8 ธันวาคม 2484 ญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกแผ่นดินไทย โดยไม่สนใจว่าไทยจะยินยอมหรือไม่

ใบปลิว โฆษณาชวนเชื่อ ของ ญี่ปุ่น เมื่อ บุก ไทย ช่วง สงครามโลกครั้งที่ 2
ใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อของญี่ปุ่นเมื่อบุกประเทศไทย

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 เมื่อ “ญี่ปุ่น” ส่งกำลังพลเข้ารุกราน “ไทย” ในหลายพื้นที่ชายทะเลไทยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ “ไทย” จำเป็นต้องเข้าร่วม สงครามโลกครั้งที่ 2 ในเวลาถัดมา แม้ว่าเบื้องต้นเมื่อครั้งที่อังกฤษและฝรั่งเศสประกาศสงครามกับเยอรมนีในเดือนกันยายน พ.ศ. 2482 อันเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ไทยจะประกาศ “วางตัวเป็นกลางอย่างเคร่งครัด” ก็ตาม

อย่างไรก็ดี การวางตัวเป็นกลางของไทยมิได้หมายความว่าไทยปฏิเสธการใช้กำลัง เพราะเมื่อฝรั่งเศสเพลี่ยงพล้ำตกเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ให้กับเยอรมนี รัฐบาลชาตินิยมของไทยในสมัยนั้นก็เริ่มเคลื่อนไหวเพื่อที่จะยึดเอาดินแดนลาวและกัมพูชาที่ตกอยู่ภายใต้ความครอบครองของฝรั่งเศสมาเป็นของไทย ทำให้ “ญี่ปุ่น” ซึ่งเข้ามามีอิทธิพลอยู่ในอินโดจีนเข้ามาไกล่เกลี่ย และฝรั่งเศสได้ยอมมอบดินแดนบางส่วนให้กับไทยในช่วงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2484

Advertisement

ล่วงเข้าปลายปี ในวันที่ 7 ธันวาคม ญี่ปุ่นที่เคยช่วยให้ไทยได้ดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงมาจากฝรั่งเศส ได้ส่งเอกอัครราชทูตเข้าพบนายกรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเวลา 23 นาฬิกา เพื่อขออาศัยดินแดนไทยเป็นทางผ่านในการเคลื่อนทัพ ก่อนการประกาศสงครามกับอังกฤษและสหรัฐฯ ในวันที่ 8 ธันวาคม เวลา 1 นาฬิกา แต่ จอมพล ป. พิบูลสงคราม อยู่ระหว่างเดินทางไปราชการที่ต่างจังหวัด ทำให้ขาดผู้มีอำนาจในการสั่งการ

ญี่ปุ่นไม่รอช้ายกพลขึ้นบกในพื้นที่ชายทะเลของไทย แม้ว่าทางการไทยจะยังมิได้ให้ความยินยอมจนนำไปสู่การสู้รบระหว่างกองทัพญี่ปุ่นกับเจ้าหน้าที่ไทย หลังจากที่เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นเดินทางไปขอพบนายกรัฐมนตรีไทยเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก่อนที่ไทยจะออกประกาศให้ทหารและตำรวจหยุดยิง

ประกาศของรัฐบาล

ได้รับโทรเลขจากจังหวัดต่างๆ ตั้งแต่เวลา 02.00 น. ว่าเรือรบญี่ปุ่นได้ยกทหารขึ้นบกที่จังหวัดสงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร และบางปู ทางบกได้เข้าทางจังหวัดพิบูลสงคราม ทุกแห่งดังกล่าวแล้วได้มีการปะทะสู้รบกันอย่างรุนแรงสมเกียรติของทหารและตำรวจไทย 07.30 น. วันนี้ รัฐบาลไทยได้สั่งให้ทหารและตำรวจทุกหน่วยหยุดยิงชั่วคราวเพื่อรอคำสั่ง ซึ่งขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจากันอยู่ ผลเสียหายทั้งสองฝ่ายยังไม่ปรากฏ

กรมโฆษณาการ 8 ธันวาคม 2484

ต่อมาในวันที่ 9 ธันวาคม ได้มีการเรียกประชุมวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรเป็นการด่วนเพื่อที่รัฐบาลจะได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า ทางรัฐบาลได้ยินยอมให้ญี่ปุ่นผ่านประเทศไทย เพื่อไปมาเลเซีย สิงคโปร์ และพม่า “เพราะไม่มีทางจะต่อสู้ต้านทานกำลังกองทัพญี่ปุ่นได้จึงยอมตามคำขอ”

มวลสมาชิกสภาได้รับทราบดังนั้นแล้ว เพราะเหตุที่ได้กล่าวแล้วว่า คนไทยทุกคนได้รับการปลุกใจให้รักชาติ ให้ทำการต่อสู้ศัตรู ตามกฎหมายกำหนดหน้าที่ของคนไทยในการรบเมื่อทราบว่ารัฐบาลยินยอมให้กองทัพญี่ปุ่นผ่านไป โดยไม่ได้มีการต่อสู้ตามที่เคยประกาศชักชวนปลุกใจไว้ อันตรงกันข้ามกับจิตใจคนไทยในขณะนั้น จึงทำให้การประชุมในครั้งนั้น เป็นการประชุมที่แสนเศร้าที่สุด ทั้งสมาชิกสภา รัฐมนตรี ได้อภิปรายซักถามโต้ตอบกันด้วยน้ำตานองหน้า ความรู้สึกของทุกคนในขณะนั้น คล้ายกับว่าเด็กถูกผู้ใหญ่ที่มีกำลังมหาศาลรังแก จะสู้ก็สู้ไม่ได้ ทั้งมีความวิตกว่า ประเทศไทยได้สูญเสียเอกราชอธิปไตยไปแล้วประเสริฐ ปัทมะสุนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา กล่าว

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

รัฐสภาไทย ในรอบสี่สิบสองปี (2475-2517). ประเสริฐ ปัทมะสุนธ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 8 ธันวาคม 2561