ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | กำพล จำปาพันธ์ |
เผยแพร่ |
ในยุคการค้าทางทะเลช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) สิ่งที่เติบโตในขอบเขตสากลคู่ขนานและตรงข้ามไปกับพ่อค้า ก็คือ “โจรสลัด” (Pirate) มีทั้งโจรดีมีอุดมการณ์ที่ปล้นคนรวยช่วยคนจน โจรกบฏต่อต้านอำนาจรัฐส่วนกลาง โจรผู้ร้ายที่ก่ออาชญากรรมเพื่อความมั่งคั่งส่วนตัว “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” (Piracy) นั้นถือเป็นข้อหาร้ายแรงสำหรับยุคที่ผู้คนยังเดินทางไกลกันด้วยเรือเดินสมุทร
และด้วยเหตุที่มีข้อจำกัดประสิทธิภาพของเรือในยุคก่อนหน้าการปฏิวัติอุตสาหกรรม โดยมากมักต้องแล่นเลียบชายฝั่งไปในระยะที่มั่นใจได้ว่า หากคลื่นลมแรงหรือพลัดไปชนหินโสโครกจนเรือแตกลง จะได้มีผู้รอดชีวิต โดยปกติก็จะกำหนดไว้ที่ระยะราว 2 กิโลเมตรจากชายฝั่ง เมื่อถึงสถานที่อันเป็นบริเวณสำคัญ (Landmark) ก็อาจแวะจอดพักเทียบท่า หาเสบียงอาหารและความสุขสำราญ
นับแต่ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 17 (พุทธศตวรรษที่ 22) ที่ราชวงศ์บ้านพลูหลวงของอยุธยา ได้หันมาเน้นการค้าทางฝั่งตะวันออก ที่มีจีน ญี่ปุ่น ริวกิว และเกาหลี เป็นคู่ค้าสำคัญ ก็ทำให้บ้านเมืองในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกบังเกิดความเจริญรุ่งเรืองตามมา เพราะมีจุดที่เรือสำเภาที่แล่นผ่านไปมาสามารถแวะพักได้
ประกอบกับเป็นหัวเมืองห่างไกลที่ไม่ค่อยถูกควบคุมจากอยุธยามากนัก เป็นเหตุให้บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกมักเป็นที่ตั้งของชุมชนที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ผ่านการจัดตั้งจากรัฐส่วนกลาง ผู้คนมากหน้าหลายตาหลายชาติพันธุ์มาพบปะ และรวมตัวกันในพื้นที่ในรูปแบบที่เรียกว่า “ซ่อง” หรือ “ส้อง” คำภาษาจีนที่กลายมาเป็นคำนิยามแพร่หลายในท้องถิ่น อธิบายถึงการรวมตัวกันของกลุ่มที่มีแนวคิดและเป้าหมายเดียวกัน
ในสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 “พระเจ้าตาก” กับพวกได้ฝ่าวงล้อมของพม่า เดินทัพมายังดินแดนเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อรวบรวมผู้คน เสบียงอาหาร ยุทโธปกรณ์ ตลอดจนทุนทรัพย์และงบประมาณ ก่อนกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาจากพม่า ตลอดระยะเวลาที่เดินทัพออกจากอยุธยามา พระเจ้าตากรบกับพม่าเพียง 3 ครั้ง คือ ที่บ้านโพสาวหาญ (อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) ที่บ้านพรานนก (อำเภออุทัย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา) และพม่าที่ยกมาจากปากน้ำเจ้าโล้บริเวณท่ากระดาน ใกล้สำนักหนองน้ำ (บริเวณบ่อนางสิบสอง ตั้งอยู่บ้านหินดาษ ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา ในปัจจุบัน)
ที่เหลือนอกนั้น การรบอีก 7 ครั้ง เป็นการรบกับผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ตั้งแต่ขุนหมื่นทนาย ที่บ้านดง (แขวงนครนายก) นายกล่ำ หรือนายกลม ที่บ้านนาเกลือ หลวงพลแสนหาญ ขุนจ่าเมือง ที่มาปล้นค่ายที่วัดลุ่ม (วัดลุ่มมหาชัยชุมพล อำเภอเมืองฯ จังหวัดระยอง) นายทองอยู่นกเล็ก ที่บางปลาสร้อย (ชลบุรี) ขุนรามหมื่นซ่อง ที่บ้านประแส พระยาจันทบุรี จีนเจียม นายสำเภาที่ทุ่งใหญ่ (ตราด) เป็นต้น
โดยเหตุที่พระเจ้าตากเมื่อออกจากค่ายวัดพิชัยที่อยุธยามานั้น อยุธยายังมิได้เสียแก่พม่า ต่อเมื่อมาถึงระยองแล้ว ซึ่งใช้เวลากว่า 17 วัน อยุธยาถึงได้เสียแก่พม่า จึงมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เหล่าขุนหมื่นทนายบ้านตลอดจนผู้มีชื่อในท้องถิ่นที่รบกับพระเจ้าตากนั้น อาจเป็นผู้ที่ยังจงรักภักดีต่อราชวงศ์บ้านพลูหลวง และสถานภาพของพระเจ้าตากกับพวกเวลานั้นคือ กบฏที่หนีหน้าที่ปกป้องกรุงศรีอยุธยามา บ้างก็ว่าเป็นพวกที่ยอมเข้ากับพม่า ตั้งตัวเป็นปรปักษ์ต่ออยุธยาและพระเจ้าตาก
แต่มีข้อมูลหลายอย่างน่าเชื่อว่า คนเหล่านี้มิได้เป็นฝ่ายที่ยังจงรักภักดีต่อราชสำนักอยุธยา หลายคนมิใช่ขุนนางที่ได้รับการแต่งตั้งจากอยุธยาเลยด้วยซ้ำ อีกทั้งยังไม่ใช่พวกยอมอ่อนน้อมต่อพม่าเช่นกัน (ยกเว้นกรณี “หลวงบางละมุง” ที่มีข้อมูลชัดว่า ยอมอ่อนน้อมต่อพม่า แต่ก็ได้เปลี่ยนข้างมาสนับสนุนพระเจ้าตาก) และพระเจ้าตากเอง (จากที่จะได้เห็นในเวลาต่อมา) ก็มาหัวเมืองตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังกลับไปกู้กรุงจริง ๆ การณ์จึงเป็นตรงกันข้าม
และมีปมปริศนาที่ชวนสงสัยในประเด็นที่ว่า กลุ่มต่อต้านพระเจ้าตากในหัวเมืองตะวันออกเหล่านี้ เป็นใคร มาจากไหน? ถ้าไม่ใช่กลุ่มคนที่มีอาชีพทางการ “ปล้นสะดมทางทะเล” (Piracy) หรือ “โจรสลัด” (Pirate) ที่เกิดขึ้นทั่วไปตามแนวชายฝั่งทะเลของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23)
“โจรสลัด” กับโลกยุคการค้าของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
งานศึกษาของ โรเบิร์ต เจ. แอนโทนี (Robert J. Antony) ได้ชี้ให้เห็นว่า คำว่า “โจรสลัด” (Pirate) และ “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” (Piracy) เป็นคำศัพท์ในมโนทัศน์ของชาวยุโรปในยุคล่าอาณานิคมปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) ก่อนหน้านั้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีคำพื้นเมืองอื่น ๆ สำหรับใช้นิยามเรียกกลุ่มคนที่ทำงานปล้นเรือสินค้า ตลอดจนการลักขโมยทรัพย์สิ่งของ สัตว์เลี้ยง (เช่น ช้าง ม้า วัว ควาย ฯลฯ) ที่มาในขบวนพ่อค้า
คนเหล่านี้มักได้รับการนับหน้าถือตาในสังคม ไม่ได้เป็นผู้ร้ายในสายตาชาวพื้นเมือง เพราะวัฒนธรรมของย่านนี้ที่มักถือเอาความสามารถในการใช้กำลังความรุนแรงเป็นที่มาของอำนาจบารมี
ตัวอย่างอันรุ่งโรจน์ของวีรบุรุษโจรสลัด ได้แก่ “เจิ้งเฉิงกง” อดีตแม่ทัพราชวงศ์หมิง ผู้ต่อต้านราชวงศ์ชิง ยึดป้อมเมืองที่เกาะฟอร์โมซา (ไต้หวัน) ไปจากฮอลันดา ตั้งเป็นศูนย์กลางบัญชาการปล้นสะดมอยู่ตามชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออก หรือกลุ่มสมาพันธ์โจรสลัดกวางตุ้ง ภายใต้การนำของเจิ้งอี้ซาว ภรรยาหม้ายของเจิ้งอี้ ผู้ก่อตั้งสมาพันธ์ กับจางเป๋า เด็กหนุ่มผู้ทะเยอทะยาน และเป็นทั้งบุตรบุญธรรมของเจิ้งอี้และสามีลับ ๆ ของเจิ้งอี้ซาว
ทั้งสองคุมกองเรือใหญ่ถึง 6 กอง มีพลพรรคโจรสลัดอยู่ในสังกัดกว่า 40,000-60,000 คน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 ถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 ตั้งแต่ยุคเจิ้งอี้จนถึงเจิ้งอี้ซาวและจางเป๋า ถือเป็นยุครุ่งเรืองของโจรสลัดจีนและญี่ปุ่น ในขณะที่โจรสลัดตามชายฝั่งอื่น ๆ เริ่มถูกปราบปรามโดยนาวิกโยธินของอังกฤษ ฮอลันดา และชาติพันธมิตร ซึ่งต้องการจัดระเบียบน่านน้ำให้เป็นเขตปลอดภัยแก่พ่อค้าและนักเดินทาง
โจรสลัดที่พัฒนามาจาก “นักเลงท้องถิ่น” เหล่านี้ บ่อยครั้งเป็นกลุ่มที่ได้รับการอุปถัมภ์เลี้ยงดูปูเสื่อโดยชนชั้นนำ หลายคนได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษผู้มีความกล้าหาญและเสียสละ “การปล้นสะดม” ถือเป็นวิถีชีวิตอันแนบสนิทกับสงคราม การมีข้าทาสบริวาร และการค้า มันคือช่องทางหนึ่งในการเพิ่มอำนาจบารมีของเหล่านักรบและชนชั้นนำท้องถิ่น
นอกจากนี้ การปล้นเรือยังทำให้คนในชุมชนมีโอกาสทำงานนอกเขตการปกครองของส่วนกลาง และทำการค้านอกแบบแผนของการค้าทั่วไป เป็นหนทางหนึ่งของไพร่สามัญชนและกบฏสังคมในการหลุดพ้นจากระบบเจ้าขุนมูลนาย ดำรงชีพอย่างอิสระ และสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจไปพร้อมกัน
ในขอบเขตโลกสากลของคริสต์ศตวรรษที่ 18 (พุทธศตวรรษที่ 23) อันถือเป็นยุครุ่งเรืองที่สุดของการโจรกรรมทางทะเล กล่าวได้ว่า “โจรสลัด” ก็คือพ่อค้าประเภทหนึ่ง ซึ่งหาสินค้าโดยวิธีการปล้น ไม่ได้ผลิตหรือการแลกเปลี่ยนมาโดยปกติ จนมีผู้กล่าวว่าในโลกการค้าของช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 16-18 นั้น “พ่อค้า” กับ “โจรสลัด” อาจอยู่ในตัวคนคนเดียวกัน กล่าวคือ เมื่ออยู่บนฝั่งบนผืนแผ่นดิน เป็นพ่อค้า แต่เมื่อลอยเรืออยู่ในท้องทะเล พ่อค้าคนนั้นก็พร้อมจะปล้นยึดสินค้าจากเรือที่พบ เป็นหนทางเพิ่มพูนสินค้าและอัตรากำไร โดยมีความเสี่ยงอยู่ที่อันตรายจากการต่อสู้ที่อาจพิการหรือเสียชีวิต
แต่คนเหล่านี้ก็พร้อมเสี่ยงแบบไม่คิดชีวิตอย่างนั้นอยู่แล้ว อีกทั้งโลกการค้าก่อนปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) ยังมี “ตลาด” อยู่หลายแห่งทั้งในท้องถิ่นและดินแดนห่างไกลจากชุมชน ที่สามารถรับซื้อสินค้าโดยไม่สนใจที่มาของสินค้าเหล่านั้น ซึ่งจัดว่าได้กำไรงาม “โจรสลัด” จึงเป็นส่วนหนึ่งของโลกการค้าทางทะเลในชายฝั่งทะเลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
จากบันทึกของพ่อค้าและนักเดินเรือ จะพบว่าเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยโจรสลัด มีทั้งโจรสลัดที่เป็นชาวจีน ชาวญี่ปุ่นที่เป็นโรนิน (ซามูไรไร้นาย) ชาวเวียดนาม เขมร มลายู ชวา เผ่าดายัคและซูลู หรืออย่างพ่อค้าและนักผจญภัยชาวยุโรป เช่น โปรตุเกส และสเปน ก็มีข้อมูลว่าประพฤติเป็นโจรสลัดในบางครั้ง เมื่อพบเรือศัตรูคู่แข่งขันหรือเรือชาติอื่น ๆ เมื่อมีโอกาสเหมาะ เพราะในน่านน้ำห่างไกลเป็นเขตปลอดอำนาจรัฐและกฎหมายบ้านเมือง
เรื่องราวของการกระทำอันมีลักษณะที่สามารถเทียบเคียงได้กับ “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” ในประวัติศาสตร์อยุธยา มักพบว่าเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับขุนนางและแวดวงชนชั้นสูง เพราะขุนนางและชนชั้นสูงเท่านั้นที่จะสามารถคุมกำลังคนได้ในภาวะปกติ
เช่น กรณีออกญาพิชิต (อับดุลรัซซัค) ขุนนางอยุธยาเชื้อสายเปอร์เซียในราชสำนักพระนารายณ์ ที่ปล้นสะดมเรือสินค้าของชาติคู่แข่ง อย่างเช่นฮอลันดา เมื่อสมเด็จพระนารายณ์ทรงทราบและไต่สวนได้ความเป็นสัตย์ ก็ให้ลงพระราชอาญาประหารชีวิต เนื่องจากไม่ต้องการที่จะให้เกิดข้อครหาว่าทรงเลี้ยงโจรไว้ในความปกครอง อันจะส่งผลต่อความน่าเชื่อถือ เพราะพระองค์ก็ทรงทำการค้า มีการส่งเรือสำเภาออกไปค้าขายต่างแดนเป็นประจำทุกปี
หรืออย่างกรณีเหตุการณ์ก่อนเกิดสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ. 2310 มีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างอยุธยากับอังวะที่เมืองท่ามะริด เมื่อฝ่ายอยุธยาได้นำกำลังเข้ายึดเรือสินค้าของพม่า โดยอ้างว่าพม่าได้ทำผิดสัญญาการค้า โดยที่ราชสำนักพระเจ้าเอกทัศน์ก็ไม่ได้มีการไต่สวน
เรื่องนี้ส่งผลทำให้พระเจ้าอลองพญาทรงพระพิโรธมาก เพราะถือว่าอยุธยามิได้ให้เกียรติพระองค์ ซึ่งเพิ่งก่อตั้งราชวงศ์คองบองและกอบกู้อาณาจักรพม่าขึ้นมาใหม่ จึงประกาศสงครามกับอยุธยา นอกเหนือจากที่มีปณิธานที่จะเป็นจักรพรรดิราชแผ่บารมีเหมือนอย่างพระเจ้าบุเรงนอง เมื่อพระเจ้าอลองพญาสวรรคต พระเจ้ามังระ พระราชโอรสของพระองค์ก็ได้สืบสานปณิธานทำสงครามกับอยุธยาต่อมาจนชนะใน พ.ศ. 2310
พ.ศ. 2310 ในระหว่างที่พม่ากำลังกระชับวงล้อมกรุงศรีอยุธยาอยู่นั้น เจ้าศรีสังข์ พระโอรสของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์ (กุ้ง) ก็ได้เสด็จหลบหนีไปเขมร และอาศัยอยู่กับชุมชนคนเข้ารีต (นับถือคริสต์) ที่หลบหนีมาก่อนหน้า เจ้าศรีสังข์ปรารถนาจะเดินทางต่อไปยุโรป แต่ได้รับคำเตือนจากบาทหลวงฝรั่งเศสท่านหนึ่งว่า
“หนทางที่จะเสด็จนั้นใกล้จริงแต่น่ากลัวอันตรายมาก เพราะมีพวกโจรสลัดทั้งญวนและแขกมลายู ได้ไล่จับเรือเจ้าศรีสังข์ คลื่นก็ใหญ่มาก”
เรื่องราวที่ปรากฏในพงศาวดารญวน กล่าวถึงการยึดเรือหรือปล้นสินค้าของสยามสมัยธนบุรี โดยกลุ่มสลัดชาวเวียดนาม พระเจ้าตากสินในขณะนั้นยังเพิ่งตั้งตัวตั้งกรุงธนบุรีขึ้นใหม่ ไม่ต้องการพิพาทกับเวียดนาม จึงใช้วิธีทางการทูตเจรจาขอคืนสินค้า ให้ทางการเวียดนามช่วยติดตามสินค้ากลับคืนมาให้แก่ชาวสยาม แต่ก็ไม่เป็นผล เนื่องจากทางการเวียดนามเองก็ประสบปัญหาการติดตามสินค้าจากการโจรกรรมทางทะเลอยู่เช่นกัน
แต่โดยมากแล้ว เรื่องราวของโจรสลัดและการกระทำอันเป็นโจรสลัด มักไม่พบในเอกสารทางการอย่างพระราชพงศาวดาร เพราะเป็นเรื่องที่เกิดตามแนวชายฝั่งทะเล ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจในกรณีของสยามอยุธยา แต่พบร่องรอยอยู่บ้างในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับพระเจ้าตาก เพราะทรงเดินทัพจากอยุธยามายังเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อนกลับมากู้กรุงศรีอยุธยาและสถาปนากรุงธนบุรีเป็นเมืองหลวงแห่งใหม่ใน พ.ศ. 2310
การตามรอยพระเจ้าตากจึงทำให้ได้พบเรื่องราวของอีกกลุ่มคนซึ่งไม่ปรากฏในพระราชพงศาวดารยุคของกษัตริย์พระองค์อื่นเท่าใดนัก จากนิยามข้างต้น ร่องรอยหนึ่งที่เราจะพบจากบันทึกหลักฐานไทยและเอกสารต่างชาติแวดล้อม จะพบคำศัพท์อันมีความหมายที่สามารถเทียบเคียงได้กับ “โจรสลัด” ก็คือ “นายซ่อง” หรือที่เรียกรวมกันว่า “นายโจรนายซ่อง” และคำว่า “ปล้นสะดม” หรือ “ยึดเรือ” ก็มีความหมายเทียบเท่ากับ “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” นั่นเอง
นอกจากนี้ ภาษาจีนยังมีคำว่า “พวกแคระนอกกฎหมาย” หรือ “วอเกา” (Wokou) หรือ “วาโกะ” (Wako) สำหรับเรียกโจรสลัดญี่ปุ่นอย่างดูถูกเหยียดหยาม แต่ต่อมาได้กลายเป็นคำนิยามเรียกการกระทำอันเป็นโจรสลัดทั่วไป ไม่เว้นทั้งชาวจีน ชาวยุโรป ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เนื่องจากความหลากหลายของวิถีโจรสลัด บางกลุ่มมีอุดมการณ์ทางการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทางการจีนจึงจำแนกกลุ่มโจรสลัดที่ต่อต้านราชวงศ์ชิงว่า “ไฮ้นี่” (Haini) หมายถึง “กบฏทะเล” หรือกบฏที่อยู่ตามชายฝั่งและท้องทะเล
ส่วนพวกที่เป็นโจรผู้ร้ายปล้นเพื่อความมั่งคั่ง ไม่ได้คิดสะสมทุนไปก่อกบฏต่อต้านราชวงศ์ ก็นิยามเรียกว่า “อี้เฟย” (Eifei) หรือโจรสลัดป่าเถื่อน/อนารยชน หรือเรียกตรงว่า “หยางเต้า” (โจรทะเล) อันเป็นวิธีการจำแนกแยกแยะประเภทของโจรผู้ร้ายที่ก่อการอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลของราชสำนักต้าชิง
กลุ่มไฮ้นี่มักได้รับการยกย่องเป็นวีรบุรุษ ต้าชิงจัดการโดยละมุนละม่อม ใช้การเจรจาและแยกสลายมวลชนหรือประชาชนที่ให้การสนับสนุน ส่วนพวกอี้เฟยหรือหยางเต้า ถือเป็นพวกชั้นต่ำที่ไม่จำเป็นต้องเจรจาประนีประนอมใด ๆ
เราจะพบต่อไปว่า พระเจ้าตากก็ใช้การจัดจำแนกประเภทตลอดจนวิธีการข้างต้นในการจัดการกับกลุ่มโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก คือกลุ่มนายทองอยู่นกเล็กที่บางปลาสร้อย และกลุ่มขุนรามหมื่นซ่องที่ชุมชนปากน้ำบ้านประแส เป็นต้น
อ่านต่อ : “นายซ่อง” ผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองท่าตะวันออก โจทย์แรกที่ท้าทายพระเจ้าตาก! (คลิก)
อ่านเพิ่มเติม :
- เผยกลศึก “พระเจ้าตาก” ปราบซ่อง “โจรสลัด”
- พระเจ้าตาก ยึดฮาเตียน (พุทไธมาศ) “แบ่ง” เขมรกับอ๋องตระกูลเหงวียน
- ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจาก “พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 18 กันยายน 2566