นี่คือ “แบบจำลองอ่าวเพิร์ล” ก่อนญี่ปุ่นบุกถล่มอเมริกาสายฟ้าแลบ จริงหรือ?

อ่าวเพิร์ล จำลอง

ภาพ “Japanese model of Pearl Harbor” มักถูกเข้าใจว่าเป็นภาพถ่ายของแบบจำลองของ “อ่าวเพิร์ล” (Pearl Harbor) โดยกองทัพญี่ปุ่นทำขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมทำสงครามสายฟ้าแลบกับสหรัฐอเมริกา จำลองสถานการณ์และฝึกซ้อมทางยุทธวิธีก่อนจะโจมตีอ่าวเพิร์ล

แต่แท้จริงหาใช่ดังที่เข้าใจกันไม่

Advertisement

เว็บไซต์ Naval History and Heritage Command ของกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาบรรยายภาพนี้ว่า เป็นแบบจำลอง อ่าวเพิร์ล โดยญี่ปุ่น แสดงตำแหน่งเรือในระหว่างการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) แบบจำลองนี้สร้างขึ้นหลังจากการโจมตีเพื่อใช้ในการสร้างภาพยนตร์ โดยภาพถ่ายต้นฉบับถูกนำกลับมายังสหรัฐอเมริกาจากญี่ปุ่นเมื่อสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 โดยพลเรือเอก จอห์น ชาฟรอธ (John Shafroth)

แบบจำลองอ่าวเพิร์ล หรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ (ภาพจาก เว็บไซต์ Naval History and Heritage Command)

สันนิษฐานว่า ภาพยนตร์นั้นคือภาพยนตร์ของญี่ปุ่นเรื่อง “The War at Sea From Hawaii to Malaya” ที่สร้างขึ้นในปี 1942 หลังจากการโจมตีอ่าวเพิร์ลผ่านพ้นไปแล้ว ในภาพยนตร์จะมีฉากหนึ่งที่นำเสนอการโจมตีอ่าวเพิร์ลจากมุมมองของญี่ปุ่น โดยเป็นฉากเรือดำน้ำญี่ปุ่นยิงตอร์ปิโดเข้าใส่เรือ USS Arizona จนเกิดระเบิดขนาดใหญ่ ไฟลุกท่วม ก่อนที่เรือจะอับปางในท้ายที่สุด (ปัจจุบัน เรือ USS Arizona เป็นอนุสรณ์สถานและพิพิธภัณฑ์)

ในภาพยนตร์ยังฉายให้เห็นฉากหลังที่เป็นอ่าวเพิร์ลในสภาพย่อยยับ ผลจากการถูกโจมตีจากกองทัพญี่ปุ่น ซึ่งสร้างความเสียหายต่อกองทัพสหรัฐอเมริกาภาคพื้นแปซิฟิกอย่างหนัก

เชื่อว่า ภาพยนตร์เรื่อง “The War at Sea From Hawaii to Malaya” สร้างขึ้นเพื่อปลุกกระแสชาตินิยม และการโฆษณาชวนเชื่อ (propaganda) ของญี่ปุ่น เพื่อแสดงแสนยานุภาพของกองทัพ และประกาศศักดาความเป็นชาติมหาอำนาจเหนือภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก

แม้แบบจำลองอ่าวเพิร์ลนี้จะไม่ใช่ “ของจริง” แต่ก่อนการบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล กองทัพญี่ปุ่นก็ใช้ข้อมูลจาก “ของจริง” นั่นคือการโจรกรรมข้อมูลทางการทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกาโดยสายลับ ก่อนที่จะลงมือปฏิบัติการโจมตี

ดังเห็นได้จากเอกสารชิ้นหนึ่งซึ่งถูกเก็บได้จากเครื่องบินของกองทัพญี่ปุ่นที่ถูกยิงตกในการบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล เป็นแผนที่ที่ระบุตำแหน่งของเรือประเภทต่าง ๆ ที่จอดประจำการในอ่าวเพิร์ล

หรือเอกสารอีกชิ้นซึ่งเป็น​​แผนที่อ่าวเพิร์ลที่ถูกกู้คืนจากเรือดำน้ำขนาดเล็กของญี่ปุ่นที่ถูกจับหลังการโจมตี แม้เอกสารเหล่านี้อาจไม่แม่นยำ 100% แต่ก็เป็นข้อมูลชั้นยอดที่ช่วยให้กองทัพญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในยุทธวิธีครั้งนี้

แผนที่ที่ระบุตำแหน่งของเรือรบที่จอดประจำการในอ่าวเพิร์ล เป็นเอกสารที่เก็บได้จากเครื่องบินของกองทัพญี่ปุ่นที่ถูกยิงตกในการบุกโจมตีอ่าวเพิร์ล (ภาพจาก เว็บไซต์ Naval History and Heritage Command)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

https://www.history.navy.mil/our-collections/photography/wars-and-events/world-war-ii/pearl-harbor-raid/japanese-forces-in-the-pearl-harbor-attack/miscellaneous-views-of-japanese-forces/NH-62534.html

https://www.history.navy.mil/our-collections/photography/wars-and-events/world-war-ii/pearl-harbor-raid/japanese-forces-in-the-pearl-harbor-attack/miscellaneous-views-of-japanese-forces/80-G-3913.html

https://youtu.be/RD9__PKXZtA


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2566