ผู้เขียน | เสมียนนารี |
---|---|
เผยแพร่ |
เรื่องการ “ฝังคนทั้งเป็น” ใน “กำแพงเมือง” ก็ดี “ศาลหลักเมือง” ก็ดี หรือสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ต่างๆ เพื่อหวังให้วิญญาณผู้ตาย เฝ้ารักษาบ้านเมือง หรือสิ่งก่อสร้างนั้นให้ยั่งยืน เป็นตำนานที่เล่าลือกันมาในสังคม
การ “ฝังคนทั้งเป็น” ไม่ใช่เพียงรับรู้กันในหมู่คนไทย ชาวต่างชาติที่เคยเข้ามาในไทย หรือสื่อต่างชาติที่เสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเมืองไทยก็คงรับรู้และกล่าวถึงคติความเชื่อนี้เช่นกัน
สังฆราชปาเลอกัวซ์ (พ.ศ. 2348-2405) ชาวต่างชาติที่เข้ามาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ กล่าวถึงเรื่องนี้ไว้ใน “เล่าเรืองเมืองไทย” ว่า
“…มงซเญอร์ บรูกิแอรส์ (Monseigneur Brugiueres) ได้เล่าไว้ในจดหมายของท่านเกี่ยวกับประเพณีการถือโชคลาภของอนารยะอันมีอยู่ในประเทศสยาม ทุกครั้งเมื่อจะมีการสร้างประตูเมืองใหม่ ข้าพเจ้าเองก็เคยอ่านพบเหตุการณ์คล้ายๆ นี้ในพงศาวดารสยามเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่ยืนยันว่าจะเป็นความจริงดังที่เล่าลือกันนัก เขาว่ากันดังนี้:
เมื่อสร้างประตูเมืองใหม่ในกำแพงพระนคร หรือแม้เพียงซ่อมขึ้นใหม่ ไม่ทราบว่าเขาใช้กำหนดกฎถือโชคถือลางข้อไหน ที่ว่าต้องฆ่าคนที่บริสุทธิ์คือไม่มีความผิดเสียสามคน การกระทำอันป่าเถื่อนนั้นมีดังนี้ คือ
หลังจากที่พระเจ้าแผ่นดินได้ทรงปรึกษากับขุนนางผู้ใหญ่เป็นการลับแล้ว ก็ส่งราชบุรุษคนหนึ่งไปที่ประตูเมืองที่จะดำเนินการซ่อมแซมนั้น นานๆ ครั้งราชบุรุษนั้นจะทำทีตะโกนเรียกหาใครคนหนึ่งนั้นขึ้นมาดังๆ เขาออกชื่อประตูเมืองนั้นซ้ำซากหลายครั้งหลายหน ปรากฏอยู่เนืองๆ ว่าประชาชนที่ผ่านไปมา เมื่อได้ยินเสียงร้องเรียกทางเบื้องหลัง ก็มักจะเหลียวหน้ามาดู ทันใดนั้นราชบุรุษกับพวกก็จะเข้ารุมล้อมจับเอาคนที่เหลียวหน้ามาดูนั้นไปสามคน
อันเป็นที่แน่ว่าชะตาชีวิตของเขาถึงฆาตแล้ว ไม่มีการปฏิบัติใดๆ สัญญาประการใดๆ หรือการเสียสละใดๆ ที่จะช่วยชีวิตเขาไว้ได้ เขาขุดหลุมใหญ่ขึ้นในช่องประตูเมืองนั้น แล้วผูกเสาคานใหญ่ชักขึ้นไปเหนือหลุมนั้นในระดับสูงพอสมควร โยงไว้ด้วยเส้นเชือกสองเส้นหัวท้ายให้เสาหรือซุงนั้นแขวนอยู่ตามทางนอนเหมือนอย่างลูกหีบ (pressoir)
ฉะนั้น ครั้งถึงวันกำหนดที่จะกระทำการอันทารุณนี้ ก็เลี้ยงดูผู้เคราะห์ร้ายให้อิ่มหนำสำราญแล้วแห่แหนไปที่หลุมนั้น พระเจ้าแผ่นดินและข้าราชบริพารก็จะเสด็จและไปให้ความเคารพด้วย พระเจ้าแผ่นดินมีรับสั่งให้บุคคลทั้งสามนั้นเฝ้าประตูเมืองไว้ด้วย และให้เร่งแจ้งข่าวให้รู้เกลือกว่ามีอริราชศัตรูหรือผู้คิดกบฏจะยกเข้าโจมตีพระนคร ครั้นแล้วเขาก็ตัดเชือกปล่อยให้เสาหรือซุงหล่นลงมาบนศีรษะผู้เคราะห์ร้าย ผู้ตกเป็นเหยื่อของการถือโชคลางนั้น บี้แบนอยู่ในหลุม
คนไทยเชื่อว่าผู้เคราะห์ร้าย ผู้ตกเป็นเหยื่อของการถือโชคลางนั้น จะกลายสภาพเป็นอารักษ์จำพวกที่เรียกกันว่า ผี (phi) ราษฎรสามัญบางคนก็กระทำการฆาตกรรมแก่ทาสของตนในทำนองเดียวกันนี้ เพื่อใช้เป็นผีเฝ้าขุมทรัพย์ที่ตนฝังซ่อนไว้…” [จัดย่อหน้าใหม่ และสั่งเน้นคำโดยผู้เขียน]
ขณะที่ ไกรฤกษ์ นานา นักวิชาการอิสระที่สะสมเอกสารต่างชาติเกี่ยวกับประเทศไทย พบเรื่องราวลักษณะดังกล่าวใน วารสาร A TRAVERS LE MONDE (ฉบับวันที่ 22 Aout 1905) วารสารฝรั่งเศสที่กล่าวถึงความเชื่อเรื่องประหลาดในกรุงสยาม เกี่ยวกับประเพณีของคนโบราณที่เชื่อถือกันว่า
เมื่อจะสร้างกำแพงเมืองขึ้นใหม่ก็ต้องประกอบพิธีทางไสยศาสตร์ โดยการ “ฝังคนเป็น” ไว้ที่ประตูเมือง เพื่อวิญญาณของผู้ตายจะได้เป็นทวารบาลเฝ้าประตูเมืองต่อไป
วารสารฝรั่งเศสวาดภาพความเชื่ออันแปลกประหลาดนี้ กล่าวว่า เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นครั้งหนึ่งบนดินแดนล้านช้าง (ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของสยามประเทศ) เมื่อ ค.ศ. 1905 (พ.ศ. 2448) โดยมีพระเจ้าแผ่นดินสยาม เสด็จฯ พร้อมด้วยพระราชินี มาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีนี้ ร่วมด้วยขุนนางคนสำคัญและโหรพราหมณ์ เพื่อสื่อให้เห็นว่าเป็นพิธีสำคัญระดับชาติ เนื่องจากเป็นสิริมงคลแก่บ้านเมือง เป็นขวัญและกำลังใจแก่ผู้นำประเทศ แต่เป็นเรื่องงมงายในสายตาชาวตะวันตกที่ได้พบเห็น
ทว่าภายหลังที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงก็พบว่าพิธี “ฝังคนทั้งเป็น” ใน “กำแพงเมือง” ก็ดี “ศาลหลักเมือง” ก็ดี ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในสมัยรัตนโกสินทร์
อ่านเพิ่มเติม :
- การสร้างเมือง ‘มัณฑะเลย์’ กับตำนาน ฝังคนทั้งเป็น ? ความสยดสยองของธรรมเนียมพม่า
-
“ลูกสวาด–ลูกสวาดสียาตรา” วัตถุอาถรรพ์มหาเสน่ห์ และเรื่องรัก-เรื่องลับหลังชายผ้าเหลือง
ข้อมูลจาก :
สังฆราช ปาลเลกัวซ์ เขียน, สันต์ ท. โกมลบุตร แปล. เล่าเรื่องเมืองไทย, สำนักพิมพ์ก้าวหน้า, พิมพ์ครั้งแรก พฤศจิกายน 2506
ไกรฤกษ์ นานา. “ประมวลภาพรัชกาลที่ 5 ที่คนไทยไม่เคยเห็น” ใน, ศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2553
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 19 มกราคม 2565