พระนเรศวร คิดยกทัพบุกญี่ปุ่น ตอบโต้ “โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ” บุกเกาหลี จริงหรือ?

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระนเรศวรฯ เกาะคา ลำปาง
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช อ. เกาะคา จ. ลำปาง

ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น “ยุคเซ็นโกคุ” มี โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ เป็นนักรบที่มีบทบาทโดดเด่น เขาเป็นหนึ่งในผู้รวมญี่ปุ่นให้เป็นปึกแผ่น มีการศึกครั้งใหญ่ซึ่งเป็นที่จดจำมาถึงทุกวันนี้คือ การบุกคาบสมุทรเกาหลี ใน ค.ศ. 1592 และ ค.ศ. 1597 ซึ่งขณะนั้นเกาหลีเป็นรัฐบรรณาการของจีน ด้าน “กรุงศรีอยุธยา” ที่อยู่ในรัชสมัย พระนเรศวรฯ มีความสัมพันธ์อันดีกับจีน จึงคิดจะช่วยเหลือจีน ด้วยการยกทัพบุกญี่ปุ่นเป็นการตอบโต้ เรื่องนี้เป็นไปได้จริงหรือ?

จากส่งบรรณาการ สู่การร่วมรบ ต้าน “ฮิเดโยชิ”

รศ. ดร. ปิยดา ชลวร นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยเทนริ ประเทศญี่ปุ่น นำเสนอเรื่องนี้ไว้ในบทความ “จริงหรือที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เคยคิดจะยกทัพไปบุกญี่ปุ่น : แนะนำบทความของ คิมุระ คานาโกะ” ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม ปี 2555

ย้อนไป ค.ศ. 1592 โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ส่งทหารกว่า 150,000 คน บุกเกาหลี หวังยึดเป็นเมืองขึ้น กองทัพของญี่ปุ่นสามารถรุกไปได้ถึงเมืองเปียงยาง จนกษัตริย์เกาหลีต้องส่งคนไปขอความช่วยเหลือจากจีน

การกระทำของฮิเดโยชิ ถือเป็นการหยามเกียรติจีนอย่างยิ่ง เพราะตอนนั้นเกาหลีเป็นรัฐบรรณาการของจีน จีนจึงส่งทหารไปโต้กลับเพื่อชิงพื้นที่คืน

การศึกของฮิเดโยชิครั้งนั้นล้มเหลว แต่เขาก็ไม่ยอมแพ้ เพราะใน ค.ศ. 1597 ก็ส่งทหารนับแสนนายไปบุกเกาหลีอีกรอบ แต่ผลการรบยังไม่รู้แพ้รู้ชนะเด็ดขาด ฮิเดโยชิก็สิ้นชีวิตใน ค.ศ. 1598

ตัดภาพมาที่ความสัมพันธ์ระหว่างสยามกับจีน ตามข้อมูลของ คิมุระ คานาโกะ นักวิชาการชาวญี่ปุ่น ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นและจีน ระบุว่า สยามถือเป็นชาติแรกๆ ที่ส่งบรรณาการไปยังราชวงศ์หมิง คือราว ค.ศ. 1371 (พ.ศ. 1914) ซึ่งการเจริญสัมพันธไมตรีกับจีนก็เป็นไปด้วยผลประโยชน์ทางการค้า

กระทั่ง ค.ศ. 1592 (พ.ศ. 2135 ในรัชสมัย สมเด็จพระนเรศวรมหาราช) มีบันทึกในเอกสารจีนว่า “หลังจากที่ญี่ปุ่นเข้าไปตีเกาหลีได้ สยามแอบเสนอจีนอย่างลับๆ ว่าจะส่งกองทัพไปบุกญี่ปุ่นเพื่อเป็นกำลังเสริมให้จีน ฉือฉิง เสนาบดีกระทรวงกลาโหมคิดที่จะรับข้อเสนอนี้ไว้ แต่ข้าหลวงใหญ่มณฑลกวางตุ้งกวางสีชื่อเชียวเยี่ยนไม่เห็นด้วย เรื่องเลยตกไป”

จุดนี้เองกลายเป็นคำถามว่า ทำไม สมเด็จพระนเรศวรฯ ถึงจะทรงส่งกองทัพช่วยจีนบุกญี่ปุ่น ทั้งที่ช่วงนั้นกรุงศรีอยุธยายังติดพันสงครามกับพม่าอยู่ด้วยซ้ำ

ตามล่าหาความจริง พระนเรศวรฯ ส่งทัพต้านญี่ปุ่นจริงหรือ?

รศ. ดร. ปิยดา บอกในบทความว่า คิมุระใช้เอกสารร่วมสมัยของจีนและเกาหลีหลายฉบับเพื่อไขปริศนาเรื่องนี้ ซึ่งในเดือน 9 ค.ศ. 1592 ทูตชาวเกาหลีชื่อ เจิ้งคุนโช่ว ถูกส่งไปยังปักกิ่ง เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิแห่งราชวงศ์หมิง ขอให้จีนช่วยส่งกองทัพไปเกาหลี เพื่อขับไล่กองทัพญี่ปุ่น

เมื่อไปถึงปักกิ่ง เขาก็ได้พบ “ทูตจากสยาม” ที่มาถวายบรรณาการแก่จีน

เอกสารเกาหลีซึ่งเขียนใน ค.ศ. 1649 (พ.ศ. 2192 รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง) บันทึกว่า ขณะที่ทูตเกาหลีกำลังถกกับขุนนางจีน เรื่องขอให้จีนส่งทหารไปช่วยเกาหลี ทูตสยามรู้เรื่องเข้าพอดี และออกปากว่าจะช่วยกำจัดญี่ปุ่น

กระทรวงกลาโหมของจีน จึงจะทูลข้อเสนอนี้ต่อจักรพรรดิ ซึ่งในเอกสารไม่ได้บอกไว้ แต่คิมุระสันนิษฐานว่า น่าจะราวๆ เดือน 9-10 ค.ศ. 1592 และจักรพรรดิรับสั่งให้สืบเรื่องนี้ให้ดี ก่อนที่จะรับข้อเสนอของสยาม

หากพิจารณาข้อความจะพบว่า ทั้งเอกสารจีนและเกาหลี ไม่มีชิ้นใดบอกว่า “กษัตริย์สยาม” คือ สมเด็จพระนเรศวรฯ เป็นผู้ยื่นข้อเสนอช่วยรบ ผู้เสนอจึงเป็นทูตสยาม ซึ่งคิมุระบอกว่า ดูเหมือนจะเป็นการเสนอโดยพลการของทูตคนนั้นมากกว่าจะเป็นความคิดของสมเด็จพระนเรศวรฯ

ผู้อยู่เบื้องหลัง

เอกสารเกาหลีอีกชิ้นหนึ่ง ให้ข้อมูลว่า วันที่ 28 เดือน 9 ค.ศ. 1592 ฉือฉิง เสนาบดีกระทรวงกลาโหมของจีน ได้เชิญทูตเกาหลี คือ เจิ้งคุนโช่ว และ “ล่ามที่ติดตามมากับทูตสยาม” แซ่หลี่ ไปกินเลี้ยงที่บ้านของเขาที่ปักกิ่ง

หลังจากพูดคุยกับเสนาบดีฉือฉิงเสร็จ และโค้งคำนับร่ำลากันแล้ว ล่ามที่ติดตามมากับทูตสยามได้แอบกระซิบกับล่าม (ซึ่งน่าจะเป็นคนเกาหลี) ว่า

“การที่ท่านเสนาบดีเชิญพวกเรามาอีกครั้ง ก็เพราะต้องการให้สยามส่งทหารไปช่วยจีนตีญี่ปุ่นเป็นแน่ (แต่) สยามเองมีลูกศรก็จริงแต่ยิงคนก็ยังไม่เข้า ดาบฟันก็ไม่ขาด ลูกปืนก็ไม่มีประสิทธิภาพ แล้วจะไปช่วยได้อย่างไร จะเอาอาวุธเหล่านี้ไปบุกญี่ปุ่นได้อย่างไร

“ถ้าจะไปประเทศของฉัน [สยาม-รศ. ดร. ปิยดา] ต้องออกจากกวางตุ้ง ผ่านริวกิว ประเทศฉันอยู่ทางขวา ญี่ปุ่นอยู่ทางซ้าย ระหว่างทางมีโขดหินและคลื่นลมแรง ไปทางเรือไม่ได้ จะต้องไปกวางตุ้งก่อนถึงจะไปถึงญี่ปุ่นได้ พวกโจรที่มาบุกประเทศของท่านในตอนนี้เป็นคนจากฮกเกี้ยนทั้งนั้น โจรพวกนี้รู้เส้นทางขึ้นบกได้อย่างไร…”

ถ้าดูจากหลักฐานชิ้นนี้ คนที่อยู่เบื้องหลังข้อเสนอของทูตสยามก็คือ เสนาบดีฉือฉิง นั่นเอง

“ล้ม” สันนิษฐาน พระนเรศวรฯ ต้าน ฮิเดโยชิ

รศ. ดร. ปิยดา บอกว่า คิมุระเห็นว่าช่วงเวลาที่ทูตสยามไปถึงปักกิ่ง น่าจะอยู่ในเดือน 9 ค.ศ. 1592 ขณะที่ญี่ปุ่นบุกเกาหลีในเดือน 4 ปีเดียวกัน และคงมีการทูลจักรพรรดิหมิงถึงข้อเสนอที่สยามจะส่งกำลังร่วมรบในช่วงเดือนนั้นถึงเดือนตุลาคม ทว่านี่คือการคาดการณ์ เพราะเอกสารจีนไม่ได้บอกไว้

โดยปกติแล้ว กว่าคณะทูตจากสยามจะออกเดินเรือไปถึงกวางตุ้ง และเดินทางต่อไปยังปักกิ่ง มักใช้เวลานานถึง 1 ปีครึ่ง หากคำนวณการเดินทางของคณะทูตซึ่งไปถึงปักกิ่งในเดือน 9 ค.ศ. 1592 ก็หมายความว่า ทูตจากสยามต้องออกจากอยุธยาตั้งแต่กลาง ค.ศ. 1591

ค.ศ. 1591 ญี่ปุ่นยังไม่ได้บุกเกาหลี เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่สมเด็จพระนเรศวรฯ จะส่งทหารไปรบกับญี่ปุ่น

คิมุระสรุปว่า แม้ท้ายสุดสยามจะไม่ได้ส่งทหารไปช่วยจีนรบกับญี่ปุ่น แต่ก็มีส่วนทำให้ภาพลักษณ์ของสยามในสายตาจีนราชวงศ์หมิงดีขึ้นอย่างมาก

เพราะช่วงรัชศกวั่นลี่ (ค.ศ. 1573-1620) ราชวงศ์หมิงเริ่มเห็นความสำคัญของสยามมากขึ้น มีการเพิ่มของกำนัลให้ทูตสยามที่มาถวายบรรณาการ รวมทั้งตั้งหน่วยงานแปลพระราชสาส์นของสยาม เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ปิยดา ชลวร. “จริงหรือที่สมเด็จพระนเรศวรฯ เคยคิดจะยกทัพไปบุกญี่ปุ่น : แนะนำบทความของ คิมุระ คานาโกะ”. นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม ปี 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 2 เมษายน 2567