ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติ (ค.ศ. 1939-1945) ญี่ปุ่น ในฐานะประเทศผู้แพ้สงครามเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อกองบัญชาการสูงสุดของสัมพันธมิตร หรือ SCAP (The Supreme Commander for the Allied Powers) ที่มีอเมริกาเป็นผู้นำ ได้เข้ามามีบทบาทในนโยบายการปกครองญี่ปุ่น ทั้งด้านการเมือง, เศรษฐกิจ และสังคม ฯลฯ อยู่ประมาณ 7 ปี (ค.ศ. 1945-1952) โดยพลเอก ดักลาส แมกอาร์เธอร์ (ค.ศ. 1880-1964) จากกองทัพอเมริกาเป็นผู้ควบคุมการดำเนินการดังกล่าว
คำสั่งแรกๆ ของ SCAP คือ 1. การยุบกองกำลัง 3 เหล่าทัพ คือ กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศของญี่ปุ่น คงเหลือเพียงกองกำลังเพื่อการป้องกันภายในประเทศ 2. ดำเนินการกับอาชญากรสงครามคนสำคัญ เช่น นายพลโตโจ และฮิโรตะ และการปล่อยนักโทษการเมืองหลายพันคน 3. การลงโทษสถาบันจักรพรรดิในฐานะที่ต้องรับผิดชอบต่อสงคราม ถึงกับมีแนวคิดที่จะยกเลิกสถาบัน แต่นายพลแมกอาเธอร์และนักวิชาการ คัดค้านและโน้มน้าวว่าจะกระทบจิตใจชาวญี่ปุ่นมากเกินไป และอาจทำให้เกิดจลาจลขนานใหญ่ทั่วญี่ปุ่น
ต่อมาอเมริกาได้วางระบบการเมืองของญี่ปุ่น ด้วยร่าง “รัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ขึ้น โดยรัฐธรรมนูญนี้จะให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนอย่างเต็มที่และอย่างกว้างขวางในทุกด้าน, สถาบันรัฐสภามีอำนาจสูงสุดในประเทศตามแบบประเทศอังกฤษ, ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนเช่นที่ปฏิบัติในอเมริกา ฯลฯ เรียกว่า “รัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1946” ประกาศใช้ในเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1946 และมีผลบังคับใช้วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1947
สาระสำคัญหนึ่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว คือเรื่องของจักรพรรดิ ในหมวดที่ 1 ของรัฐธรรมนูญ ค.ศ. 1946 เป็นหมวดที่ว่า “จักรพรรดิ” โดยกำหนดว่า จักรพรรดิเป็นสัญลักษณ์ของประเทศที่คงไว้ซึ่งอำนาจความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประชาชน พระองค์ทรงมีบทบาทต่างๆ ทางการเมือง, สังคม, วัฒนธรรม และการทูต แต่ไม่มีพระราชอำนาจใดที่จะสั่งการเกี่ยวเนื่องกับรัฐบาล นอกจากนี้พระราชกรณียกิจหลายอย่างมีรัฐสภาเป็นผู้ควบคุม เช่น การมอบทรัพย์สินให้ผู้ใด, การรับถวายทรัพย์สินต่างๆ ฯลฯ
นายพลแมคอาเธอร์ยังดำเนินการปฏิรูปด้านต่างๆ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจสู่ประชาชนและท้องถิ่น เช่น การปฏิรูปที่ดินอย่างเด็ดขาด ซึ่งขณะนั้นเกษตรกรกว่าครึ่งหนึ่งต้องเช่าที่ดินทำกิน ทำให้เกษตรกรมีที่ดินเป็นของตนเองมากขึ้น, มีการปฏิรูปทางด้านการศึกษา ลดอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการลง ให้มีคณะกรรมการการศึกษาในแต่ละท้องถิ่น ที่ประกอบด้วยตัวแทนของประชาชน และผู้ทรงคุณวุฒิต่างๆ เป็นผู้กำหนดและเลือกใช้แบบเรียนอะไรต่างๆ ไม่ใช่เป็นของกระทรวงศึกษาธิการฝ่ายเดียว (แต่การที่จะอนุมัตินั้นเป็นของกระทรวง), การกระจายหุ้นของกิจการเอกชนผูกขาด, การสนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหภาพแรงงาน ฯลฯ
นั่นทำให้ปลายทศวรรษ 1950 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะสามารถประหยัดงบประมาณทางการทหารลงเป็นจำนวนมาก เพราะมีการยุบ 3 เหล่าทัพ ที่สำคัญอีกประการคือ “ประชาชนญี่ปุ่น” ที่มีระเบียบวินัย, ขยันขันแข็ง ไม่ว่าแพ้หรือชนะสงครมคุณสมบัติของคนญี่ปุ่นไม่เคยลดลง
ทว่าการเข้ามาของอเมริกาก็เป็นเหมือนเหรียญ 2 ด้าน
กล่าวตามสนธิสัญญาความมั่นคงที่ญี่ปุ่นทำกับอเมริกาใน ค.ศ. 1951 ยินยอมให้อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพในญี่ปุ่น ตั้งแต่บริเวณเกาะฮอกไกโด จนถึงโอกินาวา ทั้งยินยอมอเมริกาใช้ฐานทัพเหล่านั้นไปปฏิบัติการในประเทศรอบๆ ญี่ปุ่นได้อีกด้วย ซึ่งทำให้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างประชาชนในพื้นที่และกองทัพอเมริกามีอยู่เป็นระยะ
นอกจากการเติบโตอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ว่าได้ละเลยเรื่องสภาพแวดล้อม ทำให้เกิดโรค “มินามาตะ” ที่หมู่บ้านมินามาตะในเกาะกิวชิว เนื่องจากสารปรอทจากโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่ง ที่ทำให้เกิดความพิการแขนงอกระดูกเบี้ยว บางรายรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต หรือปัญหาอากาศเป็นพิษที่เกิดจากบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ที่รวมตัวกันอยู่ที่จังหวัดไอชิ ที่ทำให้ประชาชนในบริวเณนั้นเป็นโรคหืด
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
ข้อมูลจาก :
ประเสริฐ จิตติวัฒนพงศ์. “การพัฒนาประเทศ 100 ปีของญี่ปุ่น” ใน, วารสารญี่ปุ่นศึกษา ปีที่ 3 ฉบับที่ 4 (1986)
สุนีย์ มัลลิกะมาลย์. “รัฐธรรมนูญญี่ปุ่น: จากอดีตสู่ปัจจุบัน” ใน, วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ ปีที่ 52 ฉบับที่ 3/2555
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 ตุลาคม 2564