ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับพิเศษ. "เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือ?": สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ. พิมพ์ครั้งแรก มกราคม 2539 |
---|---|
ผู้เขียน | พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ |
เผยแพร่ |
เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีอยู่ที่ไหน เคยเป็นปัญหาถกเถียงกันมากตามหน้าหนังสือพิมพ์ และระหว่างสมาคมท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับสถานที่อันเป็นที่ตั้งของเจดีย์มาแล้ว
กระบวนการสืบหาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ตอนนี้ จะแสดงให้เห็นว่า เราต้องเริ่มต้นปัญหาก่อนที่เจดีย์ยุทธหัตถีมีจริงหรือไม่ เพราะถ้าหากสามารถศึกษาหาหลักฐานและเหตุผลตามกระบวนการจนสรุปได้ว่าเจดีย์ยุทธหัตถีมิได้มีจริง ก็จะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาหาคำตอบว่าอยู่ที่ไหนอีกต่อไป
แนวความคิดเรื่องการสร้างอนุสาวรีย์ของคนไทยสมัยโบราณ
คนไทยสมัยโบราณเมื่อจะสร้างอนุสาวรีย์เพื่อเป็นที่ระลึกถึงผู้ใดก็มักจะสร้างเป็นวัดหรือไม่ก็สร้างเป็นเจดีย์ไว้ในวัด ดังเช่น
สมัยที่สมเด็จพระอินทราชาธิราชสวรรคต เจ้าอ้ายพระยาและเจ้ายี่พระยาได้ชิงราชสมบัติโดยชนช้างกันจนสิ้นพระชนม์ทั้งคู่ที่เชิงสะพานป่าถ่าน เมื่อเจ้าสามพระยาได้ขึ้นครองราชย์ต่อไปแล้วจึงให้สร้างเจดีย์ครอบไว้ตรงที่ที่พระเชษฐาทั้งสองของพระองค์สิ้นพระชนม์แล้วจึงสถาปนาที่นั้นเป็นวัดราชบูรณะ1
สมัยต่อมา เมื่อพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์ในการป้องกันพระมหาจักรพรรดิให้พ้นจากอันตราย หลังจากที่ข้าศึกถอยทัพกลับไปแล้ว พระมหาจักรพรรดิได้พระราชทานเพิงศพและ “…ให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงศพนั้นเป็นพระเจดีย์วิหาร เสร็จแล้วให้นามชื่อวัดศพสวรรค์”2
จะเห็นว่า ในสมัยโบราณคนไทยมีคติเกี่ยวกับการสร้างอนุสาวรีย์เพื่อระลึกถึงผู้ตายว่ามักจะสร้างเป็นวัดหรือเป็นเจดีย์อยู่ในวัด ที่จะสร้างเจดีย์โดดๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับวัดนั้นไม่เคยมีมาเลย แต่ถ้าเราพิจารณาข้อความที่กล่าวในพงศาวดารฉบับอื่นๆ (ยกเว้นฉบับหลวงประเสริฐฯ) จะพบว่าเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้สร้างในที่พระมหาอุปราชาขาดคอช้างนั้น เป็นเจดีย์โดดๆ มิได้มีการเกี่ยวข้องกับวัดแต่อย่างใด
เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงทำให้เกิดความสงสัยในพระราชพงศาวดารฉบับต่างๆ ที่กล่าวถึงเจดีย์ยุทธหัตถีไว้เช่นนั้น และจึงตั้งเป็นสมมติฐานเพื่อการศึกษาว่า สมเด็จพระนเรศวรมิได้ทรงโปรดให้สร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ ณที่ที่ทรงชนช้างชนะพระมหาอุปราชาแต่อย่างใด
เอกสารที่สนับสนุนสมมติฐานดังกล่าวมีดังต่อไปนี้
1. พระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ซึ่งเป็นพงศาวดารที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช โปรดให้นักปราชญ์ในราชสำนักเรียบเรียงขึ้นจากเอกสารต่างๆ ในหอหลวง พระราชพงศาวดารฉบับนี้ กล่าวถึงแต่สถานที่ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงกระทำยุทธหัตถีมีชัยชนะเหนือพระมหาอุปราชา แต่พงศาวดารก็มิได้กล่าวว่า พระองค์ได้ทรงสร้างเจดีย์ไว้ที่นั้น3
อย่างไรก็ตาม การที่พงศาวดารฉบับนี้เพียงฉบับเดียวมิได้กล่าวถึงและถึงแม้ว่าจะเป็นพงศาวดารฉบับที่มีความโดยทั่วไปว่าน่าเชื่อถือมากที่สุดก็ตาม ก็มิได้เป็นข้อพิสูจน์อย่างเพียงพอว่าจะไม่มีเจดีย์ยุทธหัตถี แต่อาจเป็นเพราะสาเหตุอื่นๆ ได้นานัปการ นับตั้งแต่เป็นเพราะผู้เรียบเรียงลืมจดลงไป…หรือเพราะเขาไม่เห็นความสำคัญที่จะจดลงไปก็ได้ จึงจำเป็นต้องหาเอกสารอื่นมาสนับสนุนเพิ่มเติม
2. คำให้การชาวกรุงเก่าและคำให้การขุนหลวงหาวัด เอกสารสองฉบับนี้แม้ว่าโดยทั่วไปจะมีความเลอะเลือนและแปรปรวนมาก แต่ในด้านที่จะแสดงให้เห็นถึงความรู้เกี่ยวกับเจดีย์ยุทธหัตถีของชาวกรุงศรีอยุธยาในสมัยเสียกรุงครั้งที่สองนั้น การนำเอกสารสองฉบับนี้มาอ้างอิงก็มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง
เอกสารทั้งสองฉบับได้เล่าเรื่องการทำยุทธหัตถีของกษัตริย์ทั้งสองพระองค์โดยพิศดารและจบลงด้วยพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์และบอกเครื่องหมายตามธรรมชาติที่มีอยู่ในสถานที่ทำยุทธหัตถีนั้น๔ คือต้นพุทธา แสดงให้เห็นได้เป็นอย่างดีว่าเรื่องราวการต่อสู้ของวีรบุรุษในครั้งนั้น ได้ติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยมาเป็นเวลานานจนถึงเวลาเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองใน พ.ศ. 2310 ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ห่างกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถึง 176 ปี แต่ก็น่าแปลกใจที่เอกสารทั้งสองฉบับมิได้กล่าวถึงเรื่องราวการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ด้วยเลย ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน
3. หนังสือนิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพได้กล่าวเรื่องราวตอนที่พระยาสุพรรณบุรี (อี๋ กรรณสูตร) ไปพบเจดีย์ร้าง ซึ่งสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเข้าพระทัยว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ว่า
“…พระยาสุพรรณฯ ได้ออกไปที่ตำบลนั้น สืบถามถึงพระเจดีย์โบราณ พวกชาวบ้านบอกว่ามีอยู่ในป่าตรงที่เรียกว่า “ดอนเจดีย์” องค์หนึ่ง พระยาสุพรรณฯ ถามต่อไปว่าเป็นพระเจดีย์ของใครสร้างไว้ รู้หรือไม่ พวกชาวบ้านตอบว่าไม่รู้ใครสร้าง เป็นแต่ผู้หลักผู้ใหญ่บอกเล่าสืบมาว่า “พระนเรศวรฯ กับพระมหาอุปราชาชนช้างกันที่ตรงนั้น”5
เมื่อพิจารณาความตอนนี้ให้ดีจะเห็นว่าในสมัยรัตนโกสินทร์นี้เช่นกัน ที่คนไทยยังมีความทรงจำเรื่องการทำยุทธหัตถีในครั้งนั้นได้เป็นอย่างดี แต่หากว่าไม่มีความรู้เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีเลย
กล่าวโดยสรุป จากเอกสารต่างสมัยกันทั้ง 4 ฉบับ แสดงให้เห็นเป็นอย่างดีว่าคนไทยในสมัยต่างๆ คือสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช สมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สอง และสมัยตอนต้นของรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งในแต่ละช่วงเกือบ 200 ปีนี้ เรื่องราวการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรและพระมหาอุปราชายังติดตรึงอยู่ในความทรงจำของคนไทยและชอบที่จะเล่าเรื่องราวนั้นมาโดยตลอด แต่ขณะเดียวกัน เรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีก็กลับไม่อยู่ในความทรงจำของเขาเลยทั้งๆ ที่เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกันและมีพยานในทางสถานที่อยู่ด้วย แต่ก็กลับลืมเสียไม่รู้จัก นับเป็นเหตุผลที่พอเพียงทีเดียวที่จะกล่าวว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะในความเป็นจริงนั้นสมเด็จพระนเรศวรไม่เคยที่จะสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้ ณ ที่ใดเลย
การวิจารณ์เอกสารทางประวัติศาสตร์ในเชิงปฏิเสธ
ถึงแม้จะได้เสนอเอกสารทางประวัติศาสตร์เพื่อสนับสนุนสมมติฐานที่ว่า สมเด็จพระนเรศวรไม่เคยสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีไว้เลยก็ตาม แต่บทความนี้ก็จะไม่สมบูรณ์เลยทีเดียวถ้าหากจะไม่หยิบยกเอาเอกสารทางประวัติศาสตร์ ซึ่งได้แก่พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับต่างๆ (ยกเว้นฉบับหลวงประเสริฐฯ) ขึ้นมาวิจารณ์ในเชิงปฏิเสธในเรื่องราวการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรซึ่งพงศาวดารเหล่านี้เองที่เป็นมูลเหตุของความเชื่อของนักประวัติศาสตร์รุ่นก่อนในเรื่องนี้
1. ที่มาของความเชื่อเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี ปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาที่ถือว่าเป็นความเก่าแต่งมาตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา และมีเรื่องราวในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมี 6 ฉบับ คือพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงพระเสริฐอักษรนิติ (หมายรวมถึงต้นฉบับตัวเขียนอีก 2 ฉบับ ที่ได้มาภายหลังและมีข้อความเช่นเดียวกัน) ฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับบริติชมิวเซียม และฉบับพระราชหัตถเลขา พระราชพงศาวดารเหล่านี้บางฉบับจะมีลักษณะที่มีการแต่งต่อเติมขึ้นภายหลังในสมัยกรุงธนบุรีและรัตนโกสินทร์ด้วย แต่เนื้อความที่มีมาก่อนสมัยที่จะต่อเติมคือเรื่องราวในสมัยอยุธยา โดยเฉพาะในสมัยสมเด็จพระนเรศวรนั้นเป็นเนื้อความเดิม
พิจารณาจากเนื้อความเดิมที่แต่งในสมัยอยุธยา พระราชพงศาวดารเหล่านี้น่าจะมีการเรียบเรียงขึ้นจากจดหมายเหตุเอกสารต่างๆ ที่แตกต่างกันเป็น 3 กลุ่ม
กลุ่มที่หนึ่ง คือ พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ
กลุ่มที่สอง คือ พระราชพงศาวดารฉบับฉบับพระจักรพรรดิพงศ์ (จาด) ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) ฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ วัดพระเชตุพน และฉบับบริติชมิวเซียม ซึ่งมีศักราชแตกต่างจากกลุ่มที่หนึ่งตั้งแต่ตอนปลายรัชสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 1 แตกต่างที่ข้อความในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ และแตกต่างที่มีการขยายความของกลุ่มที่หนึ่งให้พิศดารออกไป
กลุ่มที่สาม ได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาซึ่งมีศักราชเช่นเดียวกับกลุ่มที่สอง แต่ศักราชและความต่างกับเอกสารกลุ่มที่สองออกไปในเรื่องราวตอนที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถสวรรคต6
แต่ก็เป็นไปได้ที่ว่า การเรียบเรียงพระราชพงศาวดารกลุ่มที่สองมีการใช้พระราชพงศาวดารกลุ่มที่หนึ่ง (คือฉบับหลวงประเสริฐฯ) เป็นต้นร่าง หลังจากนั้นจึงรวบรวมเอกสารอันเป็นหนังสือต้นฉบับที่ต่างกับกลุ่มที่หนึ่งขึ้นมาเรียบเรียง หลักจากนั้นจึงมีการลอกต่อๆ กันออกเป็นหลายฉบับ เพิ่มเติมสำนวนโวหารให้ต่างกันออกไปอีกเล็กน้อย และบางแบับ (บริติชมิวเซียม) ก็เพิ่มเติมตำนาน นิยายที่รู้มาเข้าไปด้วย
ส่วนกลุ่มที่สาม ซึ่งได้แก่ พระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาก็น่าจะเป็นฉบับที่หนึ่งที่แตกออกจากกลุ่มที่สอง ที่แตกออกมาเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง คงเป็นเพราะมีการคัดลอกหรือต่อเติมสำนวนโวหารเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยมากที่สุด มีทั้งเรื่องสามก๊กและราชาธิราชของเจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาต่อเติมขยายความเพิ่มสีสันให้แก่เรื่องราวจากพระราชพงศาวดารกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สามซึ่งมีจำนวนถึง 5 ฉบับนี้เอง ที่ให้เรื่องราวสมเด็จพระนเรศวรสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีขึ้น
การเรียบเรียงพระราชพงศาวดารในสมัยอยุธยา นอกจากได้กระทำขึ้นในสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัญฑิตได้เรียบเรียงขึ้นจากหนังสือต่างๆ ในหอหลวง และเรารู้จักกันในปัจจุบันในนามของพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติแล้ว จากการศึกษาค้นคว้าของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายว่า พระเจ้าบรมโกษฐ์ก็ควรเป็นอีกสมัยหนึ่งที่ทรงเลียนแบบสมเด็จพระนารายณ์มหาราช โดยโปรดให้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารขึ้น7 และพระราชพงศาวดารฉบับที่เรียบเรียงขึ้นเป็นครั้งที่สองนี่เอง ที่น่าจะเป็นต้นแบบของพระราชพงศาวดารทั้ง 5 ฉบับดังกล่าว
2. อิทธิพลที่มีต่อพระราชพงศาวดาร โดยเฉพาะพระราชพงศาวดารกลุ่มที่สองและกลุ่มที่สาม ซึ่งให้เรื่องราวการสร้างเจดีย์ยุทธหัตถี
เนื่องจากได้แสดงให้เห็นในเบื้องต้นแล้วว่า พระนเรศวรมิได้ทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีในตอนนี้ จึงจำเป็นจะต้องอธิบายว่า การที่มีพระราชพงศาวดารจำนวน 4 ฉบับที่กล่าวขัดแย้ง และมีพิรุธที่ว่าเจดีย์ยุทธหัตถีที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างไว้นั้นเป็นเจดีย์โดดๆ ซึ่งไม่เคยปรากฏมาเลยในคติไทยเดิมว่าจะมีการก่อสร้างเจดีย์ไว้แบบนั้น ข้อความเช่นนี้ผู้เรียบเรียงได้แนวคิดมาจากที่ใด โดยเฉพาะในการพิจารณาเอกสารทางประวัติศาสตร์ สิ่งที่ควรระมัดระวังอย่างหนึ่งก็คือ มีหลักฐานทางวรรณกรรมหรือบทละครเรื่องใดหรือไม่ที่อาจเป็นเครื่องบันดาลใจให้แก่ผู้เรียบเรียงเอกสารทางประวัติศาสตร์นั้น8
หนังสือมหาวงศ์เป็นหนังสือพงศาวดารของลังกา ซึ่งแต่งโดยพระภิกษุชาวลังกาหลายรูป โดยเฉพาะในปริจเฉทที่ 1-38 แต่งโดยพระภิกษุชื่อมหานาม แต่งระหว่าง พ.ศ. 1002-1020 เป็นเรื่องพงศาวดารบ้านเมืองและประวัติพุทธศาสนาประกอบกัน จึงเป็นหนังสือเก่าที่นับถือกันทั้งในทางบ้านเมืองและในทางศาสนา โดยถือว่าเป็นหนังสือสืบอายุพุทธาสนา พระสงฆ์ซึ่งศึกษาคติลังกาวงศ์ในชั้นหลังมาจึงพยายามเอามาแต่งพงศาวดาร และตำนานพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ เป็นภาษาบาลี โดยเฉพาะในประเทศไทยก็มีหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญาแต่งที่เมืองเชียงใหม่เมื่อ พ.ศ. 20599
นอกจากชินกาลมาลีปกรณ์ หนังสือตำนานวัตถุสถานต่างๆ ที่ภิกษุชาวเชียงใหม่แต่ง เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบการดำเนินเรื่องการแสดงสำนวนโวหาร ก็น่าจะเป็นอิทธิพลของคัมภีร์มหาวงศ์แทบทั้งสิ้น
อิทธิพลของคัมภีร์มหาวงศ์จะมีต่อพระราชพงศาวดารเรื่องการทำยุทธหัตถีของสมเด็จพระนเรศวรหรือไม่ ควรพิจารณาเรื่องที่น่าสนใจในคัมภีร์มหาวงศ์เรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย ซึ่งจะกล่าวในตอนถัดไป
หนังสือของลังกาอีกฉบับหนึ่งคือ “รสวาหินี” ซึ่งเป็นหนังสือที่เผยแพร่อยู่ในสมัยอยุธยาตอนปลาย ในชื่อว่า “มธุรสวาหินี” มีต้นฉบับตัวเขียนของหนังสือนี้ในหอสมุดแห่งชาติถึง 31 ฉบับ ชุดที่เก่าที่สุดมีบานแพนกเขียนว่าสร้างขึ้นใน พ.ศ. 226610 ซึ่งตรงกับแผ่นดินพระเจ้าท้ายสระแห่งกรุงศรีอยุธยา และเป็นฉบับที่มีเรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัย หนังสือเล่มนี้คงแต่งภายหลังจากที่พระมหานามแต่งเรื่องมหาวงศ์ เพราะในเรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยในหนังสือเล่มนี้มีการกล่าวอ้างอิงหนังสือมหาวงศ์ด้วย แสดงให้เห็นอย่างหนึ่งว่า เรื่องของพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยนั้นเป็นเรื่องราวของวีรบุรุษที่ชาวลังกายกย่องนับถือและนิยมเล่าเป็นอย่างมาก
หนังสือ รสวาหินี ได้เล่าเรื่องพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยด้วยการบรรยายโวหารโดยพิศดาร แทรกหลักธรรมทางพุทธศาสนา มีทั้งบทเจรจาและรายละเอียดต่างๆ เปรียบได้กับวรรณคดีชั้นเยี่ยมชิ้นหนึ่ง มีใจความสำคัญว่า พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยเป็นโอรสของพระราชากากวัณติสสะ มีอนุชาชื่อติสสะกุมาร ขณะนั้นในลังกาทวีปมีชาวทมิฬตั้งอาณาจักรอยู่ด้วย เมื่อเติบโตขึ้นพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยได้ขอทหารจากบิดาเพื่อรบทมิฬที่รบกวนอยู่ชายแดน แต่บิดาไม่อนุญาต จึงประชดบิดาด้วยการส่งเครื่องแต่งการของสตรีไปให้ พระราชากากวัณติสสะพิโรธ จึงส่งพระองค์ไปอยู่มลยะประเทศ ครั้นเมื่อพระราชากากวัณติสสะสิ้นพระชนม์แล้ว พระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยได้กลับมาแล้วรวบรวมกองทัพไปรบทมิฬ ได้ชนช้างกับพระราชาเอลาละของฝ่ายทมิฬ ได้รับชัยชนะ โดยพระราชาเอลาละสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ทำให้พระองค์สามารถรวมลังกาทวีปเข้าไว้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เสร็จศึกแล้วจึงให้ปลงพระศพพระราชาเอลาละ ปลงศพเสร็จแล้วจึงโปรดให้สร้างเจดีย์ครอบพระสรีระของพระราชาเอลาละไว้ ณ ที่นั้น11
เมื่อเปรียบเทียบดูระหว่างเรื่องของพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยในหนังสือรสวาหินีจะเห็นว่ามีประวัติคล้ายคลึงกับสมเด็จพระนเรศวรมาก ด้วยเหตุนี้ ในการเรียบเรียงพระราชพงศาวดารโดยเฉพาะในเรื่องสงครามยุทธหัตถี (ยกเว้นฉบับหลวงประเสริฐฯ) จึงน่าจะเป็นไปได้ว่า ในการบรรยายโวหารอย่างพิศดารของพระราชพงศาวดารทั้ง 4 ฉบับที่กล่าวมาแล้ว ผู้เรียบเรียงคงได้รับแรงดลใจจากวรรณคดีเรื่องนี้ ดังได้ยกความบางตอนมากล่าวไว้ข้างต้น ก็จะพบว่ามีเกร็ดในพระราชพงศาวดารทั้ง 5 ฉบับ บางตอนได้เลียนแบบอย่างวรรณกรรมของลังกาไว้ด้วย (แสดงการประชดโดยการส่งเครื่องแต่งกายสตรีให้แก่กัน)
และเมื่อได้พิจารณาถึงระยะเวลาในการแต่งพระราชพงศาวดารฉบับอันเป็นต้นฉบับของพระราชพงศาวดารทั้ง 5 ซึ่งเป็นระยะเวลาเดียวกันกับการติดต่อทางการทูตกับพระสงฆ์ชาวลังกา ซึ่งมาขอนำพระพุทธศาสนาสยามวงศ์ไปประดิษฐานในลังกาทวีป รวมทั้งเวลานั้นเรื่องของพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยในหนังสือมหาวงศ์และรสวาหินีก็เป็นที่รู้จักกันแล้วในสยามประเทศ ดังนั้น เรื่องสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างเจดีย์ยุทธหัตถีในพระราชพงศาวดารทั้ง 5 ฉบับ ก็ควรเป็นเรื่องที่ผู้เรียบเรียงได้รับความคิด และขอยืมจากวรรณกรรมของลังกาดังกล่าวมาแล้วเป็นแน่แท้
กล่าวโดยสรุป เรื่องสงครามยุทธหัตถีที่เป็นจริงจะจบลงที่เมื่อพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์บนคอช้าง ตรงตามที่กล่าวไว้ในพระราชพงศาวดารฉบับหลวงประเสริฐอักษรนิติ ส่วนเรื่องราวต่อไป เมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างเจดีย์สวมพระศพของพระมหาอุปราชานั้น เป็นการบรรยายโวหารของผู้เรียบเรียงตามแบบพระราชพงศาวดารฉบับอื่นๆ ซึ่งเป็นอิทธิพลของวรรณกรรมลังกา คือคัมภีร์มหาวงศ์ หรือหนังสือรสวาหินีในตอนที่เกี่ยวกับพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยทำสงครามยุทธหัตถีชนะพระราชาแห่งทมิฬ คือ พระเจ้าเอลาละต้องสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง และพระเจ้าทุฏฐคามณิอภัยได้สร้างพระเจดีย์สวมพระศพของพระราชเอลาละ ทั้งนี้ผู้เรียบเรียงพระราชพงศาวดารประสงค์ที่จะเทิดพระเกียรติของสมเด็จพระนเรศวรให้ยิ่งขึ้นไปอีกว่า นอกจากจะทรงเป็นนักรบี่เก่งกล้าแล้วยังทรงเป็นผู้ที่อยู่ในธรรมปราศจากความอาฆาตแค้นต่อผู้เป็นศัตรู อันเป็นลักษณะของพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่ในอุดมคติของคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย
บทความเรื่องนี้ ชี้ให้เห็นอิทธิพลของวรรณคดีลังกาเรื่องมหาวงศ์ตอนหนึ่ง ที่มีต่อการเขียนพงศาวดารในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย และต่อมาในการศึกษาประวัติศาสตร์ยุคแรกของไทยที่มิได้ใช้ขั้นตอนการตรวจประเมินหลักฐานประวัติศาสตร์ (อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรียกขั้นตอนการตรวจประเมินหลักฐานนี้ว่า “วิพากยวิธี”) จึงรับเอาเรื่องที่เป็นอิทธิพลของวรรณคดีนั้นมาเป็นข้อเท็จจริง และต่อมาถึงคนปัจจุบัน ที่มิได้พิจารณาผลงานทางประวัติศาสตร์ที่นักประวัติศาสตร์ได้ทำไว้แต่เดิม ก็กลับรับเอาไว้จนกลายเป็นความเชื่อ
ความเชื่อเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถี มิใช่มีเฉพาะเรื่องเจดีย์ที่สมเด็จพระนเรศวรทรงสร้างสวมพระศพของพระมหาอุปราชาเท่านั้น ยังมีความเชื่อเกี่ยวกับเจดีย์อีกองค์หนึ่งซึ่งเป็นเจดีย์ทรงดอกบัวตูมที่จังหวัดตาก ได้รับการขนานนามว่าเป็นเจดีย์ยุทธหัตถี เชื่อกันว่า พ่อขุนรามคำแหงได้ทรงสร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์การชนช้างชนะขุนสามชน ความจริงไม่ปรากฏหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชิ้นใดแม้แต่น้อย ที่อาจนำมาอ้างว่าเจดีย์องค์นั้นเป็นเจดีย์ยุทธหัตถีได้เลย
ผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ควรลองศึกษาทบทวนดูว่าความเชื่อเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีองค์นี้มีจุดกำเนิดอยู่ที่ใด บางทีนอกจากจะพบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับที่มาของความเชื่อเรื่องเจดีย์ยุทธหัตถีองค์นี้แล้ว เราอาจจะพบนักคิดไทยสมัยรัตนโกสินทร์ผู้ได้รับอิทธิพลของหนังสือมหาวงศ์พงศาวดารลังกาสักท่านหนึ่งก็ได้
เผยแพร่ออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 มกราคม 2561