7 ธันวาคม 1941 กองทัพญี่ปุ่นโจมตีถล่ม “เพิร์ลฮาร์เบอร์”

7 ธันวาคม 1941 ญี่ปุ่น โจมตี ฐานทัพเรือ เพิร์ลฮาร์เบอร์
เรือรบยูเอสเอสเวสต์เวอร์จิเนียที่ถูกปกคลุมด้วยควันไฟและเปลวเพลิง หลังถูกกองทัพญี่ปุ่นโจมตีโดยไม่ทันได้ตั้งตัว เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (AFP PHOTO / THE NATIONAL ARCHIVES)

ในวันที่ 7 ธันวาคม 1941 (พ.ศ. 2484) กองทัพญี่ปุ่นได้ส่งกำลังเข้าลอบโจมตีกองทัพสหรัฐฯ ที่ตั้งอยู่ ณ เพิร์ลฮาร์เบอร์ (Pearl Harbor) บนเกาะโออาฮู (Oahu) ของหมู่เกาะฮาวาย โดยที่สหรัฐฯ ยังไม่ทันได้ตั้งตัว เปิดฉากสงครามของทั้งสองประเทศอย่างเต็มตัว หลังทั้งคู่มีสัมพันธ์ที่ร้าวฉานมานานนับสิบปี

ก่อนหน้านั้น การขยายอิทธิพลของญี่ปุ่นไปยังดินแดนเพื่อนบ้านอย่างจีน ตั้งแต่ปี 1937 (พ.ศ. 2480) ประกอบกับการเข้าเป็นพันธมิตรกับกลุ่มอักษะ และการบุกยึดอินโดจีน ได้สร้างความไม่พอใจให้กับสหรัฐฯ อย่างรุนแรง

สหรัฐฯ ตอบโต้ญี่ปุ่นด้วยการอายัดทรัพย์ทั้งหมดของญี่ปุ่นในสหรัฐฯ ตามมาด้วยการประกาศคว่ำบาตรการค้าปิโตรเลียม และสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอื่นๆ กับญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นพยายามหาทางเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อให้สหรัฐฯ ผ่อนคลายมาตรการคว่ำบาตรมาโดยตลอด รวมถึงช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนการโจมตีเพิร์ลฮาร์เบอร์ ก่อนที่ โตโจ ฮิเดกิ (Tojo Hideki) นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้นจะตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยสงคราม

การเคลื่อนกำลังพลทางน้ำของญี่ปุ่นเริ่มตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน ประกอบด้วย เรือบรรทุกเครื่องบิน 6 ลำ เรือประจัญบาน 2 ลำ เรือลาดตระเวณ 3 ลำ เรือพิฆาตอีก 11 ลำ โดยมีกำลังรบทางอากาศเป็นเครื่องบินอีกกว่า 360 ลำร่วมปฏิบัติการ

การโจมตีเริ่มเกิดขึ้น ณ เวลา 7.55 นาฬิกา ตามเวลาท้องถิ่น ของวันอาทิตย์ที่ 7 ธันวาคม 1941 มีฝูงบินระลอกแรกจำนวน 200 ลำเข้าโจมตี โดยมีรายงานว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ที่สามารถจับสัญญาณของฝูงบินขนาดมหึมาได้บนเรดาร์ถูกบอกจากเจ้าหน้าที่ระดับสูงขึ้นไปว่า ไม่ต้องไปสนใจ ทำให้กองทัพสหรัฐฯ ในขณะนั้นตกเป็นเป้านิ่งที่แทบไม่อาจตอบโต้ได้เลย

กองทัพญี่ปุ่นประสบความสำเร็จอย่างงดงามจากการฉวยโอกาสโจมตีในครั้งนี้ โดยพวกเขาสามารถทำลายเรือรบสำคัญจำนวนมากของสหรัฐฯ รวมถึงเครื่องบินอีกเกินกว่า 180 ลำ และทำให้มีผู้เสียชีวิตกว่า 2,300 ราย ขณะที่ญี่ปุ่นเสียเครื่องบินไปไม่เกิน 60 ลำ เรือดำน้ำขนาดเล็กอีก 5 ลำ และกำลังพลเพียงราว 100 นาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

“Pearl Harbor Attack”. Encyclopedia Britannica. <https://global.britannica.com/event/Pearl-Harbor-attack>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 ธันวาคม 2560