“ฯพณฯ” ที่อ่านว่า “พณะท่าน” มาจากคำว่าอะไร-ย่ออย่างไร? ทำไมมี “ฯ” ด้านหน้า-หลัง

ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี

คำว่า ฯพณฯ ที่อ่านว่า “พณะท่าน” มาจากคำว่าอะไร-ย่ออย่างไร? ทำไมมี “ฯ” ด้านหน้า-หลัง

เมื่อครั้งผมยังรับราชการอยู่นั้น มีอาจารย์ภาษาไทยท่านหนึ่งขอให้ผมเขียนความเป็นมาของคำว่า “พณหัวเจ้าท่าน” แต่เผอิญผมลาออกจากราชการ เมื่อ พ.ศ. 2528 จึงไม่ได้เขียน เพิ่งมานึกได้เมื่ออายุ 70 ก็คิดว่าน่าจะได้เขียนไว้ให้คนรุ่นหลังอ่านกันเล่น

Advertisement

คําว่า “พณหัวเจ้าท่าน” เป็นคําไทยโบราณที่ใช้มาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา แต่จะเก่าถึงรัชกาลไหนไม่ทราบ เท่าที่พบหลักฐานมีปรากฏในหนังสือกรมการเมืองตะนาวศรี อนุญาตให้พ่อค้าเดนมาร์กเข้ามาค้าขายยังประเทศไทย เมื่อวันจันทร์ เดือนอ้าย แรม 9 ค่ำ ปี ระกา ตรีศก จุลศักราช 983 (พ.ศ. 2164) ได้ใช้เป็นคำนำหน้าบรรดาศักดิ์เจ้าเมืองว่า “พณหัวเจ้าท่าน ออกญาไชยาทีบดี” (เขียนตามต้นฉบับเดิม) ครั้นต่อมา คนเห็นยาวเร่อร่านัก จึงเขียนย่อให้สั้นว่า “พณฯ” และ “ฯพณฯ”

คำนี้ใครเป็นผู้กำหนดให้เขียนก็ไม่ทราบ ดูรูปร่างแปลกคล้าย ฯลฯ ซึ่งเรียกว่า ไปยาลใหญ่

ทีนี้คำว่า “พณหัวเจ้าท่าน” ถ้าจะตัดให้สั้นก็น่าจะเป็น “พณฯ” แต่ทำไมจึงเป็น “ฯพณฯ” ก็ไม่ทราบ บางทีเรื่องนี้อาจจะมีคนเคยสังเกตกันมาแล้ว ดังปรากฏในรายงานการประชุมของสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2497 ได้บันทึกไว้ว่า

ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมได้ส่งเรื่องการอ่านคำว่า ‘พณฯ’ ซึ่งกรมประชาสัมพันธ์ขอให้พิจารณา บัดนี้ สำนักวัฒนธรรมทางวรรณกรรมได้พิจารณาแล้วเห็นว่า คำว่า ‘พณฯ’ นี้อ่านได้เป็น 2 นัย คือ อ่านเต็มตามโบราณนิยมว่า ‘พณหัวเจ้าท่าน’ กับอ่านตามความนิยมในปัจจุบันว่า ‘พณะท่าน’ สําหรับคำนี้ถ้าให้หมายความอย่างภาษาอังกฤษว่า His Excellency แล้วควรเขียนว่า ‘พณฯ’ ไม่ใช่ ‘พณฯ ท่าน’ และอ่านว่า ‘พณฯ’ เฉย ๆ ไม่มีคำว่าท่านต่อท้าย หรือเขียนและอ่านตามเสียงนิยมให้ชัดว่า ‘พณะท่าน’ เป็นศัพท์สมัยใหม่

ที่ประชุมได้พิจารณาแล้วลงมติให้เขียนว่า พณฯ และให้อ่านว่า พณะท่าน

แต่จะด้วยเหตุผลกลใดก็ไม่ทราบ ทางราชการยังคงใช้ว่า ‘ฯพณฯ’ ต่อมา และจะเป็นด้วยการใช้คำนี้ฟั่นเฝือเกินไป จึงได้มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2486 ให้เลิกระเบียบการเขียนจดหมายหรือหนังสือราชการที่ใช้คำนี้ โดยทางกรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ออกหนังสือชี้แจงไปตามกระทรวงต่าง ๆ ไม่น้อยกว่า 2 ครั้ง แต่ก็หาเชื่อฟังไม่ จนในที่สุดมีหนังสือลงวันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2488 เตือนมาอีกว่า

“บัดนี้ ยังปรากฎว่าได้มีการใช้คำนำหน้านามของรัฐมนตรีหรือท่านผู้มีเกียรติว่า ฯพณฯ อยู่ ผู้สั่งราชการแทนนายกรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นว่า สมควรจะเลิกใช้คำนำหน้านามดั่งกล่าวแล้วเสีย เว้นไว้แต่ในกรณีพิเศษที่จำเป็นจริง ๆ อันเกี่ยวกับต่างประเทศ หรือใช้เฉพาะที่เป็นคำแปลมาจากภาษาต่างประเทศเท่านั้น”

เข้าใจว่าคำเตือนนี้จะถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะยังคงมีใช้ต่อมา แม้ในกระทรวงศึกษาธิการก็ยังใช้นำหน้านามรัฐมนตรี จนหลายสิบปีต่อมา เมื่อนายจรูญ วงศ์สายัณห์ เป็นปลัดกระทรวงศึกษาธิการ จึงได้หยิบคำสั่งเดิมออกมาปัดฝุ่น ทำหนังสือเวียนให้อธิบดีทุกกรมรับไปปฏิบัติ เมื่อวันที่ 23 กันยายน พ.ศ. 2519 โดยอ้างว่า

“ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการได้โปรดสั่งให้เลิกใช้คำนำนามตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในคำขึ้นต้นหนังสือราชการ คงให้ใช้แต่เพียง กราบเรียน นายกรัฐมนตรี เท่านั้น”

ผมไม่ได้รับราชการมาช้านานแล้ว ไม่ทราบว่ามีใครเชื่อฟังคำสั่งนี้หรือไม่ บันทึกไว้ให้ทราบประวัติเท่านั้น

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2563