ปริศนางบและงานทหารเรือไทยยุคแรก จากหนี้ประหลาด ถึง “เรือผี” เบิกอาหารแต่ไม่พบคนกิน

ภาพประกอบเนื้อหา - ชุดฝึกหัด พลทหาร และนายทหารประทวนชั้นจ่า (ภาพจากหนังสือ "การแต่งกายไทยวิวัฒนาการจากอดีตสู่ปัจจุบัน")

ในสมัยช่วงรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กิจการด้านทหารเรือของไทยเริ่มก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจน กระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งมีการพัฒนาในหลากหลายด้านนำมาสู่หน่วยงานที่เรียกว่ากรมทหารเรือก่อนที่จะพัฒนามาเป็นกองทัพเรือไทยในเวลาต่อมา ในช่วงเริ่มแรกนั้นมีเจ้านายหลายพระองค์ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือ และมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ดำรงตำแหน่งช่วงหนึ่ง บรรยากาศภายในหน่วยงาน ณ ช่วงนั้น ปรากฏในบันทึกของพระธิดาที่บอกเล่าการทรงงาน

พ.ศ. 2444 สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต เข้ามารับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารเรือต่อจากสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช บันทึกพระประวัติกรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาเป็นผู้เรียบเรียงเล่าว่า ช่วงเวลานั้นกรมหลวงชุมพร (พระเจ้าบรมวงศ์เธอชั้น 5 กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์) ทรงเป็นรองผู้บัญชาการ พระยาเทพอรชุนเป็นปลัดบัญชาการ

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต

บรรยากาศการทำงานภายในทหารเรือจากบันทึกโดยพระธิดา บรรยายไว้ว่า เมื่อเสด็จถึงกรมทหารเรือแล้วก็ไม่ทรงทราบว่าจะจัดการเรื่องใดอย่างไรบ้าง เนื่องจากไม่พบเอกสารหลักฐาน ข้อบังคับ คำสั่งแบบแผนสำหรับการปฏิบัติราชการเลย กล่าวคือ ไม่มีคำสั่งปฏิบัติการ ยังทำงานกันอย่าง “งานบ้าน”

“…ใครเคยทำอย่างไรก็ทำไปตามเคย ต้องเชิญท่านผู้ใหญ่ที่เป็นหัวหน้าหน่วยต่างๆ และกรมหลวงชุมพรฯ มาอธิบายการปฏิบัติราชการ ตามที่ท่านทรงทราบ พวกหัวหน้าหน่วยเหล่านั้นก็ไม่พูดกัน เพียงนั่งทำงานอยู่คนละห้อง มีเรื่องอะไรควรจะถามกันด้วยวาจา ก็ต้องเขียนจดหมายถามกัน ซึ่งทำให้ทำงานล่าช้า…”

กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงศึกษาแบบแผนการปฏิบัติราชการทหารเรือจากทั้งกลุ่มหัวเก่าและหัวใหม่ บันทึกของพระธิดาบรรยายว่า พวกหัวใหม่ที่กล่าวถึงคือกรมหลวงชุมพรฯ และพระยามหาโยธา (ฉ่าง แสงชูโต) พวกหัวเก่าได้แก่ พระยาราชสงคราม (กร หงษกุล) พระยานาวาพลพยุหรักษ์ (ชม ภูมิรัตน์) พระศรสำแดง (ไม่ทราบนามเดิม) และอีกหลายท่าน จากนั้นทรงตั้งข้อบังคับเป็นลายลักษณ์อักษร จดบันทึกสำหรับข้าราชการทหารเรือให้ปฏิบัติ

ภารกิจของพระองค์ยังทรงดูแลถึงด้านการเงินและเบิกจ่ายงบด้านต่างๆ อาทิ ทรงสอบสวนหนี้สินของกรมทหารเรือ ส่วนหนึ่งพบหนี้ต่อห้างอีสท์เอเชียติ๊ก (สะกดตามบันทึก) แต่สืบค้นไม่ได้ความว่าเป็นหนี้จากสมัยใด ทราบแต่ว่าซื้อหม้อน้ำเรือมาใช้ 2 หม้อ ใช้ในเรือหม้อหนึ่ง อีกหม้อเก็บสำรอง จึงให้ส่งหม้อที่เก็บไว้คืน (เพื่อจะได้ไม่ต้องใช้เงิน) น่าเสียดายที่พระธิดาไม่สามารถจดจำรายละเอียดสิ่งของอื่นอีกหลายอย่าง

นอกจากสิ่งของ ยังมีเรื่องอาหารอย่างเช่น กล้วยหอม ไข่ไก่ มะนาว สำหรับแจกจ่ายให้กัปตันฝรั่งประจำเรือรบ ห้างอีสท์เอเชียติ๊กก็เป็นผู้ส่งอีก แต่ไม่ทราบเหตุผลว่าทำไมต้องเป็นห้างฝรั่งแทนที่จะจ่ายซื้อที่ตลาด ไม่มีใครตอบได้ว่าใครสั่งซื้อจากห้างฝรั่ง นอกจากทูลว่า “ทำอย่างนี้มานานแล้ว” ดังนั้น ทรงสั่งให้ซื้อจากตลาดโดยตรงจะได้ถูกลง กรณีฟืนก็เช่นเดียวกัน ในบันทึกกล่าวไว้ว่าสั่งซื้อฟืนจากห้างอีสท์เอเชียติ๊กเช่นกัน จึงทรงรับสั่งให้ซื้อจากพ่อค้าโดยเรียกประมูลเพื่อที่จะได้ราคาถูกลง

“สมัยนั้นนายทหารเรือผู้ใหญ่ที่มีหน้าที่จัดซื้อและเบิกจ่ายเงินไม่สันทัดในทางการเงินมักจะจ่ายเงินตามใจชอบ ซึ่งผิดระเบียบและงบประมาณที่วางไว้ พระศรสำแดงผู้รักษาเงินก็มีการเกรงกลัวผู้สั่งจ่ายเงิน แม้สั่งจ่ายผิดระเบียบก็จ่ายให้เสมอจึงทรงวางระเบียบการจ่ายเงินให้รัดกุมขึ้นและพยายามตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น อาหารของพลทหารและจ่าที่อยู่บ้านขมิ้นและสวนอนันต์ซึ่งมีสิทธิเบิกข้าวไปกินที่บ้านได้นั้น ก็หิ้วไปคนละตั้งครึ่งกระป๋องทุกวัน ซึ่งจะกินได้ราว 3-4 คน จึงรับสั่งห้ามมิให้นำข้าวออกไปกินข้างนอก บังคับให้กินที่โรงครัว โดยประกาศให้ทราบล่วงหน้าหนึ่งเดือน เพราะเกรงว่าครอบครัวเขาจะไม่มีหม้อหุงข้าวกินเลย”

กรมพระนครสวรรค์ฯ ฉายพร้อมพระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง และพระองค์เจ้าสุทธวงษวิจิตร เมื่อ 2481

ในเรื่องจัดการงบด้านอาหาร พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง ยังเล่าว่า หลังจากพระบิดาทรงเป็นผู้บัญชาการทหารเรือแล้ว 2 ปี ทรงทราบว่า มีเรือประทุนลำหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่มาเบิกอาหารสำหรับเลขทหารล้อมวัง 200 คน ซึ่งทำงานอยู่ที่สวนดุสิต โดยพระบรมราชโองการให้ทหารเรือเลี้ยง แต่ไม่ทราบว่าจ่ายกันมาตั้งแต่เมื่อใด เมื่อรับอาหารกันแล้วก็เข้าไปในคลองมอญ หาตัวคนกินไม่เจอ ทรงให้ทูลถามสมเด็จพระปิตุจฉาเจ้าสุขุมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ก็รับสั่งตอบว่า ไม่พบเห็นเลขทำงานที่สวนดุสิต ที่สวนดุสิตส่วนของเจ้านายพระองค์ไหน ทรงจ้างคนประจำอยู่แล้ว มีแค่ช่วงเริ่มทำสวนดุสิตจึงใช้เลข สวนดุสิตเมื่อช่วงแรกที่หักร้างถางพง แต่เมื่อภายหลังจ้างคนทำงานเหมือนกันกับตำหนักเจ้านาย

“เมื่อทรงสืบไม่ทราบเรื่องจึงสั่งให้ผู้จ่ายเสบียงถามผู้ที่มารับเสบียงว่าตัวคนกินข้าวอยู่ที่ไหน จำนวนเท่าไหร่ ให้ทำบัญชีมายื่น ถ้าไม่ได้บัญชีจะไม่จ่าย ตั้งแต่นั้นมาเรือรับเสบียงลำนั้นก็หายไปไม่มีมารับเสบียงอีกเลย”

หน้าที่การงานของกรมพระนครสวรรค์วรพินิตยังปรากฏในกิจการด้านการทหารตลอดหลายสิบปี กระทั่งเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ซึ่งบันทึกของพระธิดายังเล่าถึงเหตุการณ์ที่พระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกของไทย พร้อมกับพระยาพหลพลพยุหเสนา หัวหน้าคณะราษฏร เข้ามาเจรจา ขอให้เสด็จออกจากเมืองไทย กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงตอบว่า ท่านอยากจะไป และจะไม่เกี่ยวกับการเมืองอีกเลย การที่ทำราชการมาเพราะ มิใช่มักใหญ่ใฝ่สูง แต่ขัดพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมิได้ ตามที่ทรงย้ำว่า “เกิดมาเป็นเจ้า ต้องทำราชการ ช่วยบ้านเมือง”

มีบันทึกไว้ว่า การเจรจานั้น พระยาพหลฯ แจ้งว่า พวกพลเรือนหนุ่มๆ ต้องการของแลกเปลี่ยน จึงเป็นอันว่าต้องเสียวังให้ไป เพราะพระองค์ทรงตอบว่า ข่าวลือที่ทรงมีเงินเก็บหลักล้านนั้นไม่เป็นความจริง (ในสมัยที่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 3 สตางค์) เหลืออยู่แต่บ้านจึงแลกกับอิสรภาพ จากนั้นพระองค์เสด็จออกจากประเทศไทยไปประทับที่เมืองบันดุง เกาะชวา

พระดำรัสของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต ที่ตรัสเกี่ยวกับ “บ้าน” (วังบางขุนพรหม) กับนายนราภิบาล (ศิลป์ เทศะแพทย์) เลขานุการส่วนพระองค์ ใจความส่วนหนึ่งมีว่า

“—ผู้ก่อการเขาถามฉันว่า พวกเด็กๆ ที่ร่วมก่อการเขาเหนื่อยกัน ฉันจะมีอะไรให้เขาบ้าง ฉันก็เลยประชดไปว่า ฉันมีแต่บ้าน อยากได้ก็เอาไปซิ เขาเลยเอาจริงๆ—”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง. พระประวัติสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต. ในหนังสือ พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต และพระประวัติ. พิมพ์เนื่องในการพระราชทานเพลิงศพ พันเอก หม่อมราชวงศ์ถวัลย์มงคล โสณกุล ท.ช., ท.ม. 2533

ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. วาทะเล่าประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : มติชน, 2556.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 กันยายน 2562