“กล้วยเผา” ของกินยามเจ็บไข้แต่โบราณที่พระพุทธเจ้าหลวง-เจ้านายยังเสวย

กล้วย กล้วยเผา

บรรดาของกิน ที่เป็นของหวานที่คนไทยสมัยโบราณนิยมกันว่า คนดีกินได้ คนไข้กินดี เห็นจะไม่มีสิ่งได้เกิน “กล้วยเผา” คำว่า ‘เผา’ นี้ พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ. 2525 ให้คำอธิบายไว้ว่า ทำให้ร้อนให้สุก หรือให้ไหม้ด้วยไฟ เช่น เผาเหล็ก เผากล้วย เผาป่า

ก็เป็นอันรู้กันว่า กล้วยเผา คือ กล้วยที่ทำให้สุกจนไหม้ด้วยไฟ ที่ไหม้นั้นก็คือเปลือกนอก ไม่ปล่อยให้ไหม้เกรียมจนถึงเนื้อในไปได้ หาไม่แล้วก็จะกลายเป็นส่วนผสมของยานิลไป

Advertisement

คุณสมบัติสําหรับกล้วยที่จะนํามาทํากล้วยเผา คือ ต้องเป็นกล้วยสุกจนเกือบจะงอมแต่ไม่ถึงกับผิวดําช้ำชอก แต่ถ้าสุกน้อยอย่างที่เรียกว่าเปลือกเป็นสีกระดังงานั้น ก็ต้องใช้ทํากล้วยปิ้ง กล้วยทับ หรือกล้วยแขก ซึ่งนอกประเด็นไป

กล้วยเผานี้ดูจะเป็นอาหารสําหรับคนเจ็บโดยแท้ และคงจะไม่ได้เจาะจงว่าจะต้องเป็นกล้วยน้ำว้า หรือกล้วยหักมุก

พระนิพนธ์เรื่อง ประวัติอาจารย์ ของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดํารงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงเมื่อเสด็จออกทรงผนวชที่วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ บางปะอิน เมื่อ พ.ศ. 2426 เกี่ยวกับเรื่องขบขันในสมัยนั้นว่า

“…ความลําบากที่ขึ้นไปจําพรรษาอยู่บางปะอินในสมัยนั้น ข้อใหญ่อยู่ที่ ‘อดอยาก’ จะว่า ‘อด’ ไม่ได้ เพราะข้าวปลาอาหารไม่อัตคัด แต่ข้าวปลาอาหารที่ชาวบางปะอินเขาบริโภคกัน ผิดกับอาหารที่เราชอบบริโภคในกรุงเทพฯ จึงควรเรียกว่า ‘อดอยาก’ คือ อดเฉพาะของที่อยากกิน…

กับข้าวของชาวบางปะอินก็มีแต่ผักกับปลาเอามาประสมกัน มักปรุงรสด้วยปลาร้ากับพริกและเกลือ รสชาติแปลกไปอีกอย่างหนึ่ง หลาย ๆ วันจึงมีเรือเจ็กมาขายหมู หรือเรือชาวกรุงเทพฯ บรรทุกของสวนเช่น มะพร้าวและกล้วย อ้อย ขึ้นไปขายที่บางปะอินสักครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าเคยอยากกินกล้วยน้ำว้าเผาครั้งหนึ่งในเวลาไม่สบาย มารดาให้เที่ยวหาซื้อตลอดถิ่นก็หาไม่ได้” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงพระประชวรหนักจากเหตุการณ์ใน พ.ศ. 2436 หรือ เหตุการณ์ ร.ศ. 112 นั้น พระอาการประชวรเรียกได้ว่าเป็นทั้งพระวรกายและพระราชหฤทัย ถึงกับทรงพระราชนิพนธ์โคลงลาพระราชวงศ์ฝ่ายในและฉันท์ลาพระราชวงศ์ฝ่ายหน้า และในโคลงพระราชนิพนธ์  7 บทนั้น มีอยู่บทหนึ่ง ทรงมีพระราชปรารภถึงเครื่องหวานซึ่งต้องเสวยจําเจอยู่ทุกวัน แต่ก็ต้องฝืนพระทัยเสวยจนสิ้นองค์ โคลงนั้นมีดังนี้

กล้วยเผาเหลืองแก่ก้ำ   เกินพระ ลักษมณ์นา
แรกก็ออกอร่อยจะ   ใครกล้ำ
นานวันยิ่งเครอะคระ   กลืนยาก
ทนจ่อส้อมจิ้มจ้ำ   แดกสิ้นสุดใบ

กล้วยเผาที่เสวยนั้นคงจะต้องเป็นกล้วยหักมุกแน่นอน เพราะทรงบรรยายไว้ว่า สีของกล้วยนั้นเหลืองแก่กว่าสีกายพระลักษมณ์ซึ่งในรามเกียรติ์บรรยายไว้ว่าเป็นสีเหลืองทอง

ปลาย พ.ศ. 2478 หม่อมเจ้าจงจิตรถนอม ดิศกุล ทรงประชวร ด้วยโรคปอดและลําไส้จนต้องเสด็จเข้ารับการรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลเซ็นต์หลุยส์ แพทย์ต่างชาติที่โรงพยาบาล ทูลแนะนําให้เสวยกล้วยหักมุกเผา ก็กลับฟื้นจากอาการประชวร และโปรดเสวยเรื่อยมาเป็นเวลานาน บางครั้งกล้วยหักมุก แม้ไม่เผาก็เสวยได้ การโปรดเสวยกล้วยหักมุกนี้ ได้เลยไปถึงพระบิดาที่เสด็จประทับที่ปีนังนั้นด้วย

และพระนิพนธ์ “สาส์นสมเด็จ” อันเป็นลายพระหัตถ์โต้ตอบกันระหว่างสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กับ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ มีอยู่หลายองค์ (ฉบับ) ที่เล่าถึงเรื่องเกี่ยวกับกล้วยหักมุกเผา เช่น องค์วันที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2478 กรมพระยาดํารงฯ ทรงเขียนตอนหนึ่งว่า

“แต่เดี๋ยวนี้หม่อมฉันกําลังชอบกล้วยหักมุก ซึ่งเมื่อก่อนจะกินก็เพราะถูกบังคับให้กินเมื่อเวลาเจ็บไข้เมื่อยังเด็ก เลยเห็นเป็นแต่อาหารสําหรับคนไข้…เหตุที่มากลับชอบ เพราะหญิงจงรอดตายได้ด้วยหมอเขาให้กินแต่กล้วยหักมุกกับเนื้อปลาช่อนแทนอาหารอื่น ก็ขอบคุณของสองสิ่งนั้นกลับชอบขึ้น …” (สั่งเน้นคำโดยผู้เขียน)

กรมพระยานริศฯ ได้ทรงมีลายพระหัตถ์ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2478 นอกจากทรงวิสัชนาเรื่องต่าง ๆ ที่ กรมพระยาดํารงฯ ทรงมีปุจฉาแล้วทรงเล่าถึงเรื่อง ม.จ. จงจิตรถนอม กับกล้วยหักมุกด้วยว่า

“เมื่อวานนี้หญิงจงมาลาว่าจะออกมาเฝ้าฝ่าพระบาท ถวายตัวให้ทอดพระเนตรเห็นว่าหายเจ็บอ้วนท้วนขึ้นแล้ว เกล้ากระหม่อมถามว่าจะมามีกําหนดกี่วัน เธอแสดงความประสงค์ เป็นว่าจะมาอยู่สนองพระเดชพระคุณแม้ว่าอยู่ได้…

แต่เมื่อมีคนอื่นสนองพระเดชพระคุณแทนเธอได้อยู่แล้ว ก็ไม่ควรคิดเช่นนั้น เพราะว่าที่เธอเจ็บมาแล้วไม่ใช่น้อย มีคนเป็นอันมากเห็นว่าไม่ฟื้น ที่ฟื้นขึ้นได้นั้นเป็นบุญหนักหนา แล้วจะกลับไปลองอีกว่าจะทนได้หรือไม่ ในที่ซึ่งอากาศผิดกันมาก ไกลจากหมอที่ประจําคอยดูและรักษา ทั้งกล้วยหักมุกก็ไม่มีกิน ถ้ากลับเจ็บลงอีกเป็นครั้งที่สอง จะเอาเป็นแน่ได้หรือว่าจะรักษาให้กลับฟื้นได้อีก”

ลายพระหัตถ์ของสมเด็จกรมพระยาดํารงฯ ลงวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2478 ได้กล่าวถึงกล้วยหักมุกที่เป็นเครื่องเสวยสําคัญของท่านหญิงใหญ่ว่า

“ในเรื่องกล้วยหักมุกที่เธอต้องกินเป็นอาหาร หม่อมฉันเข้าใจว่าเธอคงวางการที่จะให้ส่งมาทุกคราวเมล์ แม้จะบกพร่อง ที่นี่ก็มีกล้วยแขกอย่างหนึ่งเหมือนกับกล้วยหักมุก เป็นแต่ลูกเล็กกว่าและรสหวานสู้กล้วยหักมุกไทยไม่ได้”

กล้วยเผา ของกินพื้นบ้านแต่โบราณที่ดีนักหนายามเจ็บไข้ และเป็นที่นิยมของคนทั่วไปจนถึงเจ้านาย

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

ลาวัณย์ โชตามระ. “จากกล้วยเผาถึงแอปเปิล”, สิ่งดีในวิถีชีวิต ไทย-จีน กรมสามัญศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับ บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด จัดพิมพ์เนื่องในวาระฉลองสิริราชสมบัติครอบ 50 ปี พ.ศ. 2539


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 พฤษภาคม 2562