“ขุนรามหมื่นซ่อง” แห่งปากน้ำประแส ขุนโจรผู้ชักนำจันทบุรีเป็นอริพระเจ้าตาก

พระบรมราชานุสาวรีย์ พระเจ้าตาก ที่ เมืองจันทบุรี

การรวบรวมสมัครไพร่พลและกำลังจากหัวเมืองภาคตะวันออกของ “พระเจ้าตาก” ก่อนกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา ทำให้พระองค์ต้องเผชิญหน้ากับเหล่า “โจรสลัด” หรือนายซ่อง ผู้มีอิทธิพลแห่งเมืองท่าชายฝั่งทะเล นอกจากนายทองอยู่นกเล็กแห่งบางปลาสร้อยแล้ว ยังมี “ขุนรามหมื่นซ่อง” ปากน้ำประแส ผู้มีอิทธิพลและอริตัวฉกรรจ์ของพระองค์ ทั้งยังมีส่วนพัวพันทำให้ “เมืองจันทบุรี” แข็งข้อต่ออำนาจของกลุ่มพระเจ้าตากด้วย

ย้อนอ่าน : พระเจ้าตาก ปราบ “นายทองอยู่นกเล็ก” นายโจรอยู่เป็น แห่งบางปลาสร้อย (คลิก)

“ขุนรามหมื่นซ่อง ปากน้ำประแส

นายซ่องผู้มีอิทธิพลและเป็นอริตัวฉกรรจ์ของพระเจ้าตาก เมื่อมาตั้งซ่องสุมกำลังผู้คนในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ก็คือ “ขุนรามหมื่นซ่อง” ที่ปากน้ำประแส พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา เขียนว่า “ขุนราม หมื่นซ่อง” แยกเป็นคนละคน

แต่ ฉบับพันจันทนุมาศ (เจิม) และฉบับสมเด็จพระพนรัตน์ ต่างเขียนว่า “ขุนรามหมื่นซ่อง” หรือ “ขุนรามหมื่นส้อง” เป็นคนเดียวกัน หมื่นซ่อง เป็นสร้อยสมญานาม ไม่ใช่ชื่อตำแหน่ง จากลักษณะที่เป็นผู้มีอิทธิพลคุมหลายบ้านหลายซ่อง ตลอดลำน้ำคลองบ้านค่ายไปจนถึงปากน้ำประแส ซึ่งเป็นย่านชุมชนเก่า มีผู้คนอยู่อาศัยกันหนาแน่น

อนึ่ง “แม่น้ำประแส” เป็นลำน้ำสายสำคัญของฝั่งทะเลตะวันออก เป็นที่ตั้งของชุมชนสำคัญของประชาชนที่ทำการค้าและประมง คู่ขนานกับ “คลองใหญ่” หรือ “แม่น้ำระยอง” ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้  และ “แม่น้ำจันทบุรี” ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เดิมเขตแขวงบ้านประแสตลอดจนเมืองแกลงนั้นขึ้นกับเมืองจันทบุรี

ใน .. 2451 สมัยรัชกาลที่ 5 ได้โอนย้ายเมืองแกลงมาขึ้นกับระยอง บ้านประแสซึ่งขึ้นกับแกลงก็จึงย้ายมาขึ้นกับระยองเช่นกัน นั่นหมายความว่าสมัยต้นรัตนโกสินทร์ร่นขึ้นไปถึงสมัยพระเจ้าตาก บ้านประแสและเมืองแกลงยังเป็นเขตแขวงขึ้นกับเมืองจันทบุรี 

พระราชพงศาวดารบางฉบับระบุว่า พระเจ้าตากมาตีขุนรามหมื่นซ่องก่อนนายทองอยู่นกเล็ก แต่การไปตีขุนรามหมื่นซ่องที่อยู่ปากน้ำประแสและติดตามไล่ล่าไปจนถึงเมืองจันทบุรี โดยที่มิได้จัดการกับนายทองอยู่นกเล็กที่อยู่ไม่ไกลจากเมืองระยอง อันเป็นฐานของพระองค์เมื่อแรกเข้ามาตั้งมั่นในชายฝั่งทะเลนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้สำหรับนักยุทธศาสตร์เช่นพระเจ้าตาก 

เนื่องจากทรงตระหนักดีถึงอิทธิพลและฐานกำลังของขุนรามหมื่นซ่อง พระเจ้าตากจึงไม่ได้ยกทัพไปตีขุนรามหมื่นซ่องที่บ้านประแสโดยทันที หากแต่ยกอ้อมไปตามลำน้ำจากคลองบ้านค่ายทางทิศเหนือของเมืองระยอง ผ่านบ้านเก่า บ้านค่าย บ้านแลง เขาสำเภา บ้านกล่ำ บ้านทะเลน้อย เพื่อเกลี้ยกล่อมชาวบ้านตามรายทาง ให้เห็นด้วยหรืออยู่ข้างพระองค์เสียก่อน ค่อยยกไปตีขุนรามหมื่นซ่องทีหลัง คล้ายคลึงกับวิธีที่ต้าชิงใช้กับพวกไฮ้นี่ (กบฏทะเล)

นอกจากนี้ การเดินทัพอ้อมไปดังนั้นอาจมีสาเหตุจากลักษณะเส้นทางทางบกเลียบคลองบ้านค่ายนั้นมีแนวต่อไปจนถึงปากน้ำบ้านประแส เป็นทางสะดวกในกรณีที่ยังไม่มีกองเรือที่เข้มแข็ง ที่จะสามารถเลียบชายฝั่งไปได้ พระเจ้าตากได้กองเรือก็เมื่อยึดเมืองจันทบุรีได้แล้ว 

ระหว่างเดินทัพไปตั้งเกลี้ยกล่อมอยู่บ้านต่าง ๆ นั้น ขุนรามหมื่นซ่องก็ไม่ได้นิ่งเฉย รอให้พระเจ้าตากเดินทัพมาถึง พระราชพงศาวดาร ฉบับหมอบรัดเล กล่าวว่า ขุนรามหมื่นซ่องได้ให้สมัครพรรคพวกบริวาร ลักลอบเข้ามาลักโคกระบือช้างม้าเนือง ๆ

ขณะที่พระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขา ก็กล่าวทำนองเดียวกันว่า ฝ่ายขุนราม หมื่นซ่องคุมสมัครพรรคพวกไปตั้งอยู่  บ้านประแส แขวงเมืองจันทบูร ให้ไพร่พลลอบเข้ามาลักโค กระบือ ช้างม้า  กองทัพหลวง ทั้งนี้ก็เพื่อตัดกำลังทัพพระเจ้าตาก แต่ก็ไม่เป็นผล กองโจรที่ลอบเข้ามามักจะถูกตีกลับไปเสมอ จนเดินทัพถึงบ้านทะเลน้อย ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากปากน้ำประแส จึงได้เปิดการรบขั้นตัดสินกับขุนรามหมื่นซ่อง   

ยุทธวิธีที่ทรงใช้ในการปราบขุนรามหมื่นซ่องนี้ จะเห็นได้ว่าแตกต่างอย่างมากกับกรณีการปราบนายทองอยู่นกเล็ก เพราะกรณีกลุ่มนายทองอยู่นกเล็กทรงดำเนินการกดดันต่อผู้นำซ่องโดยตรง แต่ขุนรามหมื่นซ่องต้องทำตรงกันข้าม คือต้องวางแผนรบระยะยาวนานนับเดือน ค่อย ๆ เกลี้ยกล่อมแยกสลายมวลชนของขุนรามหมื่นซ่องให้เอาใจออกห่างเสียก่อน ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะขุนรามหมื่นซ่องเป็นผู้นำซ่องที่มิได้ปรารถนาจะเป็นเจ้าเมืองหรือขุนนางอยุธยาเหมือนอย่างนายทองอยู่นกเล็ก จึงไม่อาจซื้อได้ด้วยผลประโยชน์อย่างที่เคยให้แก่นายทองอยู่นกเล็ก

อีกทั้ง “ขุนรามหมื่นซ่อง” ยังเป็นนายซ่องเข้มแข็งยิ่งกว่านายทองอยู่นกเล็กมาก ไม่ใช่พวกเล่นบท “อยู่เป็น” หรือประเภทที่จะ “ตีสองหน้า” เอาตัวรอดเฉพาะหน้าไปเท่านั้น ดูเหมือนเขาจะพอใจการเป็นนายซ่อง คอยดักปล้นและเก็บส่วยพ่อค้าและผู้เดินทางผ่านไปมาในย่าน ไม่ปรารถนาให้อำนาจส่วนกลางที่กรุงศรีอยุธยาเข้ามายุ่มย่ามในเขตอิทธิพลของตน

แต่ตรงนี้ก็เป็นจุดที่ทำให้กลุ่มพระเจ้าตากสามารถนำไปใช้โจมตีขุนรามหมื่นซ่อง ว่าเป็นพวกเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน เป็นคนอาสัจอาธรรม ไม่มีอุดมการณ์สร้างบ้านแปงเมืองเหมือนอย่างพวกพระองค์ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะจัดการกับคนซึ่งไม่อาจซื้อได้ด้วยผลประโยชน์จากราชการ ในเมื่อขุนรามหมื่นซ่องเป็นผู้นำซ่องที่มีฐานมวลชนหนุนหลัง

เมื่อแผนการตัดกำลังแยกสลายมวลชนของขุนรามหมื่นซ่องบรรลุผล จนมั่นใจว่าชาวบ้านในเขตแขวงจากบ้านเก่าไปจนถึงบ้านประแสจะไม่ช่วยเหลือเป็นกำลังของขุนรามหมื่นซ่องในการต่อต้านพระองค์ ก็ทรงเปิดฉากการรบปราบปรามขุนรามหมื่นซ่องอย่างเต็มรูปแบบ โดยยกทัพไปตั้งค่ายที่บ้านทะเลน้อย (บริเวณวัดราชบัลลังก์ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ในปัจจุบัน)

ถึงแม้ว่าผลการรบ ฝ่ายพระเจ้าตากจะได้รับชัยชนะ แต่ก็สูญเสียทหารไทยจีนที่ร่วมเดินทัพมากับพระองค์มากถึง 400 คน ยังความเศร้าพระทัยและโกรธแค้นต่อขุนรามหมื่นซ่องมาก ตรัสว่า ทั้งนี้ก็เป็นผลวิบากให้เกิดเป็นคนอาสัจอาธรรมฉะนี้ จะละไว้มิได้

ฝ่ายขุนรามหมื่นซ่อง เมื่อพ่ายแพ้ที่ศึกบ้านทะเลน้อยและบ้านประแส ก็หลบหนีไป เมืองจันทบุรี พระยาจันทบุรีก็ให้การต้อนรับขุนรามหมื่นซ่องเป็นอย่างดี ด้วยเป็นคนรู้จักมักคุ้นกันมาก่อน จนอาจเป็นบุคคลสำคัญที่เคยหนุนให้พระยาจันทบุรีผู้นี้ได้เป็นเจ้าเมืองผ่านการเลือกภายในเขตแขวงเมืองจันทบุรี เมื่อเจ้าเมืองเดิมสูญหายไปกับทัพกรมหมื่นเทพพิพิธ หรือเพราะเหตุอื่นไม่ทราบแน่ชัด      

ก่อนหน้าที่ขุนรามหมื่นซ่องจะหนีไปจันทบุรี พระยาจันทบุรีเคยแสดงท่าทีอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตาก โดยส่งข้าวมาให้ที่ระยอง 4 เกวียน และถึงขั้นมีสาส์นเชิญให้เสด็จมาที่จันทบุรี จะได้ช่วยกันคิดการแก้ทางพม่ากอบกู้กรุงศรี แต่เมื่อขุนรามหมื่นซ่องหนีไปหา พระยาจันทบุรีก็เปลี่ยนท่าทีหันมาเป็นปฏิปักษ์ต่อพระเจ้าตาก

การณ์เดิมที่ทรงคาดหวังว่าจะได้เมืองจันทบุรีโดยไม่เสียเลือดเนื้อนั้น เป็นเรื่องที่ไม่อาจเป็นไปได้เสียแล้ว เรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สะท้อนอิทธิพลของขุนรามหมื่นซ่องผู้นี้อย่างมาก 

ประกอบกับเวลานั้นเป็นช่วงหลังจากที่กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าไปแล้ว พระยาจันทบุรีจึงคิดตั้งตัวเป็นชุมนุมอิสระ เป็นใหญ่ในเขตแขวงของตนเอง เหมือนอย่างชุมนุมพระพิษณุโลก ชุมนุมเจ้าพระฝาง ชุมนุมเจ้านครศรีธรรมราช ชุมนุมเจ้าพิมาย ชุมนุมสุกี้พระนายกอง เป็นต้น

เพราะก่อนนี้ไม่นาน เป็นช่วงเดียวกับที่พระเจ้าตากเพิ่งมาถึงระยอง นายบุญเรือง ผู้รั้งเมืองบางละมุง หรือ “หลวงบางละมุง” (ตามพระราชพงศาวดาร ฉบับพระราชหัตถเลขาผู้ซึ่งได้เข้าหาพม่า และได้ถือคำสั่งจากสุกี้ไปถึงพระยาจันทบุรี ให้ส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายตนที่ค่ายโพธิ์สามต้น อันเป็นความพยายามแสดงบทบาทอำนาจของสุกี้ ในฐานะผู้สืบทอดอำนาจบารมีของกษัตริย์อยุธยา แต่พระยาจันทบุรีหาได้ยอมอ่อนน้อมต่อสุกี้ไม่

เมื่อได้ขุนรามหมื่นซ่องมาเป็นนายทัพ พระยาจันทบุรีก็ให้ ตกแต่งป้อมค่ายคูประตูหอรบเชิงเทิน  ตระเตรียมโยธาทหารสรรพด้วยเครื่องศัตราวุธปืนใหญ่น้อยเสร็จ เมื่อกองทัพพระเจ้าตากมาถึง ก็ได้ใช้กลอุบายให้พระสงฆ์เชิญเข้าเมือง แต่พระเจ้าตากขณะนั้นทรงทราบแล้วว่า พระยาจันทบุรีคิดอ่านจะจับกุมพระองค์ จึงเล่นบทบ่ายเบี่ยงอ้างธรรมเนียมว่า

ผู้น้อยควรจะกระทำสัมมาคารวะแก่ผู้ใหญ่  จึงจะชอบเป็นมงคลแก่ตัว และจะให้เราเป็นผู้ใหญ่เข้าไปหาท่านอันเป็นผู้น้อยก่อนนั้นมิบังควรแก่พระยาจันทบุรีเลย เรายังไม่เข้าไปก่อนให้พระยาจันทบุรีออกมาหาเรา เราจะได้แจ้งเนื้อความซึ่งขัดข้องในใจเรา ด้วยขุนรามหมื่นซ่องอันเป็นปัจจามิตรเราเข้าไปอยู่ด้วยพระยาจันทบุรี

พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ จ.จันทบุรี
พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน ที่ จ.จันทบุรี

พระเจ้าตากส่งคนไปเจรจาขอให้พระยาจันทบุรีส่งตัวขุนรามหมื่นซ่องมาให้ ถึงขั้นเสนอว่าจะไม่ตีเมืองด้วยซ้ำ แม้นพระยาจันทบุรีจะมิออกมาหาเราก็ดี จงส่งแต่ขุนรามหมื่นซ่องออกมากระทำความสัตย์แก่เราแล้ว เราจะเข้าไปด้วยมิได้แคลง

พระยาจันทบุรีก็หาได้ยอมส่งตัวขุนรามหมื่นซ่องมาให้พระองค์ไม่ จนกระทั่งต้องรบกัน จากเดิมที่เคยเป็นไมตรีต่อกัน เมื่อเมืองจันทบุรีแตก พระยาจันทบุรีได้พาครอบครัวหลบหนีไปเมืองพุทไธมาศ จากนั้นก็ไม่มีหลักฐานกล่าวถึงขุนรามหมื่นซ่องอีกเลย จู่ ๆ ก็หายไปจากหน้าพระราชพงศาวดาร จะได้หนีไปพร้อมกับพระยาจันทบุรี หรือถูกจับแล้วโดนประหารชีวิตไปอย่างไร ก็ไม่ปรากฏ

นับเป็นอีกเรื่องที่น่าประหลาดใจ สำหรับคนซึ่งมีบทบาทมากอย่างขุนรามหมื่นซ่อง แต่กลับไม่มีภาพฉากสุดท้ายเหมือนอย่างคนอื่น ๆ

จะเห็นว่า การกอบกู้บ้านเมืองหลังทราบข่าวการเสียกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าตากทรงเริ่มยุทธศาสตร์ด้วยการปราบ นายซ่อง” แห่งเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกเสียก่อน เพราะนี่คือ “ความจำเป็น” ในสภาวการณ์คับขัน เมื่อกำลังคนของหัวเมืองไม่พร้อมเป็นกำลังสำหรับการกู้กรุงฯ แต่อยู่ในสังกัดนายซ่องผู้มีอิทธิพล

ยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังดำเนินควบคู่และเกื้อหนุนกันกับยุทธศาสตร์ “การค้านำการทหาร” ซึ่งจะกล่าวถึงโดยละเอียดพร้อมบทสรุปทั้งหมดเรื่องการปราบซ่อง “โจรสลัด” ของพระเจ้าตาก…

อ่านต่อ : พระเจ้าตาก กับยุทธศาสตร์ “การค้านำการทหาร” ปราบโจรผู้ร้าย สร้างขื่อแปให้บ้านเมือง (คลิก)

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 28 กันยายน 2566