ที่มา | ศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 |
---|---|
ผู้เขียน | กำพล จำปาพันธ์ |
เผยแพร่ |
หนึ่งในพระราชวีรกรรมของ “พระเจ้าตาก” ก่อนกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา ขับไล่พม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น คือการรวบรวมสมัครไพร่พลและกำลังจากหัวเมืองภาคตะวันออก เพื่อปราบ “โจรสลัด” หรือนายซ่อง ผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองท่าชายฝั่งทะเล ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ “นายทองอยู่นกเล็ก” นายโจร “อยู่เป็น” แห่งบางปลาสร้อย นายโจรผู้ทำทีอ้อนน้อมแต่ไม่ทิ้งพฤติกรรมเก่า ยังคงปล้นชิงทางทะเลอยู่ไม่ว่างเว้น
นี่คือโจทย์แรกที่ท้าทายต่อพระเจ้าตากเมื่อมาถึงเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก และตั้งค่ายพักแรมอยู่ที่ระยอง ทรงตระหนักดีว่าอย่างไรเสียต้องกำจัดอำนาจและอิทธิพลของนายซ่องทั้งหลายให้ได้ จึงดำเนินแผนการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยเริ่มจาก “นายทองอยู่นกเล็ก” ผู้นี้…
ย้อนอ่าน : “นายซ่อง” ผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองท่าตะวันออก โจทย์แรกที่ท้าทายพระเจ้าตาก! (คลิก)
“นายทองอยู่นกเล็ก” บางปลาสร้อย
ตั้งแต่บริเวณฝั่งตะวันออกของแม่น้ำบางปะกง ลุ่มน้ำพานทองตอนล่าง เขาบางทราย เลียบชายฝั่งไปจนอ่างศิลา เขาสามมุข และเกาะสีชัง ใน พ.ศ. 2310 นั้นถือเป็นเขตอิทธิพลของ “นายทองอยู่นกเล็ก” ผู้ซึ่ง “พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา” กล่าวว่า “เป็นนายซ่องสุมผู้คนอยู่ ณ เมืองชลบุรี ประพฤติพาลทุจริตหยาบช้า ข่มเหงอาณาประชาราษฎรผู้หาที่พึ่งมิได้”
แม้จะเป็นนายซ่องที่เข้มแข็งอยู่ แต่ก็จัดว่ายังเป็นรอง เมื่อเทียบกับ “ขุนรามหมื่นซ่อง” ที่ปากน้ำประแส พระเจ้าตากถึงแม้ได้เมืองระยอง แต่ยังมีกำลังน้อย อีกทั้งการตีขุนรามหมื่นซ่องยังเป็นเรื่องยาก เพราะขุนรามหมื่นซ่องมีสมัครพรรคพวกอยู่ตั้งแต่บ้านเก่า บ้านค่าย บ้านแลง บ้านกล่ำ บ้านทะเลน้อย ไปจนถึงปากน้ำประแส แขวงจันทบุรี (ในตอนนั้น)
พระเจ้าตากจึงเลือกที่จะจัดการกับนายทองอยู่นกเล็กก่อน โดยยกทัพจากระยองแบ่งเป็น 2 กอง กองหลวงตั้งค่ายอยู่ที่หนองมน กองหน้าตั้งค่ายอยู่ที่วัดหลวง (วัดใหญ่อินทาราม อำเภอเมืองฯ จังหวัดชลบุรี ในปัจจุบัน) ห่างจากที่ตั้งค่ายของนายทองอยู่นกเล็กเพียง 100 เส้น (แสดงว่าค่ายนายทองอยู่นกเล็กตอนนั้นอยู่ที่บริเวณเขาบางทราย ซึ่งยากแก่การโจมตีทั้งทางบกและทางทะเล)
ระหว่างนั้นก็เปิดการเจรจาต่อรองกับนายทองอยู่นกเล็ก โดยให้นายบุญรอดแขนอ่อนและนายชื่นบ้านค่าย ซึ่งเป็นสหายรู้จักกันกับนายทองอยู่นกเล็ก เป็นตัวแทนไปเจรจา นายทองอยู่นกเล็กก็ยอมอ่อนน้อมแต่โดยดี มิได้สู้รบกันในตอนนั้น
พระเจ้าตากมีภูมิหลังเป็นพ่อค้า ย่อมไม่ไว้ใจพวกนายซ่องนายโจร แต่เนื่องจากมีศึกใหญ่รออยู่ข้างหน้า จึงทรงเลือกใช้หนทางประนีประนอม เจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กับนายทองอยู่นกเล็ก เพื่อว่าเมื่อพระองค์ยกไปตีขุนรามหมื่นซ่อง นายทองอยู่นกเล็กจะได้ไม่ลอบไปปล้นเมืองระยอง ซึ่งเป็นฐานของพระองค์ในเวลานั้น นายทองอยู่นกเล็กยอมอ่อนน้อมแต่มีเงื่อนไข ผลประโยชน์ที่ทรงให้แก่นายทองอยู่นกเล็กนั้น สะท้อนความมักใหญ่ใฝ่สูงของนายทองอยู่นกเล็กไม่น้อย
กล่าวคือต้องทรงรับรองสถานภาพการเป็นเจ้าเมืองชลบุรีให้แก่นายทองอยู่นกเล็ก โดยการแต่งตั้งเป็น “พระยาอนุราชบุรีศรีมหาสมุทร” ตั้งลูกน้องนายทองอยู่นกเล็ก เป็นขุนนางกรมการตามอย่างวัฒนธรรมอยุธยา อีกทั้งยังพระราชทานทรัพย์สิ่งของมีค่าให้ อันได้แก่ กระบี่บั้งเงิน เสื้อเข้มขาบดอกใหญ่พื้นแดงดุมทองเก้าเม็ด เข็มขัดทองประดับพลอย เงินอีกกว่า 2 ชั่ง เป็นต้น พร้อมทั้งได้พระราชทานโอวาทสั่งสอนว่า
“แต่ก่อนท่านประพฤติการอันเป็นอาธรรมทุจริตนั้น จงละเสีย ประพฤติกุศลสุจริตให้สมควรด้วยฐานาศักดิ์แห่งท่าน จะได้เป็นเกียรติยศสืบไปในกาลเบื้องหน้า จะเป็นวาสนาติดตามไปในอนาคต…ผู้ใดจงใจจะอยู่ในสำนักท่าน ๆ จงโอบอ้อมอารีเลี้ยงดูไว้ให้เป็นผล ถ้าผู้ใดมีน้ำใจสวามิภักดิ์จะตามเราออกไป ท่านจงอย่ามีใจอิจฉาเกียดกันไว้ ช่วยส่งผู้นั้นออกไปให้ถึงสำนักเรา อย่าให้เป็นเหตุการณ์ประการใดได้ แลท่านจงบำรุงพระบวรพุทธศาสนาอาณาประชาราษฎรให้ทำมาหากินตามลำเนา อย่าให้มีโจรผู้ร้ายเบียดเบียนแก่กันได้”
ทั้งที่ก็ทรงน่าจะตระหนักอยู่ว่า ลำพังผลประโยชน์และโอวาทข้างต้นนี้ คงไม่เป็นผลทำให้นายโจรผู้เป็นใหญ่ในเมืองท่าชายฝั่งทะเล ยอมเปลี่ยนใจหันมาประพฤติตัวเป็นขุนนางที่ดีดังหวัง แต่ ณ ขณะนั้นเป็นช่วงที่ยังไม่ได้เมืองจันทบุรี อีกทั้งยังมีขุนรามหมื่นซ่องตั้งขวางอยู่ การประนีประนอมกับนายทองอยู่นกเล็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น ไม่ให้เกิดความสูญเสียก่อนที่ศึกใหญ่จะมาถึง
ในทางกลับกันการที่ทรงสามารถแต่งตั้งและรับรองสถานภาพของนายซ่องให้เป็นขุนนางได้ตามวัฒนธรรมอยุธยา ย่อมสร้างแรงจูงใจให้แก่นายซ่องระดับรองลงมา ที่หวังเข้ารับราชการได้มาอ่อนน้อมต่อพระองค์ อาศัยอำนาจบารมีของพระองค์ตั้งตนเป็นใหญ่ในท้องถิ่นได้ต่อไป
ฝ่ายนายทองอยู่นกเล็ก การอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตาก คงเป็นเพียงกุศโลบาย “อยู่เป็น” โดยการตีสองหน้า ได้การรับรองอย่างเป็นทางการ ขณะเดียวกันก็ยังคงเป็นนายซ่องแอบปล้นสะดมทางทะเลอยู่ต่อไป โดยที่ผลประโยชน์ที่นายทองอยู่นกเล็กได้รับจากพระเจ้าตากนั้น ทำให้ในทางเป็นจริงแล้ว กลุ่มนายทองอยู่นกเล็กยังคงเป็นซ่องอิสระ ไม่ได้ขึ้นกับพระเจ้าตากแต่อย่างใด
อีกทั้งสถานะของพระเจ้าตากในขณะนั้นที่ยังไม่ผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อเทียบกับนายทองอยู่นกเล็กที่มีอิทธิพลในท้องถิ่นมาแต่เดิม ก็ทำให้นายทองอยู่นกเล็กดูเหนือกว่าอยู่กลาย ๆ แต่ที่ไม่เปิดศึกกับพระเจ้าตาก น่าจะเพราะขามเกรงฝีมือการรบด้วยชนะพม่ามาหลายหน จนมีกิตติศัพท์เลื่องลือมากกว่าอย่างอื่น อีกทั้งยังอาจเป็นช่องได้อาศัยบารมีไปคานอิทธิพลของขุนรามหมื่นซ่อง ซึ่งเป็นคู่แข่งตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งด้วยในตัว
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่นายทองอยู่นกเล็กมีพฤติการณ์ “อยู่เป็น” แบบนี้ ฝ่ายพระเจ้าตากก็ทรงทราบดี แต่เก็บความไม่พอใจเอาไว้ก่อน เมื่อตีขุนรามหมื่นซ่องและเมืองจันทบุรีได้แล้ว ระหว่างยกทัพเรือจากจันทบุรีจะไปกู้กรุงศรีอยุธยา ก็ได้แวะมา “คิดบัญชี” กับนายทองอยู่นกเล็กหรือพระยาอนุราชกับสมัครพรรคพวก จับกุมมาไต่สวนและประหารชีวิต ในฐานประพฤติเป็นโจรสลัด
“พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม)” กล่าวถึงเหตุการณ์นี้ว่า
“เพลาเช้า 2 โมงเศษถึงเมืองชลบุรี จึงมีพระราชบริหารให้พิพากษาโทษพระยาอนุราช, หลวงพล, ขุนอินเชียง ซึ่งกระทำความผิดด้วยโจรกรรม ตีชิงสำเภาลูกค้าวาณิช กระทำทุจริตให้เสียพระเกียรติยศ พระราชสิริสวัสดิ์นั้นตามกฎพระอัยการ แล้วตั้งผู้รั้งกรมการตามฐานะศักดิคุณานุรูปความชอบให้รักษาเมืองชลบุรี”
“พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล” กล่าวถึงเหตุการณ์ปราบนายทองอยู่นกเล็กกับพวก โดยมีรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการประหารมากขึ้น และอธิบายว่านายทองอยู่นกเล็กคงกระพันชาตรีฟันแทงไม่เข้า มิใช่คนธรรมดาสามัญ
“ครั้นถึง ณ เดือนสิบเอ็ดในปีกุนนพศกนั้น จึงเสด็จยาตราพลทัพเรือร้อยเศษ พลทหารประมาณห้าพันยกจากเมืองจันทบุรีมาทางทะเล ได้ทราบข่าวว่าพระยาอนุราฐเจ้าเมืองชลบุรี กับหลวงพล ขุนอินเชียง มิได้ละพยศอันร้าย กลับกระทำโจรกรรมออกตีชิงสำเภาและเรือลูกค้าวานิชเหมือนแต่ก่อน มิได้ตั้งอยู่ในธรรมโอวาท ซึ่งมีพระประสาทสั่งสอนนั้น จึงให้หยุดทัพเรือเข้าประทับ ณ เมืองชลบุรี แล้วให้หาพระยาอนุราฐลงมาเฝ้า ณ เรือพระที่นั่ง ตรัสถามก็รับเป็นสัตย์
จึงสั่งให้ขุนนางนายทหารไทยจีนจับพระยาอนุราฐประหารชีวิตเสีย แต่พระยาอนุราฐคงกระพันในตัว แทงฟันหาเข้าไม่ เพราะด้วยสะดือเป็นทองแดง จึงให้พันธนาการแล้วเอาลงถ่วงน้ำเสียในทะเลก็ถึงแก่กรรม แล้วให้จับหลวงพลและขุนอินเชียง ซึ่งร่วมคิดกระทำโจรกรรมด้วยกันนั้นประหารชีวิตเสีย จึงตั้งผู้มีความชอบเป็นเจ้าเมืองกรมการขึ้นใหม่ให้อยู่รักษาเมืองชลบุรี แล้วเสด็จยกพลทัพเรือเข้ามาทางปากน้ำเมืองสมุทรปราการ ถึงเมืองธนบุรี”
การแวะจัดการกับนายทองอยู่นกเล็กกับพรรคพวก ก่อนเข้าตีฝ่ายพม่าที่ธนบุรีและโพธิ์สามต้น นอกจากมีเหตุเพราะความไม่เชื่อฟังโอวาทที่เคยให้ไว้ คือยังเที่ยวปล้นสะดมเรือสำเภาของพ่อค้าวาณิชเหมือนดังแต่ก่อน ยังมีเหตุน่าเชื่อว่าพระเจ้าตากตอนนั้นทรงต้องการเป็นใหญ่เหนือเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงกลุ่มของพระองค์เท่านั้น
เพราะหากเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่พม่า จะได้สามารถล่าถอยกลับมาตั้งหลักและตั้งตัวได้ใหม่ ไม่ปล่อยให้มีเสี้ยนหนามซึ่งเป็นพวกสองหน้า และ “อยู่เป็น” มาเป็นอุปสรรคขัดขวางได้อีก
ความคิดที่จะถอยกลับ เผื่อไว้เป็นทางเลือกนั้น คงมีอยู่แน่ ๆ ดังจะเห็นได้จากที่ พระราชพงศาวดาร ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) มีบันทึกว่า เมื่อครั้งเสร็จศึกโพธิ์สามต้นแล้ว เสด็จเลียบพระนครสำรวจตรวจตราดูสภาพความเสียหายของกรุงศรีอยุธยา ครั้งนั้น
“ทอดพระเนตรเห็นอัฏฐิกเรวฬะคนทั้งปวงอันถึงพิบัติชีพตายด้วยทุพภิกขะ โจระ โรคะ สุมกองอยู่ดุจหนึ่งภูเขา แลเห็นประชาชนซึ่งลำบากอดอยากอาหาร มีรูปร่างดุจหนึ่งเปรตปีศาจพึงเกลียด ทรงพระสังเวชประดุจมีพระทัยเหนื่อยหน่ายในราชสมบัติจะเสด็จไปเมืองจันทบูร จึงสมณพราหมณาจารย์เสนาบดีประชาราษฎรชวนกันกราบทูลอาราธนาวิงวอนสมเด็จพระพุทธเจ้าอยู่หัวพระบรมหน่อพุทธางกูร ตรัสเห็นประโยชน์เป็นปัจจัยแก่พระปรามาภิเษกสมโพธิญาณนั้นก็รับอาราธนา จึงเสด็จยับยั้งอยู่ ณ พระตำหนักเมืองธนบุรี”
ส่วนข้อที่ว่านายทองอยู่นกเล็กขัดขวางมิให้ “ผู้ใดซึ่งมีใจภักดีจะออกมาพึ่งพระบารมีก็มามิได้ นายทองอยู่เป็นเสี้ยนหนามคอยสกัดตัดทางสัญจรคนทั้งปวงไว้ มิให้ไปมาโดยสะดวก” คงไม่เป็นจริงตามนั้น เพราะอย่างกรณีนายสุดจินดา (“บุญมา” หรือพระยาสุรสีห์ วังหน้ารัชกาลที่ 1 ในกาลต่อมา) ยังสามารถแล่นเรือเดินทางจากอัมพวา แขวงราชบุรี ไปหาพระเจ้าตากที่เมืองจันทบุรีได้
โดยที่ไปรับเอานางนกเอี้ยง พระราชมารดาของพระเจ้าตากที่ลี้ภัยไปพำนักอยู่บ้านแหลม เพชรบุรี ไปส่งให้พระเจ้าตากด้วย ตามคำแนะนำของหลวงยกกระบัตรราชบุรี ผู้เป็นพี่ชาย (คือพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในกาลต่อมา) โดยนายสุดจินดาจะต้องแวะเข้าสืบหาพระเจ้าตากที่เมืองชลบุรีด้วยแน่ เพราะทั้งนายสุดจินดาและหลวงยกกระบัตรต่างก็เข้าใจไปว่าพระเจ้าตากตั้งซ่องสุมกำลังอยู่ที่ชลบุรี
ทั้งนายสุดจินดา นางนกเอี้ยง และไพร่พลที่ติดตาม ต่างก็เดินทางมาถึงชลบุรี และผ่านไปถึงจันทบุรีโดยสวัสดิภาพ ก็แสดงว่าไม่มีอุปสรรคขัดขวางอันเกิดจากนายทองอยู่นกเล็กแต่อย่างใด
นอกจาก “นายทองอยู่นกเล็ก” แห่งบางปลาสร้อยแล้ว นายซ่องอีกคนผู้มีอิทธิพลและเป็นอริตัวฉกรรจ์ของพระเจ้าตาก เมื่อมาตั้งซ่องสุมกำลังผู้คนในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกคือ “ขุนรามหมื่นซ่อง” ที่ปากน้ำประแส พระเจ้าจากทรงดำเนินการอย่างไรกับนายซ่องผู้นี้
อ่านต่อ : “ขุนรามหมื่นซ่อง” แห่งปากน้ำประแส ขุนโจรผู้ชักนำจันบุรีเป็นอริพระเจ้าตาก (คลิก)
อ่านเพิ่มเติม :
- เผยกลศึก “พระเจ้าตาก” ปราบซ่อง “โจรสลัด”
- พระเจ้าตาก ยึดฮาเตียน (พุทไธมาศ) “แบ่ง” เขมรกับอ๋องตระกูลเหงวียน
- ตามติดปฏิบัติการ พระเจ้าตาก “ตามล่า” รัชทายาทกรุงศรีอยุธยา
หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 25 กันยายน 2566