“หลักฐานพม่า” พลิกความเข้าใจเรื่อง “สงครามยุทธหัตถี”!!!

พระนเรศวร ใน สงครามยุทธหัตถี ชนช้าง ไทย พม่า กรุงศรีอยุธยา
“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ

ประเด็น “หลักฐานพม่า” พลิกความเข้าใจเรื่อง “สงครามยุทธหัตถี” ข้อความส่วนนี้คัดบางส่วนจากบทความของ ศ. ดร. สุเนตร ชุตินธรานนท์ เรื่อง “ประวัติศาสตร์ไทยในหลักฐานพม่า” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2561 ดังนี้

จัดย่อหน้า เว้นวรรค และเน้นคำ โดย กอง บก. ออนไลน์

Advertisement

 

“…แต่เรื่องที่พลิกความเข้าใจยิ่งไปกว่า คือ เรื่องสงครามยุทธหัตถี ความที่มีระบุในพงศาวดารพม่าฉบับอูกาลาจะเล่าว่า “ทัพของพระมหาอุปราชาเคลื่อนมาถึงชานกรุงศรีอยุธยาในวันขึ้น 8 ค่ำ เดือน 3 ตรงกับเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. 1592 และเล่าต่อว่า สมเด็จพระมหาอุปราชาทรงคชาธารชื่อ “งะเยโซง” ซึ่งเป็นชื่อที่ได้จากพงศาวดารพม่า ส่วนพงศาวดารไทยระบุชื่อช้างว่าชื่อ “พลายพัทธกอ” เบื้องขวาของพระองค์ยืนด้วยพระคชาธาร และกำลังไพร่พลของเจ้าเมืองแปรชื่อ “ตะโดธรรมราชา” ส่วนเบื้องซ้ายยืนด้วยพระคชาธาร และไพร่พลของนัดจินหน่อง โอรสของเจ้าเมืองตองอู และถัดไปทางเบื้องขวาไม่ใกล้ไม่ไกล ยืนด้วยคชาธารของเจ้าเมืองชามะโร ไทยเรียกมังจาปโร เป็นพระพี่เลี้ยง

หลักฐานพม่า ระบุถึงการทำ สงครามยุทธหัตถี นี้ว่า ช้างของชามะโรกำลังตกน้ำมันหนักถึงกลับต้องใช้ผ้าคลุมหน้าช้างเอาไว้ไม่ให้ช้างตื่น ในขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงคชาธารชื่อพระลโปง นำไพร่พลทแกล้วทหารจำนวนมากออกมาจากพระนครหมายจะเผด็จศึก พระองค์ทอดพระเนตรเห็นสมเด็จพระมหาอุปราชาแล้วก็ไสช้างตรงไปยังตำแหน่งที่จอมทัพพม่าประทับอยู่โดยแรงเร็ว

ฝ่ายเจ้าเมืองชามะโร เมื่อเห็นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชขับพระคชาธารตรงรี่หมายชิงชนกับช้างประทับ ชามะโรซึ่งเป็นราชองครักษ์ก็เปิดผ้าคลุมหน้าช้างพาหนะของตนออก หมายมุ่งที่จะนำช้างของตนออกสกัดช้างของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่ช้างนั้นเป็นช้างตกน้ำมันหนักยากที่จะบังคับ ช้างที่ไสออกไปแทนที่จะเข้าชิงชนกับช้างของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มันก็หันรีหันขวาง และกลับตัวมาแทงโดนเอาช้างของสมเด็จพระมหาอุปราชาโดยกำลังแรง หลักฐานพม่าอธิบายว่าแรงขนาดช้างของสมเด็จพระมหาอุปราชาจามสนั่นด้วยความเจ็บปวด

จิตรกรรมฝาผนังพระราชประวัติสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ตอน ยุทธหัตถี ภายในพระวิหารวัดสุวรรณดาราราม จ.พระนครศรีอยุทธยา

ขณะนั้นทหารองครักษ์ที่ล้อมช้างสมเด็จพระนเรศวรมหาราชก็ระดมยิงปืนสวนใส่เข้ามา และมีกระสุนพลัดถูกเอาสมเด็จพระมหาอุปราชาโดยถนัดถึงสิ้นพระชนม์ซบกับคอช้าง

ควาญช้างพอเห็นพระองค์สิ้นพระชนม์เพราะต้องปืน ก็บังคับช้างเข้ามาหลบที่พุ่มไม้แห่งหนึ่ง ขณะนั้นสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเองก็ยังไม่ทรงทราบว่าสมเด็จพระมหาอุปราชาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยังยืนพระคชาธารอยู่ ณ ที่เดิม เป็นจังหวะให้นัดจินหน่องซึ่งทรงพระคชาธารนามว่า “อูดอตะกะ” ไสช้างเข้าชนช้างของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ช้างทรงก็ถอยร่นลงไปซ้ำ ตะโดธรรมราชาพอเห็นช้างทรงถอยร่นจึงไสช้างตนสำทับเข้าไปอีก ทำให้ทางฝ่ายอยุธยาต้องถอยร่นเข้ามาสู่พระนคร อาศัยกำแพงพระนครเป็นที่มั่นในการต่อสู้ ไม่ออกมาทำสงครามกลางแปลงอีก

เรื่องตามแสดงมามีปรากฏอยู่ในหลักฐานทางฝ่ายพม่า การที่หลักฐานพม่าให้ข้อมูลที่แตกต่างไปจากเรื่องสงครามยุทธหัตถี ที่มีอยู่ในหลักฐานของไทย ทำให้วงวิชาการต่างชาติเกิดการตีความต่างกันไป

วิคเตอร์ ลิเบอร์แมน (Victor Lieberman) นักประวัติศาสตร์สำคัญคนหนึ่งระบุว่า ครั้งนั้นสมเด็จพระมหาอุปราชาต้องปืนสวรรคต โดยนำหลักฐานพม่าไปเปรียบเทียบกับหลักฐานเยซูอิตร่วมสมัย อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ไม่ใช่วิสัยที่จะมาตัดสินเอากันง่ายๆ และก็ไม่ใช่ว่าหลักฐานของพม่าและหลักฐานของฝรั่งจะเชื่อถือไปได้หมด หลักฐานฝรั่งที่เก่าแก่ไม่แพ้กันกับหลักฐานที่ลิเบอร์แมนกล่าวถึงการทำคชยุทธ์ครั้งนั้นอย่างมโหฬาร แสดงว่าหลักฐานฝรั่งก็มีขัดกันเอง

ภาพความขัดแย้งที่ปรากฏในหลักฐานต่างๆ เกี่ยวกับสงคราม คือภาพสะท้อนการเผชิญหน้าระหว่างจารีตอันเป็นธรรมเนียมนิยมของการทำสงครามรูปแบบเก่า คือการรบแบบตัวต่อตัวบนหลังช้าง กับการแพร่กระจายของอาวุธสมัยใหม่คือ ปืนไฟ (อ่านเพิ่มเติมประเด็น ปืนไฟ)

ถึงแม้ท้ายที่สุดปืนไฟจะทำให้ธรรมเนียมนิยมของการ “สงครามยุทธหัตถี” หมดไป แต่ยืนยันได้ว่าในช่วงหลังสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ธรรมเนียมนิยมในการทำยุทธหัตถียังไม่ได้หมดไป มีหลักฐานปรากฏในพงศาวดารพม่าเองว่าพระเจ้านันทบุเรงเมื่อยกทัพไปปราบกบฏที่เมืองอังวะก็ได้มีการท้าทายพระเจ้าอังวะให้กระทำยุทธหัตถี และกระทำยุทธหัตถีต่อหน้ารี้พล กระทั่งพระเจ้าอังวะพ่ายแพ้ ถึงกับต้องหลบหนีไป

เพราะฉะนั้นเรื่องยุทธหัตถีนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะหาข้อยุติกันได้โดยง่าย ยังจะต้องศึกษากันต่อไปในรายละเอียด นอกจากหลักฐานพม่าจะเสนอภาพที่พลิกตามความเข้าใจในเรื่องสงครามยุทธหัตถีแล้ว ยังมีหลักฐานอื่นๆ อีกมากที่พลิกความเข้าใจซึ่งตกทอดกันมา เช่น กรณีสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310…”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มิถุนายน 2561