สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจไม่จบ หาก “รัฐประหาร” สำเร็จ ก่อนการประกาศยอมแพ้ของจักรพรรดิ

ฮิโรชิมา ระเบิดปรมาณู สงครามโลกครั้งที่ 2
ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับฮิโรชิมาหลังถูกถล่มด้วยระเบิดปรมาณูในวันที่ 6 สิงหาคม 1945 (AFP PHOTO / AFP FILES)

สงครามโลกครั้งที่ 2 อาจไม่จบ หาก “รัฐประหาร” สำเร็จ ก่อนการประกาศยอมแพ้ของจักรพรรดิ

สงครามโลกครั้งที่ 2 ทหารญี่ปุ่นได้ชื่อว่ามีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว อาจเป็นด้วยการปลูกฝังค่านิยมยอมตายไม่ยอมแพ้ทำให้หลายคนยอมพลีชีพเพื่อเล่นงานฝ่ายตรงข้าม (ไม่ต่างจากระเบิดฆ่าตัวตายในยุคปัจจุบัน เพียงแต่ทุกวันนี้คำว่าพลีชีพถูกห้ามใช้เสียแล้ว) หรือยอมสังหารตัวเองดีกว่าถูกจับเป็นเชลย ทำให้สงครามภาคพื้นเอเชียแปซิฟิคไม่จบลงง่ายๆ แม้กองทัพญี่ปุ่นเริ่มเสียท่ามาตั้งแต่กลางปี 1942 (.. 2485) หลังพ่ายให้กับกองทัพสหรัฐฯ ในสมรภูมิมิดเวย์

ญี่ปุ่นยังไม่ยอมแพ้ จนกระทั่งสามปีผ่านไป สมรภูมิสู้รบของญี่ปุ่นได้ถอยร่นจากพื้นที่ยึดครองต่างๆ มาสู่ดินแดนมาตุภูมิ ผู้นำฝ่ายพลเรือนและราชสำนักบางส่วนเริ่มเคลื่อนไหวเพื่อหาทางยุติสงคราม โดยหวังให้ญี่ปุ่นยังคงสิทธิประโยชน์ในต่างแดนอันเป็นผลจากการทำสงครามไว้บ้าง แต่เสียงของพวกเขาก็ไม่อาจต้านทานอำนาจของฝ่ายทหารที่ยังยืนยันมั่นคงว่าใช้แผ่นดินญี่ปุ่นเป็นสมรภูมิตัดสินแพ้ชนะ

Advertisement

ความสูญเสียครั้งใหญ่ในบ้านเกิดของญี่ปุ่น เกิดขึ้นในเดือนสิงหาคม ปี 1945 (.. 2488) สหรัฐฯ ได้ทิ้งระเบิดปรมาณูลูกแรกถล่มฮิโรชิมา ในวันที่ 6 สิงหาคม จากนั้นอีก 3 วันที่นางาซากิ

ระเบิดปรมาณูคร่าชีวิตผู้คนนับแสนในระยะเวลาเพียงอึดใจ บวกกับโซเวียตที่ญี่ปุ่นเคยคาดหวังว่าจะเป็นคนกลางที่จะช่วยในการเจรจากับฝ่ายสัมพันธมิตรได้หันมาประกาศสงครามญี่ปุ่นในช่วงเวลาเดียวกัน กลายเป็นสถานการณ์บีบคั้นบรรดาผู้นำระดับสูงของญี่ปุ่นในการตัดสินใจชะตากรรมครั้งสำคัญของประเทศ

เชลยสงครามชาวญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ถูกจับกุมหลังสมรภูมิแห่งโอกินาวะ (AFP PHOTO/THE NATIONAL ARCHIVES/NORRIS G. MCELROY)

การถกเถียงที่หาข้อสรุปไม่ได้ ทำให้เคนตาโร ซูซูกิ (Kentaro Suzuki) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นทำในสิ่งที่ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีคนใดเคยทำมาก่อน ด้วยการขอพระราชวินิจฉัยจากองค์จักรพรรดิ

พระองค์ทรงตอบกลับมาว่าถึงเวลาที่เราจะต้องยอมรับในสิ่งที่ยอมรับไม่ได้เราจำต้องกลืนน้ำตาตัวเอง และตัดสินใจอนุมัติข้อเสนอให้ยอมรับคำประกาศของฝ่ายสัมพันธมิตร

ระหว่างที่การดำเนินการเพื่อการยุติสงครามดำเนินไป กลุ่มทหารบางส่วนยังคงเคลื่อนไหวต่อต้านการตัดสินพระทัยของพระจักรพรรดิ นำโดย เคนจิ ฮาตานากะ (Kenji Hatanaka) นายทหารหนุ่ม แต่แผนของเขาไม่ได้รับการสนับสนุนผู้นำระดับสูงของกองทัพ โดยเฉพาะ โคเรชิกะ อะนะมิ (Korechika Anami) รัฐมนตรีสงครามที่เคยดึงดันไม่ยอมรับความพ่ายแพ้มาตลอด แต่ต้องยอมเปลี่ยนใจเมื่อได้รับฟังพระราชวินิจฉัยของพระจักรพรรดิ ด้วยความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์

กองทัพทั้งมวลต้องปฏิบัติตามพระราชวินิจของพระองค์ญี่ปุ่นจะต้องเผชิญกับช่วงเวลาที่ยากลำบาก แต่ไม่ว่าจะยากเข็ญเพียงใด ผมขอให้พวกคุณทำหน้าที่ให้ดีที่สุดเพื่อปกป้องรักษาหัวใจของประเทศเอาไว้ อะนะมิกล่าวกับบรรดาทหารที่เคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการยอมจำนนในสงคราม และประกาศว่าหากผู้ใดไม่พอใจกับการเปลี่ยนใจไปสนับสนุนการยอมจำนนก็ให้ฆ่าเขาเสีย

คำประกาศของรัฐมนตรีสงคราม ทำให้ฝ่ายที่ต้องการก่อรัฐประหารขาดผู้นำระดับสูงของกองทัพสนับสนุน เหลือเพียงฮาตานากะ กับสหายศึกใกล้ชิดอีกจำนวนหนึ่งที่ยังมุ่งมั่นไม่ลดละ

การพยายามยึดอำนาจที่รู้จักกันในชื่อ “เหตุการณ์คิวโจ” (Kyujo Incident) เกิดขึ้นในคืนวันที่ 14 สิงหาคม พ.. 2488 หลังพระจักรพรรดิทำการบันทึกเสียงคำประกาศยอมรับเงื่อนไขตามประกาศแห่งปอตสดัมของฝ่ายสัมพันธมิตร ก่อนเผยแพร่ทางวิทยุในวันที่ 15 สิงหาคม (ซึ่งเนื้อหาในคำประกาศของพระจักรพรรดิใช้ถ้อยคำตามแบบราชพิธี ซึ่งประชาชนทั่วไปยากจะเข้าใจ ประกอบกับคุณภาพของการกระจายเสียงที่ไม่ดีนัก ทำให้เกิดความสับสนในขณะนั้นว่า ญี่ปุ่นยอมแพ้แล้วหรือยัง)

ฝ่ายกบฏพยายามขัดขวางการกระจายเสียงคำประกาศของพระจักรพรรดิ จึงบุกยึดพระราชวัง ฮาตานากะได้ฆ่าทาเคชิ โมริ (Takeshi Mori) นายพลแห่งกองกำลังทหารรักษาพระองค์ซึ่งปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือ จากนั้นจึงปลอมแปลงคำสั่งของโมริ เพื่อดึงกำลังทหารรักษาพระองค์มาใช้ในการยึดพระราชวัง และตัดระบบการสื่อสารจากภายนอก ก่อนใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อค้นหาบันทึกเสียงคำประกาศของพระจักรพรรดิ

ฮาตานากะได้เข้าควบคุมอาคาร NHK และข่มขู่เจ้าหน้าที่สถานีให้เขาใช้วิทยุเพื่อป่าวประกาศต่อชาวญี่ปุ่น แต่โมริโอะ ทาเทโนะ (Morio Tateno) เจ้าหน้าที่ของ NHK พยายามหน่วงเหนี่ยวเวลาจนกระทั่งกองกำลังบูรพาที่เข้ามาควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ ติดต่อเข้ามายังสถานีเพื่อเกลี้ยกล่อมให้ฮาตานากะยอมแพ้

เมื่อรู้ว่าความพยายามของตนไม่อาจประสบผลสำเร็จโดยแน่แล้ว ฮาตานากะขอโอกาสที่จะอธิบายต่อสาธารณชนถึงสาเหตุที่เขาต้องก่อการกบฏต่อองค์จักรพรรดิ แต่เขาถูกปฏิเสธ

ฮาตานากะและพวกยอมถอนกำลังออกจาก NHK แต่โดยดี ก่อนที่เขากับผู้สมรู้ร่วมคิดอีกรายจะเดินทางไปยังลานหน้าพระราชวัง เพื่อแจกใบปลิวเรียกร้องให้ประชาชนต่อต้านการยอมจำนน และเพียงราวหนึ่งชั่วโมงก่อนที่สถานีวิทยุจะกระจายเสียงคำประกาศของจักรพรรดิ ฮาตานากะตัดสินใจฆ่าตัวตาย

หากการยึดอำนาจครั้งนั้นประสบความสำเร็จ สงครามโลกครั้งที่ 2 คงไม่ยุติลงง่ายๆ ประชาชนชาวญี่ปุ่นคงต้องทนรับชะตากรรมจากความเลวร้ายของสงครามต่อไป ด้วยผลของการตัดสินใจของคนกลุ่มเล็กๆ ที่เชื่อว่า “ความตายเพื่อชาติ” เป็นสิ่งที่น่าหลงใหลและมีคุณค่าเหนือสิ่งอื่นใด

มาโมรุ ชิเงมิตซึ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่นขณะลงนามในเอกสารยอมจำนนในนามของพระจักรพรรดิ บนเรือรบมิสซูรี เมื่อวันที่ 2 กันยายน 1945 (Naval Historical Center Photho)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

“The Coup Against the Emperor’s Broadcast that Never Was”. Kyodo. <http://www.japantimes.co.jp/news/2015/08/06/national/history/coup-emperors-broadcast-never/#.V8jxrD596ik>

Toland, John (1970). The Rising Sun: The Decline and Fall of the Japanese Empire 1936–1945. New York: Random House


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 17 มีนาคม 2562