ผู้เขียน | ผิน ทุ่งคา |
---|---|
เผยแพร่ |
เจดีย์ที่ไม่มีใครรู้จัก ในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก กลายเป็น “เจดีย์ยุทธหัตถี” เพราะ “รีบสรุป” ก่อนศึกษา
ในจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 (ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันว่าสร้างขึ้นในยุคสมัยใดแน่) มีความตอนหนึ่งเล่าถึงเหตุการณ์ในสมัยพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ เมื่อครั้งที่ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดยกทัพมาตีเมืองตาก พ่อขุนรามคำแหงซึ่งสมัยนั้นมีพระชนม์ได้ 19 พรรษา ได้เสด็จร่วมทัพของพ่อขุนศรีอินทราทิตย์ด้วย และเป็นผู้ไสช้างเข้าช่วยพระราชบิดา เอาชนะขุนสามชนได้ พ่อขุนศรีอินทราทิตย์จึงพระราชทานนามให้พระองค์ว่า “พระรามคำแหง”
เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้คนยุคหลังนำไปผูกเรื่องว่า เจดีย์องค์หนึ่งในอำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก จะต้องสร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติให้กับพ่อขุนรามคำแหงเป็นแน่ และพากันเรียกเจดีย์องค์ดังกล่าวว่า เจดีย์ชนช้าง หรือเจดีย์ยุทธหัตถีของพ่อขุนรามคำแหง
แต่ความเชื่อดังกล่าวของชาวบ้านเพิ่งจะมีขึ้นได้ไม่ถึงร้อยปี ดังที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงกล่าวถึงเจดีย์องค์นี้หลังเสด็จไปเมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 2464 และได้แวะทอดพระเนตรเมืองเก่าของตาก ว่า “มีของสำคัญอยู่ที่เมืองตากเก่าอย่าง ๑ คือมีพระเจดีย์เหมือนอย่างแบบสุโขทัยสร้างไว้บนยอดดอยองค์ ๑ สูงสัก ๑๐ วา ยังอยู่บริบูรณ์ดี พวกชาวเมืองไม่รู้จักเรียกกันว่าพระปรางค์ และไม่มีใครรู้ว่าใครสร้าง”
และเป็นพระองค์เองที่ทรงสันนิษฐานว่า มูลเหตุการสร้างเจดีย์องค์นี้อาจจะเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ชนช้างในครั้งนั้น ดังความในลายพระหัตถ์ของพระองค์ที่มีไปถึงสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ว่า เจดีย์ดังกล่าว “ได้รูปและสัณฐานเหมือนพระเจดีย์องค์กลาง ซึ่งพ่อขุนรามคำแหงสร้างไว้ในวัดเจดีย์เจ็ดยอดแถวเมืองศรีสัชนาลัย และพระเจดีย์ที่วัดตระพังเงินเมืองสุโขทัยไม่มีผิด ลายปั้นหน้าราหูยังอยู่ดีบริบูรณ์ดี สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพระเจดีย์สร้างเฉลิมพระเกียรติพ่อขุนรามคำแหงที่ชนช้างชนะขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดที่เมืองตาก แต่จะสร้างในรัชกาลไหนข้อนี้สงสัยอยู่ แต่คงในราชวงศ์พระร่วงสร้าง…”
นับแต่นั้นมา ข้อสันนิษฐานของพระองค์ก็กลายเป็น “ข้อเท็จจริง” ที่ผู้คนยึดถือ และเชื่อต่อๆ กันมาว่า เป็นเจดีย์ที่มีอายุกว่า 700 ปี สร้างขึ้นในสมัยพ่อขุนรามคำแหง
แต่ รศ. ศรีศักร วัลลิโภดม ไม่เห็นด้วย (มาหลายสิบปี) เพราะแม้เจดีย์องค์ดังกล่าวจะมีลักษณะของศิลปะสุโขทัยจริง แต่ก็เป็นศิลปะยุคหลังตั้งแต่สมัยสมเด็จพระมหาธรรมราชาลิไท ซึ่งเป็นชั้นพระนัดดาของพ่อขุนรามคำแหงลงมา
ตัวองค์เจดีย์เองก็มิได้ตั้งขึ้นโดดๆ อย่างที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงตั้งข้อสันนิษฐาน แต่มีฐานของพระวิหารตั้งอยู่เบื้องหน้า และตั้งแต่สมัยอยุธยาขึ้นไปก็ไม่เคยมีหลักฐานปรากฏว่าคนไทยมีความคิดในการสร้างเจดีย์โดดๆ เป็นอนุสาวรีย์แบบฝรั่ง มีแต่การสร้างวัดซึ่งเป็นศาสนถาน แม้แต่การสร้างสถูปบรรจุอัฐิคนตายก็ยังทำกันในวัด
สอดคล้องกับการศึกษาของ ศ. นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่พบว่า สมัยรัฐจารีตไทยไม่เคยมีการสร้างอนุสาวรีย์เลย การสร้างอนุสาวรีย์เพิ่งจะเริ่มมีในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้เอง
แล้วเจดีย์องค์นี้ถูกสร้างขึ้นด้วยวัตถุประสงค์อันใด?
ข้อนี้ ธีระวัฒน์ แสนคำ เสนอว่า เจดีย์ที่เรียกกันว่าเจดีย์ยุทธหัตถีนี้แท้จริงน่าจะเป็น “พระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองตาก” เพราะในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทมีการสร้างพระมหาธาตุประจำเมืองขึ้นหลายเมือง ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์เช่นเดียวกับเจดีย์องค์นี้ แม้ว่ายุคนั้นเชียงใหม่จะมีอิทธิพลเหนือตาก แต่ความสัมพันธ์เชิงวัฒนธรรมของตากจะผูกพันกับสุโขทัยมากกว่า และฝ่ายล้านนาเองก็ยอมให้ชาวสุโขทัยมาครองเมืองตากด้วย ดังที่ปรากฏในตำนานมูลศาสนา
ส่วนเจดีย์ในวัดพระบรมธาตุบ้านตากที่อยู่บนเนินเขาตรงข้ามกับเจดีย์ยุทธหัตถี และเรียกกันว่าเป็นพระบรมธาตุบ้านตากนั้น ธีระวัฒน์ เชื่อว่า ในอดีตมิได้มีความสำคัญเท่ากับเจดีย์ยุทธหัตถี เพราะมีขนาดเล็กกว่า แต่เหตุที่ได้รับการนับถือว่าเป็นพระบรมธาตุประจำเมืองก็เพราะภายหลังมีพระมาจำพรรษาและพัฒนาให้รุ่งเรือง ส่วนเจดีย์ยุทธหัตถีเมื่อถูกทิ้งร้างไป คนยุคหลังจึงไม่รู้ความเป็นมาและความสำคัญไปโดยปริยาย
ธีระวัฒน์ ยังกล่าวถึงปัญหาประวัติศาสตร์แบบชาตินิยมอันมีส่วนปลูกฝังความเชื่อว่าเจดีย์องค์นี้คือ เจดีย์ยุทธหัตถี ว่า ปัจจุบันมีนักวิชาการหลายท่านเห็นว่าประวัติศาสตร์แบบนี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาสังคม จึงพยายามสร้างประวัติศาสตร์ชาติชุดใหม่ขึ้นมา เพื่อให้ผู้คนทุกชนชั้นทุกเชื้อชาติในบริบทแต่ละยุคสมัยของสังคมไทยได้มีส่วนร่วมในหน้าประวัติศาสตร์ด้วย
และแม้ปัจจุบันชาวบ้านจะพากันถือว่าเจดีย์องค์ดังกล่าวเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีอย่างเหนียวแน่นแล้ว เห็นได้จากสิ่งของสักการะที่ส่วนใหญ่เกี่ยวเนื่องกับการทหาร หรือการบนบานก็มักเป็นเรื่องการสอบเข้าเป็นทหาร ตำรวจ แต่รัฐก็ควรนำเสนอข้อมูลที่เป็นจริงให้ชาวบ้านหรือสังคมไทยเข้าใจ แม้ว่าจะขัดต่อความทรงจำเดิมบ้างก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม :
- “หลักฐานพม่า” พลิกความเข้าใจเรื่อง “สงครามยุทธหัตถี”!!!
- วิวาทะเจดีย์ยุทธหัตถี สถานที่รำลึกวีรกรรม “พระนเรศวร” อยู่ที่ไหนกันแน่ ?!?
- เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
“เจดีย์ยุทธหัตถี หรือพระมหาธาตุเจดีย์แห่งเมืองตาก?: บทวิพากษ์ปัญหาจากการศึกษาประวัติศาสตร์แบบรัฐชาตินิยม”. ธีระวัฒน์ แสนคำ. ศิลปวัฒนธรรม ฉบับมิถุนายน 2554.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 มีนาคม 2562