ทำไมทหารเรือจึงเรียก “กรมหลวงชุมพรฯ” ว่า “เสด็จเตี่ย”

กรมหลวงชุมพร เสด็จเตี่ย
พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ ทรงฉายในปี พ.ศ. 2450

“เสด็จเตี่ย” เป็นคำที่เหล่าทหารเรือและผู้เคารพนับถือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ (พ.ศ. 2423-2466) เรียกขานพระองค์ แต่การเรียกพระองค์เช่นนี้ มีที่มาอย่างไร?

พลเรือโท ศรี ดาวราย บันทึกไว้ในบทความชื่อ “ชีวิตนักเรียนนายเรือสมัย พ.ศ. 2462” ตอนหนึ่งว่า

“ผมได้สอบแข่งขันเข้าโรงเรียนนายเรือได้ เมื่อกลางปี พ.ศ. 2462 เป็นนักเรียนนายช่างกล (นบช.) เรียกกันว่าเหล่าพรรคกลิน

วันที่ 6 ตุลาคม 2462 เป็นวันแรกที่นักเรียนรุ่นผมไปถึงโรงเรียนฯ ซึ่งอยู่ในพระราชวังเดิม จังหวัดธนบุรี ก็ได้รับเครื่องแบบกลาสีเรือ (พลทหาร) คนละ 2 ชุด ขนาดใหญ่-เล็ก ตามรูปร่างของแต่ละคน ส่วนมากไม่ได้ขนาด คนสูงใหญ่ใส่กางเกงสั้นจุดจู๋ และเสื้อคับปี๋ คนตัวเล็กและเตี้ย ใส่แล้วกางเกงใหญ่ ขายาวคร่อมเท้า เสื้อโตโคร่งคร่าง ต้องพับขากางเกงและแขนเสื้อ ดูแล้วทุเรศแท้ๆ แต่ก็ต้องทนใส่ไม่มีเวลาที่จะนำไปแก้ไข เพราะหลังจากได้รับแจกเล้ว ประมาณวันที่ 8 ต.ค. 62 ทางโรงเรียนก็นำนักเรียนทั้งหมดไปลงเรือหลงพาลีรั้งทวีปและเรือมรุธวสิตสวัสดิ์ วันที่ 11 ต.ค. 62 เรือทั้งสองก็ออกทะเล ไปฝึกภาคปฏิบัติที่สัตหีบ

การออกฝึกภาคในทะเลครั้งนั้น พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ขณะดำรงตำแหน่งเสนาธิการทหารเรือ เป็นผู้อำนวยการฝึก และประทับที่ ร.ล.พาลีฯ ด้วย เช้าวันหนึ่งมีการขัดหินทรายแล้วเช็ดล้างดาดฟ้าไม้ที่ท้ายเรือ พวกนักเรียนใหม่ๆ ทำงานกันไม่เป็น เงอะงะเก้งก้าง เป็นเวลาที่พระองค์ทรงยืนอยู่ ณ ที่นั้นด้วย

ทอดพระเนตรแล้วคงสงสาร จึงได้ดำรัสกับพวกนักเรียนว่า ‘อ้ายลูกชายมานี่ เตี่ยจะสอนให้’ แล้วทรงทำงานให้ดูจนเสร็จ โดยมิได้ถือพระองค์เลย นักเรียนทั้งปวงจึงได้เคารพรักกันมาก และพากันเรียกพระองค์ว่า ‘เสด็จเตี่ย’ จนถึงทุกวันนี้”

ในเอกสารสโมสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 15 ตุลาคม 2558 ยังกล่าวถึงการเรียกพระองค์ว่า “เสด็จเตี่ย” ดังนี้

นอกจาก ‘เสด็จเตี่ย’ แล้ว ในหมู่พระโอรส พระธิดา และทหารผู้ใกล้ชิด ก็ยังโปรดให้เรียกพระองค์ว่า ‘ติ๊ดเตี่ย’ นายพลเรือ พระยาหาญกลางสมุทร [บุญมี พันธุมนาวิน] ก็เคยเขียนชี้แจ้งว่า ตอนที่ทรงเป็น ‘หมอพร’ รักษาคนโดยไม่คิดสตังค์นั้น คนจีนก็เรียกพระองค์ว่า ‘เตี่ย’ และว่าคนไทยเรียก ‘ทิดเตี่ย’ (คำหลังนี่ผมเดาเอาเองว่าคงเพี้ยนมาจาก ‘ติ๊ดเตี่ย’)

ถ้าถามว่า ทำไมชอบเรียกพระองค์เองว่า ‘เตี่ย’ หรือให้ผู้อื่นเรียกเช่นนั้น ข้อนี้ไม่ทราบครับ นอกจากสันนิษฐานเอาว่าเป็นความนิยมส่วนพระองค์” 

หมายเหตุ : จัดย่อหน้าและเน้นคำใหม่โดยกองบรรณาธิการออนไลน์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พลเรือโท ศรี ดาวราย. “ชีวิตนักเรียนนายเรือสมัย พ.ศ. 2462” ใน, หนังสืออนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ ณ ฌาปนสถานกองทัพเรือ วัดเครือวัลย์วรวิหาร วันที่ 18 มีนาคม 2536

ลุงเฉย ปะชาชิน. “รู้ไม่โม้ด” ใน, เอกสารสโมรสรศิลปวัฒนธรรมเสวนา 15 ตุลาคม 2558


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 กรกฎาคม 2563