนอพระราชบัญญัติกำหนดวิธีปฏิบัติแก่บุคคล ซึ่งเผยแพร่ข่าวอันเป็นการกระทำให้เสียสัมพันธไมตรีต่อสภาฯ ซึ่งสภาฯ ได้อนุมัติเพื่อให้ตำรวจหรือสารวัตรทหารได้รายงานพฤติการณ์แก่บุคคลที่เผยแพร่ข่าวลือเพื่อจัดการกับบุคคลนั้น

แม้ว่ารัฐบาลไทยจะพยายามแก้ไขปัญหาความตึงเครียดระหว่างญี่ปุ่นกับไทย ซึ่งเกิดขึ้นตลอดในช่วงท้ายของสงคราม แต่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 ญี่ปุ่นพ่ายแพ้สงคราม จึงเป็นผลให้สถานการณ์ที่อาจเกิดการสู้รบระหว่างไทยกับญี่ปุ่นจึงยุติลงโดยปริยาย

‘สงครามจิตวิทยา’ ที่เกิดขึ้นทั้งจากกรณีร่มเวชภัณฑ์ของสหรัฐอเมริกาและการนำชมป้อมค่ายของทหารญี่ปุ่นมีส่วนสำคัญให้เกิดความตึงเครียดในประเทศไทย การปฏิบัติงานใด ๆ ของเสรีไทยก็ดี ของฝ่ายสัมพันธมิตรก็ดี ของฝ่ายญี่ปุ่นก็ดี ต้องชะลอออกไปจวบจนสิ้นสุดสงครามจึงไม่มีการสู้รบกันขึ้น ก็นับเป็นโชคดีไม่น้อย

 


อ้างอิง :

อัญชลี สุขดี. (2525). ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2484-2488). วิทยานิพนธ์ อักษรศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.


เผยแพร่เนื้อหาในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2563