ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ ปรากฏหลักฐานใน คำให้การชาวกรุงเก่า

พระที่นั่งพิมานรัตยา สถานที่สรงน้ำพระบรมศพ (ภาพจาก สถาปัตยกรรมพระบรมมหาราชวัง เล่ม 2 สำนักราชเลขาธิการ,2531)

ธรรมเนียมการสรงน้ำพระบรมศพ ปรากฏหลักฐานในสมัยกรุงศรีอยุธยาจาก คำให้การชาวกรุงเก่า อธิบายวิธีการไว้ดังนี้

เมื่อสมเด็จพระมหาธรรมราชา พระเจ้ากรุงศรีอยุธยาสวรรคต ได้จัดการพระบรมศพตามโบราณราชประเพณีดังนี้ คือ สรงน้ำชำระพระบรมศพสะอาดแล้ว ถวายพระสุคนธ์สรงพระบรมศพ แล้วเอาผ้าคลุมบรรทมมีลายริมเงินคลุมพระบรมศพไว้ จนถึงเวลาสรงพระบรมศพ ครั้นสรงเสร็จแล้วถวายภูษาอาภรณ์ทรงพระบรมศพ และทรงสังวาลและพระชฎา ประดิษฐานไว้ยังพระแท่นในพระมหาปราสาท

Advertisement

ข้อความนี้ยังทำให้เห็นว่าการสรงน้ำกับการถวายพระสุคนธ์ (เครื่องหอม) เป็นคนละขั้นตอน ที่กระทำกันโดยมากปรากฏแต่การถวายพระสุคนธ์เท่านั้น เช่นใน คำให้การขุนหลวงหาวัด กล่าวถึงการสรงน้ำในงานพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ว่า ครั้นสรงน้ำหอมแล้วจึงทรงสุคนธรสและกระแจะจวงจันทน์ทั้งปวง อีกทั้งอาจไม่มีการบันทึกรายละเอียดขั้นตอนทั้งหมดจึงทำให้ทราบแต่เพียงสิ่งที่ปรากฏในหลักฐานเท่านั้น อันที่จริงนั้นการสรงน้ำก็คือการอาบน้ำให้กับผู้ล่วงลับ และขั้นตอนต่อมาก็เหมือนกับที่คนเป็นๆ กระทำกันคือ ใส่เครื่องหอม และแต่งตัวนั่นเอง

สำหรับพิธีของราชสำนักจะเตรียมการเมื่อเจ้านายสิ้นพระชนม์ลง ด้วยการจัดแต่งสถานที่และอุปกรณ์ต่างๆ ในด้านสถานที่คงเป็นไปตามความสะดวกและพระเกียรติยศ เช่น การสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อวันที่ ๒๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๓ เวลา ๔ โมงเช้า กระทำบนพระที่นั่งอัมพรสถานอันเป็นที่สวรรคตถึง ๒ ครั้ง ครั้งแรกให้ฝ่ายในสรงน้ำพระบรมศพประทับบนพระแท่นที่เคยบรรทม มีสมเด็จพระบรมราชเทวีประทับเป็นองค์ประธาน จากนั้นเจ้าพนักงานภูษามาลาได้เชิญพระบรมศพไปที่ห้องบรรณาคมจัดบรรทมบนพระแท่นทอง ที่นำมาจากพระบรมมหาราชวัง เพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ฝ่ายหน้าถวายน้ำสรงทั่วกัน

สถานที่สรงน้ำพระบรมศพในปัจจุบันใช้ พระที่นั่งพิมานรัตยา ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดเกล้าฯ ให้สร้างต่อจากมุขกระสันพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททอดยาวไปทางทิศใต้ พระที่นั่งองค์นี้เคยใช้เป็นพระมณเฑียรบรรทมของสมเด็จพระมหากษัตริยาธิราชเจ้า ในโอกาสที่เสด็จมาประทับ ณ หมู่พระมหาปราสาทนี้

และต่อมาได้ใช้เป็นที่สรงน้ำพระบรมศพอยู่หลายคราว ได้แก่ พระบรมศพสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมศพสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระบรมศพสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ ๗ รวมไปถึงพระบรมศพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี }พระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระศพสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

(คัดมาจากหนังสือ ธรรมเนียมพระบรมศพและพระศพเจ้านาย เขียนโดย นนทพร อยู่มั่งมี. สำนักพิมพ์ มติชน. 2551)