ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
ก่อนจะเป็นรัฐอิสลามอย่างที่เรารู้จักกันในทุกวันนี้ เดิมทีประเทศอิหร่านถูกปกครองโดยกษัตริย์มาเป็นเวลานาน เรารู้จักดินแดนแถบนี้กันในชื่อว่าเปอร์เซีย ก่อนจะถูกเปลี่ยนชื่อประเทศในปี ค.ศ. 1934/พ.ศ. 2477 ไปใช้ชื่อ “อิหร่าน” แทน
จุดเปลี่ยนสำคัญในการไปสู่รัฐอิสลามต้องเริ่มจากสถานการณ์ย้อนไปเมื่อการแพร่ขยายอิทธิพลตะวันตกรุกคืบมาในเปอร์เซีย โดยเฉพาะอังกฤษที่เข้ามาหาประโยชน์จากการขุดเจาะน้ำมันในช่วงต้นศตวรรษที่ 19 หลังจากนั้นชาติตะวันตกเริ่มเข้ามามีอิทธิพลในประเทศ
ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ชาติตะวันตกยังเข้ามาคุกคามและแย่งชิงผลประโยชน์ ทั้งรัสเซีย อังกฤษ เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา คนในประเทศเริ่มไม่พอใจนำไปสู่กระแสต่อต้านตะวันตกขึ้นเพื่อปกป้องผลประโยชน์และเอกราชของชาติ
ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ชาติตะวันตกได้เข้าควบคุมประเทศอิหร่านโดยบีบให้กษัตริย์เรซา ชาห์ ข่าน (ซึ่งเดิมทีเป็นนายกรัฐมนตรี และประกอบพิธีราชาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์เมื่อ ค.ศ. 1925) ที่ไม่นิยมตะวันตกสละราชบัลลังก์ และนำกษัตริย์ที่นิยมตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐอมริกาซึ่งเป็นโอรสคือ มุฮัมหมัด เรซา ข่าน ขึ้นครองราชย์บัลลังก์แทน อิหร่านจึงมีความสัมพันธ์ที่ดีกับตะวันตก
จนถึงปี ค.ศ. 1951/พ.ศ. 2494 เกิดกระแสชาตินิยมในหมู่ชาวอิหร่าน ในปีนั้นผู้นำในขบวนการชาตินิยมอิหร่านคือ ดร.มุฮัมหมัด มูซัดเดก ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี และยึดบริษัทน้ำมันแองโกล-อิหร่านซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันของอังกฤษกลับมาเป็นของรัฐ ทำให้ตะวันตกตอบโต้การกระทำของอิหร่านโดยการไม่ซื้อน้ำมันจากอิหร่าน
รัฐบาลอิหร่านประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษ เป็นเวลาเดียวกับที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังมีปัญหา หลังจากนั้นใน ค.ศ. 1953/พ.ศ. 2496 กษัตริย์ของอิหร่านคือชาห์ และราชินีเสด็จออกนอกประเทศ
นายพลซาเฮดี ตั้งตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรี จับกุมดร. มุฮัมหมัด มูซัดเดก และคณะรัฐบาล อิหร่านจึงกลับไปนิยมตะวันตก กลับมาเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับอังกฤษใหม่ มีกระแสว่า เบื้องหลังการปฏิวัติครั้งนี้เป็นการเปลี่ยนให้อิหร่านกลับมานิยมตะวันตกเหมือนเดิมโดยมีซีไอเอของสหรัฐเข้ามามีบทบาทสำคัญเนื่องจากสืบรู้มาว่า รัฐบาลของมูซัดเดก กำลังเข้าหาสหภาพโซเวียตและกลัวว่าหากปล่อยไว้ แหล่งน้ำมันของอิหร่านจะตกอยู่ในมือคนอื่น
นับตั้งแต่ ค.ศ. 1955/พ.ศ. 2498 เป็นต้นมา ชาห์ซึ่งเป็นกษัตริย์เริ่มมีบทบาทในการบริหารประเทศมากขึ้นและเปลี่ยนไปปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ในปี ค.ศ.1963/พ.ศ.2506 พระองค์เริ่มเปลี่ยนแปลงประเทศให้ก้าวหน้า เช่น การปฏิรูปที่ดิน ปฏิรูปการเลือกตั้ง การให้สิทธิแก่สตรี จัดตั้งหน่วยงานการศึกษา ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลอิหร่านเรียกว่าเป็นการ “ปฏิวัติขาว” เพราะการเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดความรุนแรงและเป็นไปตามขั้นตอน
อย่างไรก็ตาม ในปีเดียวกันเกิดการประท้วงการปฏิรูปที่ดินของชาห์ และมีผู้เสียชีวิตไปหลายราย และเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ผู้นำคนสำคัญของชาวมุสลิมชีอะห์และผู้นำการประท้วงคือ อยาตุลเลาะห์ โคมัยนี ถูกพระองค์ขับไล่ออกนอกประเทศ ต้องไปอยู่อิรักก่อนไปอยู่ฝรั่งเศสเป็นเวลาหลายปีแต่ยังคงเผยแพร่อุดมการณ์ต่อต้านชาห์ผ่าน “เทปปฏิวัติ” ในหมู่นักศึกษาและประชาชน ขบวนการต่อต้านชาห์ เข็มแข็งขึ้นเรื่อยๆ เป็นลำดับ
แม้ประชาชนจะยอมรับการปฏิรูปของพระองค์ในตอนแรก การปฏิวัติยังทำให้ประเทศอิหร่านเจริญก้าวหน้า แต่ก็นำมาซึ่งปัญหาและนำไปสู่การล้มราชบัลลังก์ของพระองค์
มีเหตุผลหลายอย่างที่ทำให้ประชาชนไม่พอใจพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นการปฏิรูปที่ดินซึ่งคนใกล้ชิดพระองค์เป็นผู้ได้ประโยชน์จากที่ดินจำนวนมาก ผลจากการพัฒนาตามแบบตะวันตกทำให้บาร์ ไนท์คลับ สื่อลามก หลั่งไหลเข้ามาภายในประเทศจนฝ่ายศาสนาและพวกอนุรักษ์นิยมไม่พอใจ
ประเด็นที่สำคัญคือ ผลประโยชน์ในการพัฒนาประเทศตกอยู่ในมือคนรวยเพียงไม่กี่ตระกูล รวมถึงราชวงศ์ของพระองค์ที่มีธุรกิจและกิจการอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมถึงเข้าไปมีผลประโยชน์กับบริษัทต่างชาติในอิหร่าน ในขณะที่ประชาชนอิหร่านส่วนใหญ่อยู่อย่างยากลำบาก ว่างงาน ไม่ได้ศึกษา อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้และขาดยารักษาโรค รวมทั้งนโยบายของพระองค์ที่สนับสนุนอิสราเอล
ดังนั้นเมื่อประชาชนเริ่มต่อต้าน พระองค์จึงตั้งหน่วยตำรวจลับ “ซาวัค” ขึ้นมาทำหน้าที่สอดส่องและจับกุมผู้ต่อต้านพระองค์ซึ่งส่วนมากมากเป็นพวกหัวก้าวหน้า อาจารย์ นักศึกษา นักการเมือง นักหนังสือพิมพ์ ถึงอย่างนั้นก็ไม่สามารถหยุดความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้นได้
ความไม่พอใจของประชาชนปะทุขึ้นใน 19 สิงหาคม ค.ศ. 1978/พ.ศ. 2521 ซึ่งอยู่ในช่วงรอมฎอน ได้เกิดเหตุไฟไหม้รุนแรงในโรงภาพยนตร์ในเมืองอะบาดานเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 387 คน รัฐบาลอ้างว่ากลุ่มหัวรุนแรงทางศาสนาเป็นผู้ก่อเหตุแต่ก็ไม่สามารถจับผู้กระทำผิดได้ จึงทำให้ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลนำไปสู่การประท้วงตามที่ต่างๆ
หลังเหตุการณ์นี้ผู้ใช้แรงงานนับแสนนัดหยุดงาน พนักงานรัฐวิสาหกิจ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ต่างก็เข้าร่วมประท้วง อีกทั้งยังมีการเคลื่อนไหวภายนอกประเทศ โคมัยนี เรียกร้องให้มุสลิมทั่วโลกสนใจการประท้วงของคนอิหร่าน โดยกล่าวระหว่างการประกอบพิธีฮัจญ์ตอนหนึ่งว่า
“ชาห์ได้ยกทรัพยากรธรรมชาติ และผลประโยชน์ที่ชาวอิหร่านสมควรจะได้รับให้กับชาวต่างชาติ ทั้งยกน้ำมันให้อเมริกา ก๊าซให้โซเวียต ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ป่าไม้ให้กับอังกฤษและปล่อยประชาชนอยู่อย่างยากลำบาก”
การประท้วงครั้งใหญ่เกิดขึ้นในวันที่ 10 ธันวาคม ค.ศ. 1978/พ.ศ. 2521 ซึ่งตรงวันรำลึกการจากไปของอิหม่ามฮุเซน อิหม่ามองค์ที่ 3 ของนิการชีอะห์ วันนั้นเป็นวันที่ประชาชนนับล้านมาชุมชนกันบนท้องถนนและที่สาธารณะ โดยฝูงชนชูรูปโคมัยนีเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติพร้อมตะโกนด่าสหรัฐอเมริกาและเรียกร้องรัฐอิสลาม
การประท้วงใหญ่ที่เกิดในเมืองมาชาด ประชาชนอิหร่านนับแสนก่อจลาจลเผาบ้านคนอเมริกัน ทำลายกิจการต่างๆของชาวตะวันตก ทหารเข้าปราบผู้ชุมนุมด้วยอาวุธปืน ระเบิดและแก๊สน้ำตาทำให้มีผู้บาดเจ็บล้มตายจำนวมมาก
เหตุการณ์ได้ลุกลามจนควบคุมไม่ได้ทำให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาและยุโรปสั่งให้คนของตนออกจากประเทศอิหร่าน รวมทั้งทำให้ชาห์ ต้องอพยพตามคำแนะนำของสหรัฐอเมริกาโดยการเสด็จออกนอกประเทศพร้อมครอบครัวในวันที่ 13 มกราคม ค.ศ. 1979/พ.ศ. 2522
ในเวลาเดียวกันโคมัยนีก็กลับสู่ประเทศอิหร่านพร้อมกับการต้อนรับจากประชาชนจำนวนมาก โคมัยนี ในวัย 78 ปียังมีบุคลิกแห่งความเป็นนักสู้ ความเด็ดเดี่ยว น่าเคารพเป็นผู้นำต่อสู้กับรัฐบาลของนายบัคเตียร์ที่รักษาบัลลังก์ไว้ให้ชาห์
แม้ตอนแรกกองทัพบกไม่ยอมแต่เมื่อกองทัพอากาศได้เข้าร่วมกับโคมัยนี กองทัพบกจึงวางตัวเป็นกลาง ฝ่ายโคมัยนีเข้าควบคุมกรุงเตหะรานโดยบุกยึดที่ทำการของรัฐบาลและสถานีตำรวจไว้ทั้งหมด เมื่อสามารถควบคุมสถานการณ์ภายในประเทศได้ นี่คือจุดเปลี่ยนที่ทำให้ “อิหร่าน” เป็นรัฐอิสลามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
อ่านเพิ่มเติม :
เรียบเรียงข้อมูลจาก :
จักรพันธุ์ กังวาฬ, และอื่นๆ. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน. 2550.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 15 มกราคม 2563