“นายซ่อง” ผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองท่าตะวันออก โจทย์แรกที่ท้าทายพระเจ้าตาก!

พระบรมรูป สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระเจ้าตาก ณ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หลังเก่า
พระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ณ ศาลากลางจังหวัดพระนครศรีอยุธยาหลังเก่า

เรื่องราวของ “โจรสลัด มักไม่พบในเอกสารทางการ เพราะอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางอำนาจอย่างอยุธยา แต่พบร่องรอยในเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับ “พระเจ้าตาก ที่ทรงเดินทัพจากอยุธยามายังเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ก่อนกลับมากู้กรุงศรีอยุธยา และสถาปนากรุงธนบุรี จากบันทึกหลักฐานไทยและเอกสารต่างชาติ จะพบคำศัพท์อันมีความหมายเทียบเคียงได้กับโจรสลัด คือนายซ่อง

อาจเรียกรวมกันว่านายโจรนายซ่องส่วนคำว่าปล้นสะดมหรือยึดเรือมีความหมายเทียบได้กับการกระทำอันเป็นโจรสลัด

ย้อนอ่าน : “พระเจ้าตาก” รวบรวมกำลังกู้กรุงฯ เผยโฉม “โจรสลัด” แห่งชายฝั่งทะเลตะวันออก (คลิก)

ระบอบ นายซ่องในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก

ดินแดนชายฝั่งทะเลตะวันออก อันเต็มไปด้วยทรัพยากรมีค่า ตั้งแต่ดีบุก พลอย มุกดา ไพลิน ทับทิม บุษราคัม ครั่ง พริกไทย เร่ว กระวาน กานพลู ไม้ฝาง ของทะเล และของป่านานาชนิด เป็นสินค้าที่ต้องการกันในตลาดการค้าช่วงก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 (พุทธศตวรรษที่ 24) อีกทั้งยังเป็นอาณาบริเวณที่อยู่ระหว่างทางเดินเรือไปค้าขายและส่งเครื่องราชบรรณาการแก่จีน

ประกอบกับสภาพภูมิประเทศที่มีทั้งเขตชายหาด ชายฝั่งหินโสโครก ป่าชายเลน เกาะแก่ง และภูเขาใกล้ทะเลเป็นแนวทอดยาวเข้าไปในผืนแผ่นดิน และโดยลมมรสุมช่วงระยองถึงจันทบุรี ยังเป็นที่ที่สามารถแล่นเรือข้ามอ่าวสยามไปยังคาบสมุทรมลายูได้อีกด้วย

ดินแดนแถบนี้จึงเป็นที่หมายตาและสถานที่ก่อเหตุของการ โจรกรรมทางทะเลมีโจรสลัดมากหน้าหลายตาเข้ามาในพื้นที่ ทั้งโจรจีน ญี่ปุ่น เวียดนาม เขมร มลายู จนถึงต้นคริสต์ศตวรรษที่ 19 สังฆราชปาลเลกัวซ์ยังมีบันทึกกล่าวถึงภัยทางทะเล อันเกิดจากกลุ่มโจรสลัดชาวมลายูมักนำเรือมาลอบดักปล้นเรือบรรทุกสินค้าของชาติตะวันตกที่บริเวณเกาะเสม็ด

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโจรพื้นถิ่นที่ลักลอบก่อการอยู่ตามแนวชายฝั่ง ทั้งโจรอิสระและกลุ่มที่มีการรวมตัวกันเป็นซ่องมีหัวหน้าหรือนายซ่องของตนเอง นายซ่องเหล่านี้ไม่เพียงไม่ถูกกีดกันออกจากสังคมท้องถิ่น หากแต่ยังมักเป็นผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่นนั้น ๆ เสียเอง เพราะยังเป็นดินแดนที่อำนาจรัฐส่วนกลางเข้าไปไม่ถึงเท่าไรนัก       

เมื่อเดินทัพมาถึงระยอง พระเจ้าตากกับพวกก็ได้สัมผัสกับการเมืองของเหล่าบรรดานายซ่องที่มีอิทธิพลอยู่ในแถบเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้แก่ นายทองอยู่นกเล็ก ที่บางปลาสร้อย (ชลบุรี) ขุนรามหมื่นซ่อง ที่ปากน้ำประแส หลวงพลแสนหาญ และ ขุนจ่าเมือง ที่แขวงเมืองระยอง นายบุญมี บางละมุง (บางแห่งเรียกหลวงบางละมุง”) และยังมีซ่องเล็กซ่องน้อยต่าง ๆ ที่ไม่ปรากฏชื่อ บางซ่องยอมอ่อนน้อมเข้าเป็นพวกพระเจ้าตากแต่โดยดี บางซ่องก็ไม่ยอมถึงขั้นต้องกำราบปราบปรามกันก็มี 

ในจำนวนนี้ซ่องที่ใหญ่และมีอิทธิพลมาก คือขุนรามหมื่นซ่องที่ปากน้ำประแส และนายทองอยู่นกเล็กที่บางปลาสร้อย กลายเป็นว่าพระเจ้าตาก ขณะที่อยู่ที่ระยองนั้น มาอยู่ท่ามกลางและถูกขนาบระหว่างนายซ่องใหญ่ถึง 2 แห่ง คือ นายทองอยู่นกเล็กและขุนรามหมื่นซ่อง ทั้งสองคุมพื้นที่ที่มีขนาดกว้างขวางใหญ่โตกว่าบางชุมนุม เช่น ชุมนุมพระยาจันทบุรี ชุมนุมสุกี้พระนายกอง และแม้แต่ชุมนุมพระเจ้าตากที่ระยองเองด้วยซ้ำ 

ในขณะเดียวกันกล่าวได้ว่า พระเจ้าตากเองสถานะเมื่อมาอยู่ที่ระยองนานนับเดือนนั้น ก็จัดเป็นนายซ่องใหญ่อีกแห่งหนึ่งพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขากล่าวถึงพระเจ้าตากในช่วงนี้ว่า

กิตติศัพท์เลื่องลือไปทุกหัวเมืองว่าเจ้าตากเสด็จยกกองทัพมา จะช่วยคุ้มครองป้องกันประชาราษฎรในหัวเมืองตะวันออกทั้งปวงให้พ้นภัยพม่าข้าศึก บรรดาไทยจีนซึ่งเป็นนายซ่องนายชุมนุมอยู่ในบ้านในป่าแขวงหัวเมืองทุกตำบล ก็พาสมัครพรรคพวกเป็นกองๆ มาสวามิภักดิ์เป็นข้าขอพึ่งพระบารมีเป็นอันมาก

ภาพวาด สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (พระเจ้าตากสิน) โดย “ปิยะดา” (ประเวส สุขสมจิตร) จากศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2546

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จนถึงพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ต่างทรงนิยมใช้คำว่าซ่องสำหรับนิยามการตั้งตนเป็นอิสระไม่ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาของกลุ่มชุมนุมต่าง ๆ อาทิ เจ้าพระฝาง เจ้าพิมาย เจ้าพิษณุโลก เจ้านครศรีธรรมราช แทนที่จะใช้คำว่าชุมนุมเหมือนเช่นนักประวัติศาสตร์ท่านอื่น ก็เป็นการวิพากษ์โดยนัยว่า พระองค์เห็นคำว่าซ่อง” (ซ่องสุมกำลังคน) เป็นคำที่เหมาะสมที่จะนิยามกลุ่มต่าง ๆ ข้างต้น สอดคล้องกับศัพท์การเมืองของยุคสมัยอยุธยาตอนปลายถึงธนบุรี

อย่างไรก็ตาม การคงไว้ซึ่งคำว่าชุมนุมสำหรับกรณีทั้งสี่ข้างต้น ก็ยังเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างกลุ่มทางการเมืองบนผืนแผ่นดิน กับขบวนการ (ซึ่งมีทั้งกลุ่มที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองและกลุ่มที่ไม่มีอุดมการณ์) ที่กุมอำนาจอยู่ตามชายฝั่งทะเลและผืนน้ำ

นายซ่องเหล่านี้มีลักษณะเป็นผู้มีอิทธิพลประจำถิ่น และมีอยู่ก่อนหน้าที่อยุธยาจะแตกพ่ายต่อพม่า มีทั้งซ่องที่ขึ้นกับทางการ และซ่องที่ไม่อ่อนน้อมต่อเจ้าเมืองในท้องถิ่น เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการศึกสงคราม ช่วงที่พม่าล้อมกรุงอยู่นั้น รัฐบาลพระเจ้าเอกทัศน์ก็ได้เชิญชวนให้เหล่าบรรดาผู้มีฝีมือหลายกลุ่มซ่องให้มาช่วยขับไล่พม่า

ที่สุดจนขุนนางจีน ขุนนางแขก ขุนนางฝรั่ง ขุนนางมอญ ขุนนางลาว แลนายโจรนายซ่อง ก็ชวนกันออกอาสาตีกองพม่าที่ล้อมกรุงทั้งแปดทิศ ก็มิได้ชนะ พม่ากลับฆ่าฟันล้มตายแตกเข้ามาทั้งสิ้น

การเชิญชวนแม้กระทั่งนายโจรนายซ่องให้มาร่วมด้วยช่วยกันในศึกครั้งนี้ ย่อมเป็นสิ่งสะท้อนว่ารัฐบาลขณะนั้นอยู่ในสภาพเรียกได้ว่าสิ้นไร้ไม้ตอกแล้ว จนไม่แคร์ว่าจะเป็นโจรหรือเป็นใครก็ตาม ขอเพียงให้ช่วยขับไล่อริราชศัตรูนี้ให้ได้เป็นพอ ขณะเดียวกันนั่นย่อมเป็นสิ่งแสดงให้เห็นโดยปริยายว่า  นายโจรนายซ่องเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการศึกสงครามเทียบเทียมขุนนางต่างชาติ (จีน แขก ฝรั่ง มอญ ลาว เป็นต้น) โดยที่ขุนนางต่างชาติเหล่านี้ล้วนเป็นพ่อค้าทางบกและทางทะเลด้วย   

ข้อแตกต่างระหว่างสถานะของซ่องก่อนและหลังการเสียกรุง ก็คือหลังเสียกรุง กลุ่มนายซ่องดูจะเป็นผู้มีอำนาจที่จะสามารถคุ้มครองผู้คนได้ ในท่ามกลางการแตกสลายของอำนาจรัฐส่วนกลาง การยอมรับศักยภาพของนายซ่องนี้มีมาก จนกระทั่งทำให้นายซ่องบางแห่งได้อำนาจการนำระดับหัวเมือง กล่าวคือ นายซ่องมีสถานะเป็นเจ้าเมืองที่ไม่จำเป็นต้องมาจากการแต่งตั้งจากอยุธยา

นายซ่องบางแห่งตั้งตัวเป็นเจ้าเมืองโดยความยอมรับของราษฎรในท้องถิ่น เช่น พระยาจันทบุรีก็เพิ่งได้เป็นเจ้าเมืองโดยราษฎรเลือกให้เป็นก่อนเสียกรุงเพียงไม่นาน บางแห่งเป็นชุมชนใหญ่ผู้นำซ่องไม่ได้ประกาศเป็นเจ้าเมือง แต่มีอำนาจมาก เช่น ขุนรามหมื่นซ่อง เป็นต้น

กล่าวได้ว่าการเมืองและสังคมของเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกขณะนั้นมีลักษณะที่เรียกได้ว่าระบอบนายซ่องเกิดจากสาเหตุปัจจัย 2 ประการใหญ่ ๆ คือ

ประการแรก หัวเมืองเหล่านี้ได้รับความเสียหายและบอบช้ำจากการเกณฑ์กองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธ โดยก่อนหน้าที่พระเจ้าตากจะเดินทัพมา ขณะพม่ายกทัพมาตีอยุธยายังไม่แตกอยู่นั้น กรมหมื่นเทพพิพิธได้มาย่านนี้และเกณฑ์กำลังไพร่พลจากจันทบุรี ระยอง บางปลาสร้อย (ชลบุรี) บางคล้า (ฉะเชิงเทรา) บ้านนา (นครนายก) บางคาง (ปราจีนบุรี) บวกกับขุนนางและผู้คนที่หลบหนีออกจากอยุธยามาเข้าร่วม จัดตั้งเป็นกองทัพได้กว่า 10,000 คน ยกไปตั้งค่ายรบกับพม่าที่ปากน้ำโยทะกา (บริเวณจุดบรรจบกันระหว่างแม่น้ำนครนายก แม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง) หมายจะกู้กรุงจากการถูกพม่าล้อม แต่ปรากฏว่ากรมหมื่นเทพพิพิธกลับแตกพ่ายแล้วหลบหนีไปนครราชสีมา

กลุ่มคนชนชั้นที่ไปเข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธครั้งนั้น คงเป็นเหล่าบรรดาเจ้าเมืองกรมการทั้งหลายหรือก็คือขุนนางฝ่ายปกครองที่ได้รับการแต่งตั้งจากราชสำนักอยุธยา ด้วยเพราะกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ และเป็นพระราชอนุชาของสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงมีผู้เข้าร่วมด้วยมาก โดยเฉพาะเหล่าขุนนางกรมการที่หวังตำแหน่งลาภยศความก้าวหน้าในราชการ ฝ่ายกรมการที่ไม่ได้เข้าร่วมก็หมดบทบาท เนื่องจากกำลังคนประจำการส่วนใหญ่ได้ถูกแบ่งไปเข้าร่วมกับกรมหมื่นเทพพิพิธ

จึงเหลือแต่กลุ่มคนที่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ นิยามว่าผู้นำโดยธรรมชาติซึ่งก็คือเหล่าบรรดานายซ่องต่าง ๆ เมื่อคนเหล่านี้ปกติจะมีบทบาทอยู่เบื้องหลังและเป็นระดับรองลงมาอย่างนายบ้าน แต่สถานการณ์ผลักดันให้เป็นคนคุมกำลังระดับเมืองแทนชนชั้นนำที่ได้รับการแต่งตั้งจากทางการ

ประการที่ 2 ถึงแม้ว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกจะเป็นดินแดนห่างไกลจากสมรภูมิสงครามระหว่างอยุธยากับอังวะ ทว่าการที่พม่าสามารถบุกทะลวงตีหัวเมืองชั้นในต่าง ๆ อย่างเช่น กาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี นครสวรรค์ กำแพงเพชร ชัยนาท อุทัยธานี สิงห์บุรี นนทบุรี ปทุมธานี บางกอก (หรือธนบุรี) กล่าวได้ว่าคนในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกที่มีเส้นทางติดต่อกับภาคกลางสะดวก ในตอนนั้นย่อมต้องหวาดหวั่นภัยอันตรายจากพม่าด้วยอยู่แล้ว จึงมีคนจำนวนมากหลบหนีไปอยู่ป่าเขา ห่างไกลจากย่านตัวเมืองเดิม ไม่ว่าจะเป็นเขาอ่างฤาไน เขาเขียว เขาบรรทัด เขาชะเม เขาสอยดาว เขาสระบาป เป็นต้น 

ทิ้งเมืองให้กับอีกกลุ่มคนที่ไม่ได้หวาดกลัวภัยอันตรายจากพม่า คือกลุ่มพวกนายซ่อง ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไม่เพียงสามารถป้องกันตนเอง หากแต่ยังสามารถต่อสู้และปล้นสะดมเรือสำเภาตลอดจนถึงปล้นค่ายทหาร

กรณี หลวงพลแสนหาญและ ขุนจ่าเมืองนำกำลังมาปล้นค่ายพระเจ้าตากที่วัดลุ่มอย่างองอาจ ย่อมแสดงอยู่โดยนัยถึงศักยภาพในข้อนี้ของกลุ่มนายซ่องนายโจรในย่าน ที่มิได้มีความหวาดกลัวกองทัพจากส่วนกลางแต่อย่างใด 

เมื่อผู้นำที่เป็นทางการสูญหายหรือหมดบทบาทไปจากพื้นที่ ก็เปิดโอกาสให้แก่ผู้มีอิทธิพลจากกลุ่มอื่นเข้ามามีอำนาจและแสดงบทบาทแทนที่ เช่น พระระยอง พระยาจันทบุรี จีนเจียมที่ทุ่งใหญ่ ต่างก็เป็นจีนแต้จิ๋ว ที่เพิ่งจะเป็นใหญ่หลังพม่าบุกอยุธยาไม่นาน โดยที่ต่างก็มีสายสัมพันธ์เชิงเครือญาติและเครือข่ายอุปถัมภ์กับนายซ่องในท้องถิ่น        

ในการกอบกู้ราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา โจทย์แรกที่ท้าทายต่อพระเจ้าตากเมื่อมาถึงเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก และตั้งค่ายพักแรมอยู่ที่ระยอง ในตอนนั้นจึงได้แก่ การที่ต้องกำจัดอำนาจและอิทธิพลของนายซ่องเหล่านี้ให้ได้เสียก่อน เพราะกำลังคนส่วนใหญ่อยู่สังกัดนายซ่องต่าง ๆ เหล่านี้

พบว่าพระเจ้าตากดำเนินแผนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน (คล้ายคลึงกับที่ต้าชิงจัดการกับโจรทะเลในแถบมณฑลทางใต้ของจีน) ดังจะกล่าวรายละเอียดต่อไปข้างหน้า…

ปากน้ำประแส อ.แกลง จ.ระยอง

อ่านต่อ : พระเจ้าตาก ปราบ “นายทองอยู่นกเล็ก” นายโจรอยู่เป็น แห่งบางปลาสร้อย (คลิก)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 20 กันยายน 2566