เส้นทางของ “แตงโม” ผลไม้ล้มลุกต่างชาติที่เข้ามาในไทย

แตงโม
ภาพประกอบจาก กองบรรณาธิการเทคโนโลยีชาวบ้าน

แตงโม ชื่อวิทยาศาสตร์ Citrullus lanatus (Thunb.) Matsum.& Nakai เป็นพืชวงศ์แตง Cucurbitaceae มีต้นกำเนิดในแถบทะเลทรายคาลาฮารี ทวีปแอฟริกา ในลักษณะการขึ้นเองตามธรรมชาติ เนื่องจากมีความหลายหลายทางชีวภาพสูง มีทั้งพันธุ์ที่เนื้อมีรสหวาน, จืด และขม ส่วนชนชาติแรกที่ปลูกแตงโมเพื่อบริโภค คือชาวอียิปต์เมื่อประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว ก่อนจะแพร่หลายยังพื้นที่อื่น

คริสต์ศตวรรษที่ 10 ชาวจีนเริ่มปลูกแตงโม (ปัจจุบันจีนเป็นประเทศที่มีผลผลิตแตงโมรายใหญ่ที่สุดในโลกคือกว่า 70 ล้านตัน/ปี) คริสต์ศตวรรษที่ 13 พบว่าชาวมัวร์นำแตงโมไปสู่ทวีปยุโรป คริสต์ศตวรรษที่ 15 แตงโมแพร่หลายเข้าไปสู่ทวีปอเมริกาเหนือพร้อมกับทาสผิวดำชาวแอฟริกาที่ถูกนำไปใช้แรงงานในไร่

สำหรับประเทศไทย สันนิษฐานว่าไทยรับแตงโมมาจากชาวจีน และคาดว่าคนไทยน่าจะรู้จักแตงโมมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นอย่างช้า ดังที่มีบุคคลบันทึก/ทรงบันทึก ในเอกสารต่างๆ ดังเช่น

รัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชหัตถเลขาเล่าเรื่อง “สมเด็จเจ้าแตงโม” เมื่อคราวเสด็จประพาสมณฑลราชบุรี ร.ศ. 128 (พ.ศ. 2452) ว่า “ท่านองค์นี้ว่าเป็นสามเณรอยู่ในเมืองเพชรบุรี ลงอาบน้ำพบเปลือกแตงโมลอยมา เก็บเปลือกแตงโมนั้นกิน พวกเพื่อนศิษย์วัดด้วยกิน พวกเพื่อนศิษย์วัดด้วยกันล้อเลียนอับอายจึงหนีเข้าไปยังกรุง ตั้งหน้าเรียนพระปริยัติธรรมจนเป็นพระราชาคณะ แล้วจึงได้กลับออกมาปฏิสังขรณ์วัดนี้ [วัดใหญ่สุวรรณาราม จังหวัดเพชรบุรี][สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]

นอกจากนี้ยังมีตำนานเรื่องเล่าเกี่ยวกับ สมเด็จเจ้าแตงโม หรือ สมเด็จพระสังฆราชแตงโม (ทอง) ยืนยันว่าเป็นบุคคลในประวัติศาสตร์ โดยพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา กล่าวถึงสมเด็จเจ้าแตงโมครั้งมีสมณศักดิ์เป็นพระสุวรรณมุนี ได้เป็นแม่กองบูรณะมณฑปพระพุทธบาท เมื่อ พ.ศ. 2245 ในรัชสมัยของสมเด็จพระเจ้าเสือ

ในหนังสือ “อักราภิธานศรับท์ ของหมอบรัดเลย์ พ.ศ. 2416 เรียกทั้งแตงโมและปูลิด (คงกลายมาจากอุลิต) โดยให้อธิบายว่า “แตงโม, ปูลิด, เปนชื่อแตงอย่างหนึ่ง, ลูกโตบ้างเล็กบ้าง เนื้อในศีแดงบ้างเหลืองบ้าง, รศหวานกินดี.”

ส่วน “พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542” อธิบายคำว่า “อุลิด” ว่า เป็นคำนามหมายถึงแตงโม มาจากภาษาเขมรว่า โอวฬึก

ขณะที่ตำราอาหารชื่อดัง “แม่ครัวหัวป่าก์” ของ ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงษ์ มีตำรับอาหารว่า “ผัดปลาแห้ง” ที่กินกับแตงอุลิด ซึ่งบันทึกไว้ว่า

“ผัดปลาแห้ง (อย่างคุณม่วง ราชนิกูล)

เครื่องปรุง—มะพร้าว 1 ใบ หัวหอม 8 กลีบ ปลาหางแห้งตัวขนาดกลาง อย่างที่แข็ง 1 ตัว

วิธีทำ—เอามะพร้าวปอกขูดคั้นหัวกระทิอย่าให้ใสนักให้ข้นสักหน่อย เอาน้ำกระทิลงกระทะขึ้นตั้งไฟอย่าให้ไฟแรงนัก ค่อยๆ เคี่ยวไป จนแตกน้ำมันเปนขี้โล้ ยังไม่ทันจะเหลืองนัก เอาปลาแห้งเผาแล้วเก็บก้างให้หมดลอกหนังเอาไว้ต่างหาก เอาเนื้อลงครกตำจนเปนปุย แล้วเอาหอมฝาน ฤๅ ซอยลงเจียวในน้ำมัน สุกเหลืองแล้วตักขึ้นไว้ จึงเอาปลาแห้งที่ตำไว้นั้น เทลงในกระทะน้ำมันนั้น คนไปกับขี้โล้ แล้วเอาแต่หลิว ฤๅ จ่ากดลงกับก้นกระทะแล้วค่อยคนไป ให้ปลาแห้งชุ่มน้ำมันจนเนื้อปลาและขี้โล้เหลืองสุกทั่วกัน เห็นว่าสุกดีแล้ว จึงตักขึ้นจาน ฤๅ ชาม เอาหอมโรยน่า ไปตั้งให้รับประทานกับแตงอุลิต ฤๅ สับปะรด ด้วยกัน” [สั่งเน้นคำโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม ]

ทุกวันนี้กลายเป็นเมนูอาหารว่างที่เรียกว่า ปลาแห้งแตงโม บ้างเรียกแตงโมปลาแห้ง

ปัจจุบันการปลูกแตงโมแพร่หลายในทุกภูมิภาคของประเทศ เพราะเป็นผลไม้ที่นิยมบริโภคกันทั่วไป เมื่อหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงลาออกจากราชการไปทรงประกอบอาชีพเกษตรกรรม ที่บ้านบางเบิด อำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ใน พ.ศ. 2464 นั้น แตงโมก็เป็นผลไม้ชนิดหนึ่งที่ทรงปลูก โดยทรงสั่งแตงโมพันธุ์ Tom Watson และ Klondike จากสหรัฐอเมริกา มาทรงทรงปลูกและจำหน่าย จนเป็นที่รู้จักทั่วไปในชื่อของ “แตงโมบางเบิด”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


ข้อมูลจาก :

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดอำนาจเจริญ. ฐานข้อมูลเพื่อการวางแผนพัฒนาการเษตรและสหกรณ์สินค้า ประจำปี 2556 “แตงโมเนื้อ”, กรกฎาคม 2556

ตะวัน วีระกุล.  “การปรับเปลี่ยนกายภาพของเขต พุทธาวาสวัดใหญ่สุวรรณาราม: ข้อพิจารณาในบริบทประวัติศาสตร์ และงานช่างเพชรบุรี” ใน, วารสารสังคมวิทยามานุษยวิทยา 35(2): กรกฎาคม – ธันวาคม 2559, คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ท่านผู้หญิงเปลี่ยน ภาสกรวงศ์. แม่ครัวหัวป่าก์ เล่ม 3, สำนักพิมพ์ต้นฉบับ, พิมพ์ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2545

วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญา จังหวัดประจวบคีรีขันธ์, คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุ จัดพิมพ์เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 7 มีนาคม 2565