พระเจ้าแผ่นดินปูนบำเหน็จทหาร-พลเรือนที่ออกรบในศึกยุทธหัตถี

“สมเด็จพระนเรศวรมหาราชกระทำยุทธหัตถีกับสมเด็จพระมหาอุปราชา” จิตรกรรมฝาผนัง จัดแสดงภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

เนื่องจากในการยุทธครั้งนี้ ทหารและพลเรือนฝ่ายไทยได้เสียสละชีวิตบาดเจ็บล้มตายเป็นจำนวนมาก จนฝ่ายไทยได้รับชัยชนะ พระบาทสมเด็จพระเอกาทศรถ จึงได้มีพระบรมราชโองการให้ปูนบำเหน็จแก่ทหารและพลเรือน ลงประกาศในพระไอยการกระบดศึก ดังนี้

ศุภมัศดุศักราช 955 พยัฆสังวัจฉระ มาฆมาศกาลปักษย  เอกาทัศมีดฤษถีคุรุวารกาลบริเฉทกำหนด พระบาทสมเดจ์เอกาทธรฐ  อิศวรบรมนารถบรมพิตรพระพุทธิเจ้าอยู่หัว  เสดจ์ออก ณ พระธินั่งมงกุฏพิมาน สถานภิมุขไพชนมหาปราสาท มีพระราชโองการมาณพระบันทูลสุรสีหนาทดำรัสสั่งแก่พญาศรีธรรมา ว่า พระหลวงเมืองขุนหมื่นเข้าทูลอองทุลีพระบาทฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน เกนเข้ากระบวนทับ ได้รบพุ่งด้วยสมเดจ์บรมบาทบงกชลักษณอัคบุริโสดบรมหน่อนรา  เจ้าฟ้านเรศเชษฐาธิบดี มีไชยชำนะแก่มหาอุปราชา หน่อพระเจ้าไชยทศทิศเมืองหงษาวดีนั้น ฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน ล้มตายในการณรงค์สงครามเปนอันมาก แลรอดชีวิตเข้ามาได้เป็นอันมากนั้น ทรงพระกรุณาพระราชทานปูนบำเหนจ์  แลซึ่งขุนหมื่นนายอากอน นายพาศรี แลนายหมวดข้าส่วยขึ้นณะพระคลังหลวง แลส่วยสาอากอนติดค้างนั้น  เข้าการณรงค์รบพุ่งล้มตายในที่รบเป็นอันมาก  จึ่งทรงพระกรุณาตรัสประภาศ ว่า มันทำการณรงค์สงครามีบำเหนจ์ความชอบอยู่นั้น  ถ้าแลหนี้สินส่วยสาอากอนขึ้นแกพระคลังหลวง ติดค้างอยู่มากน้อยเท่าใดให้ยกไว้ มีลูกหลานให้รับราชการแทนเลี้ยงไว้สืบไป  ถ้าแลขุนหมื่นนายอากอน นายพาศรี ซึ่งขึ้นพระคลังติดค้างอยู่ ก็ให้ยกเป็นบำเหนจ์ผู้ตาย ในการณรงค์ผู้เปนเจ้าแล้ว  อย่าให้บุตรภรรยาใช้หนี้เลย  ถ้าแลมีพี่น้องลูกหลานให้เลี้ยงเป็นข้าเฝ้า  แลเลี้ยงว้ในที่ทหารใช้ราชการสืบไป

อนึ่งผู้ใดมีน้ำใจจัดแจงแต่งลูกหลานพี่น้องอาสาเข้ากองทับ ได้รบพุ่งล้มตายในที่รบ  ถ้าหาหนี้สินณะพระคลังหลวงติดค้างมิได้  ให้พระราชทานบุตรภรรยาโดยพระราชกฤษฎีกา  ถ้าหนี้สินพระคลังหลวงติดค้าง ก็ยกให้พระราชทานให้แก่บุตรภรรยามิให้เอาเลย   แลรอดคืนมาหาหนี้สินหลวงติดค้างมิได้นั้น ให้พระราชทานโดยพระราชกฤษฎีกาเลี้ยงไว้ในที่ทหาร

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก

พระไอยการกระบดศึก ม.68 ใน, ประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 จุลศักราช 1166  พิมพ์ตามฉะบับตรา 3 ดวง เล่ม 2. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง. พ.ศ. 2529


เผยแพร่ในระบบออนลน์ครั้งแรกเมื่อ 6 มกราคม 2566