ผู้เขียน | กองบรรณาธิการศิลปวัฒนธรรม |
---|---|
เผยแพร่ |
“อิหร่าน” หลัง “ปฏิวัติอิสลาม” ล้ม “พระเจ้าชาห์” สู่ปมปัญหานิวเคลียร์-ชนวนพิพาท สหรัฐฯ
อิหร่าน เกิดการ “ปฏิวัติอิสลาม” เพื่อโค้นล้มระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เมื่อ ค.ศ. 1979 หลังจากนั้นมาบรรยากาศของอิหร่านดูอึมครึม ไม่่ต้อนรับคนแปลกหน้า คนจำนวนไม่น้อยมองดินแดนแห่งนี้เป็นแดนแห่งศรัทธาอันลึกลับ ขณะที่สัญลักษณ์ของอิหร่าน (ในยุคนั้น) ที่คนจดจำได้เป็นอันดับต้นๆ คือ อยาตุลเลาะห์ โคมัยนี (Ayatollah Khomeini) ผู้นำทางศาสนา ซึ่งนำมวลชนโค่นล้ม “พระเจ้าชาห์” องค์สุดท้าย
2 ทศวรรษหลังจากการปฏิวัติอิสลาม ช่วงแรกเริ่มมีการจัดระเบียบทางสังคม แยกอิหร่านห่างจากการคุกคามของโลกตะวันตก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เริ่มแผ่อิทธิพลเข้ามาก่อนการปฏิวัติ หลังจากผ่าน 20 ปีไปแล้ว สถานการณ์จึงเริ่มผ่อนคลายลง
ประเทศอิหร่านหลังจากนั้นมีประธานาธิบดี โมฮัมหมัด คาเตมี (Mohammad Khatami) ซึ่งเป็นนักการเมืองหัวก้าวหน้า ปกครองประเทศมาสองสมัย โดยใช้นโยบายปฏิรูปประเทศ บรรยากาศภายในของประเทศอิหร่านในรอบ 8 ปีระหว่าง ค.ศ. 1997-2005 จึงผ่อนคลายความเข้มงวดลงในหลายๆ ด้าน เช่น ให้เสรีภาพกับสื่อมวลชน เปิดโอกาสให้ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองและศิลปวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีบทบาทเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญขึ้นในอิหร่าน เมื่อเกิดสถานการณ์ตึงเครียดกดดัน หลังจากสหรัฐอเมริกาและอังกฤษบุกโจมตีอิรักเสียหายอย่างรุนแรง และมีสัญญาณว่า “อิหร่าน” คือเป้าหมายต่อไป
ชาวอิหร่านจึงหันไปเลือกคนที่มีแนวคิดต่อต้านตะวันตกคือ นาย มาห์มุด อามาดิเนจาด (Mahmoud Ahmadinejad) ผู้มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดขั้ว และมีสายสัมพันธ์กับผู้นำศาสนาที่มีอิทธิพลในอิหร่าน ในอดีตเขาเคยเป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสหน่วยพิเศษประจำกองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (ปาสดาราน) และมีกระแสข่าวเข้าไปเกี่ยวข้องกับบุกยึดสถานทูตสหรัฐฯ และจับชาวอเมริกันเป็นตัวประกัน ในช่วง ปฏิวัติอิสลาม เมื่อ ค.ศ.1979 โดย อยาตุลเลาะห์ โคมัยนี
ภาพเหตุการณ์และการให้สัมภาษณ์ช่วงวิกฤตจับชาวอเมริกันเป็นตัวประกัน
ชัยชนะของ มาห์มุด อามาดิเนจาด ในการเลือกตั้งขึ้นเป็นประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2005 แสดงให้เห็นว่า ชาวอิหร่านได้เลือกผู้นำที่กล้าต่อต้านตะวันตก หลังจากได้ตำแหน่งไม่นาน เขาสร้างความตะลึงให้คนทั้งโลก ด้วยการกล่าวปราศรัยต่อหน้าประชาชนอิหร่านว่า จะลบ “อิสราเอล” ออกจากแผนที่โลก และประกาศว่า พร้อมทำสงครามกับสหรัฐอเมริกา ถ้าอิหร่านถูกโจมตี
ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ จึงเริ่มร้อนแรงขึ้นนับจากนี้ นำไปสู่ประเด็นเรื่องปัญหานิวเคลียร์
ความจริงแล้วประเด็นปัญหานิวเคลียร์เริ่มมีเค้าลางปรากฏตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีคาเตมี เมื่อสหรัฐฯ ระบุว่า อิหร่านกำลังพัฒนาสมรรถนะยูเรเนียม เพื่อพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ แต่อิหร่านบอกว่า การพัฒนายูเรเนียมเป็นไปเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า กระทั่งอิหร่านยอมระงับการพัฒนานิวเคลียร์ชั่วคราว จนมาถึงสมัยประธานาธิบดีอามาดิเนจาด นิวเคลียร์กลับมาเป็นปัญหา เมื่อรัฐบาลอิหร่านตัดสินใจปลดตราผนึกของสหประชาชาติที่ติดไว้ในโรงงานนิวเคลียร์ทุกแห่ง เพื่อเดินหน้าโครงการพัฒนานิวเคลียร์ต่อไป โดยไม่สนใจแรงกดดันจากนานาชาติ
ประเด็นนี้นำมาสู่การคว่ำบาตรอิหร่านในวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ. 2006 ตามมติความมั่นคงของสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้อิหร่านหยุดการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ มีมาตรการคว่ำบาตร กำหนดห้ามนำเข้าส่งออกวัตถุดิบและเทคโนโลยีเกี่ยวกับการพัฒนายูเรเนียม รวมถึงการคว่ำบาตรทางการเงิน เช่น ยึดทรัพย์สินของชาวอิหร่านในต่างประเทศ และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
ถึงอย่างนั้น อิหร่านก็ไม่เกรงกลัวต่อการคว่ำบาตร ยังเดินหน้าพัฒนานิวเคลียร์ต่อไป โดยติดตั้งเครื่องปั่นเหวี่ยงตะกอนในวันครบรอบ 28 ปีของการปฏิวัติอิสลาม และเดินเครื่องปั่นเหวี่ยงตะกอนจำนวน 3,000 เครื่อง เพื่อเสริมสมรรถนะให้กับยูเรเนียมในเมืองนาธานซ์
ท่าทีแข็งกร้าวและท้าทายของอิหร่าน ทำให้สถานการณ์การเผชิญหน้ากับตะวันตกยิ่งตึงเครียดมากขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เป็นคู่ขัดแย้งกับอิหร่านมาตั้งแต่ ปฏิวัติอิสลาม ใน ค.ศ.1979 นอกจากสหรัฐฯ จะเป็นฝ่ายมีปัญหากับโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านตั้งแต่ต้น ตลอดเวลาที่ผ่านมายังเป็นตัวตั้งตัวตีโน้มน้าวให้ชาติมหาอำนาจอื่นลงโทษคว่ำบาตรอิหร่าน
ทว่าสิ่งที่ทั่วโลกกลัวคือ สหรัฐฯ จะส่งกองทัพเข้าทำสงครามกับอิหร่าน เหมือนกับที่สหรัฐฯ นำกำลังบุกอิรักใน ค.ศ. 2003 แต่สงครามไม่อาจเกิดขึ้นได้ เพราะในช่วงนี้อยู่ในสมัยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช สหรัฐฯ ยังติดพันสงครามอิรักและอัฟกานิสถาน โดยที่กลุ่มต่อต้านในอิรักยังปฏิบัติการสร้างความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ถูกประชาชนกดดันให้ถอนทหารออกจากอิรัก และความนิยมในตัวประธานาธิบดีก็ตกต่ำลง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสัญญาณว่าสหรัฐฯ อาจจะโจมตีอิหร่าน เช่น การส่งเรือบรรทุกเครื่องบินไปยังอ่าวเปอร์เซีย ใน ค.ศ. 2007 หรือการกล่าวหาอิหร่านว่า เป็นผู้ให้การสนับสนุนกลุ่มติดอาวุธในอิรัก และกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรงอื่นๆ เพื่อก่อความไม่สงบในตะวันออกกลาง ซึ่งสหรัฐฯ อาจใช้เป็นข้ออ้างที่มีน้ำหนักสำหรับการบุกโจมตีอิหร่าน
ขณะที่อิหร่านก็มีการซ้อมรบแสดงแสนยานุภาพทางทหารและอาวุธบ่อยขึ้น รวมทั้งกักตุนสินค้าภายในประเทศ แต่ประชาคมโลกที่เฝ้าดูปัญหานิวเคลียร์อยากให้อิหร่านแก้ปัญหาทางการทูตมากกว่ากำลังทหาร เพราะถ้าเกิดสงครามระหว่างอิหร่านกับสหรัฐฯ ขึ้น นั่นหมายความว่า จะเกิดการสังเวยชีวิตทหารและพลเรือนไปในการสู้รบ และตามมาด้วยปัญหามากมาย ไม่ว่าจะเป็นราคาน้ำมันพุ่งสูงเป็นประวัติศาสตร์ ส่งผลกระทบไปยังเศรษฐกิจทั่วโลก และการสู้รบอาจขยายวงกว้างกลายเป็นสงครามขนาดใหญ่ ดึงให้ประเทศอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งประเทศในตะวันออกกลางทั้งหมด
กล่าวได้ว่า หลัง “ปฏิวัติอิสลาม” เป็นต้นมา อิหร่านกลายเป็นประเทศที่หลายฝ่ายจับจ้องมากที่สุด กระทั่งในปี 2019 ที่สหรัฐฯ ออกปฏิบัติการทางทหาร นำมาสู่ความตึงเครียดอีกครั้ง
อ่านเพิ่มเติม :
- การเปลี่ยนแปลงการปกครองของอิหร่าน จากกษัตริย์สู่รัฐอิสลาม
- 3 ศาสนสถาน นครศักดิ์สิทธิ์ “เยรูซาเลม” ศูนย์กลางข้อพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์
- ความขัดแย้ง “อิสราเอล-ปาเลสไตน์” สงครามความรุนแรงที่ไม่จบสิ้น ไฉนเป็นเช่นนี้?
อ้างอิง :
จักรพันธุ์ กังวาฬ, และอื่นๆ. กรุ่นกลิ่นอารยธรรมเปอร์เซียในเมืองสยาม. กรุงเทพฯ: มติชน. 2550
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 10 มกราคม 2563