อวสานจอมพลโตโจ คิดปลิดชีพตนเองแต่ผบ.อเมริกันต้องการ “จับเป็น”

จอมพล โตโจ ในคอกสืบพยายต่อหน้าคณะลูกขุนนานาชาติ ณ ศาลทหารอาชญากรสงคราม กรุงโตเกียว

จอมพล ฮิเดกิ โตโจ เป็นนายพลทหารแห่งกองทัพญี่ปุ่น, เป็นนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นคนที่ 27 ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2, เป็นหนึ่งในผู้ที่รับผิดชอบในการออกคำสั่งให้โจมตีที่เพิร์ลฮาร์เบอร์และการทำสงครามอื่นๆ, เป็นอาชญากรสงคราม เป็น… ฯลฯ  

แต่ไม่ว่าจะเป็นใคร และเป็นอะไร ก็ต้องถึงตอน “อวสาน”

สำหรับตอนอวสานของจอมพล โตโจ ไกรฤกษ์ นานา กล่าวไว้ในบทความชื่อ “ประวัติลับหลัง ‘ท่านผู้นำ’ สงครามมหาเอเชียบูรพา คนผิดไม่ถูก คนถูกไม่ผิด” ไว้ดังนี้ [จัดย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่ม]

ในช่วงปีสุดท้ายของสงคราม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) ภายหลัง จอมพล โตโจถูกปลดจากความปราชัยในการสู้รบทุกสมรภูมิ เขาก็ปลีกวิเวกตนเองไปอยู่ ณ บ้านไร่ในชนบท แต่ก็ยังติดตามข่าวสงครามอย่างใกล้ชิด โดยไม่คิดจะหลบหนีออกนอกประเทศทั้งที่สามารถจะทำได้ ดังปรากฏว่าในสถานการณ์เดียวกันนี้ ผู้นำนาซีเยอรมันหลายต่อหลายคน เมื่อตระหนักว่าเยอรมนีกำลังจะพ่ายแพ้ในที่สุดต่างก็พากันหนีออกนอกประเทศ โดยมุ่งไปขอลี้ภัยในกลุ่มประเทศอเมริกาใต้ที่มิได้เป็นศัตรูกับเยอรมนีและพร้อมจะให้ที่พักพิงพวกตน

และตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2488 (ค.ศ. 1945) เป็นต้นมา เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว ทหารอเมริกันหลายพันนายก็เข้ามาภายในญี่ปุ่นและเริ่มตามหาตัวเพื่อจับกุมแม่ทัพนาย กองที่หลบไปซ่อนตัวอยู่ ณ ที่ต่างๆ เพื่อปลดอาวุธและจับตัวคุมขังไว้รอการขึ้นศาลทหาร

แต่จอมพลโตโจก็มิได้แสดงตนอย่างเปิดเผยต่อทหารอเมริกัน และหลบเงียบอยู่ภายในบ้านของตนชานกรุงโตเกียวอย่างไม่สะทกสะท้านเป็นเวลาร่วม 2 สัปดาห์ ภายหลังญี่ปุ่นยอมจำนนแล้ว ทั้งที่เขาคือผู้นำระดับสูงที่ทางสหรัฐอเมริกาหมายหัวและต้องการจับกุมตัวมากที่สุด ในฐานะผู้ออกแบบนโยบายสงครามตัวจริงและเป็นผู้ออกคำสั่งให้ถล่มฐานทัพเรืออเมริกันที่เพิร์ลฮาร์เบอร์

ทว่าชาวอเมริกันคนแรกๆ ที่มาถึงตัวเขากลับเป็นนักข่าวหัวเห็ด 2 คนจากสำนักข่าว Associated Press ชื่อนาย Murlin Spencer และ Russell Brines ผู้เข้ามาขอสัมภาษณ์ท่านจอมพลอย่างไม่เป็นทางการใน นามของผู้สื่อข่าวอเมริกันที่มิใช่มือมัจจุราชของกองทัพสหรัฐอเมริกา

ขณะการสัมภาษณ์ดำเนินอยู่ นักข่าวคนหนึ่งก็ขอออกไปตามช่างภาพมาบันทึกภาพด้วย และในจังหวะกลับมานั่นเอง รถทหาร 2 คันก็เข้ามาเทียบหน้าบ้านและแสดงตนขอจับกุมตัวท่านจอมพล

“ในจังหวะที่ทหารเข้าจับกุม จอมพล โตโจก็ชักปืนสั้นโคลต์ .32 ที่ตนพกอยู่ออกมาลั่นไกปลิดชีวิตตนเองทันที โดยเล็งปากกระบอกปืนไปที่หัวใจ แต่ลูกกระสุนก็พลาดเป้าไปกลางหน้าอก ทำให้เขาไม่สิ้นชีวิตในทันที แต่จมกองเลือดฟุบลงต่อหน้าต่อตาช่างภาพและนักข่าวในที่เกิดเหตุ”

แพทย์ทหารถูกเรียกเข้ามาทันทียังที่เกิดเหตุและโดยคำสั่งเด็ดขาดของ นายพล แมคอาร์เธอร์ ผบ.กองทัพอเมริกันให้จับกุมตัวโตโจให้ได้แบบ “จับเป็น” ซึ่งหมายถึงท่านจอมพลยังตายไม่ได้ เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1945 (พ.ศ. 2488)

เป็นเวลาเกือบ 7 เดือนเต็ม หลังจากที่กองทัพญี่ปุ่นยอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข สหรัฐอเมริกาก็เข้ามาตั้งกองบัญชาการในภารกิจ “ล้างบาง” ณ กรุงโตเกียว กับการค้นหาหลักฐานจากสถานที่ราชการต่างๆ อย่างไม่ละเว้น พร้อมส่งหน่วยพิเศษออกตามล่าและจับกุมนายทหารญี่ปุ่นทุกกรมกองโดยไม่ไว้หน้า เพื่อนำมาขึ้น “ศาลทหาร” อาชญากรสงคราม ดังเช่นที่ได้จัดการกับกองทัพนาซีเยอรมันในยุโรป

วันที่ 3 พฤษภาคม 1946 (พ.ศ. 2489) ศาลทหารพิเศษอาชญากรสงครามสำหรับตะวันออกไกลเปิดการพิจารณาคดี “Tokyo Trials” ขึ้น โดยท่านผู้พิพากษาชื่อ Radhabinod Pal จากอินเดียเป็นผู้นั่งบัลลังก์ ในการนี้ผู้นำญี่ปุ่นระดับหัวหน้าในคณะรัฐบาลชุดสงครามประกอบด้วย นักโทษระดับนายพล จำนวน 23 คน รับทราบคำพิพากษาและคำตัดสินบทลงโทษ

“ในจำนวนนี้ 7 นายพล ซึ่งจัดอยู่ในชุด Class A ได้รับการตัดสินให้ประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ ส่วนอีก 16 คนที่เหลือมีทั้งนายพลและพลเรือนถูกตัดสินให้จำคุกตลอดชีวิต นายพลคนแรกในชุดมหันตโทษก็คือ จอมพล ฮิเดกิ โตโจ อดีตนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น”

นอกจากนักโทษ 23 คนที่รับโทษหนักแล้วยังมีแม่ทัพนายกอง และนายทหารขั้นหัวหน้าอีก 4,300 นาย ก็ได้รับโทษทัณฑ์ถ้วนหน้า โดยทั่วไปแล้วจากความผิดเกี่ยวกับความทารุณโหดร้ายขณะทำหน้าที่ มีอาทิ ฆาตกรรม ทรมานเชลยศึก และคดีข่มขืนต่างต้องโทษจำคุกกันระนาว

หลังจากวันพิพากษาแล้วถึง 8 เดือน ในวันที่ 22 ธันวาคม 1948 (พ.ศ. 2491) บทลงโทษความผิดแก่นักโทษอุกฉกรรจ์ก็เริ่มขึ้นที่เรือนจำซูกาโม โดยการอนุญาตให้พระสงฆ์ในพุทธศาสนานามว่า ชินโซ ฮานายามา เข้ามาประกอบพิธีภายในเรือนจำ แต่ญาติของนักโทษทุกคนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในเขตรั้วแดนประหาร

นักโทษอุกฉกรรจ์ Class A กลุ่มแรกจำนวน 4 คน แต่งกายด้วยยูนิฟอร์มคนเก็บขยะประจำค่ายทหารอเมริกันถูกนำไปสู่ตะแลงแกง ประกอบด้วย จอมพล โตโจ พลเอก ดอยฮารา พลโท มัทซุย และ พลตรี มูโต  ล้วนเป็นคนดังจากสมรภูมิที่มีเหตุการณ์สะเทือนขวัญเป็นที่โจษขานไปทั่วโลก

ดอยฮาราเป็นผู้นำการบุกและยึดครองแมนจูเรียและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวจีน มัทซุยเป็นผู้เปิดทางการข่มขืนชาวจีนที่นานกิง มูโตเป็นผู้รู้เห็นการทำทารุณกรรมเชลยศึกในจีน สุมาตรา และฟิลิปปินส์  โตโจเป็นผู้สร้างและบริหารนโยบายสงครามทั้งหมดของญี่ปุ่น

นักโทษทั้งสี่ถูกนำไปแขวนคอเป็นชุดแรกโดยถูกประหารทีละคนก่อน จากนั้นนักโทษสถานหนักชุดที่ 2 อีก 3 คนก็จะขึ้นสู่ตะแลงแกงเป็นชุดถัดไป โดยเว้นระยะห่าง 29 นาทีต่อราย พระสงฆ์ผู้ร่วมพิธีบันทึกว่าท่านได้ยินเสียงกระตุกของพื้นจุดประหารเปิดครั้งแรกของ จอมพล โตโจ เมื่อเวลา 1 นาทีหลังเที่ยงคืนของวันที่ 23 ธันวาคม 1948 (พ.ศ. 2491)

“ร่างของนักโทษประหารทั้งหมดถูกนำไปเผาตามประเพณี โดยไม่มีการเก็บอังคารให้ญาติของผู้ตาย เพื่อป้องกันมิให้ถูกนำไปบูชาโดยสาวกหรือผู้เห็นใจในภายหลัง บทบาทของผู้นำสงครามชาวญี่ปุ่นจึงสิ้นสุดลง ณ จุดนั้น เหมือนตั้งใจให้ถูกลบออกไปจากหน้าประวัติศาสตร์

 


ข้อมูลจาก

ไกรฤกษ์ นานา. “ประวัติลับหลัง ‘ท่านผู้นำ’ สงครามมหาเอเชียบูรพา คนผิดไม่ถูก คนถูกไม่ผิด” ใน, ศิลปวัฒนธรรม มิถุนายน 2563


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2564