พระเจ้าตาก กับยุทธศาสตร์ “การค้านำการทหาร” ปราบโจรผู้ร้าย สร้างขื่อแปให้บ้านเมือง

พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี พระเจ้าตาก วงเวียนใหญ่
พระบรมราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี ณ วงเวียนใหญ่ ฝั่งธนบุรี

หลังตีฝ่าค่ายพม่าหนีออกจากกรุงศรีอยุธยาก่อนเสียกรุงฯ ครั้งที่ 2 พระเจ้าตาก มายังหัวเมืองตะวันออกเพื่อรวบรวมกำลังกลับไปกู้กรุงฯ ทรงปราบปรามซ่อง โจรสลัด ที่มีเหล่า “นายซ่อง” เป็นใหญ่อยู่และประสบความสำเร็จ ทำให้พระองค์มีกำลังคนมากพอที่จะยกกลับไปตีค่ายพม่าที่โพธิ์สามต้นได้ ยุทธศาสตร์การปราบนายซ่องแห่งเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกจึงเป็น “ความจำเป็น” ในสภาวการณ์คับขัน ซึ่งควบคู่และเกื้อหนุนกันกับยุทธศาสตร์ “การค้านำการทหาร” ของพระเจ้าตาก

ย้อนอ่าน : “ขุนรามหมื่นซ่อง” แห่งปากน้ำประแส ขุนโจรผู้ชักนำจันบุรีเป็นอริพระเจ้าตาก

การค้านำการทหาร และการสร้าง “ขื่อแป” ของบ้านเมือง

ความเสียหายของเมืองท่าชายฝั่งตะวันออก ทั้งจากการเกณฑ์กองทัพของกรมหมื่นเทพพิพิธ และจากการแตกสลายของอำนาจรัฐส่วนกลาง ที่มามีผลกระทบต่อความเสื่อมอำนาจของชนชั้นนำเดิมในท้องถิ่น ถึงแม้พระเจ้าตากจะได้ทั้งเมืองระยอง ประแส จันทบุรี ส่วนบางปลาสร้อยนั้นอยู่ภายใต้นายทองอยู่นกเล็ก ก็ยังได้กำลังพลไม่มาก เมื่อเทียบกับกรมหมื่นเทพพิพิธ ซึ่งเคยจัดตั้งกองทัพได้ถึง 10,000 คน

แต่พระเจ้าตากเมื่อยกทัพจากจันทบุรีมากู้กรุงนั้น ตัวเลขที่ปรากฏอยู่ที่ราว 5,000 คน โดยเมื่อแรกตั้งตัวอยู่เมืองจันทบุรี พระเจ้าตากมีกำลังพลเพียง 1,000 คนเท่านั้น เพราะผู้คนต่างทิ้งเมืองหนีหาย จนบ้านเมืองโรยรา…

เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกถึงแม้จะไม่ได้เผชิญศึกสงครามโดยตรง แต่ก็ได้รับผลกระทบ กล่าวคือบ้านเมืองซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว ตลอดช่วงศตวรรษสุดท้ายของราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา อันเนื่องจากความเฟื่องฟูของการค้ากับทางฝั่งเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นนโยบายที่ได้รับการสนับสนุนโดยราชวงศ์บ้านพลูหลวง พ่อค้าจีน ญี่ปุ่น ฮอลันดา เปอร์เซีย ฯลฯ ที่เดินเรือไปมาระหว่างสยามอยุธยากับเอเชียตะวันออก ต่างแวะเวียนเข้ามาจอดเรือเทียบท่าตามหัวเมืองชายฝั่งทะเล

แต่เมื่อเกิดสงครามขึ้นที่อยุธยา การค้าที่เคยคึกคักก็พลอยซบเซา ชุมชนเมืองท่าชายฝั่งก็พลอยเผชิญปัญหาความเสื่อมถอยทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นชุมชนเมืองที่เติบโตเพราะการค้า สงครามเสียกรุงศรีอยุธยา .. 2310 มิได้ส่งผลต่อการพังทลายถูกเผากลายเป็นซากของวัดและวังบางแห่ง หากแต่เกิดการพังทลายของระบบเศรษฐกิจการค้าในภาพรวมของราชอาณาจักร

สภาพที่เคยคึกคักมีเรือพ่อค้าต่างชาติเข้ามาปีละนับพันลำ ครั้นพอถึงช่วงกองทัพอังวะบุก ก็พบความเสื่อมถอย มีเรือเข้ามาได้เพียงเล็กน้อย วันนี้จะเข้ามาสักสิบลำหรือสิบสองลำก็แทบจะไม่มี

จึงเห็นได้ว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกในตอนนั้นก็ต้องการการฟื้นฟูทั้งในด้านเศรษฐกิจและขวัญกำลังใจดุจเดียวกัน การฟื้นฟูเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ซึ่งกลายมาเป็นประสบการณ์และบทเรียนต่อการปรับปรุงและฟื้นฟูราชอาณาจักรในกาลต่อมา

พระเจ้าตากจึงใช้ยุทธศาสตร์ 2 อย่างไปพร้อมกัน คือ การสร้างขื่อแปให้กับบ้านเมืองด้วยวิธีการค้านำการทหาร การปราบปรามนายซ่องในเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก กลายเป็นประสบการณ์และบทเรียนในการปราบเจ้าชุมนุมต่าง ๆ ที่ตั้งตนเป็นใหญ่หลังเสียกรุง

โจรผู้ร้ายในแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกคงมีมาแต่เดิม แต่เมื่อบ้านเมืองแตกสลาย ชนชั้นนำเดิมเสื่อมอำนาจบ้างก็พลัดหายไปกับการศึกที่ปากน้ำโยทะกาและที่อยุธยา ก็เป็นเหตุให้มีเหล่าบรรดา “นายซ่อง” ตั้งตนเป็นใหญ่เพิ่มมากขึ้น จดหมายของมองซิเออร์อาโตด์ บาทหลวงชาวฝรั่งเศส ซึ่งได้หลบหนีภัยพม่าออกจากอยุธยามาจันทบุรี ตั้งแต่เมื่อ .. 2308 แต่เมื่อมาถึงจันทบุรีอยู่ได้สักพักก็ต้องหนีต่อไปอยู่เขมร เพราะพบว่า โจรผู้ร้ายในเมืองจันทบุรีชุกชุมมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่า เพราะในเวลานั้นพวกผู้ร้ายหมดความกลัวด้วยบ้านเมืองกำลังระส่ำระสาย

……..

พระเจ้าตากจึงต้องแสดงความเมตตากรุณาและอบรมสั่งสอนให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่ปฏิบัติเสียแล้ว สำหรับซ่องที่พัฒนามาจากการเป็นซ่องเพื่อปล้นสะดม ตำแหน่งขุนนางแม้เป็นระดับเจ้าเมือง ก็ไม่เป็นหลักประกันความมั่นคง เมื่อเห็นได้ชัดในตอนนั้นแล้วว่าส่วนกลางไม่มีอำนาจปกแผ่มาถึงถิ่นฐานบ้านช่องของพวกตนอยู่ในตอนนั้น ในยามที่บ้านเมืองพบความวิบัติล่มสลาย หนทางแห่งโจรก็กลายเป็นคำตอบสำหรับผู้มีกำลังอำนาจและพรรคพวกบริวาร

จากสถานการณ์ข้างต้นก็เห็นได้ว่าเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกขณะนั้นเองก็ไม่พร้อมที่จะเป็นฐานให้กับการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา เพราะสถานการณ์ภายในของเมืองท่าชายฝั่งทะเลแถบนี้ ก็มีความสลับซับซ้อน กำลังผู้คนชายฉกรรจ์ส่วนใหญ่สังกัดอยู่ภายใต้นายซ่องต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ภายใต้ระเบียบกฎเกณฑ์และมูลนายของอยุธยา

การตั้งตัวเป็นใหญ่ของพระเจ้าตากในดินแดนแถบนี้ ด้านหนึ่งพระเจ้าตากต้องแสดงตนเป็นผู้รักษาระเบียบแบบแผนเก่าของอยุธยา แต่อีกด้านก็คือการสถาปนาตนเป็นนายซ่องใหญ่ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างแท้จริงในหัวเมือง อันเป็นหลักประกันว่าจะได้กำลังคนเข้าร่วมขบวนการ

แต่แม้จะได้เมืองระยองและจันทบุรีแล้ว พระเจ้าตากก็ยังไม่มีทุนรอนและกำลังพอที่จะนำทัพกลับไปกอบกู้กรุงศรี แม้ระยองกับจันทบุรีจะเป็นเมืองที่มีสินค้าของป่ามาก แต่องค์กรและกลุ่มคนที่จัดการการค้าได้สูญหายหรือยุติบทบาทไป

ทว่าความสำคัญของจันทบุรีในฐานะเมืองยุทธศาสตร์ ก็ทำให้พระเจ้าตากได้มีโอกาสได้ติดต่อกับโลกภายนอก นับตั้งแต่ออกจากอยุธยามาระยองและเข้าตีเมืองจันทบุรี แต่ละศึกที่เอาชนะมาได้นั้น โดยมากก็อาศัยคนน้อยชนะคนมากแทบจะทั้งสิ้น และถึงแม้ว่าหากตั้งมั่นอยู่ที่จันทบุรีต่ออีกสักช่วงหนึ่ง ก็อาจสะสมอำนาจบารมีและความมั่งคั่งขึ้นมาได้ แต่นั่นสุกี้และเจ้าชุมนุมต่าง ๆ ก็จะมีโอกาสได้ตั้งตัวและมีกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกวันเช่นกัน

เมื่อไม่อาจต่อเรือได้ทันท่วงทีตามจำนวนที่ต้องการ อีกทั้งไม่มีทุนรอนเป็นค่าใช้จ่ายมากพอ การปล้นสำเภาของพ่อค้าจีนจึงเป็นคำตอบ สำหรับการได้มาซึ่งเรือที่จะใช้ในการสงครามกู้กรุง หลังจากได้เมืองจันทบุรีไม่นาน เมื่อพิจารณาเห็นแล้วว่าลำพังเมืองระยองกับจันทบุรี และแม้ชลบุรีเอง ต่างก็มีความเสียหาย

แต่สภาพดังกล่าวนั้นกลับไม่พบในเมืองตราด ตรงข้ามเมืองตราดกลับเป็นแหล่งชุมนุมของกองเรือสำเภาพ่อค้าต่างชาติ ที่คอยท่าว่าเหตุการณ์สงครามระหว่างอยุธยากับอังวะจบสิ้นลงเมื่อไหร่ ก็จะเดินเรือไปยังภาคกลาง พระเจ้าตากจึงมีบัญชาให้พระพิชัยและหลวงราชนรินทร์ เป็นแม่ทัพคุมเรือประมาณ 50 ลำเศษ โดยพระองค์จะนำทัพหลวงตามไปสมทบทางบก เพื่อไปยึดบ้านทุ่งใหญ่ (ตราดล้อมเมืองอยู่คืนหนึ่ง

ฝ่ายวาณิชพ่อค้านายสำเภาทั้งปวงก็ยังมิได้อ่อนน้อม ครั้นเพลารุ่งเช้าจึงดำรัสสั่งนายทัพนายกอง ให้ยกเข้าตีสำเภาอยู่ประมาณกึ่งวัน ข้าศึกลูกค้าชาวสำเภาต้านทานมิได้ ก็อัปราชัยพ่ายแพ้ทัพหลวง ได้ทรัพย์สิ่งของและหิรัญสุวรรณวัตถาลังกาภรณ์เป็นอันมาก ฝ่ายจีนเจียมผู้เป็นใหญ่กว่าชาวสำเภาทั้งปวงยอมสามิภักดิ์

เมื่อได้ทุนรอนและเรือมากขึ้นแล้ว ก็เสด็จกลับมา  เมืองจันทบูร ยับยั้งอยู่ต่อเรือรบได้ 100 เศษการได้เมืองตราดจึงเป็นหมุดหมายสำคัญอย่างแท้จริง ที่ทำให้พระเจ้าตากมีศักยภาพที่จะกอบกู้กรุงศรีอยุธยาได้ เมืองตราดยังเป็นเขตต่อแดนกับเมืองพุทไธมาศ ที่อยู่ในความปกครองดูแลของพระยาราชาเศรษฐีหรือ “ม่อซือหลิน” พันธมิตรแต้จิ๋วคนสำคัญของพระองค์อีกด้วย การติดต่อประสานงานและขอความช่วยเหลือก็สามารถทำได้ง่าย หากเพลี่ยงพล้ำต่อพม่า ก็อาจถอยกลับมาตั้งหลักได้อีก โดยที่ไม่ถูกรบกวนจากดินแดนข้างเคียง

การเดินทัพมาเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก ได้ชัยชนะพม่าที่ยกติดตามมา กระทั่งสามารถปราบปรามนายซ่องต่าง ๆ จนเป็นใหญ่ในดินแดนเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก มีอำนาจบารมีเหนือกว่านายซ่องคนอื่น ๆ อีกทั้งยังมีนโยบายกู้กรุงศรีอยุธยาชัดเจนยิ่งกว่าบรรดานายซ่องและเจ้าชุมนุมอื่นในตอนนั้น คงเป็นข่าวที่แพร่สะพัดไปไกลพอสมควร

แม้แต่หลวงยกกระบัตรราชบุรี (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ รัชกาลที่ 1 ในเวลาต่อมาซึ่งขณะนั้นหลบซ่อนอยู่ในป่าเขา ก็ยังพบหลักฐานความทรงจำบอกเล่าสืบมาจนถึงช่วงรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 5 ว่าครั้งนั้นตรัสชี้แนะแก่นายสุดจินดา (บุญมา/พระยาสุรสีห์ให้ไปเข้าร่วมกับกลุ่มพระยาตาก ดังมีข้อความดังนี้

ข้ารู้ข่าวว่า พระยาตากสินเขารวบรวมราษฎรได้มาก บัดนี้เขาไปตั้งค่ายมั่นพักพลอยู่ที่เมืองชลบุรี แล้วเขาจะยกกองทัพมาตีพม่าที่รักษากรุงนั้น เขาจะแก้ฝีมือพม่า จะกู้กรุงศรีอยุธยา เห็นท่วงทีสมประสงค์ของเขา ด้วยชาวเมืองฝ่ายชายทะเลรักใคร่นับถือเขามาก

ถ้าเจ้าอุตสาหะไปรับมารดาพระยาตากสินได้แล้ว นำไปส่งให้เขาเปนของกำนันแก่พระยาตากสิน ๆ จะมีความยินดีพ้นที่จะเปรียบ เจ้าเล่าก็จะอยู่ที่เมืองชลบุรีจะได้พึ่งพาหาฤากับพระยาตากสินด้วย ในเวลาว่างกษัตริย์เช่นนี้พระยาตากเขาจะมีบุญบารมีอำนาจเสมอพระเจ้าแผ่นดิน เจ้าจะได้เปนที่พึ่งสืบต่อไปตามกาลเวลาที่ควร เจ้าจงเชื่อคำข้าอุตสาหะไปเถิดฯ

พื้นภูมิหลังที่มาจากพ่อค้าจีน ทำให้พระเจ้าตากตระหนักถึงความสำคัญของการค้า และเรื่องเศรษฐกิจปากท้องต้องมาก่อน จดหมายเหตุบาทหลวงฝรั่งเศสได้กล่าวถึงลักษณะการเกลี้ยกล่อมผู้คนระหว่างเดินทัพว่า เมื่อพระยาตากยกทัพไปถึงตำบลใด ก็ได้แจกจ่ายเงินทองทั่วไปทุกแห่ง กองทัพพระยาตากจึงมีจำนวนคนเพิ่มขึ้นทุกวัน เมื่อพระยาตากได้เกลี้ยกล่อมผู้คนไว้ได้มากแล้ว จึงได้ตั้งต้นคิดการใหญ่ต่อไป

นอกจากกำลังทัพที่เข้มแข็ง เอาชนะพม่าได้หลายครั้ง การปราบปรามโจรสลัดที่ตั้งตนเป็นใหญ่อยู่ตามเมืองท่าชายฝั่งทะเล พร้อมกันนั้นพระเจ้าตากยังแสดงให้เห็นว่าขบวนการกู้กรุงศรีของพระองค์นั้น เป็นขบวนการที่มีเศรษฐกิจการค้าที่มั่งคั่งอีกด้วย นอกจากนี้ การปราบปรามโจรสลัดจนนำมาสู่การประหารชีวิตนายทองอยู่นกเล็ก ทั้ง ๆ ที่นายทองอยู่นกเล็กได้สวามิภักดิ์ต่อพระองค์ ยังอาจเกี่ยวข้องกับการพยายามเอาใจทางการจีน ซึ่งไม่พอใจเหล่าโจรสลัดที่กำลัง “ต้านชิงกู้หมิง” อยู่ในขณะนั้น

อย่างไรก็ตาม การปราบปรามโจรสลัดของพระเจ้าตาก ทำให้ในทางประวัติศาสตร์เรื่องราวของพระองค์ตลอดจนสยามในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 18 ได้มีประเด็นร่วมกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโลกสากล

บทสรุป พระเจ้าตาก ปราบโจรสลัด

สำหรับชาวเมืองท่าฝั่งทะเลตะวันออก พระเจ้าตากถือเป็นตัวแทนจากส่วนกลาง ที่มาพร้อมระเบียบกฎเกณฑ์อย่างเก่าของกรุงศรีอยุธยา…

ระเบียบแบบแผนอย่างใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นในแถบเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกตอนนั้น สืบเนื่องมาจากความเจริญเติบโตของการค้าทางทะเลที่มียาวนานกว่า 2 ศตวรรษเป็นอย่างน้อย ผู้คนในแถบชายฝั่งทะเลนอกจากมีอาชีพหลักคือประมงและการค้าขาย ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ประกอบอาชีพเป็นโจรสลัด คอยดักปล้นสะดมเรือสำเภาสินค้าที่เดินทางไปมาในทะเลละแวกย่าน

เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตกพ่ายต่อพม่า ก็ได้คนจำนวนหนึ่งตั้งตนเป็นใหญ่ในรูปแบบที่เรียกว่า “นายซ่อง” เป็นสิ่งสะท้อนความเสื่อมสลาย และยิ่งซ้ำเติมให้บ้านเมืองบอบช้ำหนักขึ้น เพราะพ่อค้าต่างชาติย่อมงดเว้นการเดินเรือเข้ามาค้าขายกับดินแดนนี้ ที่เต็มไปด้วยชายฉกรรจ์ที่พร้อมจะบุกยึดเอาสินค้า และข้าวของมีค่าภายในเรือไปได้ โดยที่ทางการปราศจากผู้มีอำนาจที่จะปกป้อง และเรียกคืนความเป็นธรรมให้แก่พวกตน

เมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออกในช่วงแรกเริ่มที่พระเจ้าตากเดินทัพมาถึงและตั้งค่ายอยู่ที่ระยองนั้น ไม่ใช่ดินแดนที่สงบราบเรียบและมั่งคั่งบริบูรณ์ พร้อมแก่การเป็นฐานทรัพยากรสำหรับการกอบกู้กรุงศรีอยุธยา แม้ไม่อยู่ในสมรภูมิสงครามกับพม่า ก็ได้รับผลกระทบจนเกือบจะกลายเป็นสภาพไร้ขื่อแป

โจทย์แรกของพระเจ้าตาก คือการปราบปรามเหล่าโจรผู้ร้าย ที่ซ้ำเติมบ้านเมืองให้วิบัติเสื่อมโทรมมากขึ้น โจทย์ที่ 2 คือการทำให้ดินแดนนี้กลับมาพบความสงบ มีขื่อแป เป็นที่ดึงดูดแก่พ่อค้าต่างชาติ และเป็นจุดหมายของคนที่ต้องการจะกอบกู้กรุงศรีอยุธยา

การปราบปรามนายซ่องเหล่านี้ พระเจ้าตากใช้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การเจรจาประนีประนอม ให้ผลประโยชน์ และทั้งการยกทัพไปโจมตีโดยตรง…

การปราบขุนรามหมื่นซ่อง การประหารชีวิตนายทองอยู่นกเล็ก ตลอดจนการกวาดล้างนายซ่องต่าง ๆ ที่ตั้งตัวเป็นใหญ่ และมี “การกระทำอันเป็นโจรสลัด” มีความหมายเท่ากับทรงแสดงให้เห็นว่า ทรง “เอาจริง” ในการฟื้นฟูระเบียบแบบแผน หรือขื่อแปของบ้านเมืองให้กลับคืนมา สร้างความเชื่อมั่นต่อพ่อค้าต่างชาติที่จะเข้ามาทางทะเล โดยเฉพาะต่อรัฐบาลต้าชิงที่ก็กำลังเผชิญปัญหา และการสู้รบปราบปรามกองโจรสลัดในมณฑลทางใต้อยู่ในขณะนั้น

…การสร้างขื่อแปจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่งยวด ยิ่งกว่าชัยชนะในสมรภูมิสงครามใด ๆ ตลอดยุคสมัยของพระองค์ ความสำเร็จในเรื่องนี้ของพระเจ้าตากนั้น แม้แต่พระราชพงศาวดารซึ่งชำระโดยฝ่ายตรงข้ามของพระองค์ ก็ยังกล่าวยกย่องเอาไว้ ดังจะเห็นได้จากข้อความต่อไปนี้

ในขณะนั้นบรรดานายชุมนุมทั้งปวง ซึ่งคุมพรรคพวกตั้งอยู่ในแขวงอำเภอหัวเมืองต่าง ๆ และรบพุ่งชิงอาหารกันอยู่แต่ก่อนนั้น ก็สงบราบคาบลงทุก ๆ แห่ง มิได้เบียดเบียนแก่กันสืบไป ต่างเข้ามาถวายตัวเป็นข้าทูลละอองธุลีพระบาท ได้รับพระราชทานเงินทองและเสื้อผ้า และโปรดชุบเลี้ยงให้เป็นขุนนางในกรุงและหัวเมืองบ้าง

บ้านเมืองก็สงบปราศจากโจรผู้ร้าย และราษฎรก็ได้ตั้งทำไร่นาลูกค้าวานิชก็ไปมาค้าขายทำมาหากินเป็นสุข ข้าวปลาอาหารก็ค่อยบริบูรณ์ขึ้น คนทั้งหลายก็ค่อยได้บำเพ็ญการกุศลต่าง ๆ ฝ่ายสมณสากยบุตรในพระพุทธศาสนาก็ได้รับบิณฑบาตจตุปัจจัย ค่อยได้ความสุขบริบูรณ์

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่


หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พระเจ้าตากกับการปราบปรามโจรสลัดในชายฝั่งทะเลตะวันออก” เขียนโดย กำพล จำปาพันธ์ ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับสิงหาคม 2560 [เว้นวรรคคำ ปรับย่อหน้าใหม่ และเน้นคำเพิ่มเติมโดยกองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม]


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 3 ตุลาคม 2566