ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2543 |
---|---|
ผู้เขียน | ปรามินทร์ เครือทอง |
เผยแพร่ |
สงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มขึ้นในวันที่ 1 กันยายน 2482 เมื่อกองทัพเยอรมันบุกโปแลนด์ หลังจากนั้น 4 วัน ไทยประกาศตัวเป็นกลาง ตามพระราชโองการลงวันที่ 5 กันยายน 2482
นี่เป็นจุดเริ่มต้นอันมีส่วนสำคัญที่นำไทยเข้าสู่สงครามย่อย ๆ คือ กรณีพิพาทอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศส ซึ่งไทยถือเอาโอกาสเหมาะระหว่างที่ฝรั่งเศสกำลังรบติดพันและเพลี่ยงพล้ำเป็นข้อได้เปรียบที่จะเรียกร้องขอดินแดนคืนที่เสียไปเมื่อครั้งรัชกาลที่ 5 ในกรณี ร.ศ. 112
กองทัพไทยเริ่มบุกเข้าดินแดนฝรั่งเศสในอินโดจีนตั้งแต่วันที่ 25 พฤศจิกายน 2483 และรุกคืบได้ชัยชนะเรื่อยมา จนในที่สุดญี่ปุ่นก็ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ย จนมีการลงนามในอนุสัญญาสันติภาพในวันที่ 9 พฤษภาคม 2484
แม้ว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะทำให้เราได้ดินแดนบางส่วนคืน แต่กองทัพไทยก็ตกอยู่ในสภาพบอบช้ำเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกองทัพเรือต้องเสียเรือรบที่ส่งเข้าสงครามครั้งนี้ไปทั้งหมด คือ เรือหลวงธนบุรี เรือหลวงสงขลา และเรือหลวงชลบุรี
ไทยกับ “สงครามโลกครั้งที่ 2”
จนกระทั่งวันที่ 7 ธันวาคม 2484 ประชาชนชาวไทยกำลังอยู่ในบรรยากาศของงานฉลองรัฐธรรมนูญที่รัฐบาลจัดขึ้น โดยไม่รู้ตัวเลยว่าเหตุการณ์ร้ายกำลังคืบคลานเข้ามาใกล้ตัวทุกที และในที่สุดกลางดึกของคืนวันที่ 7 ต่อเนื่องถึงเช้าวันที่ 8 ธันวาคม ฝันร้ายก็เกิดขึ้นแบบตั้งตัวไม่ทัน
ทางฝ่ายรัฐบาลและทหารเองได้เตรียมการเรื่องนี้มานานพอสมควรแล้ว แต่ก็ไม่มีใครคาดคิดว่าญี่ปุ่นจะบุกจริง ๆ เพราะยังมีสนธิสัญญาที่จะไม่รุกรานกันค้ำประกันอยู่ ทางด้านการข่าว ไทยได้รับข่าวจากฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ตลอดเวลาให้เตรียมการในเรื่องนี้ และยืนยันว่าญี่ปุ่นวางแผนจะยึดครองอินโดจีนเป็นที่แน่นอน
และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ ประมาณตีสองของวันที่ 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกตลอดแนวชายฝั่งของไทย เป็นการบุกแบบสายฟ้าแลบ และก็ประสบผลสำเร็จแทบจะเป็นเวลาเดียวกับฐานทัพอเมริกันที่เพิร์ลฮาร์เบอร์ถูกกองทัพญี่ปุ่นถล่มย่อยยับ
นี่คือลำดับเหตุการณ์คร่าว ๆ ของการเริ่มต้น สงครามมหาเอเชียบูรพา สิ่งที่สร้างความสงสัยอย่างยิ่งในเหตุการณ์ครั้งนี้คือ กองทัพเรือขนาดมหึมาของญี่ปุ่นเล็ดลอดการตรวจระวังชายฝั่งของกองทัพเรือมาได้อย่างไร โดยที่ไม่เกิดการปะทะกันแม้แต่พียงเล็กน้อย หรือไม่ปรากฏว่ามีการส่งข่าวใด ๆ จากกองทัพเรือ สู่แนวระวังชายฝั่งของกองทัพบก ทหารราบ ตำรวจ และชาวบ้าน มารู้ตัวกันก็เมื่อเห็นทหารญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกแล้ว
ก่อนหน้านี้ข่าวทางการทหารที่ไทยได้รับจากฝ่ายสัมพันธมิตรก็มีมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม จนกระทั่งแน่ชัดเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม เครื่องบินตรวจการณ์ของออสเตรเลียได้ตรวจพบเรือลำเลียงของญี่ปุ่นในอ่าวไทย นอกจากนี้ยังมีโทรเลขลับจากกระทรวงต่างประเทศอังกฤษส่งข่าวให้รัฐบาลไทยรู้ตัวตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคม และ 7 ธันวาคม เตือนให้ไทยเตรียมการป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น
ป้องกันการรุกรานของญี่ปุ่น
ทางด้านกองทัพเรือเองก็มีการเตรียมการในการนี้อยู่ตลอด จากเอกสารคำสั่งเฉพาะที่ 5/84 เรื่องให้จัดกองเรือออกไปลาดตระเวนอ่าว ลงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2484 โดยมี น.อ.ชลิต กุลกำม์ธร เป็นผู้บังคับกองเรือ กำหนดออกเรือจากกรุงเทพฯ ในวันที่ 21 พฤศจิกายน 2484 ระยะเวลา 15 วัน เส้นทางเดินเรือตั้งแต่กรุงเทพฯ-หมู่เกาะอ่างทอง-สงขลา-นราธิวาส แล้วแล่นตัดข้ามอ่าวไปยังเกาะกูด-สัตหีบ-กรุงเทพฯ
กองเรือนี้ประกอบด้วยเรือ 8 ลำ เป็นเรือสลุป 2 ลำ คือเรือหลวงท่าจีน และเรือหลวงแม่หลอง เรือตอร์ปิโดใหญ่ 4 ลำ ได้แก่ เรือหลวงระยอง เรือหลวงตราด เรือหลวงสุราษฎร์ และเรือหลวงปัตตานี เรือกวาดทุ่นระเบิด 1 ลำ คือ เรือหลวงบางระจัน กับเรือลำเลียง 1 ลำ คือ เรือหลวงพงัน (ประวัติศาสตร์การสงครามของไทยในสงครามมหาเอเชียบูรพา, 2540)
นอกจากนี้กองทัพเรือได้กำลังบางส่วนเพื่อป้องกันฐานทัพชายทะเล เช่น กองต่อสู้อากาศยาน 1 กองร้อย เพื่อป้องกันฐานทัพเรือสัตหีบ เป็นต้น
จนถึงวันที่ 7-8 ธันวาคม ก่อนการยกพลขึ้นบกนั้นเองที่ทหาร ตำรวจ และชาวบ้าน ได้พบกองเรือญี่ปุ่นในลักษณะต่าง ๆ กัน เช่น ตีสามของวันที่ 8 นาวาโทหลวงวุฒิวารีรณ (วุฒิ สุทธิบุตร) สังเกตเห็นการลำเลียงทหารญี่ปุ่นจากเรือซิดนีย์ลงเรือเล็กเพื่อขึ้นบกทางอ่าวประจวบฯ มีเรือลำเลียงลำหนึ่งลักษณะเป็นเรือสินค้าแล่นเข้าไปจอดที่หลังเขาล้อมหมวกทางด้านเหนือ แล้วถ่ายกำลังพลลงเรือระบายพล ทางเกาะเสม็ดพบเรือลำเลียงพลจำนวน 2 ลำ ราษฎรบนเกาะสมุยพบเรือลำเลียงขนาดใหญ่ 2-3 ลำ เป็นต้น
จนกระทั่งเวลาประมาณตีสองถึงตีสี่ ทหารญี่ปุ่นจึงยกพลขึ้นบกพร้อม ๆ กัน 7 แห่ง คือ สมุทรปราการ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา และปัตตานี
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อกองทัพญี่ปุ่นผ่านด่านแรกในน่านน้ำไทยไปได้อย่างสบาย โดยไม่มีการสู้รบใด ๆ ในน่านน้ำทะเลอ่าวไทย จนกระทั่งมีการปะทะกันอย่างดุเดือดตลอดแนวชายฝั่งของประเทศไทย ระหว่างทหารญี่ปุ่นกับทหารราบ ตำรวจ ยุวชนทหาร และชาวบ้าน ที่นำไปสู่ความสูญเสียทั้งชีวิต ทรัพย์สิน และกำลังใจ การสู้รบกินเวลาอยู่หลายชั่วโมง ก่อนจะมีคำสั่งหยุดยิงในเวลา 07.30 น. ของวันที่ 8
บทบาท พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน
เหตุการณ์สำคัญที่เชื่อมโยงในกรณีนี้คือ พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน แม่ทัพเรือขณะนั้นถูกทหารญี่ปุ่นกักตัวไว้ที่บางปู แต่ก็ได้รับการปล่อยตัว และเข้าร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีในสายวันเดียวกัน
พลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน เดิมคือ นาวาโทหลวงสินธุ์สงครามชัย ผู้นำทหารเรือคนสำคัญในคราวก่อการ 2475 เพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครอง
หลวงสินธุ์สงครามชัยได้รับทุนไปเรียนวิชาการทหารเรือที่เดนมาร์กถึง 11 ปี เป็นนายทหารเรือฝ่าย “บุ๋น” ที่นายทหารเรือยกย่องเป็น “ครู” และได้ดำรงตำแหน่งสำคัญในกองทัพเรือเรื่อยมา ในสายเสนาธิการ จนได้เป็นแม่ทัพเรือในที่สุด และยังดำรงตำแหน่งเป็นรับมนตรีในกระทรวงต่าง ๆ อีกหลายสมัย เป็นคนผลักดันให้เกิดมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และท้ายสุดในช่วงสงครามนี้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการ
หากจะกล่าวว่าจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นผู้สร้างกองทัพบกให้แข็งแกร่ง หลวงสินธุ์สงครามชัย ก็คือผู้สร้างกองทัพเรือให้แข็งแกร่งเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเป็นบุคคลสำคัญที่สร้างรากฐานในการดำเนินนโยบาย “วางตัวเป็นกลาง” ของกองทัพเรือ เริ่มจากการปฏิเสธการร่วมรบในสงครามกลางเมืองของไทย คือ กบฏบวรเดช จนเป็นเหตุให้กองทัพเรือขณะนั้นแบ่งออกเป็นสองขั้ว คือฝ่ายของหลวงสินธุ์ ผู้ยึดมั่นในประเพณีและหลักการกับฝ่ายของหลวงศุภชลาศัย ที่เป็นพันธมิตรกับกองทัพบก
ท้ายที่สุดทหารเรือก็เลือกหลวงสินธุ์ฯ หลวงศุภชลาศัยจำต้องย้ายออกจากกองทัพเรือไปเป็นอธิบดีกรมพลศึกษา
ถ้าหากหลวงสินธุ์ฯ หรือพลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน จะยึดมั่นหลักการ โดย “วางตัวเป็นกลาง” ตามคำประกาศตามพระราชโองการวันที่ 5 กันยายน โดยไม่ยอมนำทหารเรือเข้ารบกับญี่ปุ่น ก็คงจะขัดกับนโยบายป้องกันการรุกรานที่ประกาศให้ทุกเหล่าทัพเตรียมพร้อมเต็มกำลัง และขัดกับการสั่งการให้กองทัพเรือส่งเรือลาดตระเวนทั่วอ่าวไทย กับติดตั้งปืนต่อสู้อากาศยานไว้พร้อมแล้ว
จากคำให้การของ พล.ต.อ.อดุล อดุลเดชจรัส ในคดีอาชญากรสงคราม วันที่ 3 มกราคม 2489 เกี่ยวกับพลเรือโทสินธุ์ กมลนาวิน ความตอนหนึ่งว่า
“…ฝ่ายสหประชาชาติลงความเห็นว่า พลเรือโทสินธุ์เป็นหัวหน้าการสนับสนุนญี่ปุ่น เมื่อวันที่ญี่ปุ่นรุกรานไทย พลเรือโทสินธุ์ได้ไปอยู่สัตหีบ ข้าพเจ้าได้ให้กองทัพอากาศจัดเครื่องบินไปรับและโทรเลขไปให้รีบกลับกรุงเทพฯ ด่วน แต่พลเรือโทสินธุ์กับพวกได้เดินทางมาโดยรถยนต์แล้วถูกทหารญี่ปุ่นจับที่บางปู (ดิเรก ชัยนาม ระบุว่าถูกกักตัวที่คลองด่าน สมุทรปราการ) ในคืนวันนั้นปรากฏว่ากองทัพเรือได้ส่งเรือออกไปลาดตระเวนในอ่าวไทย แต่เหตุใดฝ่ายญี่ปุ่นจึงได้ส่งกำลังมาขึ้นที่บางปู โดยที่กองทัพเรือมิได้ทำการต้านทานนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบ…”
และยังกล่าวถึงความสัมพันธ์พิเศษระหว่าง นายวนิช ปานะนนท์ อธิบดีกรมพาณิชย์ (ต่อมาได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง) น้องเขยพลเรือโทสินธุ์กับญี่ปุ่นว่า
“…เรื่องนี้ทางตำรวจได้สืบสวนอย่างเต็มที่ แต่ไม่ได้พยานหลักฐานเพียงพอที่จะฟ้องร้องนายวนิชในขณะนั้น มาภายหลังเมื่อญี่ปุ่นบุกรุกเข้ามาเมืองไทยแล้ว จึงทราบแน่ชัดว่านายวนิชเป็นสปายให้ญี่ปุ่น ทั้งนี้ได้สังเกตว่าการประชุมปรึกษาหารือ หรือรายงานลับของรัฐบาลนั้นญี่ปุ่นมักล่วงรู้เสมอ…”
กับบันทึกของ อ.พิบูลสงคราม ที่ว่า “…เมื่อจอมพล ป. พิบูลสงคราม ได้ฟังรายงานจาก พล.อ.ต.มุนี มหาสันทนะ เวชยันต์รังสฤษดิ์ แล้วก็ฉงนใจว่าทหารญี่ปุ่นเล็ดลอดผ่านน่านน้ำไทยเข้ามาถึงบางปูได้อย่างไร ยกพลขึ้นบกที่นั่นได้อย่างไร กองเรือรบแห่งราชนาวีไทยอยู่ที่ไหน…”
คำให้การเหล่านี้ชี้ชัดว่า หลายคนก็ตั้งข้อสงสัยในการปฏิบัติการของกองทัพเรือเช่นเดียวกัน แต่น่าเสียดายที่ข้อมูลเพื่อที่จะหักล้างคำกล่าวเหล่านี้ถูกเผยแพร่น้อยเต็มที คงมีแต่เพียงว่า การยกพลขึ้นบกของกองทัพเรือญี่ปุ่นนั้นอาศัยเรือสินค้าบังหน้า การเข้าตรวจค้นอาจกระทบกระเทือนความสัมพันธ์ได้
และที่น่าสังเกตอีกอย่างหนึ่งก็คือ ภายหลังจากที่พลเรือโทสินธ์ กมลนาวิน ได้รับการปล่อยตัวแล้ว และเข้าประชุมในคณะรัฐมนตรีในสายวันที่ 8 ธันวาคม จากบันทึกการประชุมกลับไม่ปรากฏการซักไซ้ในเรื่องนี้แต่อย่างใด
สิ่งผิดปกติอีกอย่างหนึ่งคือ เอกสาร และบทความต่าง ๆ เกี่ยวกับสงครามมหาเอเชียบูรพา มักจะเริ่มต้นที่การเตรียมการของรัฐบาล และตัดตอนเข้าสู่เหตุการณ์การปะทะตามแนวชายฝั่ง โดย “ข้าม” ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดนี้ไป
คำตอบของเรื่องนี้ทั้งหมดน่าจะอยู่ในบันทึกการสั่งการของกองทัพเรือในคืนวันที่ 7-8 ธันวาคม ซึ่งตามระเบียบจะต้องมีคำสั่งเป็นเอกสารลงนามว่าหน่วยต่าง ๆ ของกองทัพเรือได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติอย่างไร จึงมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้ ซึ่งผิดกับวิสัยของลูกประดู่ที่เป็นนักรบเต็มตัว และเพิ่งสร้างวีรกรรมสำคัญเพื่อชาติไปเมื่อ 17 มกราคม 2484 ในยุทธนาวีเกาะช้าง
อ่านเพิ่มเติม :
- 8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกแผ่นดินไทย โดยไม่สนใจว่าไทยจะยินยอมหรือไม่
- ทำไมทหารเรือจึงเรียก “กรมหลวงชุมพรฯ” ว่า “เสด็จเตี่ย”
- ปริศนางบและงานทหารเรือไทยยุคแรก จากหนี้ประหลาด ถึง “เรือผี” เบิกอาหารแต่ไม่พบคนกิน
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ปรามินทร์ เครือทอง. สงสัย! ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกบุกไทย ทหารเรือหายไปไหน. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับตุลาคม 2543 : 114-117.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 มกราคม 2562