ราชินี “มินจายอง” ผู้พลีชีพแทนพระเจ้าโกจง จักรพรรดิโดยชอบธรรมองค์สุดท้ายของเกาหลี

มินจายอง หรือ ราชินีมิน ราชินี ใน พระเจ้าโกจง จักรพรรดิเกาหลี
ภาพประกอบเนื้อหา - ภาพในรายงานข่าวการล้มล้างราชวงศ์เกาหลีที่สื่อตะวันตกเผยแพร่ (ไม่ใช่ราชินีมิน) (ภาพจาก SOLEIL DU DIMANCHE, 4 Aout, 1907)

มินจายอง หรือ ราชินีมิน มีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์เกาหลี ย้อนไปเมื่อ สงครามจีน-ญี่ปุ่น สิ้นสุดลงใน ค.ศ. 1895 ส่งผลให้เกาหลีหลุดลอยไปจากจีน ในปีเดียวกันนี้ก็เกิดโศกนาฏกรรมบางอย่างขึ้นในพระราชวังเคียงบอคของ พระเจ้าโกจง ซึ่งเป็นผลงานของญี่ปุ่น แต่ไม่มีใครเอาผิดกับญี่ปุ่นได้

สนธิสัญญาชิโมโนเซกิที่จีนยอมจํานนต่อญี่ปุ่น เพื่อยุติสงครามผลักดันจีนให้ออกไปจากเกาหลี และหยุดการที่เกาหลีต้องส่งบรรณาการหรือจิ้มก้องไปจีน แต่ยังไม่ทําให้ญี่ปุ่นพอใจ เพราะราชสํานักเกาหลียังกุมอํานาจอยู่ด้วย พระราชินีองค์หนึ่งผู้ไม่เคยยอมญี่ปุ่น และเป็นผู้ประคับประคองราชบัลลังก์อันโอนเอนของพระเจ้าโกจงตลอดมา พระนางคือ มินจายอง ราชินีของ “พระเจ้าโกจง” การดํารงอยู่ของพระนางจะเป็นเสี้ยนหนามมิให้ญี่ปุ่นครอบครองเกาหลีได้สําเร็จ และญี่ปุ่นก็จะไม่เก็บพระนางไว้

ย้อนกลับไปกล่าวถึงรัชกาลของพระเจ้าโกจงสักเล็กน้อย (ครองราชย์ ค.ศ. 1864-1907) พระเจ้าโกจงทรงเป็นกษัตริย์แห่งโชซอนในยุคหัวเลี้ยวหัวต่อทางประวัติศาสตร์ ทรงอ่อนแอทั้งสติปัญญาและจิตใจ เพราะทรงถูกอุปโลกน์ให้ขึ้นเป็นกษัตริย์ด้วยพระชนมายุเพียง 11 พรรษา โดยการชักใยและบอกบทโดยพระบิดา (เจ้าชายลีแฮอง แต่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นเจ้าชายแดวอน เมื่อขึ้นเป็นผู้สําเร็จราชการแล้ว – ผู้เขียน)

พระเจ้าโกจงเสวยราชย์เพียงเพื่อเป็นเครื่องมือที่ช่วยอํานวยความสะดวกให้แก่กลุ่มอํานาจใหม่เท่านั้น และกลไกในการบริหารประเทศในช่วงต้นรัชกาลตกอยู่ในกํามือของเจ้าชายแดวอน ซึ่งเป็นพระบิดาเรื่อยมา

พอพระเจ้าโกจงทรงเจริญพระชนมายุเพียง 15 พรรษา พระบิดาก็ได้คลุมถุงชนให้กษัตริย์เกาหลีมีพระมเหสี โดยเลือกคู่ครองให้เสร็จสรรพเพื่อให้อยู่ในสายตาของตนต่อไป เด็กสาวผู้ไร้เดียงสาคนหนึ่งจากตระกูลมินอายุเพียง 16 ปีถูกเลือกขึ้นมาให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าโกจงเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ. 1866 เด็กหญิงคนนี้มีชื่อว่า มินจายอง

มินจายอง ถูกคัดเลือกขึ้นมาเป็นคู่ชีวิตของยุวกษัตริย์ ก็เพราะเธอไม่มีทีท่าว่าจะเป็นเสี้ยนหนามของเจ้าชายแดวอน ผู้สําเร็จราชการได้เลย เพราะเธอกําพร้าทั้งบิดามารดาแต่ยังเล็ก ซ้ำร้ายยังไร้ญาติขาดมิตรและกองเชียร์ที่จะสนับสนุนเธอให้ขึ้นมามีบทบาทอะไรได้ อันเป็นการพยากรณ์ที่ผิดพลาดโดยสิ้นเชิง เพราะในอีก 30 ปีต่อมา มินจายอง จะก้าวขึ้นไปเป็นราชินีผู้ทรงอิทธิพลที่สุดองค์หนึ่งของเกาหลี ผู้กุมอํานาจอยู่ข้างหลังบัลลังก์ของพระเจ้าโกจงอย่างแท้จริง

การเป็นคนใฝ่หาความรู้ของราชินีมินจายอง ทําให้พระนางเจริญวัยขึ้นมาเป็นคนรู้มาก และกลายเป็นนักบริหารที่มีขุนนางกลุ่มยังเติร์กหรือพวกหัวสมัยใหม่เป็นพวกของพระนางเอง การมองการณ์ไกลของพระนางทําให้เกิดคณะปฏิรูปเล็กๆ ขึ้นคณะหนึ่งที่ถูกส่งออกไปดูงาน (ล้วงความลับ) ถึงจีนและญี่ปุ่น ได้เห็นความล้มเหลวของจีน และเบื้องหลังความสําเร็จของญี่ปุ่นในระยะสร้างชาติ

“ราชินีมิน” ได้กลายเป็นกําลังสําคัญของพระเจ้าโกจงในช่วงการแทรกแซงของญี่ปุ่น จนมีผู้ยกย่องให้พระนางเป็นเสาหลักของความเป็นชาติเกาหลี และภาพพจน์ของความซื่อตรงต่อชาติบ้านเมือง

ในระยะที่อิทธิพลของพระนางกําลังผลักดันให้ต่างชาติที่มิได้ประสงค์ร้ายจนเกินไปคือจีนและรัสเซียเข้ามาสนับสนุนการเคลื่อนไหวของกลุ่มขุนนางหัวสมัยใหม่ในราชสํานักเกาหลีนั้น เจ้าชายแดวอนผู้อาวุโสกลายเป็นผู้แปรไปเป็นฝ่ายญี่ปุ่นเสียเอง และดําเนินการอย่างลับๆ ที่จะกําจัดพระนางออกไปให้พ้นทาง

ด้วยการวางแผนของราชินีมินจายอง พระเจ้าโกจงทรงดําเนินการติดต่อในทางลับกับรัสเซีย เพื่อหาทางสกัดกั้นการคุกคามของญี่ปุ่น ซึ่งต้องการให้เกาหลีเป็นเพียงจังหวัดหนึ่งของจักรวรรดิญี่ปุ่นเท่านั้น แต่นโยบายถ่วงดุลอํานาจของราชินีมินจายองก็มิได้เล็ดลอดสายตาของเจ้าชายแดวอน ผู้รายงานให้ข้าหลวงใหญ่ญี่ปุ่นทราบเป็นระยะๆ

แผนการกําจัดราชินีจึงอุบัติขึ้น เพื่อหยุดยั้งการแทรกแซงของมือที่ 3 ในเกาหลี

แผนลอบประทุษร้ายราชินีเกาหลีของทีมสังหารจากญี่ปุ่นลอบเข้าไปภายในพระราชวังเคียงบอคอย่างเงียบๆ ในเช้าตรู่ของวันที่ 8 ตุลาคม ค.ศ. 1895 ทีมสังหารบุกเข้าไปถึงพระราชฐานชั้นในอันเป็นที่ประทับ แต่ก็ถูกสกัดกั้นโดยราชองครักษ์ของราชินีมินจายอง แต่ทีมสังหารซึ่งมีกําลังมากกว่าและเป็นมืออาชีพจากญี่ปุ่น ซึ่งได้รับการชี้เป้าจากสายลับเกาหลีที่นิยมญี่ปุ่นก็เข้าไปจนถึงพระตําหนักฝ่ายใน ได้สังหารองครักษ์และพระสนมซึ่งพยายามปกป้องราชินีอย่างสุดความสามารถแต่ก็ไร้ผล

มีสตรีรวม 3 คนถูกสังหารอย่างเหี้ยมโหดในเช้าวันนั้น หนึ่งในร่างที่ไร้วิญญาณก็คือราชินีมินจายองผู้สูงศักดิ์ และเพื่อให้แน่ใจว่าเป้าหมายถูกกําจัด ทีมสังหารได้เผาพระบรมศพเป็นเถ้าถ่าน เพื่อทําลายหลักฐานในป่าสนหลังพระตําหนักนั่นเอง (วิโรจน์, 2555)

ราชินีมินจายองสวรรคตอย่างมีปริศนา ด้วยพระชนมายุเพียง 43 พรรษา โดยปราศจากร่องรอยหลักฐาน ทิ้งให้ พระเจ้าโกจง ต้องทนต่อสู้กับชะตากรรมตามลําพังต่อไปอย่างไม่มีจุดหมาย

ภาพในรายงานข่าวการล้มล้างราชวงศ์เกาหลีที่สื่อตะวันตกเผยแพร่ (ภาพจาก SOLEIL DU DIMANCHE, 4 Aout, 1907)

อิทธิพลของญี่ปุ่นและเหตุการณ์ในวันนั้นสามารถปิดปากสื่อมวลชนทั่วโลกที่มองว่าเกาหลีเป็นเพียงเรื่องภายในของญี่ปุ่นเท่านั้น ไม่มีใครอยากติดตามเสนอข่าว เพราะเกรงว่าจะกระทบกระเทือนความสัมพันธ์กับญี่ปุ่น แม้สื่อตะวันตกที่ไม่เคยตกข่าวสําคัญเกี่ยวกับราชวงศ์ก็ยังงดการเสนอข่าวใดๆ ที่จะเปิดเผยชะตากรรมของ ราชวงศ์เกาหลี เพราะต้องการเอาใจญี่ปุ่น

ผู้เขียนเป็นนักสะสมเอกสารโบราณประเภทหนังสือเก่าและหนังสือพิมพ์เก่าจากยุโรป มีหนังสือพิมพ์รายวันที่ตีพิมพ์ในประเทศอังกฤษ ฝรั่งเศส และสหรัฐฯ ตลอด ค.ศ. 1895 หลายร้อยฉบับ แต่ก็ไม่พบการเสนอข่าวใดๆ เกี่ยวกับการจากไปของราชินีมินจายองแม้แต่ประโยคเดียว อันเป็นเรื่องผิดสังเกต โดยเฉพาะเมื่อเกิดกับสื่อมวลชนยุโรปที่เคยเสนอข่าวเกี่ยวข้องกับเกาหลีไม่มากก็น้อย ทุกวันนี้ก็ยังไม่อยากเชื่อว่าเงินและอํานาจซื้อสํานักพิมพ์อิสระของฝรั่งได้

เพียงแต่รู้คร่าวๆ จากหนังสือประวัติศาสตร์เกาหลีที่พิมพ์ในสมัยหลังว่าภายหลังการปลงพระชนม์พระราชินีมินจายอง ผ่านไปราว 2 ปี คือในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1897 พระเจ้าโกจงก็ทรงละทิ้งพระราชวังเคียงบอค เสด็จฯ ไปประทับลี้ภัยภายในสถานทูตรัสเซียเป็นเวลาเกือบ 1 ปีเต็ม เพราะไม่มั่นใจในความปลอดภัยของพระองค์เอง ทรงคิดอยู่เสมอว่ารัสเซียน่าจะเป็นทางออกของเกาหลีที่ดีได้

หมายเหตุ : หลังสงครามรัสเซีย-ญี่ปุ่นจบลงด้วยความปราชัยของรัสเซีย ไม่มีชาติใดกล้าข้องแวะกับญี่ปุ่นอีก ปล่อยให้ญี่ปุ่นคุกคามส่วนต่างๆ ของเอเชีย

ค.ศ. 1907 ญี่ปุ่นผนวกเกาหลีเข้าเป็นจังหวัดหนึ่งได้สำเร็จ และปลด พระเจ้าโกจง ออกจากราชบัลลังก์แล้วควบคุมพระองค์ไปที่ญี่ปุ่น ไม่ปล่อยให้พระองค์กลับมาปกครองเกาหลีอีก รัฐบาลญี่ปุ่นสถาปนาพระเจ้าซุนจง พระราชโอรสของพระเจ้าโกจงเป็นจักรพรรดิเกาหลี แต่ก็เป็นแค่ในนาม ปล่อยให้ข้าหลวงใหญ่ญี่ปุ่นปกครองกันเอง

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “อย่าให้เหมือนเกาหลี กษัตริย์ที่หายไปจากภาพประมุขทั่วโลกออกมหาสมาคม” เขียนโดย ไกรฤกษ์ นานา ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤศจิกายน 2555


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 22 ธันวาคม 2561