อ่องกิมก๋อง เพลงกล่อมเด็กอมตะของคนแต้จิ๋ว

เด็กชาวจีน ทศวรรษ 1900 หนังสือ The Spirit of missions
เด็กชาวจีนที่ภาพถ่ายราวทศวรรษ 1900 (ภาพจากหนังสือ The Spirit of missions, 1909)

“อ่องกิมก๋อง” เพลงกล่อมเด็ก ที่เป็นเพลงอมตะของ “คนแต้จิ๋ว” ที่มาเป็นอย่างไร เนื้อหาแปลว่าอะไร

วันนี้พ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ต้องร้อง เพลงกล่อมเด็ก ให้นอนด้วยตนเอง เพราะมีตัวช่วยให้เลือกมากมาย แต่ถ้าย้อนกลับไปสัก 40-50 ปีก่อน การเลี้ยงทารกหรือเด็กเล็กหลายคนต้องร้องเพลงกล่อมเด็กเอง ส่วนจะเป็นเพลงไหน ก็เป็นไปตามวัฒนธรรม, ชาติพันธุ์ของแต่ละครอบครัว

แต่ถ้าคนจีนแต้จิ๋ว ส่วนใหญ่ถ้าจะร้อง “เพลงกล่อมเด็ก” แล้วก็ต้องเป็น “อ่องกิมก๋อง”

อ่องกิมก๋อง เป็นเพลงกล่อมเด็กพื้นบ้าน คนแต้จิ๋ว มีอายุประมาณ 500 ปี ไม่ทราบชัดเจนว่าใครเป็นผู้แต่ง เนื้อร้องเวอร์ชันหนึ่งร้องว่า

อ่อง อ๋องเอ อ๋อง อ่องกิมก๋อง (เสียงเอื้อนขึ้นต้นเพลง)

กิมก๋องจอเหล่าเตีย-โตขึ้นให้เป็นนายคน

อาบุ๊งอาบูไหล่ตาเฮีย-มีบริวารคอยยกรองเท้าขุนนาง

ตาเฮียตาผู่พู้-ยกรองเท้าให้สูงหน่อย

ฉี่เจี๊ยะตือตั่วก๊วยงู้-เลี้ยงหมูให้ตัวโตกว่าวัว

ตั่วงู้แซแบ๊เกี้ย-วัวตัวโตตกลูกเป็นม้า

แบ๊เกี่ยแซกิมจู-ลูกม้าให้กำเนิดไข่มุก

กิมจูแซปอป่วย-ไข่มุกกลายเป็นของวิเศษ

ปอป่วยปอโห่วอาโน้วเจียะเก๊าเจ็กแปะห่วย-ของวิเศษคุ้มครองเด็กน้อยมีอายุถึง 100 ปี”

ฟังเพลินๆ เพลงอ่องกิมก๋อง ก็ร้องกล่อมเด็กให้หลับนอน แต่ถ้าดูเนื้อหาก็จะเห็นว่า ผู้แต่งเนื้อร้องต้องมีความรู้หรือปราชญ์ชาวบ้าน เพราะแม้จะใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายมาร้อง แต่ก็แฝงนัยยะของการอวยพรให้เด็กไปในตัว

เช่น ประโยคที่ว่า “อาบุ๊งอาบูไหล่ตาเฮีย-มีบริวารคอยยกรองเท้าขุนนาง” เป็นการให้พรเด็กเป็นใหญ่เป็นโต หรือท่อนที่ว่า “ฉี่เจี๊ยะตือตั่วก๊วยงู้ ตั่วงู้แซแบ๊เกี้ย แบ๊เกี้ยแซกิมจู กิมจูแซปอป่วย…” เท่ากับอวยพรให้เด็กได้สิ่งของมีค่าเพิ่มขึ้น จากหมูเป็นวัว เป็นม้า เป็นไข่มุก เป็นของวิเศษที่อำนวยพรให้เด็กมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี ซึ่งสอดคล้องกับความเชื่อเรื่องสิริมงคลของจีน ในเรื่องของฮกลกซิ่ว ซึ่งซิ่ว-อายุยืนยาว เป็นเรื่องสำคัญ เพราะคนที่จะอายุยืนยาวได้โดยทั่วไปต้องมี ฮก-บุญ วาสนา, ลก-หน้าที่การงาน เงินทอง ประกอบกันไป

อย่างไรก็ตาม เนื้อร้องเพลงนี้แตกต่างกันไปตามท้องถิ่น แม้แต่คนในอำเภอเตี่ยอัง (อำเภอหนึ่งในแต้จิ๋ว) แค่บ้านหนึ่งอยู่นอกกำแพง อีกบ้านหนึ่งอยู่ในกำแพงเมือง เพลงอ่องกิมก๋องที่ร้องเนื้อหาก็มีส่วนที่ต่างกันแล้ว เพราะแต่ละถิ่นก็มีความคาดวังกับชีวิตและลูกหลานต่างกันไป

นอกจากนี้ “ยุคสมัย” ก็มีส่วนทำให้คำร้องเปลี่ยน ถ้าคุณเอาเนื้อร้องข้างต้นไปร้องให้คนแต้จิ๋วที่เมืองจีนฟัง เขาก็บอกคุณว่า “เชยยยยย” พรอยู่ไป 100 ปี เอามาทำไม เอาเป็นเงินดีกว่า เวอร์ชันใหม่ที่ร้องกัน จึงเปลี่ยนและเพิ่มคำร้อง (จากที่กล่าวไปข้างต้น ในส่วนที่ขีดเส้นใต้) ว่า

“กิมจูไหล่คื้อเต้า-เอาของวิเศษไปแลกเป็นเงิน

เต๋าจอนอแป๊ะเต้า-แลกเป็นเงินสัก 200 (หยวน)

เจ็กแปะปุงอาเฮีย-100 แบ่งให้พี่ชาย

เจ็กแปะปุงอาเซ่า (อาซ่อ)-100 แบ่งให้พี่สะใภ้

ชุ้งลีปุงอาหม่วยเกียเกว่า-ถ้าเหลืออีกก็แบ่งให้เด็กๆ ไป”

แต่ไม่ว่าเนื้อเพลงจะเปลี่ยนไปตามถิ่น หรือเปลี่ยนไปตามยุคคสมัย เมื่อฟังไปซ้ำๆ ก็สรุปได้ว่า อ่องกิมก๋อง เป็นเพลงที่ตั้งใจแต่งขึ้นสำหรับกล่อมเด็กผู้ชาย เพราะในอดีตไม่อนุญาตให้ผู้หญิงการเข้ารับราชการสอบ หรือเป็นราชการ ส่วนเหตุที่แต่งให้เด็กผู้ชาย เพราะในสังคมจีน เด็กผู้ชายเป็นผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล สร้างชื่อเสียงให้กับครอบครัว จึงเป็นความหวังของบ้าน หรือคิดบวกหน่อย เด็กผู้ชายซนนอนยาก ต้องหลอกล่อกันเยอะหน่อย เด็กผู้หญิงบอกให้นอนก็นอน

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


ข้อมูลจาก :

เสี่ยวจิว. ตัวตน คน “แต้จิ๋ว”, สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2554


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 ตุลาคม 2564