รวมของกินยามยาก ช่วยรักษาชีวิต “คนแต้จิ๋ว” ของไม่มีราคาเอามาทำให้อร่อยได้

ของกินยามยาก มันเทศ
(ภาพจากhttps://www.matichonacademy.com)

มันเทศ ข้าวต้ม-ม้วย กานาไฉ่ หรือกาน้าฉ่าย ของกินยามยาก ของ “คนแต้จิ๋ว”

คนแต้จิ๋ว ก็เหมือนกับคนส่วนใหญ่ในเอเชียที่กินข้าวเป็นอาหารหลัก สุดแต่ว่าใครจะกินข้าวเจ้า, ข้าวเหนียว ฯลฯ แต่เมื่อเมืองแต้จิ๋วเจอภาวะวิกฤติ เช่น พ.ศ. 2465 เกิดพายุไต้ฝุ่น มีผู้เสียชีวิต 34,500 คน, พ.ศ. 2485-86 เกิดภัยแล้ง มีผู้คนอดตายกว่าแสนคน และช่วง พ.ศ. 2488-2491 เกิดข้าวยากหมากแพง เพราะภัยแล้งติดต่อกัน 3 ปี คนอดตายนับแสนอีกเช่นกัน [1]

นอกจากภัยธรรมชาติแล้ว ภัยจากสงครามหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการต่อสู้ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง-พรรคคอมมิวนิสต์จีน, สงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ฯลฯ

คนแต้จิ๋วรอดมาได้อย่างไร ด้วย “มันเทศ” (คนแต้จิ๋วเรียกว่า “ฮวงกัวะ” หรือ “ฮวงจื๊อ” )

หลายท่านอาจสงสัยว่า พืชผักอื่นๆ มีมากมาย ทำไมถึงต้องเป็นมัน (เทศ) ? คำตอบเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน นั่นเป็นเพราะ

“ฮวงกัวะเป็นพืชทนสภาพอากาศแล้วและหนาวได้ดี ยอดมันเทศที่เฉารดน้ำให้ฟื้นก็สามารถนำไปเพาะชำขยายพันธุ์ได้ ในช่วงอากาศหนาวน้ำค้างกลายเป็นน้ำแข็ง เมื่อน้ำแข็งละลายต้นมันเทศก็งามดังเดิม ขณะที่พืชผักชนิดอื่นๆ ส่วนมากตายเกือบหมด” [2]

นอกจากนี้ มันเทศยังมีคุณสมบัติที่ดีอื่นๆ อีกคือ เปลือกบางเนื้อมาก (จะกินทั้งเปลือกก็ยังทำได้), กินได้ทั้งใบและหัว, หัวมันเทศที่แก่เต็มที่สามารถเก็บได้นานนับเดือน และที่สำคัญคือราคาถูก

บ้างท่านที่เคยกิน “มันเทศเผา” ที่หอมหวานในฤดูหนาว อาจบอกว่า “ชิลๆ กินมันเทศ”

เช่นนั้น มาดูกันว่าคนแต้จิ๋วเอามันเทศไปทำอะไรกิน เริ่มจากสถานการณ์วิกฤติแบบยังชิลๆ อยู่ก็กิน “ฮวงกัวะปึ้ง-ข้าวสวยหุงผสมมันเทศ” วิกฤติมากขึ้นอีกหน่อยก็กิน “ฮวงกัวะม้วย-ข้าวต้มผสมมันเทศ” ในเฟสของข้าวผสมนี้ มันจะไต่ระดับจาก ข้าวต้มผสมมันเทศ, มันเทศผสมข้าวต้ม, หนักกว่านั้นก็คือข้าวต้มใส่ใบมันเทศ และที่สุดก็คงเป็นน้ำขาวต้มใสๆ ผสมวิญญาณมันเทศ ถ้าบ้านมีเด็กเล็กร้องจะกินขนม ก็ปอกมันเทศต้มน้ำตาลใส่ขิงให้กิน

ที่เหลือต้องใช้จินตนาการว่า การกินมัน (เทศ) แบบที่กล่าวข้างต้นสักเดือน, 2-3 เดือน หรือครึ่งปี มันชวนสยองสักแค่ไหน แต่แน่นอนว่า นั่นยังดีกว่าคนอีกมากที่ไม่มีอะไรให้กิน และอดตาย

“ข้าวต้ม-ม้วย” เป็นของกินอันดับรองที่ช่วยให้รอดชีวิต ในยามปกติข้าวต้มร้อนๆ ก็อร่อยดีอยู่ แต่ในยามวิกฤตเมื่อข้าวสารมีน้อย หุงไปข้าวสวยกินได้ไม่กี่มื้อ ข้าวต้มอาจกินได้หลายวัน ข้าวต้มจึงเป็นทางออกที่ดี นอกจากนี้ เวลาเจ็บป่วย กินอะไรไม่ลง ก็มีแต่ข้าวต้มนี่แหละที่พอจะกลืนลงคอไป พอช่วยให้มีกำลังได้บ้าง

เช่นนี้หรือเปล่า คนจีนจึงบอกว่า “ตรุษจีนกินข้าวต้ม เดี๋ยวจะเจอฝน” ก็ตรุษจีนทั้งทีจะกินข้าวต้มแบบอิ่มไม่จริงจังทำไม ต้องกินข้าวสวยๆ ให้อิ่มสิ

สุดท้ายก็คือ “กานาไฉ่” บ้างเรียก “กาน้าฉ่าย”  อาหารเครื่องเคียงยอดฮิตอย่างหนึ่งที่กินคู่กับข้าวต้ม (โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลกินเจ) อันนี้ต้องถือเป็น “ตัวแถม” ปัจจุบันมีกานาไฉ่ไฮโซหลายเวอร์ชั่นมาก เช่น กานาไฉ่ใส่เห็ดหอม, กานาไฉ่ใช้น้ำมันมะกอกผัด ฯลฯ

แต่ในอดีตนั้นอย่าได้หวัง ของแบบนี้ต้องทำกินเองเท่านั้น

กานาไฉ่ คืออาหารที่แสดงความนิสัยถ้วนถี่, รอบคอบ และอดออม ของคนแต้จิ๋ว ที่เก็บเอากานา (หรือลูกสมอ) ที่ลมพัดร่วงแตกขายไม่ได้ราคาเอาผัดกับเศษผักกาดดอง จนเป็นของอร่อยได้ ก็คงเหมือนกับคนไทยที่เอาข้าวก้นหม้อไปทำข้าวตัง ของกินเล่นง่ายและอร่อย ที่สะท้อนการรู้จักใช้สิ่งของให้คุ้มค่า

ในยามวิกฤติคนแต่ละเชื้อชาติ แต่ละวัฒนธรรม ต่างก็คงมี ของกินยามยาก ของกินที่หาได้ง่าย, ทำได้ง่าย, เก็บได้นาน และราคาถูก ตามท้องถิ่นที่แตกต่างกันไป นี่ก็แค่ตัวอย่างหนึ่งเท่านั้นเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] ผศ.ถาวร สิกขโกศล. แต้จิ๋ว: จีนกลุ่มน้อยที่ยิ่งใหญ่. สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2554.

[2] เสี่ยวจิว. ตัวตนคน ‘แต้จิ๋ว’. สำนักพิมพ์มติชน, กันยายน 2554.


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2563