ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
กว่าทหารคนหนึ่งจะได้เป็น “นายพล” ออกรบมากี่สนาม ต้องเสี่ยงชีวิตจากการต่อสู้ และโรคภัยในพื้นที่อย่างไร? เรื่องที่จะนำเสนอต่อไปนี้เป็นบันทึกจากประสบการณ์นายทหารใน สงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ไปสงครามจริง รบจริง เจ็บจริง ที่ชื่อ “ทหารเหลือใช้สงคราม” โดย พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์
พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์ นายทหารที่แรกเข้ารับราชการเพียง 3 วัน ที่ออกไปสนาม [รบ] ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ตลอดระยะเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2484-2489) รับคำสั่งไปปฏิบัติราชการหลายๆ พื้นที่ตั้งแต่ ปราจีนบุรี, วัฒนานคร, ฝาง, เชียงใหม่, เชียงราย ฯลฯ และหลายพื้นที่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พระตะบอง, ไพลิน, เชียงตุง ฯลฯ ซึ่งในที่นี้ขอนำเสนอเฉพาะเหตุการณ์เมื่อสงครามยุติ วันที่ทหารเดินทางกลับบ้านว่า [จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำโดยผู้เขียน]
“รุ่งเช้าเราเดินมุ่งหน้าไปเมืองแพร่ แรมคืนที่เมืองแพร่คืนหนึ่ง แล้วเดินทางต่อไปยังเด่นชัย 1 คืน…การเดินทางครั้งนี้มีลูกเมียของทหารบกบางคนติดตามมาด้วยตั้งแต่เมืองยอง พวกเขาพากันเดินตามขบวนทหารมาด้วย ได้มีการสัญญาว่าจะพาขึ้นรถไฟซึ่งเป็นของแปลกในชีวิต พอมาถึงเด่นชัยเขาเห็นทางรถไฟยาวเหยียดก็พากันตื่นเต้น
พอขบวนรถไฟมาถึง บนรถมีทหารญี่ปุ่นนั่งอยู่อย่างสบาย แต่ทหารไทยซึ่งเป็นเจ้าของประเทศกลับต้องเดินนับไม้หมอนต่อไป ผู้หญิงผิดหวังก็ร้องไห้โฮ…
ระหว่างนี้ผมมีทหารเจ็บป่วยมากขึ้น เมื่อเดินไม่ไหวจริงๆ พอถึงสถานีใดมีรถไฟหยุดก็ให้ขึ้นบนหลังคารถไฟโดยสารไปลงพิษณุโลก ส่วนผมพร้อมทั้งผู้บังคับหมวดทั้งสองคนก็เดินรั้งท้ายไว้ตลอดเวลา…
พอบรรลุถึงอุตรดิตถ์…ผมเหลือบไปเห็นรถไฟขบวนยาวจอดอยู่ที่สถานีเข้าไปถามเขาว่ารถจะออกกี่โมง ได้รับคำตอบว่าเย็นๆ พอตกบ่ายผมก็ชวนพรรคพวกที่เหลือระเห็จขึ้นไปบนหลังคา สักครู่มีพนักงานรถไฟมาขะเย้อแขย่งถามว่า ที่นั่งบนหลังคามีบัญชีพลหรือเปล่า ผมกัดลิ้นจนห้อเลือดตอบออกไปไม่ได้เพราะเกรงจะมีเรื่อง…
…ผมพยายามคิดในแง่ดีว่า การนั่งรถไฟแบบนี้ก็ดีเหมือนกันเพราะเย็นสบาย ไม่ร้อนอบอ้าวเหมือนอย่างในรถ พนักงานขับรถแกก็ดีใจหาย พอผ่านสะพานแกกลัวว่าพวกเราจะถูกราวสะพานตีคอหัก แกจะชะลอรถพร้อมเปิดหวูดยาวหลายครั้ง เราก็หมอบลงติดกับหลังคา
รถไฟขบวนนี้ถึงพิษณุโลกเลยเที่ยงคืนไปแล้ว เราพากันไปรายงานตัวยังกองบังคับการกรมซึ่งอยู่ที่โรงเรียนกลางทุ่งเมื่อตอนตี 1 เสียงผู้ใหญ่ท่านหนึ่งดังมาจากในมุ้งว่า พวกคุณมันโง่ รถว่างมีทำไมไม่อาศัยเขามาก่อน ทำไมมาเอาจนป่านนี้ ผมฟังดูแล้วเลือดขึ้นหน้า การที่ผมพยายามทนเดินคุมท้ายขบวน เพื่อเก็บตกทหารทุกคนจนมาถึงที่โดยปลอดภัย พร้อมทั้งอาวุธยุทโธปกรณ์ครั้งนี้ มันเป็นความโง่ของผมจริงๆ หรือนี่
พิษณุโลกต้อนรับพวกเราอย่างสาสม นั่นคือโรคอหิวาต์กำลังระบาด มีคนตายวันละหลายๆ คน ขณะที่เรากำลังรอขบวนรถไฟพิเศษลำเลียงไปสู่นครราชสีมาอยู่นั้น คืนวันหนึ่งมีคนมาบอกผมว่า มีทหารป่วยท้องร่วง เมื่อจัดการส่งไปรักษาที่สุขศาลาแล้ว ตอนเช้ามืดก็ได้ข่าวว่าเขาสิ้นใจเสียแล้ว โธ่เอ๋ยอุตส่าห์เดินทางมาแรมเดือน กำลังจะเห็นหัวกระไดบ้านอยู่แล้วกลับไม่ได้เห็น
…รถไฟขบวนพิเศษพาเรามาถึงโคราช พอลงรถไฟ บรรดาทหารทั้งสีขาว เขียว ดำ และน้ำตาล ก็เดินขยายปีกกาไปตามสนามบิน แลดูเหมือนพวกอินเดียนแดงในหนังกำลังยกไพร่พลเข้าโจมตี พวกเขาตรงรี่ไปยังกองร้อยที่เขาเคยนอนเมื่อหลายปีมาแล้ว พอถึงกองร้อยก็ปรากฏว่ามีทหารรุ่นใหม่อยู่เต็มหมดแล้ว ไม่มีใครยอมรับรู้ทหารพวกเราเลย แม้แต่ชื่อหน่วยของเราเขาก็ไม่รู้จัก เพราะเขาเปลี่ยนชื่อเป็นอื่นไปแล้ว
ผมตัดสินใจเรียกทหารเดนตายเข้าแถวแล้วกล่าวว่า พวกเรามาถึงบ้านกันแล้ว เราได้ลำบากลำบนกันมามากนักต่อนักแล้ว ขอให้เชื่อฟังกันอีกสักครั้งเป็นครั้งสุดท้าย จะปล่อยพวกเราไปบ้านวันนี้แหละ อีก 7 วัน ขอให้ทุกคนมาพบกันที่บ้านจ่ากองร้อย และขอให้บอกญาติพี่น้องของทหารที่ตายให้มารับกระดูกและเงินฝากได้ พอขาดคำพวกเขาก็เอาอาวุธ กระสุน ไปเก็บที่บ้านจ่ากองร้อยแล้วหายวับไปเหมือนปีศาจ
เมื่อไม่มีที่พัก ไม่มีที่ทำงาน ผมก็อาศัยบ้านจ่ากองร้อยเป็นบ้าน และสำนักงานเสร็จ บ้านของผมที่นี่ไม่มี เพราะย้ายมาแต่ชื่อเท่านั้น การยุบหน่วยและการทำบัญชีส่งคืนของหลวงไม่ใช่งานง่ายๆ ระหว่างนี้มีญาติของทหารตายมารับกระดูกและเงินฝากกันตลอดเวลา บางรายผมก็พลอยเสียน้ำตาไปกับเขาด้วย เมื่อครบ 7 วันตามสัญญา ทหารเดนตายของผมก็มากันครบจำนวน จัดการทำใบปลดให้เสร็จเรียบร้อยภายในวันเดียว แล้วพวกเขาก็ร่ำลาไปหมด เหลือผมกับจ่ากองร้อยสองคน…
…ยังยุบหน่วยไม่เสร็จก็มีคำสั่งให้ผมย้ายไปอยู่หน่วยยึดครองทหารญี่ปุ่นที่นครนายกอีก นี่เขาเกณฑ์ให้ผมออกสนามอีกแล้ว แต่ผมยังไม่ได้ไปรายงานตัว เพราะงานยังไม่เสร็จ ก็มีคำสั่งตามมาอีกฉบับหนึ่งให้ผมย้ายจากหน่วยที่นครนายกเข้ากรุงเทพฯ เป็นอันว่าสิ้นสุดภาคสนามของผมเสียที
ผมได้ออกสนามตั้งแต่ออกรับราชการเป็นนายทหารได้เพียง 3 วัน เมื่อครั้งมียศเป็นว่าที่ร้อยตรี กลับจากสนามเมื่อมียศเป็นร้อยเอก ระหว่างอยู่ในสนาม พ.ศ. เปลี่ยนไป 6 ครั้ง บัดนี้ผมกลับมาแล้ว…
ผมเหลืออะไรติดมือมาบ้าง นอกจากเชื้อมาลาเรียในสายเลือดที่กว่าจะรักษาให้หายขาดก็ใช้เวลาหลายปีต่อมา
สิ่งเดียวที่ผมเหลือก็คือความสำนึกที่ว่า อันมนุษย์เราที่ดิ้นรนกันไปทุกวันนี้ แท้จริงสิ่งที่เราต้องการก็คือ ที่อยู่พอซุกหัวนอน เครื่องนุ่งห่มพอป้องกันความร้อนหนาวและความอาย อาหารพอประทังชีวิต และสุดท้าย ยารักษาโรคเพื่อไม่ให้ ตายก่อนวัยอันสมควรเท่านั้น และเท่านั้นเอง”
อ่านเพิ่มเติม :
หมายเหตุ : บทความนี้เขียนเก็บความจาก พลตรี ถาวร ช่วยประสิทธิ์. ทหารเหลือใช้สงคราม, สำนักพิมพ์สารคดี พิมพ์ครั้งที่ 2 กุมภาพันธ์ 2549
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 กุมภาพันธ์ 2564