ผู้เขียน | สุทธาสินี จิตรกรรมไทย เจียจันทร์พงษ์ |
---|---|
เผยแพร่ |
“ยุคเซ็นโกคุ” ของญี่ปุ่น ที่เหล่าไดเมียวต่างแย่งชิงกันเป็นใหญ่ คนที่มีบทบาทโดดเด่นก็คือ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ ผู้มีส่วนทำให้ญี่ปุ่นเป็นปึกแผ่น สานต่อสิ่งที่ โอดะ โนบุนากะ สร้างไว้ ฮิเดโยชิมีแม่ทัพคู่ใจคนหนึ่งคือ โอตานิ โยชิซึกุ ซามูไรที่ป่วยด้วยโรคเรื้อน แต่มากความสามารถทางการรบ ซึ่งต่อมาจะร่วมใน “ยุทธการเซกิงาฮาระ” การศึกครั้งใหญ่ที่จะพลิกโฉมหน้าญี่ปุ่นไปตลอดกาล
ถ้าใครดูซีรีส์ FX’s Shōgun (2024) ตัวละคร โอโนะ ฮารุโนบุ หนึ่งในคณะ 5 อุปราช ที่ป่วยด้วยโรคเรื้อน ต้องมีผ้าปิดใบหน้า มีฉากบังตาเวลาพบปะสมาคมกับผู้อื่น มีเค้าโครงมาจากโยชิซึกุนั่นเอง
โอตานิ โยชิซึกุ (Ōtani Yoshitsugu) เกิดเมื่อ ค.ศ. 1565 บ้างก็ว่า ค.ศ. 1558 คลุกคลีกับชีวิตการรบทัพจับศึกตั้งแต่วัยเยาว์ เมื่อโตขึ้นเขาได้เป็น “โคโช” คือซามูไรหนุ่มที่ดูแลความปลอดภัยให้ โทโยโทมิ ฮิเดโยชิ (Toyotomi Hideyoshi, ค.ศ. 1536/1537-1598) ส่วนมารดาของโยชิซึกุเป็นผู้รับใช้ปรนนิบัติ ท่านหญิงเนเนะ ภริยาของฮิเดโยชิ
โยชิซึกุ ผู้มีบทบาทสร้างความมั่งคั่งให้เมืองซึรุงะ (Tsuruga) สนิทกับ อิชิดะ มิตสึนาริ (Ishida Mitsunari, ค.ศ. 1563-1600) ขุนพลระดับวงในอีกคนหนึ่งของฮิเดโยชิ ทั้งสองมีมิตรภาพที่เหนียวแน่นต่อกันอย่างมาก ออกรบเคียงบ่าเคียงไหล่กันอยู่เสมอ ครั้งสำคัญเช่นคราวที่ฮิเดโยชิสั่งบุกคาบสมุทรเกาหลี ทั้งสองก็นำกำลังพลไปลุยศึกครั้งนั้นด้วยกัน
สันนิษฐานว่า โยชิซึกุเริ่มป่วยด้วยโรคเรื้อนกลางทศวรรษที่ 1580 แต่ก็ไม่มีหลักฐานบันทึกรายละเอียดการเจ็บป่วยของเขานัก
ยุคนั้นที่ความรู้ความเข้าใจทางการแพทย์เรื่องโรคเรื้อนแทบจะไม่มี ใครที่ป่วยด้วยโรคนี้จึงมักเป็นที่รังเกียจของครอบครัวและชาวบ้าน ต้องปลีกตัวออกห่างจากสังคม (จีนในศตวรรษที่ 14 กล่าวถึงโรคเรื้อนว่า เป็นโรคที่สวรรค์ลงทัณฑ์ สะท้อนความคิดและความเชื่อที่มีต่อโรคนี้ได้ทางหนึ่ง)
ตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 16 มีนักบวชชาวโปรตุเกสเข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ในแผ่นดินญี่ปุ่น นักบวชเหล่านี้ไม่ตั้งแง่กับผู้ป่วยโรคเรื้อน หรือผู้ที่สังคมรังเกียจ โยชิซึกุจึงเข้ารีตนับถือศาสนาคริสต์
ด้วยอาการของโรคเรื้อนที่ส่งผลทางกายภาพ ผิวหนังมีหนอง ทำให้โยชิซึกุต้องปิดบังใบหน้าด้วยผ้าสีขาว และแต่งตัวอย่างมิดชิด
มีเรื่องเล่ากันว่า เหตุหนึ่งที่ทำให้โยชิซึกุสนิทกับมิตสึนาริอย่างมาก เพราะครั้งหนึ่งในพิธีชงชาที่ต้องส่งถ้วยชาให้ดื่มต่อๆ กันไป ระหว่างที่โยชิซึกุดื่มชา หนองจากแผลบนใบหน้าได้หยดลงไปในถ้วยชาในจังหวะเดียวกับที่เขาส่งต่อถ้วยใบนั้นให้คนถัดไปพอดี ผู้ที่รับถ้วยไปดื่มต่อต่างแสดงอาการผะอืดผะอม แต่มิตสึนาริซึ่งเป็นคนสุดท้ายกลับนิ่งเฉย ไม่แสดงอาการรังเกียจเดียดฉันท์ และดื่มชาในถ้วยจนหมด
พิธีชงชานี้เอง กลายเป็นเรื่อง “ซื้อใจ” ที่โยชิซึกุไม่มีวันลืมเลือน
หลังจากฮิเดโยชิสิ้นชีวิต โยชิซึกุและมิตสึนาริยังคงจงรักภักดีกับเชื้อสายของนายเก่าอย่างไม่เสื่อมคลาย เมื่อรู้ว่า โทกุงาวะ อิเอยาสุ (Tokugawa Ieyasu, ค.ศ. 1543-1616) ขุนพลฝีมือฉกาจอีกคนของฮิเดโยชิ ต้องการขึ้นสู่อำนาจ แทนที่ โทโยโทมิ ฮิเดโยริ (Toyotomi Hideyori) บุตรของฮิเดโยชิ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 5 ขวบ สองเพื่อนรักจึงผนึกกำลังกันขัดขวางเต็มที่
ใน “ยุทธการเซกิงาฮาระ” (Battle of Sekigahara) บนเกาะฮอนชู วันที่ 21 ตุลาคม ปี 1600 มิตสึนารินำกำลังพลกองทัพตะวันตก ประจันหน้ากับอิเอยาสุ ผู้นำกองทัพตะวันออก ที่ “เซกิงาฮาระ” หมู่บ้านที่มีภูมิประเทศเป็นภูเขา
โยชิซึกุ ที่ขณะนั้นสุขภาพย่ำแย่ ตาเกือบมองไม่เห็น เป็นผลจากโรคเรื้อน แต่ด้วยความเป็นชาตินักรบซามูไร เขาจึงยืนหยัดคุมทัพอยู่ทางทิศใต้ของกองทัพฝ่ายตะวันตก ส่วน โคบายากาวะ ฮิเดอากิ (Kobayakawa Hideaki) คุมกำลังอยู่บนเขามัตสุโอะ
อย่างไรก็ตาม ท้ายสุดฮิเดอากิแปรพักตร์ไปอยู่ฝ่ายอิเอยาสุ ประกอบกับมิตสึนาริไม่ได้รับการยอมรับจากแม่ทัพคนอื่นๆ มากพอ ทำให้การศึกที่ฝ่ายกองทัพตะวันตกดูจะได้เปรียบ ต้องกลายเป็นฝ่ายเสียเปรียบและพ่ายแพ้ในที่สุด
หลังอิเอยาสุได้ชัยชนะใน “ยุทธการเซกิงาฮาระ” ปี 1600 โอตานิ โยชิซึกุ ก็ได้ปลิดชีวิตตัวเองลงในปีนั้น
หมายเหตุ : หลังจากญี่ปุ่นกวาดล้างชาวคริสต์ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ทำให้ในปี 1644 ชาวญี่ปุ่นที่ป่วยด้วยโรคเรื้อนที่นับถือศาสนาคริสต์ ออกเดินทางไปยังกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ อาณานิคมของจักรวรรดิสเปน เพื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลซาน ลาซาโร
อ่านเพิ่มเติม :
- โอดะ โนบุนากะ “ขุนพลปีศาจ” ผู้สั่งการสังหารหมู่ที่ “วัดเอ็นเรียคุจิ”
- สมรภูมิเลือดที่ “ปราสาทฟุชิมิ” เปิดทาง “โทกุงาวะ อิเอยาสุ” ครองญี่ปุ่นเบ็ดเสร็จ
- “ยุทธการเซกิงาฮาระ” สมรภูมิชี้ขาด “อิเอยาสุ” ครองอำนาจเหนือญี่ปุ่น
- “นักบุญฟรังซิส เซเวียร์” ผู้นำศาสนาคริสต์เข้าสู่ญี่ปุ่นเป็นคนแรก
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
International Leprosy Association. https://leprosyhistory.org/timeline/list.php?page=2. Accessed 24 March 2024.
“Otani Yoshitsugu: Owner of Tsuruga Catsle”. https://tsuruga-yama-museum.jp/english/ootani-yoshitsugu/. ccessed 24 March 2024.
Hudson, Myles. “Battle of Sekigahara”. Encyclopedia Britannica, 14 Oct. 2023, https://www.britannica.com/event/Battle-of-Sekigahara. Accessed 24 March 2024.
“Ohno”. https://www.fxnetworks.com/shows/shogun/viewers-guide/additional-characters#harunobu. Accessed 24 March 2024.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 มีนาคม 2567