ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ยุทธการมิดเวย์ (Battle of Midway) เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1942 เป็นสมรภูมิสงครามระหว่างสหรัฐอเมริกากับญี่ปุ่น เป็นสงครามชี้ชะตาครั้งสำคัญ ซึ่งต่างฝ่ายต่างต้องการชัยชนะเพื่อสร้างความได้เปรียบใน สงครามโลกครั้งที่ 2 สมรภูมิแห่งนี้จึงนับว่าเป็นสมรภูมิที่มีผู้กล่าวถึงไม่น้อยไปกว่ายุทธการที่อ่าวเพิร์ล ยุทธการที่ดันเคิร์ก หรือยุทธการที่นอร์มังดี
หลังญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามด้วยการบุกถล่มสหรัฐอเมริกาที่อ่าวเพิร์ลในวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 1941 แม้สามารถสร้างความเสียหายให้กับกองทัพสหรัฐอเมริกา แต่ทำได้เพียงตัดกำลังบางส่วนเท่านั้น อู่ต่อเรือแห้งยังคงใช้งานได้อยู่ อาวุธยุทโธปกรณ์ที่สามารถต่อกรกับกองทัพญี่ปุ่นได้ยังมีอีกพอสมควร โดยเฉพาะเรือบรรทุกเครื่องบินที่ไม่ถูกทำลายลงอย่างที่ญี่ปุ่นมุ่งหวังไว้ เนื่องจากเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาออกไปปฏิบัติภารกิจที่อื่น
ไม่นานจากนั้น กองทัพญี่ปุ่นบุกตะลุยทั่วทั้งเอเชีย พิชิตฮ่องกง อินโดจีน มลายู สิงคโปร์ พม่า ราวเดือนมีนาคม ค.ศ. 1942 ได้บุกไปถึงเกาะมินดาเนาของฟิลิปปินส์ เกาะโซโลมอน และตั้งฐานที่มั่นที่นิวกินีโดยมีเป้าหมายในการยึดออสเตรเลีย แม้จะแผ่อิทธิพลเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างรวดเร็ว แต่ญี่ปุ่นทราบดีว่าจะต้องดำเนินยุทธการโจมตีสหรัฐอเมริกาเพื่อครองอำนาจเหนือมหาสมุทรแปซิฟิกไว้อย่างเบ็ดเสร็จเพียงผู้เดียว ดังนั้น ญี่ปุ่นจำเป็นต้องเอาชนะกองทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาให้ได้ เป้าหมายจึงพุ่งไปที่เกาะมิดเวย์
ก่อนที่จะเข้าสู่การศึกการสงคราม จำเป็นต้องทำความเข้าใจเรื่องราวก่อนหน้าจะเกิด ยุทธการมิดเวย์ โดยเฉพาะสงครามแก้แค้นจากสหรัฐอเมริกา และการถอดรหัสลับของญี่ปุ่น
ไขความลับรหัสม่วง
ราว ค.ศ. 1937 ก่อน สงครามโลกครั้งที่ 2 จะปะทุขึ้น ญี่ปุ่นได้ผลิตเครื่องเข้ารหัสที่อาศัยหลักการการทำงานเช่นเดียวกับเครื่องอินิกมาของเยอรมนี เครื่องนี้มีชื่อว่า “97 ชิกิ โอบุน อินจิกิ” แปลว่า เครื่องพิมพ์ตัวอักษร 97 (ตัวเลข 97 มาจากปีศักราชที่ 2597 ของญี่ปุ่น) ซึ่งญี่ปุ่นมั่นใจว่าเครื่องเข้ารหัสนี้มีประสิทธิภาพสูงกว่าเครื่องอินิกมาและไม่มีชาติใดถอดรหัสได้
สหรัฐอเมริกาพยายามอย่างยิ่งยวดที่จะถอดรหัสลับของญี่ปุ่นตลอดทศวรรษที่ 1930 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสงครามจีน-ญี่ปุ่น ครั้งที่ 2 ค.ศ. 1937 ซึ่งจักรวรรดิญี่ปุ่นได้ผงาดขึ้นเหนือเอเชียได้สร้างความตื่นตัวต่อสหรัฐอเมริกาว่าญี่ปุ่นอาจเป็นภัยคุกคามที่สำคัญในมหาสมุทรแปซิฟิก
ภายใต้การทำงานของแผนกข่าวกรองอาณัติสัญญาณ (SIS) โดยวิลเลียม ฟรีดแมน (William F. Friedman) เขาและทีมพยายามอย่างหนักในการถอดรหัสลับนี้ พวกเขาถอด “รหัสแดง” ของญี่ปุ่นสำเร็จในเดือนมีนาคม ค.ศ. 1939 แต่รหัสแดงเป็นเพียงการสื่อสารทางการทูตเท่านั้น ญี่ปุ่นได้คิดค้น “รหัสม่วง” อันมีที่มาจากสีของแฟ้มเอกสารรวบรวมการถอดรหัสรุ่นดังกล่าวโดยเฉพาะ ฟรีดแมนและทีมงานต้องใช้เวลาอีกหลายเดือน กระทั่งในเดือนกันยายน ค.ศ. 1940 จึงสามารถถอดรหัสม่วงได้สำเร็จ
เยอรมนีสงสัยว่าสหรัฐอเมริกาสามารถถอดรหัสม่วงได้ แต่ญี่ปุ่นไม่เชื่อว่าเป็นไปได้ พวกเขายังคงส่งข่าวสารโดยใช้การเข้ารหัสลับเช่นนี้อยู่ อย่างไรก็ตาม มีข้อสังเกตว่าเมื่อสหรัฐอเมริกาถอดรหัสลับได้แล้ว เหตุไฉนจึงปล่อยให้มีการโจมตีที่อ่าวเพิร์ล?
นักประวัติศาสตร์บางคนอ้างว่า สหรัฐอเมริกาล่วงรู้ยุทธการโจมตีอ่าวเพิร์ลเป็นอย่างดี แต่จงใจละเลยเพื่อหาเหตุผลในการเข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่นักประวัติศาสตร์ส่วนใหญ่เห็นว่าแนวความคิดดังกล่าวเป็นทฤษฎีสมคบคิดมากกว่า เพราะกองทัพสหรัฐอเมริกาได้คาดการณ์ว่าจะมีการโจมตีขึ้นจริง แต่เข้าใจว่าจะเกิดขึ้นที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งมีฐานทัพของสหรัฐอเมริกาหลายแห่ง ที่อาจคุกคามกองทัพญี่ปุ่นมากกว่าที่อ่าวเพิร์ล
การโจมตีของดูลิตเติล
เมื่อสหรัฐอเมริกาเผชิญกับการสูญเสียความเชื่อมั่นและศรัทธาจากเหตุการณ์โจมตีที่อ่าวเพิร์ล ประธานาธิบดีแฟรงคลิน รูสเวลต์ (Franklin D. Roosevelt) จึงเรียกประชุมกองทัพเพื่อดำเนินยุทธการตอบโต้ใด ๆ ก็ตามที่สามารถลดความอหังการของญี่ปุ่นลง และจะเป็นการเรียกความเชื่อมั่นต่อกองทัพและชาวอเมริกันกลับคืนมา โดยได้ นาวาอากาศโท เจมส์ ดูลิตเติล (James H. Doolittle) ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินวัย 45 ปี ที่เคยผ่านสงครามโลกครั้งที่ 1 แล้ว มาเป็นผู้นำในยุทธการนี้
นาวาอากาศโท ดูลิตเติลตั้งวัตถุประสงค์ของยุทธการนี้ว่า จะต้องทำลายศูนย์กลางอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ในเมืองใหญ่อย่าง โตเกียว โอซากา โกเบ และนาโงยา ด้วยการโจมตีทางอากาศ แผนการคือ ใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น B-15 ที่ถูกดัดแปลงให้บินได้นานขึ้นกว่าปกติ บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินที่ลอยลำเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก จากนั้นมุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น เมื่อปฏิบัติภารกิจสำเร็จแล้วจะไม่บ่ายหน้ากลับทางเดิม แต่จะบินต่อไปทางตะวันตกเรื่อย ๆ และมาลงจอดที่ฐานทัพอากาศของจีน
นาวาอากาศโท ดูลิตเติลติดต่อไปยังกองบินทิ้งระเบิดที่ 17 ในรัฐโอเรกอนเพื่อถามหาอาสาสมัครที่จะเข้าร่วมยุทธการนี้ ทหารกว่า 150 คน ทั้งนักบิน เจ้าหน้าที่นำร่อง พลปืน วิศวกรการบิน ฯลฯ ล้วนอาสาเข้าร่วมโดยที่พวกเขาไม่ทราบข้อมูลแม้แต่น้อยว่าจะต้องไปปฏิบัติภารกิจใด แม้ภายหลังนาวาอากาศโท ดูลิตเติลจะแจ้งภารกิจให้ทุกคนทราบว่าอาจเป็นยุทธการที่ไม่อาจรอดชีวิตกลับมาได้ แต่ทุกคนยังยืนยันที่จะเข้าร่วมด้วยความแน่วแน่ พวกเขาฝึกซ้อมและทดสอบการบินตลอดในช่วงต้น ค.ศ. 1942
ยุทธการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 2 เมษายน ค.ศ. 1942 เมื่อเรือบรรทุกเครื่องบินฮอร์เน็ต (USS Hornet) พร้อมเรือคุ้มกัน เดินทางออกจากแคลิฟอร์เนีย ก่อนจะไปสมทบกับเรือบรรทุกเครื่องบินเอนเทอร์ไพรซ์ (USS Enterprise) และเรืออื่น ๆ รวมแล้วกองเรือนี้มีเรือทั้งหมด 18 ลำ จากนั้นจึงเดินทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิกมุ่งหน้าไปญี่ปุ่น
ไม่นานจากนั้น กองเรือญี่ปุ่นตรวจพบกองเรือสหรัฐอเมริกา แม้จะจมเรือลาดตระเวนญี่ปุ่นได้ แต่ก็ไม่อาจสกัดกั้นสัญญาณเตือนที่ส่งกลับไปกรุงโตเกียว กองทัพสหรัฐอเมริกาจึงต้องรีบดำเนินยุทธการนี้ทันที แม้ตำแหน่งที่อยู่ ณ ตอนนั้นจะอยู่ห่างจากจุดที่วางแผนไว้กว่า 400 ไมล์ก็ตาม
แม้จะมีความกังวลเรื่องระยะทางการบินที่ต้องบินไกลมากกว่าเดิม และปัญหาเชื้อเพลิงว่าจะเพียงพอหรือไม่ แต่เครื่องบินทิ้งระเบิดรุ่น B-15 ทั้ง 16 ลำก็บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินฮอร์เน็ต ด้วยเพดานบิน 15 เมตรเหนือมหาสมุทร เพื่อหลบเลี่ยงการตรวจจับด้วยเรดาห์ ฝูงบินบินด้วยความเร็ว 150 ไมล์ต่อชั่วโมง เพื่อประหยัดเชื้อเพลิง เครื่องบินทิ้งระเบิด 10 ลำมุ่งสู่กรุงโตเกียว 3 ลำมุ่งโจมตีคานางาวะ โยโกฮามา และโยโกสุกะ อีก 3 ลำมุ่งโจมตีนาโงยาและโอซากา
กระทั่งเวลาเที่ยงในวันที่ 18 เมษายน ค.ศ. 1942 จึงเริ่มยุทธการ “Doolittle Raid” เครื่องบินทิ้งระเบิดที่นำโดยนาวาอากาศโท ดูลิตเติลโจมตีกรุงโตเกียว ยุทธการครั้งนี้สร้างความเสียหายได้ไม่มากนัก ประเมินว่าโรงงานผลิตอาวุธ เครื่องบิน ท่าเรือ คลังน้ำมัน คลังแสง ได้รับความเสียหาย มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตราว 300 คน อาคารเสียหายไม่ถึง 100 อาคาร เพราะเครื่องบินทิ้งระเบิดแต่ละลำบรรทุกระเบิดขนาด 500 ปอนด์ (227 กิโลกรัม) ได้เพียง 4 ลูกเท่านั้น
แต่ยุทธการครั้งนี้กลับสร้างจิตวิทยาการสงครามต่อสองฝ่าย สหรัฐอเมริกาได้เรียกความมั่นใจกลับมาอีกครั้ง ขณะที่ญี่ปุ่นเผชิญความเจ็บแค้นเนื่องจากระบบป้องกันของพวกเขาไม่สามารถจัดการเครื่องบินทิ้งระเบิดใดได้เลย ทั้ง ๆ ที่เป็นการโจมตีกลางวันแสก ๆ เสียด้วยซ้ำ
เครื่องบินทิ้งระเบิด 15 ลำบินสู่จีนอย่างปลอดภัย โชคไม่ดีที่เครื่องบินทิ้งระเบิดหมายเลข 16 ต้องร่อนลงในเขตแดนของญี่ปุ่น ก่อนที่ทหารทั้งหมดจะถูกจับเป็นเชลย พวกเขาถูกทารุณกรรมนานหลายเดือน และมีทหาร 3 นายถูกประหารชีวิต
ญี่ปุ่นวางแผนตอบโต้
หลังยุทธการดูลิตเติล ญี่ปุ่นรู้สึกถูกหยามเพราะพวกเขามั่นใจว่าจะไม่มีภัยสงครามย่างกรายเข้าสู่เกาะญี่ปุ่นอันเป็นมาตุภูมิ นั่นทำให้พวกเขายิ่งตระหนักถึงขีดความสามารถในการควบคุมมหาสมุทรแปซิฟิกว่ายังคงอยู่ในวงจำกัดเฉพาะในซีกตะวันตกเท่านั้น และยิ่งจำกัดไปอีกหากไม่ทำลายเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา ที่สามารถขยายขอบเขตการสงครามทางยุทธนาวีและยุทธเวหาได้กว้างไกลมากขึ้น อย่างที่ยุทธการดูลิตเติลประสบผลสำเร็จมาแล้ว
พลเรือเอก อิโซโรคุ ยามาโมะโตะ (Isaroku Yamamoto) ผู้บัญชาการกองทัพเรือญี่ปุ่น จึงวางแผนที่จะไม่ให้เกิดเหตุการณ์โจมตีเกาะญี่ปุ่นขึ้นอีก เขามุ่งเป้าหมายสำคัญไปที่เรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นจึงโจมตีสหรัฐอเมริกาในยุทธการที่ทะเลคอรัล (Coral Sea) เมื่อเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1942 แม้ญี่ปุ่นจะพ่ายแพ้และต้องล่าถอยกลับไปยังนิวกินี แต่พลเรือเอก ยามาโมะโตะยังคงมั่นใจในความเหนือกว่าของกองทัพญี่ปุ่น ทั้งยุทโธปกรณ์ที่มีจำนวนมากกว่า และข้อได้เปรียบด้านประสบการณ์ทางการทหารของญี่ปุ่นที่มีมากกว่า ในยุทธการที่ทะเลคอรัล ญี่ปุ่นเชื่อว่าเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ (USS Yorktown) ของสหรัฐอเมริกาจะได้รับความเสียหายอย่างหนักและอาจจมลง
แต่หารู้ไม่ว่าเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์กลับเข้าอู่ต่อเรือแห้ง (ที่ไม่ถูกทำลายในยุทธการอ่าวเพิร์ลเมื่อปีก่อน) ที่ฐานทัพเรือในอ่าวเพิร์ล และได้รับการซ่อมแซมอย่างรวดเร็วภายในระยะเวลาเพียง 3 วันเท่านั้น ทั้งที่เรือได้รับความเสียหายรุนแรง และในเบื้องต้นได้ประเมินการว่าอาจซ่อมนานถึง 3 เดือนเสียด้วยซ้ำ
เป้าหมายต่อไปของพลเรือเอก ยามาโมะโตะคือเกาะมิดเวย์ เกาะที่เกิดจากแนวปะการัง อยู่ห่างจากหมู่เกาะฮาวายไปทางตะวันตกเฉียงเหนือราว 1,800 กิโลเมตร แผนการที่ ยุทธการมิดเวย์ คือ ญี่ปุ่นแบ่งกองทัพออกเป็น 2 ส่วน
กองทัพส่วนที่ 1 เป็นกองทัพลวง ทำการโจมตีหมู่เกาะอลูเชียน (Aleutians) ที่ตั้งอยู่ใกล้กับอลาสกา เพื่อล่อให้กองทัพสหรัฐแบ่งกำลังออกจากเกาะมิดเวย์หรือเกาะฮาวาย
กองทัพส่วนที่ 2 เป็นกองทัพหลัก ประกอบด้วยกองเรือย่อย 3 กองคือ กองเรือหลักซึ่งมีเรือบรรทุกเครื่องบินภายใต้การบังคับบัญชาการของพลเรือโท ชุอิชิ นากุโมะ (Chuishi Nagumo) ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินทั้ง 4 ลำคือ อะคากิ (Akagi), คากะ (Kaga), ฮิริว (Hiryu) และ โซริว (Soryu)
กองเรือถัดมาคือกองเรือประจัญบานของพลเรือเอก ยามาโมะโตะที่อยู่หลังกองเรือหลัก ห่างออกไปราว 600 ไมล์ และกองเรือสนับสนุนการยกพลขึ้นบกโดยการบังคับบัญชาการของพลเรือโท โนบุตาเคะ คอนโดะ (Nobutake Kondo)
แผนการคือ กองทัพญี่ปุ่นจะส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดโจมตีเกาะมิดเวย์เพื่อล่อกองเรือสหรัฐอเมริกาออกมาจากเกาะฮาวาย จากนั้นจะอาศัยทั้งการโจมตีด้วยเครื่องบินทิ้งระเบิดหรือตอปิโดจากกองเรือบรรทุกเครื่องบินของพลเรือโท นากุโมะ กับอานุภาพจากกองเรือประจัญบานของพลเรือเอก ยามาโมะโตะที่สามารถยิงปืนใหญ่ได้ไกลเกินเส้นขอบฟ้า เมื่อนั้นจะถล่มกองเรือสหรัฐอเมริกาให้จมลงสู่มหาสมุทร แล้วจะยกพลขึ้นบกยึดเกาะมิดเวย์ ใช้ที่นี่เป็นฐานที่มั่นก่อนจะยึดเกาะฮาวายต่อไป
กองเรือสหรัฐอเมริกาที่ว่านี้ คือกองเรือที่ 7 ประจำภาคพื้นแปซิฟิก ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบิน 8 ลำ เรือประจัญบาน 11 ลำ เรือลาดตระเวน 23 ลำ และเรือพิฆาต 65 ลำ และยังมีเครื่องบินรบทั้งขับไล่และทิ้งระเบิดอีกจำนวนมาก
การโจมตีเกาะมิดเวย์นอกจากจะมีผลสำคัญต่อการทหารแล้ว ยังมีผลต่อภาพรวมของทั้งสงครามระหว่างสองชาติ ญี่ปุ่นทราบดีว่าไม่อาจสู้รบยืดเยื้อกับสหรัฐอเมริกาได้ ดังเห็นได้ว่า เพียงไม่กี่เดือนให้หลังจากยุทธการอ่าวเพิร์ล สหรัฐอเมริกาสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วด้วยระบบอุตสาหกรรมที่ญี่ปุ่นไม่อาจเทียบได้ จนสามารถเอาคืนญี่ปุ่นในยุทธการดูลิตเติล และสามารถต่อเรือหลายประเภทหลายขนาดอย่างรวดเร็ว
ญี่ปุ่นจึงหวังว่า การยึดเกาะมิดเวย์ รวมถึงเกาะฮาวาย และทำลายกองเรือภาคพื้นแปซิฟิกของสหรัฐอเมริกาได้นั้นจะช่วยให้ญี่ปุ่นถือไพ่เหนือกว่า เพื่อบีบให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่การเจรจาสันติภาพ
วางแผนรับมือรับมือ
หลังจากฟรีดแมนประสบผลสำเร็จในการถอดรหัสม่วง กองทัพสหรัฐอเมริกาจึงนำทีมของเขาและทีมถอดรหัสของกองทัพเรือที่นำโดย โจเซฟ โรชฟอร์ท (Joseph John Rochefort) มาทำงานร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการถอดรหัสลับของญี่ปุ่น รหัสลับหนึ่งที่ล่วงรู้แผนการว่า ญี่ปุ่นจะโจมตี “AF” แม้จะประเมินว่าอาจเป็นเกาะมิดเวย์ แต่เพื่อความมั่นใจจึงวางอุบายส่งข้อความปลอมออกไปว่า เกาะมิดเวย์มีปัญหาเรื่องกลั่นน้ำและขาดแคลนน้ำจืด ไม่นานญี่ปุ่นส่งข้อความในลักษณะคล้ายกัน โดยอ้างถึงคำว่า “AF” ดังนั้น สหรัฐอเมริกาจึงมั่นใจว่า “AF” หมายถึงเกาะมิดเวย์อย่างแน่นอน
เนื่องจากกองเรือญี่ปุ่นตั้งอยู่กระจัดกระจาย พลเรือเอก ยามาโมะโตะจึงต้องติดต่อสื่อสารและวางแผนการรบผ่านสัญญาณวิทยุ ซึ่งฐานปฏิบัติการถอดรหัสของกองทัพสหรัฐอเมริกาในฮาวายสามารถตรวจจับและถอดรหัสได้ พลเรือเอก เชสเตอร์ นิมิตซ์ (Chester W. Nimitz) ผู้บัญชาการกองทัพเรือภาคพื้นแปซิฟิกจึงได้ข้อมูลและยุทธวิธีของญี่ปุ่นมาไว้ในกำมือ ทำให้เขาสามารถวางแผนรับมือการโจมตีได้อย่างรัดกุม
วันที่ 2 พฤษภาคม ค.ศ. 1942 พลเรือเอก นิมิตซ์เดินทางมายังเกาะมิดเวย์เพื่อตรวจสอบระบบป้องกันที่นั่น แม้จะไม่ได้แจ้งให้ทหารกว่า 3,600 นายทราบถึงยุทธการที่กำลังจะมาถึงก็ตาม แต่ต่อมาในวันที่ 20 พฤษภาคม ค.ศ. 1942 พลเรือเอก นิมิตซ์ได้แจ้งต่อทหารระดับผู้บังคับบัญชาที่เกาะมิดเวย์ให้เตรียมพร้อมรับมือการโจมตีเกาะมิดเวย์ภายใน 8 วัน โดยอธิบายและชี้แจงรูปแบบการโจมตีอย่างละเอียด กระทั่งอีก 2-3 วันต่อมามีการแจ้งเลื่อนการโจมตีออกไปว่าอาจเป็นช่วงระหว่างวันที่ 3-5 มิถุนายน ค.ศ. 1942
พลเรือเอก นิมิตซ์ไม่ได้วางแผนตั้งรับแต่เพียงอย่างเดียว เขาทราบดีว่ากองทัพสหรัฐอเมริกามีข้อด้อยหลายประการ ที่เกาะมิดเวย์เองก็มีระบบป้องกันที่ไม่มีคุณภาพมากพอ ระบบเรดาห์ยังล้าสมัย ไม่แม่นยำ ระบบป้องกันและเครื่องบินรบก็ไม่ได้สมบูรณ์ ดังนั้น แผนตั้งรับเพื่อรุกกลับจึงสำคัญต่อกองทัพสหรัฐอเมริกามาก เขาพุ่งเป้าไปที่เรือบรรทุกเครื่องบินของญี่ปุ่น การโจมตีใด ๆ อย่างน้อยจะต้องสร้างความเสียหายต่อดาดฟ้าเรือบรรทุกเครื่องบินให้ได้
พลเรือเอก นิมิตซ์ส่งกำลังทหารบางส่วนไปเกาะอลูเชียน เพราะรู้ว่าการโจมตีที่นั่นเป็นกลลวง กองกำลังหลักจึงแบ่งกองเรือออกเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือกองเรือรบที่ 16 ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินฮอร์เน็ตกับเอนเทอร์ไพร์ซ เรือลาดตระเวน 6 ลำ เรือพิฆาต 9 ลำ
ส่วนที่สองคือกองเรือรบที่ 17 ประกอบด้วยเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ เรือลาดตระเวน 2 ลำ เรือพิฆาต 5 ลำ ภายใต้การบัญชาการของพลเรือโท แฟรงก์ เฟลตเชอร์ (Frank Jack Fletcher)
สู่ยุทธการมิดเวย์
ในวันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ. 1942 ญี่ปุ่นโจมตีหมู่เกาะอลูเชียน ตามแผนการที่วางไว้ กองทัพสหรัฐอเมริกาจึงเริ่ม ยุทธการมิดเวย์ ด้วยการส่งเครื่องบินทิ้งระเบิดบินขึ้นจากสนามบินบนเกาะมิดเวย์โจมตีกองเรือของพลเรือโท คอนโดะ ซึ่งสหรัฐอเมริกาเข้าใจว่าเป็นกองเรือหลัก แต่การโจมตีครั้งนี้ไม่สำเร็จ ขณะที่กองเรือส่วนหน้าของทั้งสองชาติคือเรือดำน้ำ จะทำหน้าที่หลักคือสืบหาตำแหน่งและจมเรือศัตรูเมื่อมีโอกาส แต่จะไม่ปะทะโดยตรงเพราะเป็นการเผยตำแหน่งและอาจถูกทำลายเสียก่อน
ก่อนรุ่งสางในวันที่ 4 มิถุนายน ค.ศ. 1942 พลเรือโท นากุโมะได้เปิดฉากการโจมตี โดยให้เครื่องบินรบกว่า 100 ลำ จากเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งสี่ลำโจมตีเกาะมิดเวย์ เมื่อฝูงบินเข้าถึงระยะเรดาห์บนเกาะมิดเวย์ กองทัพสหรัฐอเมริกาจึงส่งฝูงบินจากเกาะมิดเวย์ไปโจมตีกองเรือหลักของญี่ปุ่นเช่นกัน
การโจมตีของญี่ปุ่นสิ้นสุดลงเวลาประมาณ 07.00 น. แต่กองทัพญี่ปุ่นไม่สามารถสร้างความเสียหายได้มากนัก สนามบินและระบบป้องกันบนเกาะมิดเวย์ยังคงใช้งานได้อยู่ ขณะที่ฝูงบินสหรัฐอเมริกาไม่สามารถสร้างความเสียหายใด ๆ ต่อกองเรือญี่ปุ่นได้เลย และสูญเสียเครื่องบินไปจำนวนมาก
ราว 8.30 น. เครื่องบินสอดแนมของกองทัพญี่ปุ่นตรวจพบกองเรือกองหนึ่งด้านตะวันออกของเกาะมิดเวย์ และพบเรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งในกองเรือนั้น พลเรือโท นากุโมะซึ่งไม่ระแคะระคายว่ามีกองเรือสหรัฐอเมริกากำลังเคลื่อนตัวเข้ามาทำให้เขาสับสน เพราะตามแผนการที่ญี่ปุ่นคาดไว้คือกองเรือสหรัฐอเมริกาควรจะอยู่ที่เกาะฮาวาย และควรต้องเดินทางมาถึงในวันพรุ่งนี้ ไม่ใช่อยู่ในช่วงเวลาที่เขากำลังโจมตีเกาะมิดเวย์ในขณะนี้
เขาละล้าละลังอย่างยิ่งว่าจำดำเนินแผนการใด ณ ขณะนั้นมีความเสี่ยงมากว่า ระหว่างที่เครื่องบินรบของญี่ปุ่นกำลังเติมอาวุธและเชื้อเพลิง เครื่องบินรบของสหรัฐอเมริกาอาจโจมตีกลับ ซึ่งลานบินและส่วนเก็บเครื่องบินของเรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นเต็มไปด้วยระเบิดและเชื้อเพลิง หากโดนระเบิดจากศัตรูเพียงสักลูกหนึ่งก็จะเกิดปฏิกิริยาลูกโซ่จนเกิดระเบิดทั้งเรืออย่างรวดเร็ว หัวเลี้ยวหัวต่อจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของพลเรือโท นากุโมะว่าควรทำอย่างไรต่อไป
แน่นอนว่าเป้าหมายสำคัญอยู่ที่เรือบรรทุกเครื่องบินมากกว่าเกาะมิดเวย์ พลเรือโท นากุโมะตัดสินใจเปลี่ยนแผนการ โดยให้เครื่องบินรบติดอาวุธสำหรับโจมตีกองเรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งทำให้กองทัพญี่ปุ่นเสียเวลาในการเปลี่ยนอาวุธไปไม่ต่ำกว่า 1 ชั่วโมง ทันใดนั้น เครื่องบินทิ้งระเบิดที่บินขึ้นจากเรือบรรทุกเครื่องบินฮอร์เน็ตและเอนเทอร์ไพรซ์ก็ปรากฏขึ้นเหนือกองเรือญี่ปุ่น แต่การโจมตีนี้ไม่สำเร็จผล เพราะเครื่องบินทิ้งระเบิดของสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับการคุ้มกันจากเครื่องบินขับไล่ของฝ่ายตน เมื่อต้องปะทะกับเครื่องขับไล่รุ่นซีโร่ (Zero) ของญี่ปุ่น และนักบินที่ชำนาญการรบ จึงพ่ายแพ้อย่างย่อยยับ ชนิดที่ตอปิโดไม่ระคายผิวกองเรือญี่ปุ่นแม้แต่น้อย
ประมาณหนึ่งชั่วโมงให้หลัง ขณะที่กองเรือญี่ปุ่นว้าวุ่นกับการเติมเชื้อเพลิงและติดอาวุธเครื่องบิน การโจมตีระลอกต่อไปของกองทัพสหรัฐอเมริกาเริ่มต้นอีกครั้ง คราวนี้พลเรือโท เฟลตเชอร์สั่งการให้เครื่องบินขับไล่ประกบเครื่องบินทิ้งระเบิด จนสามารถฝ่าเข้ามาถึงกองเรือญี่ปุ่น และโจมตีด้วยตอปิโดและระเบิดใส่เรือบรรทุกเครื่องบินอะคากิ, คากะ และโซริว จนเกิดระเบิดและไฟลุกไหม้อย่างรุนแรง ก่อนที่เรือบรรทุกเครื่องบินญี่ปุ่นทั้งสามลำจะจมลงสู่ก้นทะเลหลังจากนั้นไม่นาน
พลเรือโท นากุโมะยังไม่ยอมแพ้ เรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวยังคงใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ เขาสั่งให้เครื่องบินทิ้งระเบิดจากเรือลำดังกล่าวไปโจมตีเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ ซึ่งสามารถสร้างความเสียหายอย่างหนัก ญี่ปุ่นเข้าใจว่าตนสามารถจมเรือบรรทุกเครื่องบินของสหรัฐอเมริกาได้แล้ว 1 ลำ แต่แท้จริงแล้วเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ไม่ถูกจม สามารถซ่อมจนกลับมาปฏิบัติภารกิจได้อย่างรวดเร็ว
พลเรือโท นากุโมะยังคงสั่งการให้ค้นหาและโจมตีกองเรือสหรัฐอเมริกาต่อไป กระทั่งเปิดฉากโจมตีอีกระลอก แต่ครั้งนี้กองทัพญี่ปุ่นโจมตีใส่เรือยอร์กทาวน์ซ้ำเป็นครั้งที่สอง ซึ่งพวกเขาไม่รู้ว่าเป็นเรือลำเดียวกัน เพราะเรือบรรทุกเครื่องบินทั้งสามลำของสหรัฐอเมริกามีลักษณะภาพนอกใกล้เคียงกันมาก แม้ตอปิโดจะยิ่งใส่เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์เข้าเป้า แต่เรือก็ยังลอยลำอยู่ได้
ผ่านไปหลายชั่วโมง นายพลโท เฟลตเชอร์ส่งเครื่องบินตรวจการของสหรัฐอเมริกาออกไปจนพบตำแหน่งเรือบรรทุกเครื่องบินฮิริว เขาจึงสั่งการโจมตีระลอกสุดท้ายใส่เรือบรรทุกเครื่องบินฮิริวในเย็นวันที่ 4 มิถุนายน ก่อนเรือจะจมลงในวันรุ่งขึ้น
ต่อมาในวันที่ 6 มิถุนายน เรือดำน้ำญี่ปุ่นตรวจพบเรือพิฆาตแฮมแมนน์ (USS Hammann) ซึ่งเป็นเรือปฏิบัติการกู้ภัยให้เรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์ ที่กำลังมุ่งหน้ากลับอ่าวเพิร์ล เรือดำน้ำญี่ปุ่นจึงยิงตอปิโดใส่ จนเรือพิฆาตแฮมแมนน์จมลงภายในไม่กี่นาที ส่วนเรือบรรทุกเครื่องบินยอร์กทาวน์จมลงในวันถัดมา
ยุทธการมิดเวย์ ทำให้ญี่ปุ่นสูญเสียทหารราว 3,000 นาย ในจำนวนนี้กว่า 200 นายเป็นนักบินชำนาญการบิน เสียเครื่องบินรบราว 300 ลำ เรือบรรทุกเครื่องบิน 4 ลำ และเรือลาดตระเวณ 1 ลำ ขณะที่สหรัฐอเมริกาสูญเสียทหารราว 360 คน เสียเครื่องบินราว 145 ลำ และเรือรบ 2 ลำ
จากการที่สหรัฐอเมริกาได้รับชัยชนะใน ยุทธการมิดเวย์ ทำให้ญี่ปุ่นได้ยกเลิกแผนการที่จะบุกออสเตรเลียและการขยายอิทธิพลในมหาสมุทรแปซิฟิก กองเรือญี่ปุ่นลดความสำคัญลงเป็นเพียงยุทธปัจจัยสนับสนุนการสงครามเท่านั้น ยุทธการนี้ยังเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้การสู้รบในยุทธการต่อ ๆ มา ญี่ปุ่นเริ่มเป็นฝ่ายตั้งรับและป้องกันตลอดช่วงเวลาที่เหลือของ สงครามโลกครั้งที่ 2
อ่านเพิ่มเติม :
- เกิดอะไรขึ้นกับญี่ปุ่นหลังแพ้สงครามโลกครั้งที่ 2
- พบซากเรือรบสหรัฐฯ USS Hornet ถูกญี่ปุ่นจมสมัย สงครามโลกครั้งที่ 2 หลังสาบสูญ 77 ปี
อ้างอิง :
Gavin Mortimer. (2559). แฟ้มลับสงครามโลกครั้งที่ 2. แปลโดย ไพรัตน์ พงศ์พาณิชย์. กรุงเทพฯ : มติชน.
Donald M. Goldstein. (2007). Putting the Midway Miracle in Perspective. Access 1 November 2019, from https://www.usni.org/magazines/naval-history-magazine/2007/june/putting-midway-miracle-perspective
The National WWII Museum. (2019). The Battle of Midway. Access 1 November 2019, from https://www.nationalww2museum.org/war/articles/battle-midway
The Editors of Encyclopaedia Britannica. (2019). Battle of Midway. Access 1 November 2019, fromhttps://www.britannica.com/event/Battle-of-Midway
Naval History and Heritage Command. (2019). Battle of Midway. Access 1 November 2019, from https://www.history.navy.mil/our-collections/photography/wars-and-events/world-war-ii/midway.html
History.com Editors. (2019). Battle of Midway. Access 1 November 2019, from https://www.history.com/topics/world-war-ii/battle-of-midway
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2562