กรมหลวงชุมพรฯ กับการเลี้ยงนักมวยในวัง สู่การปั้นชกไฟต์แห่งยุค กำปั้นไทยดวล “มวยจีน”

[ภาพหลัง] (ซ้าย) นายไล่โฮ้ว์ จีนฮกเกี้ยน (ขวา) นายยัง หาญทะเล มวยนครราชสีมา ถ่ายเพื่อโฆษณาในบริเวณสนามเสือป่า เขาดินวนา (ดุสิต) ภาพจาก ปริทัศน์มวยไทย [ซ้ายสุด] กรมหลวงชุมพรฯ

ความนิยมของ “มวย” เป็นที่ประจักษ์มาตั้งแต่สมัยโบราณในยุคที่ใช้เป็นวิชาในการต่อสู้เพื่อป้องกันตัวและต่อกรกับผู้รุกราน เมื่อมีผู้ตื่นตัวสนใจ มวยไทยก็กลายเป็นมรดกที่ล้ำค่าก่อนหน้าช่วงเวลาที่จะมีการแข่งขันอาชีพกลางทศวรรษ 2460 ในสมัยที่มวยได้รับความนิยม มีเจ้านายหลายพระองค์ที่ทรงอุปถัมภ์มวย อย่างกรณีของกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์

ก่อนที่จะเล่าถึงเรื่องราวเกี่ยวกับมวยในไทยนั้น ผู้รู้เกี่ยวกับศาสตร์แห่งการต่อสู้โบราณนี้อธิบายเป็นข้อมูลประกอบ (แต่มีความสำคัญในแง่การทำความเข้าใจเรื่องมวย)ว่า คำว่า “มวย” ไม่ได้หมายถึงการชกต่อยอย่างเดียวเท่านั้น

คำว่ามวย มีความหมายหลายอย่าง อาทิ มุ่นผม หรือผมที่เกล้าเป็นก้อน, หนึ่ง หรือเดียว (อันได้มาจากเขมร), การชกต่อยแบบชาวสยามซึ่งมีการเตะรวมอยู่ด้วย และ ท่าทาง/คำพูดไม่ตลกขบขัน ซึ่งเป็นคำแผลง (Slang) ในสมัยรัชกาลที่ 5

เขตร ศรียาภัย กูรูเรื่องมวย(ไทย) และคอลัมนิสต์ว่าด้วยเรื่องมวยชื่อดังเคยอธิบายไว้ว่า ในงานฉลองหลังพระราชพิธีขึ้นพระที่นั่งเวหาศน์จำรูญ ที่พระราชวังบางปะอิน พระนครศรีอยุธยา ในงานนี้มีตลกละครนอกเล่นตลกแต่ไม่มีคนขบขัน ตัวตลกคนนั้นไว้ผมมวย จึงกลายเป็นคำแผลง เรียก “มวย” สื่อถึงการแสดงท่าทางและคำพูดที่ไม่ตลกขบขัน

มวยปรากฏอยู่ในตำราฉุปศาสตร์ หรือตำรารบ (พิชัยสงคราม) ในโบราณที่อธิบายถึงการใช้อาวุธต่างๆ ขณะที่คนโบราณก็มีการถ่ายทอดความรู้แยกสาขาจากตำราการใช้อาวุธ อันเรียกว่า “พาหุยุทธ์” คือการต่อสู้ด้วยแขน หรือที่รู้จักกันในหมู่คนไทยว่า “ตีมวย” กล่าวได้ว่า เป็นศาสตร์ประเภทหนึ่ง

มวยในพระทัยเสด็จในกรมฯ

พลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์ เป็นเจ้านายอีกหนึ่งพระองค์ในประวัติศาสตร์ไทยที่ทรงสนใจ-สนับสนุนมวยและนักมวย ดังที่ เขตร ศรียาภัย ผู้เชี่ยวชาญเรื่องมวยไทยเคยเล่าไว้ว่า เสด็จในกรมฯ ทรงรับอุปการะนักมวยฝีมือดีจากจังหวัดต่างๆ ให้หลับนอนที่วังเปรมประชากร (ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล)

บรรดานักมวยที่มาอยู่ที่วังนั้นมาจากหลากหลายที่มาเป็นนักมวยฝีมือดีแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะในช่วงสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าฯ ให้พระยานนทิเสนสุเรนทรภักดี (แม็ก เศียรเสวี) แม่กองเสือป่าจัดแข่งมวยที่สนามหญ้าหน้าสามัคยาจารย์สมาคม ในพื้นที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย

การจัดแข่งครั้งเป็นไปเพื่อหารายได้สมทบเพื่อซื้อปืนให้กองเสือป่า การแข่งขันครั้งนี้เองทำให้มีนักมวยฝีมือดีจากทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาในพระนคร พวกนี้เป็นนักมวยจากการเลือกโดยสมุหเทศาภิบาลและข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) เมื่อเข้ามาแล้วพวกเขาก็กระจายพักอาศัยตามบ้านผู้อาสาอุปการะและสโมสร ส่วนหนึ่งก็สมัครใจพักที่สโมสรเสือป่า ที่เรียกกันว่าสวนดุสิต สมัยนั้นร่มรื่นมีต้นไม้หลากหลายชนิด ในพื้นที่แถบนั้นยังใช้เป็นจุดเปรียบคู่และใช้ถ่ายภาพโฆษณากันที่แถวสนามเสือป่า ริมลานพระบรมรูปทรงม้าเบ็ดเสร็จ

ช่วงพ.ศ. 2464 มีนักมวยที่ถูกส่งมาจากเมืองมวย (นครราชสีมา) อย่างทับ จำเกาะ และยัง หาญทะเล นายทับ จำเกาะ นี้เองพักที่วังเปรมประชากรจากการบอกเล่าของผู้รู้เรื่องหมัดมวยโบราณอย่างเขตร ศรียาภัย ซึ่งเขตร ยังเล่าต่อว่า มีเสียงลือว่า ยุคนั้นไม่ค่อยมีใครอยากจับคู่กับ “มวยในกรม” เนื่องจากนักมวยที่พักในวังเปรมประชากรเป็นพวกที่แพ้ยาก เพราะเสด็จในกรมฯ จะรับสั่งให้โบย 30 ที

เสียงเล่าลือนี้ถูกปฏิเสธจากปากคำผู้คลุกคลีใกล้ชิดมวยไชยา พุมเรียง และสุราษฎร์ธานี ซึ่งมีโอกาสกินอยู่หลับนอนในวังเปรมประชากร ซึ่งเขตร ยืนยันว่า เขาไม่พบเห็นพฤติกรรมดังที่เล่าเลือกันมาแต่อย่างใด แม้ว่าเสด็จในกรมฯ มักมีชื่อเสียงในเรื่องลักษณะ “ความเป็นนักเลง” แต่พระองค์เป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูงมีน้ำพระทัย ไม่ได้เป็นประเภท “นักเลงโต”

นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงเชี่ยวชาญการชกต่อยตั้งแต่ดำรงพระยศเป็นพระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ และยังเคยถ่ายทอดวิชาการต่อสู้ด้วยแขนแก่พระโอรส ม.จ. สมรบำเทอง แน่นอนว่า เสด็จในกรมฯ ทรงทราบเหตุผลการแพ้ชนะของนักมวยอย่างดี และยังทรงควบคุมการฝึกซ้อมด้วยพระองค์เอง โดยมี น.ท. พระชลัมพิสัยเสนี ร.น. เป็นผู้ช่วย

ว่ากันว่า พระองค์มิได้ตั้งค่ายหรือคณะมวยเพื่อเหตุอย่างค่ายมวยในสมัยใหม่ เพียงแต่ท่านมีน้ำพระทัยโปรด “ลูกผู้ชาย” ที่มีฝีมือและเป็นนักสู้ไม่ว่าจะมาจากส่วนไหนของประเทศ นอกจากนี้ เสด็จในกรมฯ ยังทรงเห็นการณ์ไกล ควบคุมนักชกเมื่อออกนอกวังด้วย ขอร้องให้ตำรวจจับกุมนักมวยในอุปการะของพระองค์ที่อาจดื่มเหล้าเมามายประพฤติเสื่อมเสียส่งเข้ามาในวังเปรมประชากรพร้อมข้อหา เพราะไม่ต้องการให้คนไม่รู้จักชีวิตในเมืองต้องเสียงกับคดีด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ผู้รู้ด้านมวยยังเล่าด้วยว่า “กล่าวกันว่า เสด็จในกรมฯ ทรงมีกโลบายทรงชำระคนเมาเพียงรับสั่งให้กักตัวไว้ภายในห้องรโหฐานส่วนพระองค์ ซึ่งมีหัว (โขน) พระพิราพประดิษฐานบูชาอยู่ รุ่งเช้านักมวยขี้เมามิได้รอกินข้าวพร้อมกับนักมวยคนอื่นๆ รีบออกจากวังหลบหน้าอันซีดเซียวไปตั้งแต่บัดนั้น โดยไม่บอกเล่าเก้าสิบให้ผู้ใดทราบเหตุผล ต่อมาปรากฏว่าพวกนักมวยในความอุปการะของเสด็จในกรมฯ ต่างพากันหวาดเกรงถูกกักตัวในห้อง ‘หัวโขน’ จนไม่มีใครกล้าประพฤติเกเร

และความก็แดงออกมาภายหลังว่า นักมวยขี้เมานั้นที่แท้เป็นคนแปลกหน้า ซึ่งแอบอ้างเพื่ออาศัยบารมีเสด็จในกรมฯ ตบตาตำรวจจนถูก ‘ทับ’ อยู่ในห้องหัวโขนจนพูดไม่ออก…

เนื่องจากผู้เขียนเรื่องราวด้านมวยในไทยเล่าว่ามีโอกาสอาศัยอยู่ในวังเปรมประชากรถึง 2 ปีจึงได้ทราบกิตติศัพท์ทางกฤตยาคมของเสด็จในกรมฯ และประสบการณ์อัศจรรย์อีกหลายประการ

เขตร อธิบายเสริมด้วยว่า เมื่อฝึกซ้อม พระองค์ยังให้นักมวยคาดเชือกแทนนวม และมีปี่กลองให้สมจริงและเพื่อให้คึกคะนองจริงจังขึ้น เมื่อทรงประทับก็มักทรงร้องเตือนให้นักมวยคอยระวัง “ช่องว่าง” และยังโปรดให้รวมกลุ่มเจรจาหารือติชมการฝึกซ้อมเพื่อแก้ไขข้อบกพร่องกัน แล้วจึงโปรดให้ลงว่ายน้ำในสระภายในบริเวณวัง (ภายหลังถมพื้นที่ไปแล้ว) ขณะที่อาหารการกินก็ให้ถึงขนาด เป็นอาหารจากน้ำมือของหม่อมสองพี่น้อง ซึ่งโปรดให้ดูแลนักมวยเป็นพิเศษ ข้อความตอนหนึ่งซึ่งเขตร เขียนลงในฟ้าเมืองไทย ปีที่ 5 ฉบับที่ 217 วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2516 มีว่า

“…บรรดานักมวยที่กินอยู่หลับนอนในวังเปรมประชากรไม่ต้องถูกหักเบี้ยเลี้ยงใดๆ จะไปไหนมาไหนก็แสนสะดวก เพราะมีรถยนต์ฟอร์ดสองแถวสีตะกั่วให้ใช้ ภายใต้การควบคุมของ ‘คุณพ่อชลัมฯ’

นอกจากการฝึกซ้อมจริงจังของนักมวยฝีมือดี ซึ่งเสด็จในกรมฯ ทรงอุปการะให้อยู่ดีกินดีแล้ว นักมวยในความอุปการะของเสด็จในกรมฯ ยังได้รับความคุ้มครองโดยปริยาย พ้นจากอิทธิพลของผู้มีอำนาจ (บางคน) ซึ่งสามารถบงการให้นักมวยคนใดแพ้หรือชนะอีกด้วย เพราะบารมีเสด็จในกรมฯ ปกป้องขัดขวางผู้ประกอบมิจฉาชีพดังกล่าว จึงเกิดเสียงเล่าเลือทำนองให้ร้ายเสด็จในกรมฯ ในครั้งนั้น

แต่เมื่อนานๆ เข้าเสด็จในกรมฯ ไม่อาจทนฟังกระแสลมร้าย ซึ่งไม่เคยพัดให้ใครดีได้ จึงวันหนึ่งและต่อหน้า ‘แฟนมวย’ ที่พลุกพล่านเฉลียงสโมสรเสือป่า เพราะวันนั้นเป็นวันนัดเปรียบมวย เสด็จในกรมฯ ถึงกับทรงยืนขึ้นจากพระเก้าอี้ ใช้ด้ามกล้องยาสูบจากพระโอษฐ์ชี้หน้ากาบุรุษผู้นิยมใช้อำนาจมืด ท่ามกลางกรรมการเปรียบมวย พร้อมกับรับสั่งอย่างเฉียบขาดว่า ‘…ฉันรู้ดี ต่อไปให้ปิดปากเสียบ้าง มิฉะนั้นฉันจะต้องเป็นคนปิดเอง’

เสียงอกุศลซึ่งนับว่ากระทบทำลายเกียรติเสด็จในกรมฯ จึงยุติลงตั้งแต่บัดนั้น”

ทับ จำเกาะ

มาพูดถึงฝีไม้ลายมือของนักมวยนามทับ จำเกาะ กันบ้าง เขตร เล่าว่า เขาเป็นนักมวยเตะและต่อยวงกว้างแบบ “เหวี่ยงควาย” พันหมัดด้วยด้ายดิบรอบๆ แขนจดข้อศอกตามความนิยมจากท้องถิ่น คู่มือของนายทับ จำเกาะ เชื่อกันว่าเป็นมวยดีจากมหาสารคาม แต่วันนั้นเป็นนายทับ ที่เตะเล่นงานคู่ต่อแข่งจนนักสู้จากมหาสารคามลุกขึ้นได้เพียงหัวและตัว แล้วก็ล้มพลิกเอาข้างลงกับพื้นเวทีอีกหน สั่นหัว และยอมแพ้ในเวลาอันรวดเร็ว

คนมวยในพระนครฯ จำต้องหานักมวยมาเปรียบสู้กับนักมวยจากโคราช ได้ชื่อนายประสิทธิ์ บุณยารมณ์ ครูพลศึกษา (สมัยนั้นเรียกมวยนักเรียน) ถูกส่งเข้าเปรียบและกลายเป็นคู่มวยวันอาทิตย์ไป

เขตร เล่าเพิ่มเติมเรื่องการฝึกซ้อมเตรียมตัวก่อนชกว่า

“…ทางฝ่ายนายทับ จำเกาะ เมื่อฉุกคิดว่าได้คู่กับมวยนักเรียนจึงทำให้เกิดความรู้สึกเงียบเหงาเศร้าสร้อยชอบกล และไม่มีอารมณ์จนขาดซ้อมหลายวัน เสด็จในกรมฯ ถึงกับรับสั่งให้ตามตัว มหาดเล็กไปพบนายทับ จำเกาะ นอนมือก่ายหน้าผากลืมตาในห้องพัก เมื่อได้แจ้งว่าเสด็จในกรมฯ รับสั่งให้หาและนำตัวนายทับ จำเกาะ มาเฝ้า แล้วเสด็จในกรมฯ ทรงซักไซ้ถึงเหตุผลของการขาดซ้อม

นายทับ จำเกาะ ได้กราบทูลถึงความกังวลใจในการได้คู่กับมวยนักเรียน และ ‘ฝีมืออย่างไรไม่กลัว’ กลัวแต่ถูกบังคับให้แพ้ จึงป่วยการซ้อม เสด็จในกรมฯ รับสั่งปลอบใจว่า ไม่ต้องกลัวใครเพราะไม่ได้นุ่งซิ่นและได้มีรับสั่งให้พระชลัมพิสัยเสนี นำเรือกลไฟเล็กของกองเรือกลไปเผดียง หลวงพ่อศุข (พระครูวิมลคุณากร) วัดมะขามเฒ่า เมืองชัยนาท เพื่อประกอบพิธี ‘แต่งตัว’ ให้นายทับ จำเกาะ

เมื่อได้ตัวหลวงพ่อศุขมาแล้ว ปรากฏว่านายทับ จำเกาะ ค่อยสบายอารมณ์ขึ้นอย่างแปลกตา กินเป็ดย่างซึ่งหม่อมสองพี่น้องซื้อจากตลาดนางเลิ้งปรนปรืออย่างไม่อั้น และเต็มใจซ้อมทุกวัน จนปรากฏผลเป็นที่พอพระทัยเสด็จในกรมฯ”

ว่ากันว่า วันอาทิตย์ที่กำหนดแข่งนั้น ก่อนขึ้นชก เขตร เล่าถึงการดูแลนายทับ โดยให้นายทับ จำเกาะ อาบน้ำชำระกายตามแบบประเพณีโบราณ แล้วอาบน้ำมนต์กลางหาวของหลวงพ่อศุข ซึ่งทำพิธีตลอดหลายวันแล้ว เมื่อเสร็จสิ้นด้านพิธีการแล้วนักมวยก็ขึ้นรถออกจากวังเปรมประชากร มุ่งหน้าไปที่สนามมวยสวนกุหลาบ

เขตร บรรยายสภาพการชกไฟต์นั้นว่า เมื่อถึงจุดไคลแม็กซ์ นายทับ เป็นฝ่ายต่อยเตะพ่อเจ้าคุณประสิทธิ์ แม้จะเห็นกันว่าคงทนไม่ได้นาน แต่มนุษย์ใจสิงห์ คุณประสิทธิ์ กัดฟันสู้จนสิ้นยก แต่ก็อวสานเสีย เมื่อถึงครั้งนี้ก็ยิ่งทำให้เกิดเสียงถกเถียงกันว่า ใครควรจะขึ้นสู้กับนายทับ จำเกาะ

ระหว่างที่มีเสียงถกเถียงกัน มีข่าวแพร่ออกมาพอดีว่า มีมวยจีนมาจากฮ่องกงในความอุปการะของสโมสรสามัคคีจีนสยาม และอีกกระแสหนึ่งมีว่า มวยดีมาจากที่ราบสูง แต่เคราะห์ร้ายที่คู่มวยครั้งนี้ป่วยเป็นตากุ้งยิงก่อนขึ้นชก แพทย์จึงไม่อนุญาตให้ชก

ยัง หาญทะเล

หลังจากนายทับ จำเกาะ กลับภูมิลำเนาเดิมแล้ว จึงเกิดเสียงเรียกร้องให้คู่หูของนายทับ คือ “ยัง หาญทะเล” เป็นตัวยืน ให้สนามหาคู่ที่เหมาะเข้าเปรียบ พระยานนทิสุเรนทรภักดี จึงเข้าปรึกษาหารือข้าราชการผู้ใหญ่และเพื่อนที่เป็นพ่อค้า ไม่นานก็มีข่าวลือแพร่ว่า มีมวยจีนฝีมือเยี่ยมมาจากฮ่องกง บางเสียงก็ว่าเป็นจีนกวางตุ้งในไทย เป็นอาจารย์ใหญ่มวยจีนในสำเพ็ง

มีข่าวหลุดมาว่า มวยจากฮ่องกงนามว่า จี๊(โฮ้วจงกุน)ฉ่าง ว่องไวเยี่ยงลิง หมัดสองข้างหงิกงอส่ายไปมาคล้ายหัวงูเห่า การชกในมวยสนามสวนกุหลาบครั้งนั้นได้รับความสนใจจากชาวไทยและชาวจีน ข้าราชการต้องกวดขันตรวจอาวุธอย่างเข้มข้น มวยสนามสวนกุหลาบมีกำหนดชก 11 ยก (ตามระเบียบมวยสนามสวนกุหลาบ พ.ศ. 2464) เมื่อล่ามแปลภาษาแจ้งกติกากันเรียบร้อย แยกย้ายเข้ามุม การชกก็เริ่มต้น

จากการบอกเล่าของเขตร การชกเป็นไปอย่างดุเดือด ช่วงต้นอาจยังเป็นการดูเชิงกัน ฝั่งนายยัง สู้ด้วยเชิงมวย แกล้งชำเลืองย่างเพื่อล่อให้อีกฝ่ายเข้าท่ากล แกว่งแขนทั้งสองข้างส่ายสลับเหมือนตะเกียบปลากัด ฉากฉะ (หลีกและตีตอบ) กำปั้นหัวนกอินทรีของจี๊ฉ่าง เมื่ออีกฝ่ายจับทางไม่ถูกก็อัดเข่าตรงเข้าหน้าอกจี๊ฉ่างจนหงายหลังก้นกระแทก แต่โชคดีสำหรับจี๊ฉ่างที่กลองสัญญาณหมดยกดังขึ้นก่อน

ในที่นี้เพื่ออรรถรสในการอ่าน จึงยกข้อความการบอกเล่าของ เขตร มาเพื่อให้อ่านได้อารมณ์จากสำนวนตามต้นฉบับจาก “ฟ้าเมืองไทย” ปีที่ 5 ฉบับที่ 227 วันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2516 ดังนี้

“…กลองดังเป็นสัญญาณเริ่มยกใหม่ จี๊ฉ่างออกจากมุมด้วยลักษณะปกติไม่มีร่องรอยเจ็บปวดอะไรเลย ส่วนนายยัง หาญทะเล ออกจะตื่นเต้นเกินไปในความได้เปรียบ คล้ายเสือเห็นลูกกวางหลงแม่ไม่เหลือบมองเสด็จในกรมฯ เหมือนอย่างปกติ ย่างพรวดๆ เข้าหาจี๊ฉ่างด้วยการชะงักลักจังหวะนิดหนึ่งก่อนถึงระยะอันตราย กระหยดหลอกออกทางขวา พอได้เหลี่ยมถนัดเตะซ้ายเข้าชายโครง ซัดหมัดทั้ง 2 ข้างใส่จี้ฉ่างไม่ให้ตั้งตัว หมัดคาดเชือกเกือบถึงศอกโดนร่างจี๊ฉ่างอย่างไม่คาดคิดจนด้ายกระจุย จี๊ฉ่างสวาปามตีนกับอีก 4-5 หมัดถึงหัวคลอน และเพราะน้ำอดน้ำทนแท้ๆ มังกรไฟจึงยืนเอียงไปเอียงมาอยู่ได้ไม่รู้จักล้ม

แต่มังกรไฟ-ไม่ใช่จิ้งเหลน ซึ่งมีดีเฉพาะน้ำมัน ได้กําลังภายในมาจากไหนและอย่างไรไม่มีใครทราบเสือกหมัดหงายตอบตรงหน้านายยังทั้งๆ ที่ยกปิดติดแขน นายยังถึงกับกระเด็นถอยหลังไปพิงเชือกสังเวียนแล้วติดตามระดมเลือกและสับหมัดหัวนกอินทรีไม่เลือกที่และไม่นับ นายยังจนตรอก (ไม่มีทางหลีก) ได้แต่กลิ้งหลบไปมา หลบสูงหลบต่ำจนพลาดจากเชือกคะมำลงจากเวที เคราะห์ดีที่ไม่เอาหัวลงก่อน

คนจีนโห่ร้อง “ฮ้อดฉอย! ฮ้อดฉอย!…” ให้จี๊ฉางเผด็จศึก

นายยังเข่าทรุด

แต่นายยังรู้ดีเพราะความคร่ำหวอด รีบโหนเชือกปืนกลับขึ้นเวทีตรงที่ตกเพื่อลวงจี๊ฉ่างและสงวนเวลา ผู้ตัดสินไม่ทันนับ คนจีนยังส่งภาษาให้ฆ่านาย ยัง ซึ่งสังเกตเห็นว่าชักเดือดพล่านและหุนหันกระโดดเข้าใส่จี๊ฉ่าง ที่คอยเตรียมตัวพร้อมอยู่แล้วตามคําหนุนของเพื่อนร่วมชาติ

จี๊ฉ่างจึงเสยขวาเต็มแรงจีน นายยังถูกชกอย่างจังถึงเข่าทรุดลงกับพื้นเวที แต่ด้วยบารมีของ “เฒ่าทรหด” หรืออย่างไรไม่มีใครคิดตก นายยังกัดฟันยันพื้นขึ้นไม่ให้ทันถูกนับ พลันเหวี่ยงตีนซ้ายขวาทั้งบนทั้งล่างเข้าลําตัวจี๊ฉางถึงต้องถอย

จี๊ฉ่างหัวทิ่ม

นายยังตามเหวี่ยงควายสุดแรงเข้าขากรรไกรจี๊ฉ่างหัวทิ่มลงกับพื้น คนดูลุกฮือมองไปทางผู้ตัดสินซึ่งกระโดดเข้ากันและผลักนายยังให้เข้ามุมกลาง ก่อนที่จะเริ่มนับ แล้วนับถึง 6

จี๊ฉ่างลุกขึ้นสะบัดหน้าและตั้งท่าต่อสู้

เมื่อผู้ตัดสินนับถึง 8 นายยังสะอึกเข้าหา จี๊ฉ่างทิ่มกําปั้นพลาดหน้านายยังแล้วกอดไว้ แม้จะเห็นกันว่าจี๊ฉ่างมีความทรหดอดทนเยี่ยมยอดและเก่งกาจแต่ก็ถูกนายยังชกล้ม 2 ครั้งก่อนที่จะหมดยก

นายยังเลือดกําเดาไหล

พี่เลี้ยงเตือนจี๊ฉ่างให้ระมัดระวังตัว นายยังเตรียม “ตีวงใน” เพราะรู้สึกว่าจี๊ฉ่างอ่อนกําลังลงตามที่คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า จี๊ฉ่างจึงเป็นฝ่ายถอยบ้างเมื่อนายยังทะลวงเข้าฟาดลําตัว แต่จี๊ฉ่างเป็นจีนจุติจากดาวจึงไม่พรั่น พอได้ท่าก็พุ่งหมัดอุ่นๆ เข้าจมูกนายยังเลือดกําเดาไหล คราวนี้นายยังเห็นทั้งดาวเห็นทั้งเลือดแต่ไม่ยอมถอย เพราะรู้แน่ว่าจี๊ฉ่างอ่อนแรง บางครั้งก็อ้าปากผงับคล้ายปลากระโห้จํานนพรานเบ็ด

ประชาชนเพิ่งได้เห็นนักมวยทั้งคู่ยืนซดทดลองความทรหด จึงพากันชอบอกชอบใจตบมือกระทุบตีนอย่างไม่กลัวเจ็บ

หัวจี๊ฉ่างเลือดไหล

นายยัง หาญทะเล ก้าวขยิกเข้าหาปฏิปักษ์อีก จี๊ฉ่างก็ปักหลักไม่ยอมถอย พุ่งข้อนิ้วขวาเฉียดซี่โครงนายยัง แล้วกอดไว้ นายยังดันจี๊ฉ่างซึ่งอ่อนแรงไปติดเชือกผู้ตัดสินเข้าแยกและใช้มือสองข้างดึงคู่ต่อสู้ออกมากลางสังเวียน นายยังไม่รอช้าเหวี่ยงหมัดซ้ายเข้าก้านคอปฏิปักษ์ แล้วชกซ้ำที่หน้า ขณะ เดียวกันจี๊ฉ่างสับหมัดหัวนกอินทรีรวม 2 ที เพราะนายยังถอยหนีไม่พ้น จี๊ฉางหนีบแขนซ้ายนายยังไว้ นายยังจึงเหวี่ยงขวาตวัดสั้นจังๆ ที่ลําตัวต่าง คนต่างพยายามแลกหมัดกันนัว ท่ามกลางเสียงโห่ไม่รู้ใครเป็นใคร เมื่อผู้ตัดสินแยกคู่ต่อสู้ออกจากกัน ปรากฏว่าหัวจี๊ฉ่างซึ่งโกนผมเกลี้ยงมีเลือดไหล ออกมา แต่แผลอยู่เหนือไรผม เลือดจึงไม่เข้าตา พี่เลี้ยงจี๊ฉ่างตะโกนว่านายยังเอาหัวชน ผู้ตัดสินและคณะกรรมการฯ ไม่ฟังเสียงให้สู้กันต่อไปเพราะ ไม่จริง

ประชาชนคนไทยต่างกระเหี้ยนกระหือรือลุกขึ้นยืนป้องปาก “เอามัน! เอาเลย! อย่าเลี้ยง! ” พวกจีนเพลาเสียงลง

ลูกติดพันหรือซ้ำ

นายยัง หาญทะเล จะได้ยินเสียงหนุนหรือประการใดไม่อาจทราบ จ้วงหมัดซ้ายจนตัวบิดเหวี่ยงผัวะเข้าขากรรไกรขวา จี๊ฉ่างคว่ำลงกับพื้น ขณะ เดียวกันปลายตีนนายยังซัดป้าบเข้าขมับ พี่เลี้ยงจี๊ฉ่างร้องตะโกนคัดค้านอีกว่า “ซ้ำ! ซ้าม! ซ้าม!” แต่ผู้ตัดสินไม่ฟังเสียง เพราะรู้ดีว่าอะไรเป็นซ้ำ และ อะไรลูกติดพัน

ผิดกับสมัยปัจจุบัน ซึ่งผู้ตัดสินบางท่านเป็นโรคบ้าจี้ ตัดสินตามเล่ห์กลเรียกร้องของนักพนันยิ่งกว่าพิจารณาตามภูมิของตน

จี๊ฉ่างเลือดไหลจากหูซ้าย

ขณะที่จี๊ฉ่างพยายามคืบคลานและคว้าเชือกสังเวียนรั้งตนเองขึ้นยืน ก่อนถูกนับ 10 นายยังกําลังตื่นเต้นได้ใจ ย่างสามขุมเข้าหาอีก ทําที (แสดงกิริยาให้สําคัญผิด) ง้างหมัดขวาช้าๆ ด้วยอาการกระตุก พอจี๊ฉ่างหลงปัด นายยังก็ป่ายตีนขวาไปที่ร่างจี๊ฉ่างซึ่งมีเลือดจากแผลบนหัวทั่วหน้าอก และมี พะวงจะกอดเอาตัวรอดคล้ายคนตกน้ำ เมื่อผู้ตัดสินเข้าแยกอีกครั้งหนึ่ง หน้าจี๊ฉ่างแดงฉานด้วยเลือดนักสู้ แต่นายยังกําลังมันเขี้ยวไม่ลดลง เข้าผลัก จี๊ฉ่างออกห่างพอเหมาะระยะแข้ง เหวี่ยงพลักเข้าใต้รักแร้ด้านใกล้หัวใจ จี๊ฉ่างคว้าขาได้ดึงเข้าหาตัวเพื่อควักหักกระดูกไหปลาร้าอันเป็นไม้ตายของฝ่ายจีน นายยังตกใจกระชากขากลับ จี๊ฉ่างคะมำตามกอดเข่าคู้นายยังไว้ นายยังจึงระดมเหวี่ยงควายเข้ากกหูจี้ฉ่างอย่างไม่นับ ปรากฏว่าขณะนี้มีเลือดไหลออกจากหูซ้ายของจี๊ฉ่าง

ผู้ตัดสินเข้าแยก (ความจริงควรให้แพทย์ตรวจเพราะอาจเป็นอันตรายแก่สมอง) จี้ฉ่างคงยืนด้วยอาการอ่อนระโหยโรยแรง พุ่งหมัดนกอินทรีแบบ สั่งญาติ แต่ผิดเป้าเพราะนายยังฉากทัน

เสียงหนุน “ยัง อย่าเลี้ยง! ยัง อย่าเลี้ยง! ” ดังรอบๆ สนาม

นายยังรู้ดีว่าได้ต่อยและเตะจี๊ฉ่างจนสุดแรงแล้ว หากเป็นคนอื่นการต่อสู้คงจะลงเอยง่ายกว่านี้ แต่จี๊ฉ่างชินชํานาญเชิงมวยและมีความทรหดอดทนเกินมนุษย์ธรรมดาที่นายยังเคยต่อกรมาในอดีต

มังกรไฟพ่าย

ขณะนี้นายยัง หาญทะเล กลืนหมากอาพัดเกลี้ยงแล้ว รีรอหาโอกาส และช่องว่างนิดหนึ่ง ระลึกถึงพระคาถา “กระทู้เจ็ดแบก” รู้สึกวูบวาบขนลุกซู่ จี๊ฉ่าง-จีนใจเพชร-เปลือกตาเกือบปิด ถุยเลือดออกจากปากที่บวมปูด ลากตีนที่ยกขึ้นด้วยความลําบากเข้าหานายยังอย่างไม่พรั่นเพราะสู้ตาย ชั่วพริบ ตาที่จี๊ฉ่างเบือนหน้าบ้วนเลือด หมัดขวามหาประลัยของนายยังซึ่งง้างมาแต่ข้างหลังก็หวดเข้าโหนกแก้ม จี๊ฉ่างผงะถลาล้ม นายยังตวัดตีนซ้ายรับเข้าเต็มหน้าจนจี๊ฉ่างมือกางกลิ้งลงพื้น

ผู้ตัดสินกระโดดเข้าดึงนายยังออกห่างแล้วเริ่มนับ 1 ถึง 4 เหลียวดูนายยัง เห็นคงยืนอยู่มุมกลาง

จี๊ฉ่างไหวตัวและพยายามลุกขึ้น เลือดเต็มหน้าและกลับเอียงซ้ายพับลงราบกับพื้นเวทีอีกครั้งหนึ่ง

ผู้ตัดสินชําเลืองพร้อมนับต่อจนถึง 10 จี๊ฉ่างมังกรไฟแห่งฮ่องกง-ต้องพ่ายเสือร้ายแห่งที่ราบสูงเพราะหย่อนศิลปะการต่อสู้…

…นายยัง หาญทะเล กําชัยเหนือจี๊ฉ่างในการต่อสู้อันนับเป็นประวัติการณ์เพราะเคารพและเชื่อฟังครูผู้สอนให้ “หนีเอาชัย” (Run a Victory) ก็ใครเล่าที่ทรงภูมิปัญญาสอนได้ดังกล่าว ถ้ามิใช่เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตรอุดมศักดิ์แห่งราชวงศ์จักรี ผู้คอยชักใยนายยัง หาญทะเล ด้วยสายพระเนตรอันแหลมคม เมื่อปี พ.ศ. 2464 หรือเจ้าพ่อกรมหลวงชุมพรฯ แห่งกาลปัจจุบัน!”

หลังจากความพ่ายแพ้ของจี๊ฉ่างแล้ว เกิดเสียงเล่าลืออีกว่า จี๊ฉ่างไม่ได้เป็นนักมวยฮ่องกง แต่เป็นชาวจีนที่เร่ขายยาแถวสำเพ็ง แต่ก็มีเสียงโต้เถียงว่าเป็นมวยฮ่องกงจริง และควรให้มีการแก้มือให้เห็นผลอีกครั้ง เขตร เล่าว่า ภายหลังจี๊ฉ่างขอกลับฮ่องกงโดยด่วน กลับกลายเป็นคนไทยกับคนจีนที่โต้เถียงไม่เป็นอันยุติเกิดมวยให้ตำรวจเป็นกรรมการตัดสินกันหลายคู่

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง : 

เขตร ศรียาภัย. ปริทัศน์มวยไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, 2550

หมายเหตุ: ปริทัศน์มวยไทย นำลงในนิตยสาร ฟ้าเมืองไทย รายสัปดาห์ยุคแรกๆ เริ่มในช่วงพ.ศ. 2515 ภายหลังหลานปู่ค้นหาต้นฉบับมารวมเล่มตีพิมพ์เมื่อปี 2550 


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 สิงหาคม 2562