ผู้เขียน | เสมียนอารีย์ |
---|---|
เผยแพร่ |
การสร้างเมืองมัณฑะเลย์กับตำนานความสยดสยองของธรรมเนียมพม่า เป็นอย่างไร?
เนื่องจากเมืองหลวงเก่าอย่างอังวะและอมรปุระนั้นเกี่ยวข้องกับการประสบความอัปยศ และความพ่ายแพ้ที่น่าโศกเศร้าของพม่า ที่มีต่ออังกฤษในสงครามทั้งสองครั้ง เมื่อปี 1824-1826 และปี 1852 พระเจ้ามินดง กษัตริย์พม่า จึงโปรดให้สร้างเมืองหลวงขึ้นใหม่ นั่นคือ “มัณฑะเลย์” ให้ยิ่งใหญ่ และมีความวิจิตรงดงาม
“มัณฑะเลย์” เมืองหลวงใหม่พม่า
เมืองใหม่นี้เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 1857 พระเจ้ามินดงทรงย้ายราชสำนักมายังเมืองหลวงใหม่เมื่อปี 1858 หลังจากสร้างเพียงพระราชวังเสร็จเท่านั้น กระทั่งเมืองใหม่สร้างเสร็จสมบูรณ์ในปี 1861
เพราะความพ่ายแพ้ครั้งใหญ่ต่ออังกฤษ ที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งกำลังคน กำลังทรัพย์ กำลังใจ และผืนแผ่นดิน ทำให้ทรงตัดสินใจย้ายเมืองหลวง แต่มีสาเหตุอีกประการหนึ่งที่เร่งให้ย้ายเมืองหลวงคือ ความเชื่อส่วนพระองค์
พระเจ้ามินดงทรงมีความเชื่อเรื่องฤกษ์ยาม วิญญาณ ภูติผี ว่าดูแลรักษาพระนครไม่ดี จนทำให้ผีบ้านผีเมืองไม่พอใจ จึงบันดาลให้เกิดความเลวร้ายต่าง ๆ ขึ้น และยังทรงเคยสุบินเกี่ยวกับเมืองริมเขามัณฑะเลย์มาหลายครั้ง อันเป็นมงคลนิมิตรที่ทำให้ทรงตัดสินใจย้ายเมืองหลวง
หลังจากดูฤกษ์ยามและให้เจ้าพนักงานไปสำรวจพื้นที่แล้ว จึงเลือกพื้นที่ใกล้เขามัณฑะเลย์สร้างเป็นเมืองหลวงใหม่
ในเดือนเมษายนปี 1857 พระเจ้ามินดงพระราชทานโค กระบือ พันธุ์ข้าว และเครื่องมือต่าง ๆ ให้เจ้าพนักงานเดินทางไปหักร้างถางพกเมืองหลวงแห่งใหม่ล่วงหน้า พร้อมกับให้ชาวบ้านเข้าจับจองพื้นที่ และทรงตรัสกำชับให้เร่งสร้างพระราชวัง พระตำหนัก ศาลาราชการอื่น ๆ ให้แล้วเสร็จตามฤกษ์ยามที่กำหนด
ทว่า ในระหว่างนั้นกลับเกิดอาเพศที่คนโบราณเชื่อว่าเป็นสัญญาณเตือนของการย้ายเมืองหลวงใหม่ ทั้งพระเศวตกุญชร ช้างหลวงของพระเจ้ามินดงล้ม (ตาย) และไฟไหม้พลับพลาพระมหายุวราชา แต่โหรหลวงก็ถวายคำทำนายไปในทางที่ดี ต่อมาในปี 1858 เกิดพายุใหญ่ ฟ้าผ่าปราสาทที่สร้างขึ้นใหม่ในพระราชวังหลวงที่เมืองมัณฑะเลย์ แต่พระเจ้ามินดงก็ทรงเชื่อว่าเป็นศุภนิมิตอันดีว่าจะมีชัยต่อข้าศึกศัตรู
เมื่อถึงกำหนดมงคลฤกษ์แล้ว พระเจ้ามินดงพร้อมด้วยข้าราชบริพารจึงเสด็จสู่พระราชวังหลวงแห่งใหม่ บำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มากมาย เพื่อเฉลิมฉลองพระราชวังหลวงให้รุ่งเรืองสมเป็นศูนย์กลางอำนาจแห่งใหม่ของอาณาจักร การย้ายราชสำนักมายังเมืองมัณฑะเลย์นี้ได้ขนเอาทรัพย์สินเงินทอง และของมีค่าจำนวนมากจากเมืองอมรปุระไปด้วยทั้งหมด
มีบันทึกไว้ว่า การย้ายเมืองหลวงในครั้งนั้น เมืองอมรปุระที่เคยเป็นราชสำนักอันหรูหรา และสว่างไสว พอขบวนสุดท้ายของพระเจ้ามินดงออกจากชานเมืองไป เมืองอมรปุระก็กลายเป็นเมืองเก่าทันที คือเห็นแต่สุนัขกลางถนน โบสถ์วิหารที่ปรักหักพัง และละอองฝุ่น
ชาวต่างประเทศได้บรรยายเมืองมัณฑะเลย์ในช่วงเวลานั้นไว้ว่า
“…เมืองมัณฑะเลย์ที่สร้างขึ้นเมื่อครั้งพระเจ้ามินดงนั้น จากฝั่งแม่น้ำอิรวดีขึ้นไปจนถึงภูเขามัณฑะเลย์ประมาณ 20 ไมล์ เป็นสภาพเหมือนเมืองตั้งอยู่บนระหว่างที่ราบริมแม่น้ำกับเชิงภูเขา เป็นเมืองที่สวยงาม และดูเป็นเหมือนศูนย์รวมแห่งความสุข รอบพระราชวังซึ่งขุดเอาดินมาถมเป็นเนินเมืองสร้างเป็นคูน้ำกว้าง ปลูกดอกบัวไว้เป็นช่วง ๆ ริมขอบกำแพงวังมีต้นไม้ขึ้นเรียงรายดูร่มรื่น ระหว่างคูสองฝั่งมีสะพานยาวทอดข้ามจากสะพานข้ามคูออกมา
ทางเชิงเขามัณฑะเลย์ปลูกไม้ดอกไว้เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นกุหลาบสีแดง ซึ่งยามนั้นก็กำลังผลิดอกพร้อมกันมากมาย จนดูเหมือนทุ่งไร่ดอกกุหลาบ ถัดไปนั้นเป็นภูเขากั้นระหว่างพม่ากับแคว้นไทยใหญ่ นอกคูออกมาเป็นถนนที่ตัดขึ้นใหม่ มีต้นไม้เรียงรายอยู่สองฟากทาง โดยมากเป็นต้นทองกวาว แต่ถนนในพม่าส่วนใหญ่มีฝุ่นค่อนข้างมากในช่วงฤดูแล้ง…”
พระราชวังมัณฑะเลย์มีลักษณะเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส มีคูน้ำขนาดใหญ่ และกำแพงสูงตระหง่านล้อมรอบทั้งสี่ด้าน กำแพงแต่ละด้านมีประตูใหญ่ 3 ประตู รวม 12 ประตู
แต่ในช่วงการสร้างพระราชวังมัณฑะเลย์นั้น มีบันทึกในพงศาวดารพม่า และเอกสารของชาวต่างประเทศ ที่บันทึกเกี่ยวกับความโหดเหี้ยมสยดสยองของธรรมเนียมพม่า ที่ต้องเลือกคนมา “ฝังทั้งเป็น” แต่ละจุด ก่อนจะลงเสาหลักและเริ่มการก่อสร้าง เพื่อให้เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง
พระเจ้ามินดงรับสั่งให้จับคน 52 คนมาขุดหลุมฝังทั้งเป็น เพื่อเป็นเครื่องสังเวย และให้เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง โดยให้เจ้าพนักงานขุดหลุมฝังไว้ตามแต่ละจุด กล่าวคือ บริเวณประตูทั้ง 12 ประตู ฝังหลุมละ 3 คน บริเวณมุมกำแพงทั้งสี่มุม ฝังหลุมละ 1 คน บริเวณท้องพระโรงสำหรับออกว่าราชการ ฝังอีก 4 คน ส่วนที่เหลือให้ฝังยังบริเวณต่าง ๆ กระจายทั่วพระราชวังหลวง โดยมากจะฝังไว้ตรงประตูที่จะเข้าสู่พระราชมณเฑียรชั้นใน
ก่อนจะฝังคนทั้งเป็นเพื่อให้เป็นเทพารักษ์ประจำเมือง พระสงฆ์กราบทูลทัดทานไว้มากว่าไม่ได้เป็นไปเพื่ิอความไม่มีภัยอันตรายตามหลักพระพุทธศาสนา แต่พระเจ้ามินดงทรงเชื่อถือคติของพวกพราหมณ์ และโหรหลวงมากกว่า พวกนี้เป็นชาวอินเดียมารับราชการในราชสำนัก มีความรู้ด้านโหราศาสตร์ และคัมภีร์พระเวท
ในหนังสือ ราชบัลลังก์พม่า เล่าถึงการเลือกคนมาฝังทั้งเป็นไว้ดังนี้
“…ตํารวจส่งเจ้าหน้าที่ไปเลือกเอาคนชั้นผู้ดีมีตระกูล ซึ่งเกิดมาในวันตามฤกษ์ เห็นจะถือเอาคนเกิดวันเสาร์กับวันอังคาร ที่นับว่าเป็นวันแข็งที่สุดในสัปดาห์ ถ้าเป็นผู้ชาย เลือกเอาผู้ชายที่มีร่างกายบริสุทธิ์ปราศจากรอยสัก ซึ่งตามธรรมเนียมคนพม่าพอเกิดมาชอบสักกันเต็มตัว อย่างน้อยมักสักลงในส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ถ้าเป็นผู้หญิง ต้องเลือกเอาผู้หญิงที่ยังไม่ได้เจาะหู ข้อนี้ก็เป็นเรื่องหาได้ยาก เพราะพวกผู้หญิงพม่าที่เกิดมา พ่อแม่ก็จัดพิธีเจาะหูตามธรรมเนียมไว้ก่อนทุกคน
แต่เรื่องที่จะเลือกเอาแต่ผู้ชายที่ไม่มีรอยสัก และผู้หญิงไม่มีรอยเจาะหูนั้น ไม่มีคนทั้งหลายรู้ ชาวเมืองรู้กันแต่ว่า ทางบ้านเมืองจะมาจับคนไปฝังทั้งเป็น เพื่อเป็นเทพารักษ์ประจำเมือง พอข่าวนี้ล่วงรู้กันไปในหมู่พลเมือง เล่ากันว่าทางกรุงอมรปุระ เมืองหลวงเก่า และตามบ้านเรือนทุกแห่ง มีสภาพเหมือนเมืองร้าง คนทั้งหลายพากันหนีเข้าป่าหมด ไม่มีใครอยู่รอรับเคราะห์กรรม อากาศที่เคยสว่าง กลับมืดมิด ความอบอุ่นที่เคยมี กลายเป็นความหนาวสั่น เพราะความกลัวภัย
ฝ่ายเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่หาคนมาฝัง เมื่อเห็นราษฎรพากันหนีหน้าไปหมด ก็ใช้ความดุร้ายเป็นเครื่องแทน ความฉลาด ใช้วิธีล่อหลอกราษฎร ด้วยวิธีตั้งโรงละครสาธารณะ มีการแสดงต่าง ๆ อันเป็นที่พอใจของราษฎร แล้วประกาศลวงเอาแก่ราษฎรว่าให้เข้ามาชมละครในคราวฉลองเมืองใหม่ ฝ่ายราษฎรไม่รู้เท่าถึงการณ์ อยากจะดูละครหลวงมากกว่ากลัวตาย หรือเพราะไม่รู้ว่าตนจะต้องถึงแก่ความตาย ก็พากันออกจากป่าเข้ามาดูละคร พวกเจ้าหน้าที่เห็นราษฎรดูละครเพลินอยู่ จึงตรงเข้าจับกุม เลือกเอาคนที่ตนต้องการ… ปรากฏว่าในวันนั้นมีคนถูกจับไปเป็นจํานวน 52 คน ตามกําหนด ที่พราหมณ์ผู้ฉลาดทูลแด่พระเจ้ามินดงไว้ ครั้นแล้วพิธีฝังคนทั้งเป็นก็เริ่ม…”
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงบันทึกเล่าเรื่องนี้ไว้ว่า
“…ที่มุมเมืองข้างภายนอกมีศาลเทพารักษ์ และว่ามีรูปยักษ์อยู่ในนั้นทั้ง 4 มุม แต่ฉันไม่ได้เห็นแก่ตา การฝั่งอาถรรพณ์เมืองมัณฑเลมีในหนังสือฝรั่งแต่ง บางเรื่องว่าเอาคนฝังทั้งเป็น ณ ที่ต่าง ๆ ถึง 52 คน แต่มีผู้แต่งคนหนึ่งกล่าวว่า การที่เอาคนฝังทั้งเป็นนั้นมีในตำราจริง และเคยทำกันแม้ในยุโรปเมื่อดึกดำบรรพ์ แต่พม่าเลิกเสียแล้วช้านาน ใช้โอ่งใส่น้ำมันฝังเป็นอาถรรพณ์แทน…”
อ่านเพิ่มเติม :
- สืบร่องรอย “ประตูเมือง” 2 ชั้นบนแนวกำแพงนครเชียงใหม่ อิทธิพลจากมัณฑะเลย์หรือสุโขทัย
- พม่าศัตรูประจําชาติ (ในอดีต) อยู่ที่ไหนในกรุงศรีอยุธยา
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
เสถียร พันธรังษี. (2508). ราชบัลลังก์พม่า. กรุงเทพฯ : แพร่พิทยา.
สถาปัตย์ สหเทวกาล. (2558). พม่ารบอังกฤษ. กรุงเทพฯ : รุ่งแสงการพิมพ์
หม่องทินอ่อง. (2551). ประวัติศาสตร์พม่า. แปลโดย เพ็ชรี สุมิตร. พิมพ์ครั้งที่ 3. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 13 พฤษภาคม 2563