ผู้เขียน | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
---|---|
เผยแพร่ |
เน่าแล้วอร่อย เป็นวัฒนธรรมร่วมของบรรพชนคนอาเซียนไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว เช่น ปลาร้า ปลาฮอก ปลาแดก ปลาเค็ม น้ำปลา น้ำบูดู กะปิ ถั่วเน่า ฯลฯ และของหมักดองทุกอย่าง ทั้งหมดไม่ใช่วัฒนธรรมโดยเฉพาะของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ใช่ของมอญ ไม่ใช่ของเขมร และไม่ใช่ของลาว ฯลฯ แต่เป็นของทุกชาติพันธุ์อุษาคเนย์
เน่าแล้วอร่อย
เน่าแล้วอร่อยเป็นขบวนการถนอมอาหารไว้กินนาน ๆ ของคนในอุษาคเนย์ เคยมีนักวิชาการตะวันตกศึกษาอาหารที่หมักดองเน่าแล้วอร่อย พบว่าขั้นตอนการแปรรูปอาหารประเภทนี้ ไม่ต่างจากประเพณีทำศพของคนอุษาคเนย์ในยุคดึกดำบรรพ์
ทำศพ เป็นประเพณีที่เก่าแก่ที่สุดอย่างหนึ่งของคนในอุษาคเนย์ เมื่อมีคนตาย ต้องปล่อยศพเน่า โดยเก็บไว้หลายวัน บางทีเป็นเดือนเป็นปี
ศพเน่า
ศพเน่า คือส่วนที่เป็นเนื้อหนังหุ้มกระดูกของคนตาย ถูกทิ้งให้เน่าเปื่อยตามปกติธรรมชาติเมื่อผ่านไปหลายวัน ต่อจากนั้นลอกเนื้อหนังเน่าเปื่อยออก เอากระดูกล้างน้ำแล้วสาดน้ำล้างกระดูกขึ้นหลังคาเรือนขับไล่ผีร้าย เอากระดูกไปทำพิธีอีกครั้งหนึ่ง เรียกพิธีทำศพครั้งที่ 2 เช่น ใส่ภาชนะดินเผาหม้อไหแล้วฝังอีกครั้งหนึ่ง และอาจใส่โกศแล้วเผาบนพระเมรุมาศ
เก็บศพเน่า เป็นความเชื่อดั้งเดิมที่สุดว่าคนตาย ขวัญไม่ตายแต่ขวัญหายไปด้วยเหตุร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วจะคืนกลับมาสู่ร่างเดิมไม่วันใดก็วันหนึ่ง เมื่อขวัญพบทางกลับถูก เครือญาติในชุมชนจึงต้องร่วมกันเป่าปี่ตีฆ้องกลองสนุกสนานรื่นเริง เป็นมหรสพคบงันให้สัญญาณแก่ขวัญที่หลงทางกลับคืนสู่ร่างถูก
กินศพเน่า มีนิทานแสดงร่องรอยซึ่งน่าเชื่อว่า เป็นต้นตอของอาหารประเภทเน่าแล้วอร่อย บุญช่วย ศรีสวัสดิ์ จดนิทานไว้ในหนังสือ ชาวเขาในไทย ว่าด้วยเรื่องละว้ากินศพเน่า
ปลาร้า
ปลาร้าที่ไทยรู้จักกันดี แล้วหลงว่าเป็นคำไทยแท้นี้ เป็นคำเขมรทั้งดุ้น เพียงแต่เพี้ยนจากเสียงเดิม เพราะบรรพชนไทยสายหนึ่งเป็นเขมรลุ่มน้ำเจ้าพระยา มีละโว้ (ลพบุรี) เป็นศูนย์กลาง แล้วมีพัฒนาการเป็นกรุงศรีอยุธยา ใช้ภาษาเขมรปนลาวปนมอญ แล้วเรียกว่าภาษาไทย
แต่ในกัมพูชาเรียกว่าปลาฮอก มีผู้รู้บอกเพิ่มขึ้นว่า ปลาร้าในอาเซียนอื่น ๆ ก็มี เช่น ฟิลิปปินส์เรียกว่า “บากูง” เวียดนามเรียกว่า “มั้ม” มาเลเซียเรียกว่า “เปกาซัม” อินโดนีเซียเรียกว่า “บากาแซ็ง”
ทั้งหมดล้วนทำให้เน่า แล้วอร่อย เหมือนกันหมด
อ่านเพิ่มเติม :
- ขนมปัง-ปลาร้า ของกินพระราชทานสมัยกรุงศรีอยุธยา ทูตฝรั่งรีวิวไว้ว่าอย่างไร?
- การค้นพบซาก “ปลาร้า” เฉียดหมื่นปีนับหมื่นตัวในสวีเดน บ่งชี้วิถียุคก่อนประวัติศาสตร์
- ปลาร้าบอง อาหารอีสานยอดนิยม กับความหมายที่แปรเปลี่ยน?
- ปลาร้ามอญ น้ำปรุงสุดมหัศจรรย์ที่มีตั้งแต่สมัยทวารวดี!
อ้างอิง :
“เน่าแล้วอร่อย” จากหนังสือ วัฒนธรรมร่วม อุษาคเนย์ในอาเซียน โดย สุจิตต์ วงษ์เทศ. สำนักพิมพ์นาตาแฮก. 2559
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2561