สตรอเบอรี่ จากผลไม้นำเข้าสู่ผลผลิตในประเทศ

สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ในงานเกษตรแฟร์บางเขน (ภาพจากศิลปวํฒนธรรม เดือนมกราคม 2561)

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนถึงช่วงเดือนเมษายนของปีถัดไป เป็นช่วงที่สตอรเบอรี่ออกผล เรื่องราวของสตรอเบอรี่สมัยก่อน ภาพที่เห็นเป็นพืชต้องปลูกบนที่สูง อากาศหนาวเย็น และเป็นการนำเข้าจากต่างประเทศ ภายหลังก็เปลี่ยนเป็นผลผลิตภายในประเทศ

ประเทศไทยแม้ว่าจะมีพื้นที่ปลูกสตรอเบอรี่ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ มีการปลูกสตรอเบอรี่มานานแล้ว แต่ที่ถือว่าเริ่มมีความสำคัญเป็นพืชเศรษฐกิจคือตั้งแต่ปี 2522 เป็นต้นมา เช่น จังหวัดเชียงใหม่เชียงราย และเพชรบูรณ์ และในพื้นที่บางจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น จังหวัดเลย และมีแนวโน้มที่จะปลูกได้ผลดีในพื้นที่สูงของภาคกลาง เช่น แถบบนภูเขาของจังหวัดกาญจนบุรี อุทัยธานี

สตรอเบอรี่ในไทยนั้น ชาวอังกฤษที่มาทำงานเกี่ยวกับป่าไม้ในจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้นำต้นสตรอเบอรี่เข้ามาเมื่อประมาณปี 2477 ต่อมาสตรอเบอรี่พันธุ์นี้ถูกเรียกว่าพันธุ์พื้นเมือง เพราะไม่ทราบชื่อพันธุ์ที่แน่นอน ผลมีลักษณะนิ่ม มีขนาดเล็ก สีผลออกเป็นสีปูนแห้ง และให้ผลผลิตต่อพื้นที่ต่ำ ต่อมาหลังจากปี 2522 มีเกษตรกรบางรายพยายามปลูกเป็นการค้าในพื้นที่ใหญ่ๆ แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

เมื่อปี 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงก่อตั้งโครงการหลวงซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า มูลนิธิโครงการหลวง โดยมี หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี เป็นประธานมูลนิธิ ซึ่งมีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์ต้นน้ำลำธารของพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศ หยุดยั้งการปลูกฝิ่นของชาวไทยภูเขา โดยหาพืชอื่นทดแทนให้ปลูก และช่วยยกระดับการครองชีพตลอดจนความเป็นอยู่ของชาวไทยภูเขาให้ดีขึ้น

ดังนั้น โครงการวิจัยสตรอเบอรี่จึงเป็นอีกโครงการหนึ่งโดยเริ่มดำเนินการในระหว่างปี 2517-2522 โดยมีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เป็นผู้รับผิดชอบโครงการและได้รับทุนวิจัยจากทางฝ่ายงานวิจัยกระทรวงเกษตร ประเทศสหรัฐอเมริกา (Agricultural Research Service ของ USDA) ระหว่างการวิจัยนี้ได้มีการนำสตรอเบอรี่พันธุ์ต่างๆ เข้ามา เพื่อทดลองปลูกตามสถานีทดลองเกษตรที่มีระดับความสูงที่ต่างกัน รวมทั้งศึกษาเรื่องของโรคแมลง การจัดการหลังการเก็บเกี่ยว การบรรจุหีบห่อ และตลอดจนทางด้านของการตลาด

ผลจากการวิจัย ทำให้ได้สตรอเบอรี่พันธุ์ที่สามารถปลูกในพื้นที่กว้าง

สตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ได้ถูกคัดเลือกครั้งแรกในฤดูกาลผลิตปี 2555 ที่แปลงทดลองของสถานีวิจัยดอยปุย สังกัดสถาบันค้นคว้าและพัฒนาระบบนิเวศเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ รูปร่างของผลสวยงาม เนื้อผลสีแดงสดใส รสชาติดีมากและมีกลิ่นหอมจัดเมื่อผลสุกเต็มที่

ปัจจุบันมีปลูกสตรอเบอรี่พันธุ์พระราชทาน 80 ในวงกว้าง

แหล่งปลูกสตรอเบอรี่ขึ้นชื่ออยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ แต่เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา เกษตรกรที่เลย นครพนม สกลนคร ปลูกสตรอเบอรี่ได้ผลดี หรือที่อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ก็ปลูกสตรอเบอรี่กันมาก รวมถึงที่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา

คุณเชาว์ แก้วประสิทธิ์ อยู่บ้านเลขที่ 10/4 หมู่ 4 ตำบลหัวไทร อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา เกษตรกรผู้ปลูกสตรอเบอรี่เล่าว่า

สาเหตุที่สนใจปลูกสตรอเบอรี่นั้น เมื่อกว่า 10 ปีมาแล้ว ตนเองเคยทำงานอยู่ที่โครงการศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา สมัยนั้นปลูกสตรอเบอรี่ที่โครงการศึกษาการพัฒนาเขาหินซ้อน เมื่อกลับมาทำเกษตรที่บ้านของตนเอง จึงทดลองดู โดยปลูกพันธุ์พระราชทาน 80 ปรากฏว่าได้ผล จึงปลูกต่อเนื่องมา 3 ปีแล้ว

แม้ว่าสตรอเบอรี่ปลูกได้ทุกที่ แต่ผลผลิตทางใต้ก็ปลูก ไม่ว่าจะสีสัน ขนาด อาจจะสู้ทางเหนือไม่ได้ แต่รสชาติไม่ต่างกัน

 


หมายเหตุ : บทความนี้คัดย่อจาก พานิชย์ ยศปัญญา. “สตรอเบอรี่ เมื่อก่อนเหมือนอยู่ไกล ทุกวันนี้อยู่ใกล้ตัวแล้ว” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนมกราคม 2565


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 มกราคม 2565