ตำนานเจ้าหญิงอินเดีย ผู้กลายเป็นราชินีแห่ง “เกาหลี” ?

ฮอฮวังอก เจ้าหญิงอโยธยา แผนที่เกาหลี
พระนางฮอฮวังอก หรือเจ้าหญิงสุรีรัตนาแห่งอโยธยา ต้นราชวงศ์คารักของเกาหลี (ภาพโดย Kolossoni จาก NamuWiki สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 4.0) - มีการตกแต่งกราฟิกเพิ่มโดย กอง บก.ศิลปวัฒนธรรม

ตำนาน ฮอฮวังอก เจ้าหญิงอินเดียผู้เดินทางไกลข้ามน้ำข้ามทะเลไปถึงคาบสมุทรเกาหลี และกลายเป็นราชินีแห่งเกาหลี ทั้งเป็นต้นตระกูลคิมกับตระกูลฮอ เจ้าหญิงอินเดียผู้นี้คือใคร เรื่องราวนี้จริง-เท็จแค่ไหน?

ราวคริสต์ศักราชที่ 48 หรือเกือบ 2,000 ปีก่อน สุรีรัตนา (Suriratana) เจ้าหญิงแห่งเมืองอยุตา (Ayuta) ขณะพระชนมายุ 16 ชันษา ได้เสด็จจากบ้านเกิดเมืองนอนไปยังดินแดนเกาหลี เพื่ออภิเษกสมรสกับ กษัตริย์คิมซูโร (Kim suro) พระราชาของอาณาจักรเกาหลีโบราณ

เจ้าหญิงสุรีรัตนามีพระนามในภาษาเกาหลีว่า ฮอฮวังอก (Heo Hwang-ok) และพระราชินีฮอฮวังอกกับกษัตริย์คิมซูโรถือเป็นต้นราชวงศ์คารัก (Karak) แห่งเกาหลี 

การเสด็จไปอภิเษกสมรสข้ามเชื้อชาติของเจ้าหญิงอินเดียกับกษัตริย์เกาหลีเป็นตำนานที่มีการบันทึกไว้เป็นภาษาจีน บันทึกเล่าว่า กษัตริย์แห่งเมืองอยุตา พระราชบิดาของเจ้าหญิงสุรีรัตนา (ฮอฮวังอก) ทรงพระสุบินว่ามีเทพเจ้ามาเข้าฝันบอกพระองค์ให้ส่งเจ้าหญิงไปอภิเษกสมรสกับพระราชาแห่งเกาหลี พระองค์จึงทำตามเทวบัญชานั้น

ทั้งนี้ ตำนานยังกล่าวว่า พระนางฮอฮวังอกให้กำเนิดพระราชโอรสทั้งหมด 10 พระองค์ กับกษัตริย์คิมซูโร ทรงให้พระราชโอรส 8 พระองค์ ใช้สกุล คิม (Kim) ตามพระสวามี และอีก 2 พระองค์ใช้สกุล ฮอ (Heo) ตามพระนาง สองนามสกุลนี้ยังถูกใช้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

พระนางฮอฮวังอก (ภาพโดย Kolossoni จาก NamuWiki สิทธิ์การใช้งาน CC BY-SA 4.0)

เรื่องราวนี้ยังพบในตำรายุคสามก๊กฉบับเกาหลี ระบุว่า พระนางฮอฮวังอก เป็นเจ้าหญิงจากอาณาจักรอยุตาเช่นกัน แต่มีข้อสังเกตว่าข้อมูลของพระนางฮอฮวังอกและกษัตริย์คิมซูโรค่อนข้างเกินจริงในเรื่องอายุขัย เพราะทั้งสองพระองค์มีพระชนมชีพถึง 150 ปี ทำให้เรื่องราวนี้มีลักษณะของ “ตำนาน” หรือ “ปรัมปรา” มากเกินกว่านักวิชาการจะยึดถือในแง่ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

แม้ตำนานนี้ไม่พบหลักฐานใด ๆ ยืนยันได้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่ก็มีผู้ที่เชื่อถือเรื่องนี้อย่างจริงจังในระดับหนึ่ง คิมบยุงโม (Kim Byung-mo) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮันยาง ประเทศเกาหลีใต้ ยืนยันว่า เมืองอยุตา คือเมือง “อโยธยา” (Ayodhya) ของพระรามในมหากาพย์รามายณะหรือรามเกียรติ์นั่นแหละ ซึ่งปัจจุบันเป็นเมืองในรัฐอุตตรประเทศของอินเดีย

หากเชื่อตามตำนานว่าสกุล คิม กับ ฮอ คือเชื้อสายของทั้งสองพระองค์ สามารถประเมินได้ว่า 10% ของประชากรเกาหลีใต้ล้วนมีความเกี่ยวข้องหรือเป็นทายาทของทั้งคู่ ซึ่งคือผู้คนจำนวนมากกว่า 6 ล้านคน โดยเฉพาะตระกูลคิมอันมีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองกิมแฮ (Gimhae) จังหวัดกยองซัง มีผู้สืบเชื้อสายราชวงศ์คารักที่เก็บ “หิน” ซึ่งเล่ากันว่าพระนางฮอฮวังอกใช้ถ่วงน้ำหนักเรือให้มั่นคงระหว่างล่องข้ามทะเลจากอินเดียมายังเกาหลี อดีตประธานาธิบดีเกาหลีใต้ คิมแดจุง (Kim Dae-jung) และอดีตนายกรัฐมนตรี คิมจงพิล (Kim Jong-pil) คือคนสำคัญที่อ้างว่าพวกเขาสืบเชื้อสายราชวงศ์คารักโดยตรง

แต่ไม่ใช่คนเกาหลีใต้ทั้งหมดที่เชื่อถือในตำนานนี้ บางข้อสันนิษฐานยังเชื่อว่า อยุตา อาจหมายถึง อาณาจักรอยุธยาของไทยก็ได้ แม้ช่วงเวลาในตำนานจะขัดแย้งกับการมีอยู่ของรัฐอยุธยาก็ตาม ชาวเกาหลีบางคนวิเคราะห์ว่า พระนางฮอฮวังอกอาจมาจากดินแดนใดดินแดนหนึ่งทางตอนใต้จริง แต่ไม่ใช่อินเดีย การเชื่อมโยงถิ่นฐานของพระนางกับอินเดียมีขึ้นเพื่อส่งเสริมพระพุทธศาสนาที่เข้ามาหยั่งรากลึกในวัฒนธรรมเกาหลีเท่านั้น

กระนั้นตำนานนี้มีบทบาทไม่น้อยเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพราะเมื่อ พ.ศ. 2543 มีการลงนามข้อตกลงการเป็นเมืองพี่เมืองน้อง (Sister cities) กันระหว่างเมืองกิมแฮกับอโยธยา ก่อนที่ 4 ปีต่อมา นักประวัติศาสตร์ ตัวแทนรัฐบาลเกาหลีใต้ รวมถึงสถานทูตเกาหลีเหนือประจำอินเดีย ร่วมกันสร้างอนุสรณ์สถานพระราชินีฮอฮวังอกบริเวณตะวันตกของแม่น้ำซาร์ยูของเมืองอโยธยาด้วย กลายเป็นสถานที่สักการะบูชาสำหรับผู้เชื่อว่าตนมีเชื้อสายของพระนาง

พ.ศ. 2561 คิมจุงซอก (Kim Jung-sook) อดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง ของประเทศเกาหลีใต้ ยังเดินทางเยือนเมืองอโยธยา ตามคำเชิญของรัฐบาลอุตตรประเทศ เพื่อร่วมพิธีเปิดการปรับปรุง และพัฒนาอนุสรณ์สถานของพระนางฮอฮวังอกด้วย

สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง คิมจุงซุก และประธานาธิบดีมุนแจอิน เยือนประเทศอินเดียเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2561 (ภาพจาก AFP)

ตำนานนี้ จึงเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ของอินเดียกับเกาหลีใต้ได้เป็นอย่างดี และเรื่องราวของ ฮอฮวังอก หรือ เจ้าหญิงสุรีรัตนาแห่งอินเดีย ผู้กลายเป็นราชินีแห่งแดนโสม ยังเป็นที่รู้จักมากขึ้น ภายหลังอินเดียและเกาหลีใต้พัฒนาความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจต่อกันมากขึ้นตามลำดับ

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


อ้างอิง :

ศิลปวัฒนธรรม (5 พฤศจิกายน 2561) : ถกตำนานเจ้าหญิงอินเดีย ข้ามไปเป็นราชินีเกาหลีใต้ ให้กำเนิดทายาทตระกูลคิมและฮอ!?”. <https://www.silpa-mag.com/news/article_22242>

ESHITA SRINIVAS, LIFESTYLE ASIA. (Sep 12, 2022) : “Who is Heo Hwang-ok? Get to know Korea’s legendary queen with Indian roots”. <https://www.lifestyleasia.com/ind/culture/people/indian-princess-became-korean-queen-who-is-heo-hwang-ok/>

Lee Kyung-sik ; Kim Hyung-dae, The Korea Post (Sep 8, 2020) : “Princess Suriratna of India marries King Suro of the Gaya Kingdom nearly 2,000 years ago”. <http://www.koreapost.com/news/articleView.html?idxno=21413>

Nikita Mandhani, BBC News Delhi. (Nov 4, 2018) : “The Indian princess who became a South Korean queen”. <https://www.bbc.com/news/world-asia-india-46055285>

Prabhash K Dutta, INDIA TODAY. (Nov 3, 2018) : “Why South Korean First Lady wants to visit Ayodhya”. <https://www.indiatoday.in/india/story/south-korea-first-lady-kim-jung-sook-ayodhya-yogi-moon-jae-in-1381825-2018-11-03>


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 16 มีนาคม 2566