พม่าศัตรูประจําชาติ (ในอดีต) อยู่ที่ไหนในกรุงศรีอยุธยา

ชาวบ้าน อยุธยา ต่อสู้ กับ ทหาร พม่า
ราษฎรกรุงศรีอยุธยา ต่อสู้กับทหารพม่า ที่เข้ามาปล้นฆ่า (ภาพจิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารภาพปริทัศน์ อนุสรณ์สถานแห่งชาติ)

ความสัมพันธ์ระหว่าง “อยุธยา” กับ “พม่า” มิได้มีแต่ด้านการศึกสงครามเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายแง่มุมที่น่าสนใจ ดังปรากฏเป็นความสัมพันธ์ด้านการค้าตามหัวเมือง การแลกเปลี่ยนศาสนาและศิลปวัฒนธรรมที่หลงเหลือเป็นหลักฐาน รวมไปถึงชุมชนชาวพม่าในกรุงศรีอยุธยา ซึ่งเป็นแง่มุมที่ไม่ปรากฏในประวัติศาสตร์ไทยฉบับทางการ

แลนด์มาร์กพม่าในกรุงศรีอยุธยา

ร่องรอยความสัมพันธ์ที่แนบแน่นระหว่างอยุธยากับพม่าคือการแลกเปลี่ยนทางศาสนาและศิลปวัฒนธรรม จากการที่พม่าและอยุธยาต่างก็เป็นรัฐพุทธเถรวาท นอกจากอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมที่พบเห็นได้ในศิลปกรรมสมัยพุกามรุ่งเรืองแล้ว ในอยุธยาก็เป็นอีกแห่งที่สามารถพบอิทธิพลศิลปวัฒนธรรมของพม่าที่เข้ามาผสมผสานกับอยุธยาได้ เช่น กรณีจัตุรมุขเจดีย์ประธานทั้งสามองค์ของวัดพระศรีสรรเพชญ์ มหาเจดีย์ภูเขาทอง เจดีย์ประธานวัดกุฎีดาว

กรณีมหาเจดีย์ภูเขาทอง ซึ่งเป็นเจดีย์ขนาดสูงใหญ่ที่มีความสำคัญในฐานะ “แลนด์มาร์ก” ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาในย่านตัวเมืองกรุงศรีอยุธยานั้น มีประวัติการสร้างที่ทับซ้อนกันหลายสมัย บ้างก็ว่าสร้างมาแต่ครั้งก่อนสถาปนากรุงศรีอยุธยา โดยมีตำนานเรื่องกษัตริย์ 2 พระองค์คือ พระนารายณ์ราชากับพระนเรศวรหงสา มากระทำ “ธรรมยุทธ์” คือการสร้างเจดีย์แข่งกัน พระนเรศวรหงสาสร้างเจดีย์ภูเขาทอง พระนารายณ์ราชาสร้างเจดีย์วัดใหญ่ชัยมงคล บ้างก็ว่าสร้างในรัชกาลสมเด็จพระราเมศวร บ้างก็ว่า สร้างโดยพระเจ้าบุเรงนองเพื่อฉลองชัยชนะเหนืออยุธยา บ้างก็ว่าสร้างโดยสมเด็จพระนเรศวรสำหรับฉลองชัยชนะเหนือพม่าของพระองค์ แล้วมาบูรณะในรัชกาลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

แต่ไม่ว่าจะสร้างในสมัยใด สิ่งหนึ่งซึ่งปฏิเสธไม่ได้ก็คือมันเป็นเจดีย์ขนาดใหญ่ที่มีอิทธิพลทางด้านรูปแบบจากพม่า และคล้ายคลึงกับมหาสถูปชะเวซันดอที่พุกาม ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรถ้าอยุธยาจะเห็นเป็นตัวแบบความเจริญรุ่งเรือง ถ้าพิจารณาจากมุมมองว่า อยุธยามิได้สัมพันธ์กับพม่าแค่ในด้านศึกสงคราม และพุกามก็เป็นอาณาจักรใหญ่ในย่านอุษาคเนย์ภาคพื้นทวีปมาก่อน

รวมทั้งกรณีเจดีย์ประธานทั้งสามของวัดพระศรีสรรเพชญ์ ซึ่งมีประวัติแรกสร้างตกในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แต่ก็ไม่ได้เป็นเจดีย์ที่รับรูปแบบถ่ายทอดมาจากพม่าโดยตรง เป็นรูปแบบผสมผสานกับทรงระฆังลังกา ซึ่งพัฒนาขึ้นในเขตรัฐสุโขทัยที่มีการติดต่อค้าขายกับพม่ารามัญในช่วงก่อนหน้านั้น รูปแบบเจดีย์ประธานวัดพระศรีสรรเพชญ์จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ที่วัดนางพญาและวัดสิงคารามที่เมืองศรีสัชนาลัย เนื่องจากสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถมีพระราชมารดาเป็นเจ้าหญิงสุโขทัย พระองค์ก็นำเอารูปแบบเจดีย์ที่สุโขทัยพัฒนาผสมผสานกันระหว่างพม่ากับลังกาเข้ามาสร้างวัดในเขตพระราชฐานอย่างวัดพระศรีสรรเพชญ์

พม่าวังหลัง นโยบายเติมคนของกรุงศรีอยุธยา

นอกจากความสัมพันธ์ด้านศิลปวัฒนธรรมแล้ว ยังมีด้านการค้าระหว่างอยุธยากับพม่าที่โดยมากจะอยู่ในบริเวณหัวเมืองชายแดนอย่าง ตาก อุทัย กาญจนบุรี ราชบุรี มะริด ตะนาวศรี อาจมีบ้างที่เข้ามาติดต่อถึงกรุงศรีอยุธยา แต่เนื่องจากการค้าของพม่ามุ่งเน้นลงใต้สู่อ่าวเมาะตะมะ ซึ่งเป็นเส้นทางที่สะดวกและเหมาะสมกว่า ในช่วงหลังจึงมีพ่อค้าพม่าเข้ามากรุงศรีอยุธยาไม่มาก ประกอบกับการเข้าไปมีอิทธิพลต่อล้านนา พม่าจึงเข้าไปติดต่อค้าขายกับบ้านเมืองในลุ่มแม่น้ำโขงด้วย

โดยทั่วไปหากพ่อค้าพม่าจะเข้ามาติดต่อค้าขายในกรุงศรีอยุธยา ก็มักแทรกปนมากับพ่อค้าชาวมอญ กะเหรี่ยง เงี้ยวหรือไทใหญ่ และอาศัยเครือข่ายของชาวมอญในการเข้าถึงทรัพยากรของกรุงศรีอยุธยา เพราะความใกล้ชิดทางภาษาและวัฒนธรรม และก็เป็นไปได้ที่ว่าในชุมชนมอญที่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไปทั้งพื้นที่ในและรอบนอกเกาะเมืองอยุธยานั้น จะมีสมาชิกชุมชนบางส่วนเป็นชาวพม่าหรือเครือญาติของพม่ารวมอยู่ด้วย

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่ปรากฏในพระราชพงศาวดาร กล่าวถึงการเข้ามาตั้งรกรากของชาวพม่า คือในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศและสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ รัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศได้เกิดเหตุการณ์กบฏมอญนำโดยสมิงทอยึดเมืองหงสาวดีได้สำเร็จ นักวารุตองกับมังรายจอสู ผู้นำพม่าที่เมืองเมาะตะมะมีความหวั่นกลัวสมิงทอกับพรรคพวก จึงได้พาสมัครพรรคพวกราว 300 คน หลบหนีเข้ามายังกรุงศรีอยุธยาขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงพระกรุณารับไว้และให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บริเวณวัดมณเฑียร นักวารุตองกับมังรายจอเป็นกลุ่มพ่อค้า ในครั้งนั้นจึง “พระราชทานตราคุ้มห้ามให้ค้าขาย” ด้วย [1]

ภายหลังชุมชนนี้ขยายไปครอบคลุมพื้นที่ตลาดวังหลังและตลาดวัดงัวควาย (วัดวัวหรือวัดเขาวัว ใกล้วัดศรีโพธิ์) เพราะจากคำให้การขุนหลวงวัดประดู่ทรงธรรม: เอกสารจากหอหลวง จะพบว่ามีชาวพม่าประกอบอาชีพฆ่าเป็ดไก่ขายสำหรับนำไปปรุงอาหาร อยู่ที่ตลาดวัดงัวควายด้วย ไม่ปรากฏว่า ชาวพม่าที่วัดมณเฑียร ตลาดวังหลัง และตลาดวัดงัวควายนี้ มีส่วนร่วมอย่างใดในเหตุการณ์สงครามกับพม่าเมื่อคราวเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310 เป็นไปได้ว่าคนในชุมชนเหล่านี้น่าจะกลายเป็นชาวอยุธยาไปแล้วในช่วงปีท้ายๆ ของกรุงศรีอยุธยา เพราะเป็นรุ่นลูกหลานชาวพม่าที่เข้ามาตั้งแต่ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และอาจจะเป็นชุมชนอื่นที่ถูกเกณฑ์ให้ไปรบกับพม่าอังวะ

อย่างไรก็ตาม การตั้งชุมชนใหญ่และย่านค้าขายของพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศไม่ใช่ครั้งแรกที่มีชาวพม่าเข้ามาในกรุงศรีอยุธยา จากเอกสารบันทึกของเยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vliet) หรือที่ไทยมักเรียกว่า “วันวลิต” กล่าวว่า ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททองซึ่งเป็นช่วงที่ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างอยุธยากับพม่าค่อนข้างเลวร้าย พบว่ามีพ่อค้าชาวพม่านำเอาสินค้าต่างๆ จากพะโคและอังวะมาขายยังตลาดอยุธยา อาทิ กำยาน กำมะถัน ขี้ผึ้ง อัญมณีต่างๆ [2] เพียงแต่ไม่ปรากฏการตั้งชุมชนของพ่อค้าชาวพม่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ชุมชนพม่าที่วัดมณเฑียรจึงเป็นเพียงชุมชนเดียวที่มีข้อมูลหลักฐานว่าเป็นชุมชนและย่านการค้าของกลุ่มพ่อค้าชาวพม่า ที่เหลือนอกนั้นเมื่อมาอยู่อยุธยาก็อาจอยู่ร่วมปะปนกับชุมชนเครือข่ายของตน อาทิ มอญ กะเหรี่ยง ไทใหญ่ ล้านนา เชียงใหม่

จากแผนที่ภูมิสถานพระนครศรีอยุธยาฉบับพระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์) ได้ระบุตำแหน่งที่ตั้งของวัดมณเฑียรอยู่ตรงริมคลองทางทิศตะวันออกของวังหลัง วัดสวนหลวงสบสวรรย์ (ที่ตั้งของพระเจดีย์สุริโยไท ในปัจจุบัน) [3] ในย่านบริเวณดังกล่าวมีวัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ “วัดมณเฑียร” ตั้งอยู่ริมคลองวังหลัง ใกล้กับวัดน้อย (ร้าง) และวัดร้างฝั่งตรงข้ามที่อยู่ในพื้นที่สวนศรีสุริโยทัย ก็อยู่ในเครือข่ายชุมชนพม่าในย่านนี้ด้วย คลองวัดมณเฑียรมีขนาดกว้าง สมดังที่พระราชพงศาวดารกล่าวว่าเป็นย่านค้าขายของชาวพม่าภายหลังขยายไปเป็นส่วนหนึ่งของตลาดวังหลัง ส่วนประเด็นที่กรมศิลปากร เคยมีรายงานระบุถึงวัดมณเฑียรว่า

“ตรวจสอบรายชื่อวัดรอบๆ เกาะเมืองแล้วไม่พบชื่อวัดนี้เลย ส่วนที่อยู่ในเกาะเมืองนั้นอยู่ระหว่างพระราชวังหลวง และพระราชวังหลัง จึงไม่น่าจะเป็นได้ที่จะทรงอนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาอาศัยริมพระราชวัง ด้วยนโยบายของกรุงศรีอยุธยานั้นนิยมให้ชาวต่างประเทศอาศัยอยู่รอบๆ พระนคร จะมีอยู่ในพระนครบ้างก็พวกพราหมณ์ จีน และพวกพระยาเกียรติพระยารามที่สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงพามาตั้งบ้านเรือนบริเวณวัดขุนแสนข้างตลาดหัวรอปัจจุบัน วิเคราะห์เอาตามนี้เห็นว่าวัดมณเฑียรที่กล่าวถึงในพงศาวดารไม่น่าจะใช่วัดที่อยู่ในบริเวณหลังวังหลัง น่าจะอยู่บริเวณรอบๆ พระนครมากกว่า” [4]

ตัวอย่างที่หยิบยกมาข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีแขกพราหมณ์ จีน มอญ กลุ่มพระยาเกียรติพระยาราม ต่างก็เป็นกรณีตัวอย่างว่าอยุธยาอนุญาตให้บางชุมชนเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในเกาะเมืองได้ เมื่อพิจารณาว่าในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ วังหลังซบเซาลงไปมาก เนื่องจากสงครามกลางเมืองปราบปรามกลุ่มวังหลังภายใต้การนำของเจ้าฟ้าอภัยและเจ้าฟ้าปรเมศร์ พื้นที่ส่วนหนึ่งจึงร้างไป อีกทั้งในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศยังเป็นช่วงที่อยุธยามีความสัมพันธ์ฉันมิตรต่ออังวะ พื้นที่วัดมณเฑียรที่ระบุตามตำแหน่งวัดร้างท้ายวังหลังก็ไม่ใช่พื้นที่ใกล้พระราชวังหลวง เพราะมีคลองคั่นอยู่ถึง 2 คลอง คือคลองวัดมณเฑียรหรือคลองวังหลัง กับคลองฉะไกรใหญ่ (คลองท่อ) จึงอยู่ในวิสัยและมีเหตุผลที่วัดมณเฑียร จะอยู่ในกลุ่มวัดร้างท้ายวังหลัง

ส่วนความเข้าใจที่ว่า “นโยบายของกรุงศรีอยุธยานั้นนิยมให้ชาวต่างประเทศอาศัยอยู่รอบๆ พระนคร” ก็เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะชาวอังกฤษและฮอลันดาก็เคยอยู่ในเกาะเมืองในช่วงแรกๆ ที่เข้ามาค้าขาย ตอนหลังได้รับพระราชทานที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ป้อมเพชร จึงขยับไปตั้งสถานีการค้าตรงย่านดังกล่าว เพราะสะดวกในแง่การเดินทางและการประกอบการค้า ชาวเปอร์เซียยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ย่านท่ากายี สำหรับเหตุผลในเรื่องความปลอดภัยนั้น พระราชวังทั้งสามคือ วังหลวง วังหน้า และวังหลัง ต่างมีกำแพงและป้อมปราการสำหรับป้องกันคนร้ายอยู่แล้ว

ในชั้นหลังที่ราชสำนักอยุธยามักจะให้ชาวต่างชาติที่เข้ามาใหม่ไปตั้งบ้านเรือนอยู่นอกเกาะเมือง ก็เพราะปัญหาเรื่องความแออัดของผู้คนในพื้นที่ แต่ที่ชาวพม่าได้รับพระราชทานที่ดินหลังวังหลังนั้น ก็เพราะเป็นช่วงหลังจากเกิดเหตุการณ์ปราบปรามกลุ่มเจ้าฟ้าอภัยกับเจ้าฟ้าปรเมศร์ การให้ชาวพม่าเข้าไปตั้งชุมชนอยู่แถววังหลังจึงเป็นการเติมคนของรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศเข้าไปแทนที่คนของวังหลัง [5]

ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ มีชาวพม่าอีกกลุ่มหนึ่งเข้ามา คือหุยตองจา เจ้าเมืองทวาย ทรงพระกรุณาให้ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บางปลาสร้อย (ชลบุรี) [6] ซึ่งไกลจากฝั่งตะวันตกของลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาที่ชาวพม่าคุ้นเคย เหตุที่ทรงให้ไปตั้งบ้านเรือนไกลถึงเพียงนั้น น่าจะเพราะราชสำนักพระเจ้าเอกทัศน์ไม่ไว้วางใจเกรงจะเป็นไส้ศึก เพราะเป็นช่วงเวลาที่อยุธยาเริ่มมีเรื่องกระทบกระทั่งกับพม่า ไม่ใช่ช่วงที่มีสัมพันธไมตรีเหมือนอย่างในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ

สถานที่เกี่ยวข้องกับพม่าในอยุธยายังได้แก่ อดีตที่ตั้งค่ายของพม่า ซึ่งมีประโยชน์ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ไม่น้อย หากไม่มีอคติทางชาตินิยม บางส่วนก็เหลือร่องรอยที่แสดงให้เห็นลักษณะการตั้งทัพของพม่า อาทิ ค่ายสีกุก วัดลาด วัดสุรินทร์ วัดกระซ้าย วัดป่าคนที่ วัดท่าโพลง วัดคูหาสวรรค์ วัดคูไม้ร้อง วัดค่ายวัวหรือวัดวัว วัดวรเชษฐ์ (นอกเกาะเมือง) วัดสัก วัดลาวหรือวัดหลวง วัดธรณี วัดน้ำวนจีน วัดน้อยประตูจีน วัดสมอ วัดขนุน วัดขนาน วัดบรมจักรพรรดิ วัดขวิด วัดกุฎีสลัก วัดหง วัดหัวค่าย ค่ายโพธิ์สามต้น วัดป่าฝ้าย

นอกจากนี้ ที่ประเทศเมียนมาเองก็มีชุมชนชาวโยเดีย (อยุธยา) อยู่ที่เมืองมัณฑะเลย์ ซึ่งเป็นชุมชนชาวอยุธยาขนาดใหญ่ที่ถูกกวาดต้อนไปหลังสงครามเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310 ชุมชนนี้สืบสายทายาทมาถึงปัจจุบัน และผสมผสานกลมกลืนทางวัฒนธรรมเข้ากับพม่าไปมาก จนน่าเชื่อว่าในหมู่ชาวพม่าปัจจุบันจำนวนไม่น้อยก็สืบทายาทมาจากชาวโยเดียหรือคนกรุงเก่าอยู่ด้วยเช่นกัน ชุมชนนี้เป็นที่สนใจในไทยกันมาก เมื่อมีการพบสถูปหนึ่งตั้งอยู่ที่สุสานลินซินกอง ซึ่งชาวโยเดียเชื่อว่าเป็นสถูปบรรจุอัฐิของขุนหลวงอุทุมพร อดีตกษัตริย์ที่ทรงสละราชย์ให้แก่พระเชษฐาของพระองค์คือสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ และถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังสงครามเสียกรุงฯ พ.ศ. 2310

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เชิงอรรถ :

[1] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และเอกสารอื่น (นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2550) น. 361-362.

[2] กรมศิลปากร, รวมบันทึกประวัติศาสตร์อยุธยาของฟานฟลีต (วันวลิต) (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2546), น. 141.

[3] พระยาโบราณราชธานินทร์ (พร เดชะคุปต์), อธิบายแผนที่พระนครศรีอยุธยากับคำวินิจฉัยของพระยาโบราณราชธานินทร์และภูมิสถานกรุงศรีอยุธยา (กรุงเทพฯ: ต้นฉบับ) 2550), น. 138.

[4] กรมศิลปากร, โบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เล่ม 2 (กรุงเทพฯ: สำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์, 2551), น. 433-434.

[5] พระราชพงศาวดารหลายฉบับยอมรับเจ้าฟ้าอภัยเป็นกษัตริย์อีกองค์ ขึ้นครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แต่พ่ายสงครามกลางเมืองแย่งชิงราชบัลลังก์กับวังหน้าภายใต้การนำของเจ้าฟ้าพรหรือสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เมื่อ พ.ศ. 2275

[6] พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม), น.375.


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากหนังสือ Downtown Ayutthaya ต่างชาติต่างภาษาและโลกาภิวัฒน์แรกในสยาม-อุษาเคย์, เขียนโดย กำพล จำาปาพันธ์, โมโมทาโร่ (สำนักพิมพ์มติชน, 2566)


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 30 มกราคม 2566