“เรือรบยามาโตะ”เรือประจัญบานญี่ปุ่นสุดเกรียงไกร ที่จบลงด้วยความตายกว่า 3,000 ชีวิต

เรือรบยามาโตะ เรือรบ ของ ญี่ปุ่น
เรือรบยามาโตะระหว่างการก่อสร้างในฐานทัพเรือคุเระ (Kure Naval Base) เมื่อเดือนกันยายน 1941 By Kure Naval Base [Public domain or Public domain], via Wikimedia Commons

เรือรบยามาโตะ (Yamato) คือหนึ่งในเรือรบที่ทรงอานุภาพมากที่สุดในประวัติศาสตร์กองทัพญี่ปุ่น สร้างชื่อเสียงอันน่าเกรงขามไว้ในสมรภูมิสงครามโลกครั้งที่ 2 “เรือรบยามาโตะ” ถูกมองว่าไม่มีวันจม แต่สุดท้ายกลับถูกถล่มอย่างหนัก และดำดิ่งสู่ห้วงมหาสมุทรไปพร้อมกับชีวิตของผู้บัญชาการเรือรบและลูกเรือรวมกว่า 3,000 ชีวิต ในวันที่ 7 เมษายน ปี 1945

เรือรบยามาโตะ เป็นเรือรบประจัญบาน (เรือรบขนาดใหญ่ติดอาวุธหนักและอุปกรณ์สงคราม เช่น ปืนใหญ่ใช้ในการทำสงครามขนาดใหญ่โดยเฉพาะ) ของกองทัพจักรวรรดิญี่ปุ่น ด้วยความยาว 263 เมตร กว้าง 36.9 เมตร ระวางขับน้ำ 72,800 ตัน ทำให้เรือรบยามาโตะเป็นเรือประจัญบานที่ใหญ่ที่สุด และทรงประสิทธิภาพมากที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยสร้าง ทั้งยังเป็นเรือรบที่มีขนาดใหญ่สุดในโลก ณ ขณะนั้นอีกด้วย

บนเรือรบยามาโตะติดตั้งอาวุธสงครามมากมาย อาวุธหลักได้แก่ปืนใหญ่ขนาด 46 ซม. 9 กระบอก ปืนใหญ่ขนาด 155 มม. 12 กระบอก ปืนขนาด 127 มม. 12 กระบอก ซึ่งติดตั้งอยู่ที่ป้อมปืน 6 ป้อม ป้อมละ 2 กระบอก และปืนต่อสู้อากาศยาน ขนาด 25 มม.อีก 24 กระบอก

โครงการก่อสร้างเรือรบยามาโตะเริ่มขึ้นในทศวรรษ 1930 เมื่อความขัดแย้งระหว่างประเทศพุ่งสูงขึ้น และมีแนวโน้มลุกลามเป็นสงครามใหญ่ ญี่ปุ่นเริ่มมีปัญหาความขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก ประกอบกับกระแสการเมืองในประเทศที่อยู่ภายใต้อิทธิพลกองทัพ ซึ่งมีอุดมการณ์ชาตินิยมสุดโต่ง มุ่งมั่นขยายอำนาจของจักรวรรดิญี่ปุ่นไปทั่วเอเชีย ทำให้โครงการก่อสร้างเรือรบขนาดยักษ์เพื่อใช้ในการต่อสู้และขยายอำนาจ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างมาก

กองทัพญี่ปุ่นรู้ว่าตัวเองไม่มีทรัพยากรมากพอจะผลิตเรือรบจำนวนมากเพื่อต่อกรกับสหรัฐอเมริกาได้ จึงมีแนวคิดว่าเรือรบที่จะสร้างขึ้นมา ต้องสามารถต่อกรกับฝูงเรือรบหลายลำในเวลาเดียวกันได้ และต้องสามารถข่มขวัญศัตรูให้เกรงกลัวได้ด้วย จึงเป็นที่มาของเรือรบอันใหญ่โตมโหฬารลำนี้

กองทัพเริ่มต่อเรือรบยามาโตะในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1937 ปล่อยลงน้ำเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม ปี 1940 และเข้าประจำการในวันที่ 16 ธันวาคม ปี 1941 เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 ในเอเชียอุบัติขึ้น หลังญี่ปุ่นบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล (Pearl Harbor) ในวันที่ 7 ธันวาคม ปี 1941 ไม่นานนัก เรือรบยามาโตะออกปฏิบัติการภารกิจแรกในเดือนมิถุนายน ปี 1942 ในยุทธการหมู่เกาะมิดเวย์ ทำหน้าที่เป็นเรือธงของกองเรือผสมแห่งกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น

ตลอดการทำหน้าที่ในสงครามโลกครั้งที่ 2 เรือรบยามาโตะเป็นเรือธงและเป็นเหมือนสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่ของกองทัพเรือญี่ปุ่น มีส่วนร่วมกับยุทธนาวีหลายครั้ง เช่น ยุทธนาวีทะเลซิบูยัน (Battle of Sibuyan Sea) วันที่ 24 ตุลาคม ปี 1944 ยุทธนาวีช่องแคบซูริกาโอ (Battle of Surigao Strait) วันที่ 25 ตุลาคม 1944 ซึ่งเกิดในทะเลฟิลิปปินส์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนทรัพยากรในการทำสงครามในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 ทำให้กองทัพญี่ปุ่นเริ่มอ่อนแอลงเรื่อย ๆ และตกเป็นฝ่ายเพลี่ยงพล้ำมากขึ้น

วันที่ 26 มีนาคม ปี 1945 กองทัพสหรัฐฯ มีชัยในการบุกยึดเกาะอิโวะจิมะ และเตรียมบุกยึดเกาะโอกินาว่าเป็นที่ต่อไป หากทำสำเร็จจะเป็นการเปิดประตูสู่เกาะหลักของญี่ปุ่น และโอกาสชนะสงครามจะอยู่แค่เอื้อมเท่านั้น

ญี่ปุ่นเริ่มปฏิบัติการโจมตีตอบโต้กองทัพสหรัฐฯ ในโอกินาวาเมื่อวันที่ 7 เมษายน ปี 1945 โดยส่งเรือรบยามาโตะ พร้อมเรือ 9 ลำ และฝูงบินกามิกาเซ่ 355 ลำ เข้าสกัดกั้น ในชื่อ “ปฏิบัติการเท็นโง” (Operation Ten-Go) เพื่อพลีชีพปกป้องแผ่นดินมาตุภูมิจากกองเรือศัตรู ภายใต้การบังคับบัญชาของพลเรือโท เซอิจิ อิโตะ (Seiichi Ito) ผู้บัญชาการกองเรือที่ 2 ซึ่งเป็นกองเรือที่ทำการรบในสมรภูมินี้ กับ นาวาเอก อารุกะ โคซาคุ (Aruga Kosaku) ผู้บังคับการเรือรบยามาโตะ เรือธงในกองเรือที่ 2

ทั้งคู่มีประสบการณ์บัญชาการรบมาแล้วหลายสมรภูมิ เช่นนายพลอิโตะ เคยเป็นผู้บัญชาการเรือลาดตระเวนหนักอาตาโกะ เรือประจัญบานฮารุนะ รวมทั้งเคยเป็นรองเสนาธิการกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่น ส่วนนาวาเอกโคซาคุเคยเป็นผู้บัญชาการเรือพิฆาต ยูกาโอะ เรือพิฆาตฟุโย เรือพิฆาตทาจิคาเสะ และยังเคยเป็นผู้บังคับการกองเรือพิฆาตที่ 4 ร่วมรบในสมรภูมิมิดเวย์มาแล้ว ทั้งสองจึงเป็นแม่ทัพที่มีประสบการณ์การรบมาอย่างโชกโชน จนได้รับความไว้วางใจให้ทำศึกครั้งนี้

แต่แผนการทั้งหมดของกองทัพญี่ปุ่นในปฏิบัติการเท็นโง ถูกฝ่ายสหรัฐฯ ถอดรหัสดักฟังสัญญาณวิทยุได้จนล่วงรู้แผนการทั้งหมด และหาทางรับมือกับปฏิบัติการของกองทัพญี่ปุ่นได้ทันเวลา

การรบในครั้งนี้แผนการของกองทัพเรือจักรวรรดิญี่ปุ่นคือใช้กองเรือรบ 10 ลำ โดยมีเรือรบยามาโตะเป็นเรือธง และฝูงบินกามิกาเซ่พลีชีพในการจมเรือและฝูงบินของกองทัพสหรัฐฯ แต่เมื่อกองทัพสหรัฐฯ รู้แผนการทั้งหมด จึงปรับกลยุทธ์ด้วยการใช้เรือบรรทุกเครื่องบินระดมฝูงบินโจมตีกองเรือญี่ปุ่น โดยประสานงานกันระหว่างเครื่องบินทิ้งระเบิดและเครื่องบินบรรทุกตอร์ปิโดเข้าโจมตีจากทุกทิศทางรวมแล้วถึง 6 ระลอก ซึ่งการโจมตีแต่ละครั้งสร้างความเสียหายหนักให้เรือรบยามาโตะมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในห้องประชุมบนเรือรบ พลเรือโทอิโตะนิ่งเงียบไม่พูดอะไร ปล่อยให้นาวาเอกโคซาคุบัญชาการสู้รบต่อไป เมื่อสถานการณ์เข้าสู่วิกฤต เรือรบยามาโตะเริ่มจม เป็นที่แน่ชัดแล้วว่าคงไม่รอดไปจากการศึกครั้งนี้ นาวาเอกโคซาคุจึงบอกให้ลูกเรือทุกคนสละเรือหนีเอาชีวิตรอด เว้นตัวเขาและพลเรือโทอิโตะที่ยังคงอยู่บนเรือ ยอมพลีชีพไปพร้อมกับเรือรบยามาโตะ เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อความพ่ายแพ้

กองทัพสหรัฐฯ จมเรือรบยามาโตะด้วยตอร์ปิโด 200 ลูก ระเบิดขนาดใหญ่ 100 ลูก และลูกระเบิดขนาดกลางอีกกว่า 200 ลูก มีลูกเรือเสียชีวิต 3,061 ราย (บางข้อมูลระบุ 3,055 ราย) ส่วนลูกเรือที่รอดชีวิตมี 269 ราย (บางข้อมูลระบุ 276 ราย) ซึ่งถูกทหารอเมริกันจับเป็นเชลยหลังจากนั้น

ปิดฉาก “เรือรบยามาโตะ” ที่เป็นความภาคภูมิใจของกองทัพอันเกรียงไกร และสัญลักษณ์ความยิ่งใหญ่เกรียงไกรของจักรวรรดิญี่ปุ่นลงในที่สุด

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

Bob Hackett and Sander Kingsepp, IJN Battleship YAMATO:Tabular Record of Movement. Access 21 February 2023, from http://combinedfleet.com/yamato.htm

Bredon Udy, Battleship Yamato – History and Facts | ModelSpace. Access 21 February 2023, from https://blog.deagostini.com/2021/02/battleship-yamato-history-and-facts-modelspace/

Nathan N.Prefer, The Largest Kamikaze: The Battleship Yamato At Okinawa. Access 21 February 2023, from https://warfarehistorynetwork.com/article/the-largest-kamikaze-the-battleship-yamato-at-okinawa/

Battle of Leyte Gulf. Access 21 February 2023, from https://www.britannica.com/event/Battle-of-Leyte-Gulf#ref1284143


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2566