พระเจ้าตาก “ล้างแค้น” : ไทย “ล้อม” พม่าที่บางแก้ว เมืองราชบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตาก ที่ เมืองจันทบุรี

ในแผ่นดินกรุงธนบุรี สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงทำสงครามกับ พม่า สิบครั้งด้วยกัน โดย พ.ศ. 2317 เป็นการรบกับพม่าครั้งที่ 8 ที่ “บางแก้ว” (หมู่บ้านนี้ชาวบ้านเรียกบ้านบางแก้ว อยู่ในเขต อ. โพธาราม จ. ราชบุรี)

การรบครั้งนี้พระเจ้าตากทรงดำเนินกลยุทธ์และยุทธวิธีขั้นตอนต่างๆ ผิดกับการรบทั้ง 9 ครั้งที่ปรากฏในประวัติศาสตร์ กล่าวคือ จะกำหนดวันเวลาที่เอาชนะฝ่ายพม่าก็ได้ แต่พระองค์ไม่ทรงกระทำ พระองค์ต้องการให้ “งุยอคงหวุ่น” แม่ทัพใหญ่พม่ายอมแพ้อย่างไม่มีเงื่อนไข

ที่สำคัญคือพระองค์ทรงต้องการให้แม่ทัพใหญ่พม่าออกจากค่ายในฐานะผู้แพ้มาถวายบังคม (พูดอย่างไทยๆ ว่าให้มากราบตีน-ผู้เขียน) ต่อหน้าพระพักตร์

เพราะเหตุใดพระเจ้าตากจึงพระทัยเย็น ผิดวิสัยของยอดนักรบเช่นพระองค์ท่าน

ในกลาง พ.ศ. 2317 พระเจ้าตากได้ทรงจัดกองทัพไปตีเมืองเชียงใหม่ โดยดำรัสสั่งให้ “เจ้าพระยาจักรี” เป็นแม่ทัพใหญ่ คุมกองทัพเมืองเหนือยกขึ้นไปตีเมืองเชียงใหม่ พร้อมกับเจ้าพระยาสุรสีห์

เมื่อได้เมืองเชียงใหม่แล้วพระองค์ประทับอยู่เจ็ดวัน ได้ทรงรับใบบอกเมืองตากขึ้นไปกราบทูลว่า มีกองทัพพม่าตามครัวมอญล่วงแดนเข้ามา จึงเสด็จยกกองทัพหลวงรีบลงมาเมืองตาก และเสด็จต่อไปยังพระนคร

พอถึงพระนครทรงได้ข่าวว่าข้าศึกยกมาทางด้านพระเจดีย์สามองค์กาญจนบุรี ตีทัพพระยายมราชแขกที่ท่าดินแดงแตก จึงมีรับสั่งให้เกณฑ์กองทัพในกรุงให้พระองค์เจ้าจุ้ยลูกยาเธอกับพระยาธิเบศร์บดีจางวาง มหาดเล็กถือพล 3,000 ทัพหนึ่ง ให้เจ้ารามลักษณ์หลานเธอถือพล 1,000 ทัพหนึ่ง ยกออกไปตั้งรักษาเมืองราชบุรี และให้มีตราไปยังหัวเมืองสั่งให้ยกทัพลงมาด้วย

ในขณะนั้นทรงทราบว่ากองทัพหลวงล่วงมาถึงพระนครแล้ว จึงให้ตำรวจลงเรือเร็วไปคอยบอกกองทัพให้เลยออกไปเมืองราชบุรีทีเดียว อย่าให้ผู้หนึ่งผู้ใดแวะบ้านโดยเด็ดขาด

ปรากฏว่าพระเทพโยธาแวะเข้าบ้าน จึงตรัสให้เอาตัวพระเทพโยธามาแล้วมัดเข้ากับเสาพระตำหนักแพ ทรงพระแสงดาบตัดศีรษะพระเทพโยธาด้วยพระหัตถ์ แล้วเอาศีรษะไปเสียบประจานไว้ที่ป้อมวิชัยประสิทธิ์

ทัพพม่าเย้ยทัพไทย ที่บางแก้ว ราชบุรี

จากหนังสือไทยรบพม่า พระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และจากหนังสือเรื่อง สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช รวบรวมโดย ประยูร พิศนาคะ ผู้เขียนได้รวบรวมเรื่องราวการรบครั้งนี้เพื่อให้ลูกหลานไทยได้ทราบพอเป็นสังเขปดังนี้

ทางฝ่ายพม่าอะแซหวุ่นกี้ยกกองทัพพม่าตามครัวมอญมาถึงเมืองเมาะตะมะ เมื่อทราบว่าพระยาเจ่งกับหัวหน้าครัวมอญพาอครอบครัวหนีมาเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ จึงให้งุยอคงหวุ่น (เคยเป็นแม่ทัพยกมาตีกรุงศรีอยุธยาเมื่อคราวเสียกรุงครั้งสุดท้าย) ถือพล 5,000 ยกตามครัวมอญลงมาถึงท่าดินแดง (อยู่ระหว่าง อ. ทองผาภูมิ กับ อ. สังขละบุรี ขณะนี้จมอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนเขาแหลม) ได้รบกับกองทัพพระยายมราชแขก

พระยายมราชแขกสู้ไม่ได้ จึงถอยไปอยู่ที่ปากแพรก (คือเป็นที่พบกันระหว่างแม่น้ำแควน้อยกับแควใหญ่อยู่ทางทิศตะวันตกของประตูเมืองกาญจนบุรี ซึ่งเป็นต้นแม่น้ำแม่กลอง) งุยอคงหวุ่นจึงตามกองทัพพระยายมราชแขกไปถึงปากแพรก

พระยามราชแขกรวบรวมกำลังไม่พอ จึงทิ้งค่ายหนีมารวมกำลังใหม่ที่บ้านดงรัง (อยู่ในเขต ต. หนองขาว อ. ท่าม่วง จ. กาญจนบุรี)

งุยอคงหวุ่นเมื่อเห็นกองทัพไทยหนีก็ได้ใจ คิดว่าคงไม่มีทหารไทยต่อสู้อีกเสมือนเมื่อชนะไทยในคราวที่แล้ว จึงเริ่มดำเนินการปล้นทรัพย์จับผู้คนในเมืองกาญจนบุรี สุพรรณบุรี และนครชัยศรี โดยกำหนดให้มองจายิดคุมพล 2,000 เป็นผู้ปฏิบัติและให้ตั้งค่ายอยู่ที่ปากแพรก ส่วนงุยอคงหวุ่นนำพล 3,000 ลงไปทางตะวันตกเฉียงใต้ หมายปล้นทรัพย์จับเชลยในแขวงเมืองราชบุรี เมืองสมุทรสงคราม และเมืองเพชรบุรี

ครั้นเมื่อยกมาถึง “บางแก้ว” ทราบว่ามีกองทหารไทยตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี งุยอหวุ่นจึงตั้งค่ายมั่นลงที่บ้านบางแก้วสามค่าย

ฝ่ายพระองค์จุ้ยตั้งอยู่ที่เมืองราชบุรี ได้กระแสรับสั่งของพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงแนะนำไปว่า ถ้ากองทัพข้าศึกที่ยกมาไม่ใหญ่หลวงเหลือกำลัง ให้ชิงทำก่อน อย่าให้โอกาสแก่ข้าศึก (ข้อนี้เป็นยุทธวิธีของพระเจ้ากรุงธนบุรีมาทุกคราว)

เมื่อพระองค์เจ้าจุ้ยทรงทราบว่า พม่าตั้งค่ายอยู่ที่ บางแก้ว ประมาณสัก 3,000 คน เห็นว่าพอจะต่อสู้ได้และกองทัพกรุงก็กำลังตามเพิ่มเติมออกไป จึงยกกองทัพขึ้นไปตั้งที่ตำบลโคกกระต่ายในทุ่งธรรมเสน ห่างค่ายพม่าลงมาประมาณ 80 เส้น แล้วให้หลวงมหาเทพคุมกองหน้าไปตั้งค่ายโอบพม่าข้างด้านตะวันตก และให้กองทัพเจ้ารามลักษณ์ยกไปตั้งค่ายโอบด้านตะวันออก แล้วบอกความเข้ามายังกรุงธนบุรี

พระเจ้าตากทรงเร่งรัดกองทัพให้ยกไปเมืองราชบุรี ครั้นเสด็จถึง พระองค์เจ้าจุ้ยมาเฝ้ากราบทูลว่า

“ครั้งนี้พม่าดูหมิ่นไทยยิ่งนัก เมื่อหลวงมหาเทพไปตั้งค่ายโอบพม่าพากันดูเล่นแล้วร้องถามออกมาจากค่ายว่า ตั้งค่ายแล้วหรือยังให้ตั้งค่ายเสียให้เสร็จพม่าจะรอให้ไทยไปพร้อมกันจึงยกออกมาตีจะได้จับเชลยได้มากๆ ในคราวเดียวกัน”

พระเจ้าตากได้ทรงฟังมีความขัดเคืองยิ่งนัก

หลังจากนั้น พระองค์ได้เสด็จยกทัพหลวงจากเมืองราชบุรีไปฟากตะวันตก และตั้งค่ายอยู่ที่ ตำบลเขาพระ เหนือค่ายโคกกระต่ายขึ้นไปประมาณ 40 เส้น พระเจ้าตากเสด็จทอดพระเนตรพิจารณาภูมิประเทศแล้ว จึงมีรับสั่งให้ตั้งค่ายล้อมพม่าอีกจนรอบ

พระองค์ยังทรงให้พระยาอินทรอภัยไปตั้งรักษาหนองน้ำที่ เขาชั่วพราน (ชาวบ้านเรียกเขาช่องพราน) อันเป็นที่ข้าศึกอาศัยเลี้ยงช้างม้าพาหนะ แล ะเป็นเส้นทางลำเลียงเสบียงอาหารของพม่า กับให้พระยารามัญวงศ์คุมกองทหารมอญไปรักษาหนองน้ำที่ เขาชงุ้ม ซึ่งอยู่ในเส้นทางลำเลียงของข้าศึกไปทางเหนือ

ฝ่ายงุยอคงหวุ่นแม่ทัพพม่าเห็นกองทัพไทยตั้งล้อมแข็งแรงขึ้น จะนิ่งเฉยตามคำเยาะเย้ยไม่ได้เสียแล้ว ค่ำวันหนึ่งจึงจัดทหารเข้าปล้นค่ายทหารไทย ทหารไทยก็ตีพม่าแตกกลับไป ปล้นครั้งที่ 2 ก็แตกกลับอีก ครั้งที่ 3 ให้เนมิโยแมงละนรทานายรองนำกำลังเข้าปล้นค่ายอีกในคืนเดียวกัน และกำลังส่วนนี้ก็แตกหนีไปอีกเช่นเคย เสียรี้พลล้มตายเจ็บป่วยเป็นอันมาก ไทยจับเป็นเชลยได้ก็มี

งุยอคงหวุ่นเห็นทหารไทยรบกล้าหาญกว่าที่ตนเคยคิดไว้ และมีกำลังมากกว่าที่คาดคะเน จึงแต่งทหารเร็วเล็ดลอดไปบอกกองทหารพม่าที่ปากแพรก

ช่วงเวลานี้เอง อะแซหวุ่นกี้คอยกองทัพงุยอคงหวุ่นอยู่ที่เมาะตะมะ เห็นหายไปเกินกำหนด จึงให้ตะแคงมรหน่องเชื้อพระวงศ์พระเจ้าอังวะคุมพล 3,000 ยกตามลงมา เมื่อถึงปากแพรกจึงทราบจากมองจายิดว่า กองทหารของงุยอคงหวุ่นถูกทหารไทยล้อมไว้ที่บางแก้ว จึงให้มองจายิดรีบยกกำลังลงมาช่วยโดยด่วน ส่วนตัวตะแคงมรหน่องนำกำลังไปตีค่ายพระยายมราชแขกที่บ้านดงรังหนองขาว เข้าตีทหารไทยไม่แตกจึงถอยไปตั้งอยู่ที่ปากแพรก

เมื่อมองจายิดยกกำลังมาช่วยงุยอคงหวุ่น แม่ทัพทั้งสองได้ทำการโจมตีค่ายทหารไทย เพื่อจะหักออกไปจากที่ล้อมอีกหลายครั้ง แต่ไม่สำเร็จ

ในช่วงเวลานี้เอง เจ้าพระยาจักรียกกองทัพกลับมาจากเชียงใหม่ ในเวลาไล่เลี่ยกัน เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพหัวเมืองเข้าไปช่วย พระเจ้าตากทรงมอบให้เจ้าพระยาจักรีขึ้นไปบัญชาการล้อมค่ายเพิ่มเติมที่บางแก้ว ให้เจ้าพระยาสุรสีห์คุมกองทัพหัวเมืองทั้งปวงไปล้อมประชิดค่ายพม่าที่เขาชงุ้มกันไว้อย่าให้ติดต่อหรือลงมาช่วยค่ายพม่าที่บางแก้วได้

กักไว้ให้หิวโซ แล้วเอาข้าวล่อพม่า

พระเจ้าตากได้ทรงทราบจากทหารพม่าที่จับมาได้ว่า การที่ไทยส่งทหารไปรบกวนทำลายเส้นทางลำเลียงส่งเสบียงอาหาร ทำให้ทหารพม่าเริ่มอดอยาก

เมื่อทรงทราบเช่นนั้นทรงดีพระทัยเป็นอย่างยิ่ง กับได้ข่าวจากทหารไทยที่พม่าจับไปแล้วหนีออกมาได้ว่า พม่าอดอยากถึงกับกินเนื้อช้างเนื้อม้าพาหนะถูกปืนใหญ่ล้มตายเสมอ พระองค์จึงทรงดำริว่า ล้อมไว้ให้อดอยาก ทนไม่ได้ก็ต้องออกมาให้จับเป็นเชลย จะทำให้สมน้ำหน้าที่มันเย่อหยิ่งให้จงได้ และดำรัสว่า “กักมันไว้ให้โซแล้วเอาข้าวล่อเอาเถิด”

พระองค์ทรงปรารถนาจะเสด็จคุมกองทหารออกไปทำการรบ ตัดทางลำเลียงและกองกำลังของพม่าด้วยพระองค์เอง แต่พระยาเทพอรชุน พระดำเกิงรณภพทูลขอรับอาสา จึงมีรับสั่งให้พระยาทั้งสองคุมหน่วยกำลังซึ่งมีกองอาจารย์และทนายเลือก (ทนายเลือกหมายถึงพวกนักมวยกองป้องกันพระองค์) 745 คน เป็นกองโจรไปช่วยพระยาอินทรอภัย

ทั้งๆ ที่แม่ทัพนายกองคัดค้าน และขอปฏิบัติการรบแทน แต่พระองค์ก็ต้องทรงออกศึกหน้าทหารออกรบด้วยพระองค์เองจนได้

เหตุเกิดขึ้นเมื่อพม่าที่เขาชงุ้มเข้าปล้นค่ายพระยาสุรสีห์ พม่าทำกลยุทธ์แบบค่ายวิหลั่น (ค่ายวิหลั่นคือการอำพรางกาย ค่อยๆ ขยับรุกเข้ามาหาค่ายไทยทีละน้อย เมื่อถึงจุดที่จะโจมตีก็ปฏิบัติการเข้าโจมตีกันทุกทิศทุกทาง เป็นการจู่โจมระยะใกล้) แต่ทหารของเจ้าพระยาสุรสีห์ต่อสู้ป้องกันไว้ได้ ทหารพม่าจึงเข้าปล้นค่ายของพระยานครสวรรค์ในคราวต่อมา โดยเข้าปล้นในยามดึกประมาณตีสาม การรบพันตูระหว่างทหารพม่าและทหารไทยจนถึงค่อนสว่าง

ในเวลานั้นพระเจ้าตากตื่นบรรทมขึ้น ทรงทราบว่าพม่าเข้าตีค่ายพระยานครสวรรค์ ทันใดนั้นจึงรับสั่งให้จัดกองทัพโดยเร็ว ส่วนพระองค์พร้อมด้วยทหารองครักษ์กองหนึ่งกับกำลังรบอีกกองหนึ่ง ทรงขับม้าโลดแล่นออกหน้าตรงมาที่ค่ายพระยานครสวรรค์

พอดีทอดพระเนตรเห็นกองหนุนของพม่า พระองค์ทรงโผนม้าควงพระแสงดาบนำทหารเข้าตีตัด การรบพุ่งอย่างชุลมุนวุ่นวายก็เกิดเป็นสองฝักสองฝ่ายอลหม่านไม่เป็นกระบวน พักเดียวพม่าที่หนุนเข้ามาก็ถูกพระเจ้าตากต่อตีแตกกระจัดกระจายไปสิน

ครั้นแล้วพระองค์ก็ทรงนำทหารหวนมาตีกระหนาบทหารพม่าที่กำลังรบอยู่กับทหารของพระยานครสวรรค์ จนถึงแปดโมงเช้า ผลที่สุดกองทหารพม่าแตกพ่ายไม่เป็นขบวน หนีกลับเข้าค่ายที่เขาชงุ้ม

ทางงุยอคงหวุ่นแม่ทัพใหญ่ ที่ค่ายบางแก้ว ค่ายนี้หลังจากถูกล้อมก็พยายามตีออกมาไม่ได้ รอกองทหารพม่ามาช่วยก็ไม่สำเร็จ เกิดความอดอยากถึงกับฆ่าช้างฆ่าม้ากินกันแล้ว วันหนึ่งงุยอคงหวุ่นให้นายทัพกับทหารอีก 5 คนออกมาเข้าพบเจ้ารามลักษณ์กับเจ้าพระยาจักรี ฝ่ายพม่าพูดวิงวอนขอให้ปล่อยทหารพม่าทั้งหมดกลับบ้าน ฝ่ายเราไม่ยอมแล้วบอกว่าถ้ารักตัวกลัวชีวิต ขอให้ยอมอ่อนน้อมโดยดี นายทัพพม่าขอกลับนำข่าวนี้เข้าไปรายงานแม่ทัพใหญ่ดูก่อน

งุยอคงหวุ่นให้นายทหารพม่า 7 คนออกมาเจรจาอีก โดยยอมอ่อนน้อมถวายบังคม พร้อมกับถวายช้างม้าและพาหนะเครื่องศัสตราวุธ แต่ขอให้ปล่อยตัวกลับไป

เจ้ารามลักษณ์กับเจ้าพระยาจักรีไม่ยอม และยึดตัวทหารพม่าไว้สองคน ปล่อยกลับไป 5 คนเพื่อไปแจ้งแก่แม่ทัพใหญ่พม่า

ความกดดันในกองทัพพม่าจวนถึงจุดระเบิด เพราะในวันนั้นอุตมสิงหจอจัวปลัดทัพของงุยอคงหวุ่น พานายหมวดนายกองพม่า 14 คน พร้อมศัสตราวุธของตนมัดแบกออกมาส่งให้ไทย

ฝ่ายไทยได้นำเข้าถวายบังคมพระเจ้าตาก พระองค์โปรดให้พระยารามคุมอุตมสิงหจอจัวกลับไปร้องบอกพวกพม่าในค่ายว่า “ให้พากันออกมาสวามิภักดิ์ ต่อพระเจ้าปราสาททองๆ ทรงพระกรุณาให้รอดชีวิต” ทางในค่ายตอบออกมาว่า “ขอปรึกษากันดูก่อน”

การต่อรองด้วยวาจามีหลายครั้งหลายคราว ข้อใหญ่ใจความก็เพียงแค่ขอชีวิตไว้เท่านั้น

พม่ากับไทย ทีใครทีมัน

งุยอคงหวุ่นแม่ทัพใหญ่นั้นได้พิจารณาเห็นว่า ถึงแม้จะถูกล้อมด้วยกำลังที่มากกว่า แต่มีความกล้าหาญอดทนได้แก้ไขสถานการณ์อยู่ตลอดเวลา พยายามแหกค่ายปล้นค่ายไทยหลายครั้งหลายหนในท่ามกลางความอดอยากและสถานการณ์ทั่วๆ ไปเป็นฝ่ายเสียเปรียบ

พอกาลเวลาผ่านไป งุยองคงหวุ่นเห็นอนาคตว่าสู้ไม่ไหวแล้ว แพ้นั้นต้องแพ้แน่ แต่กลับกลัวความตายในชีวิตตน โดยจะเห็นว่าการต่อรองในการยอมแพ้และวางอาวุธหลายครั้งหลายคราว จุดมุ่งหมายก็เพียงต้องการยืนยันจากไทยว่า เมื่อยอมแพ้แล้ว ตัวงุยอคงหวุ่นเว้นการถูกฆ่า

ความกลัวตายของแม่ทัพใหญ่พม่าคงจะสำนึกในตัวเองที่กระทำไว้กับคนไทย จึงเกิดความหวาดกลัวว่าจะถูกแก้แค้นจากทหารไทย คนไทยที่ฝังอยู่ใจจิตใจด้วยเหตุผลสองประการ

ประการแรก งุยอคงหวุ่นเป็นแม่ทัพมารบกับไทยเมื่อคราวไทยเสียเมือง พ.ศ. 2310 สร้างความเจ็บช้ำไว้กับคนไทยไม่รู้ลืม…

ประการที่สอง พูดจาเย้ยหยันทหารไทยในระหว่างที่ไทยสร้างค่ายล้อมพม่าที่บ้านบางแก้ว

ข้อความในใบลานที่งุยอคงหวุ่นส่งมาให้ตละเกล็บครั้งแรกเพื่อนำมาให้ฝ่ายไทย เป็นหนังสือทำนองขอร้องในการยอมแพ้ ซึ่งเขียนเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว มีข้อความซึ่งน่าจะทราบไว้ดังต่อไปนี้

พระเจ้าปราสาททองกรุงศรีอยุธยากับพระเจ้าช้างเผือก (พม่า) มีบุญญาภินิหารเป็นใหญ่ในชมพูทวีปด้วยกัน และพระมหากษัตริย์ทั้งสองฝ่ายเป็นเวรกัน พระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะให้ข้าพเจ้ากับนายทัพนายกองทั้งปวงมาทําสงครามกับท่านผู้เป็นเสนาบดีในกรุงศรีอยุธยา

ครั้งนี้ข้าพเจ้าเสียทีแก่ท่าน ท่านล้อมไว้จะพากันหนีไปก็ไม่ได้แล้ว ถ้าท่านล้อมไว้อย่างนี้ก็มีแต่จะตายอย่างเดียว ไม่ใช่จะตายแต่พวกข้าพเจ้าที่เป็นนายทัพนายกองเท่านั้น จึงไพร่พลทั้งปวงก็จะพลอยตายด้วยกันทั้งสิ้น เมื่อชีวิตข้าพเจ้าทั้งหลายตายไปเสียแล้ว ใช่ว่าสงครามของพระมหากษัตราธิราชทั้งสองฝ่ายจะเป็นอันเสร็จสิ้นกันเพียงนั้นก็หามิได้

ท่านผู้เป็นเสนาบดีไทยได้ถือน้ำทำราชการสนองพระเดชพระคุณตามพระราชกำหนดกฎหมายของพระเจ้าปราสาททองกรุงศรีอยุธยาฉันใด ข้าพเจ้ามาทำสงครามก็ด้วยได้ถือน้ำทำราชการ ตามพระราชกำหนดกฎหมายของพระเจ้าช้างเผือกกรุงอังวะอย่างเดียวกัน อุปมาเหมือนเป็นแต่เครื่องศัสตราวุธซึ่งพระมหากษัตราธิราชทรงใช้สอยทั้งสองฝ่าย

พระพุทธองค์ก็ได้โปรดประทานพระสัทธรรมเทศนาไว้ว่าอันจะได้เกิดมาเป็นมนุษย์แต่ละคนนี้ยากนักฉันใด ข้าพเจ้าทั้งหลายจะได้รอดชีวิตขอบรรดาท่านผู้เป็นอัครมหาเสนาบดีช่วยพิเคราะห์ดูด้วยเทอญ

พระเจ้าตากคงไม่พอพระทัยที่แม่ทัพใหญ่ต่อรองผลัดวันประกันพรุ่งหลายครั้งหลายหน ครั้นวันหนึ่งได้ปรึกษาบรรดาแม่ทัพนายกอง แม่ทัพนายกองก็ขอให้ทำการหนักขึ้นโดยใช้กระสุนปืนไม้ระดมยิงเข้าไปในค่าย พระองค์ไม่ทรงเห็นด้วยได้ดำรัสว่า “ฆ่าให้ตายนั้นง่าย แต่ข้าศึกสิ้นความคิดเช่นนี้แล้วฆ่าเสียก็บาปกรรมเปล่าๆ จับเป็นเอาเถิด”

เพื่อเร่งวันยอมแพ้ พระเจ้าตากจึงได้ทรงให้อุตมสิงหจอจัวมีหนังสือเข้าไปในค่ายพม่าทั้งสามค่ายโดยยืนยันไม่มีการฆ่า และยังขู่ไปอีกว่า ถ้าไม่ยอมแพ้เสียโดยเร็วกองทัพไทยจะเข้าตีฆ่าฟันให้ตายมิให้เหลือไว้เลยแม้แต่คนเดียว

ครั้นวันรุ่งขึ้นนายทัพทั้งหลายคงทนความอดอยากความหวาดกลัวไม่ไหว เมี้ยนหวุ่นกับปกันเลซูนายทัพพม่ากับนายรองๆ อีก 12 คน ได้รวบรวมเครื่องศัสตราวุธพากันออกมาสวามิภักดิ์ อุตมสิงหจอจัวพาเข้าถวายบังคมพระเจ้าตาก นายทัพทั้งสองได้อาสาเข้าไปจะนำตัวงุยอคงหวุ่นกับพวกออกมา

ในวันนั้นงุยอคงหวุ่นแม่ทัพใหญ่พร้อมกับนายทัพรองๆ เนมโบเมงละนรทา ยุยยองโบ่อคงหวั่นมุงโยะและนายทัพรองๆ ทั้งหมดออกมาจากค่าย หลังจากนั้นนายทัพไทยก็นำงุยอคงหวุ่นแม่ทัพใหญ่พม่ากับพวกเข้าไปถวายบังคมพระเจ้าตาก

การรบครั้งนี้พระเจ้าตากทรงใช้เวลา 47 วัน (ตั้งแต่ 13 กุมภาพันธ์ 2317-31 มีนาคม 2317) เผด็จศึกได้โดยเด็ดขาด ได้เชลยทั้งตัวแม่ทัพใหญ่และนายรองตามที่กล่าวมาแล้ว กับไพร่พลที่เหลือตายทั้งสามค่ายรวม 1,328 คน กับผู้หญิงอีก 2 คน พม่าตายเสียเมื่อทำการรบระหว่างถูกล้อมมีจำนวน 1,600 คน

ครั้นรุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งพระเจ้าตาก มีรับสั่งให้เจ้าพระยาจักรียกทัพขึ้นไปตีค่ายพม่าที่เขาชงุ้ม และให้พระยาอนุชิตราชากับหลวงมหาเทพยกทัพไปตีค่ายพม่าที่ปากแพรกพร้อมกับพระยายมราชแขก

ผลที่สุดพม่าที่เขาชงุ้มและปากแพรกก็แตกหนีกระเจิงถูกฆ่าฟันและจับได้อีกมาก มองจายิดกับตะแคงมรหน่องนายกองค่ายนำทหารเหลือตายหนีเข้าแดนพม่าไปหาอะแซหวุ่นกี้ที่เมาะตะมะ กองทัพไทยไล่ติดตามไปจนสุดพระราชอาณาเขต

ครั้นแล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงให้เลิกทัพกลับคืนพระนคร พร้อมกับพระราชทานบำเหน็จรางวัลแก่แม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ผู้น้อยตามสมควรแก่ความชอบที่มีชัยชนะต่อพม่าข้าศึกในครั้งนี้โดยทั่วกัน…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 ธันวาคม 2565