3 ศาสนสถาน นครศักดิ์สิทธิ์ “เยรูซาเลม” ศูนย์กลางข้อพิพาทอิสราเอล-ปาเลสไตน์

ชาวยิว กำแพงร่ำไห้ เยรูซาเลม ศาสนสถาน อื่น ๆ ได้แก่ โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ มัสยิดอัล-อักซอ โดมแห่งศิลา
ชาวยิวกับกำแพงร่ำไห้ (ภาพโดย Ben Burton ใน Pixabay)

3 ศาสนสถาน ในนคร “เยรูซาเลม” เมืองศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในโลก ที่มีกรณีพิพาทมากมายที่สุดเช่นกัน

กรุงเยรูซาเลม (Jerusalem) หรือ อัล-คุดส์ (Al-Quds) นอกจากจะเป็นนครประวัติศาสตร์อายุหลายพันปี ตัวแทนความหลากหลายทางเชื้อชาติและศาสนาแล้ว อาจนับได้ว่า เยรูซาเลม คือเมืองที่ “ศักดิ์สิทธิ์” ที่สุดในโลก เพราะเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของ 3 ศาสนาของโลกอย่าง ยูดาห์ คริสต์ และอิสลาม 

ความเป็น “นครศักดิ์สิทธิ์” ของกรุงเยรูซาเลมไม่ได้ถูกสถาปนาขึ้นอย่างลอย ๆ ความเกี่ยวโยงกับศาสดาและตำนานทางศาสนาคือบ่อเกิดพัฒนาการของสถานะดังกล่าว มีหลักฐานเชิงประจักษ์เป็นสถานที่สำคัญทางศาสนา หรือ ศาสนสถาน 3 แห่งในย่านเมืองเก่า ดังนี้

กำแพงร่ำไห้ (Wailing Wall) สถานที่สำคัญทางศาสนาของชาวยิว กำแพงยักษ์อายุกว่า 2,000 ปีนี้เป็นส่วนที่หลงเหลือของพระวิหารศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายูดาห์ที่ถูกทำลายไป เนื่องจากตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกของมัสยิดอัล-อักซอ จึงมีอีกชื่อว่า “กำแพงประจิม” (Western Wall)

กำแพงร่ำไห้ เป็นบริเวณที่ชาวยิวมาสวดอ้อนวอน อธิษฐาน ภาวนาต่อพระเป็นเจ้า และเป็นสัญลักษณ์ของการหวนคืนสู่แผ่นดินแห่งพันธสัญญาตามความเชื่อของชาวอิสราเอลด้วย

โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ (The Church of the Holy Sepulchre) หรือชาวคริสต์ขนานนามว่า “โบสถ์แห่งการฟื้นคืนพระชนม์” ตั้งอยู่ในชุมชนชาวคริสต์ในย่านเมืองเก่า

โบสถ์แห่งนี้เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดของชาวคริสต์ เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับพระคริสต์ หรือพระเยซูโดยตรง เพราะอยู่ไม่ห่างจากบริเวณที่พระเยซูถูกตรึงกางเขน ภายในโบสถ์ยังประดิษฐานแท่นศิลาศักดิ์สิทธิ์ซึ่งเคยใช้วางพระศพของพระเยซู และเป็นจุดเก็บพระศพก่อนการคืนพระชนม์ในเวลาต่อมา 

ใจกลางโบสถ์เป็นอาคารทรงกลมสร้างครอบหลุมพระศพ ก่อสร้างและมีพิธีสมโภชเมื่อ ค.ศ. 335 โดยชาวคริสต์จะมาเยือน โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ แล้วนำหน้าผากแตะแท่นหินเพื่อรำลึกถึงพระเยซู

โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ คริสต์ เยรูซาเลม
ด้านนอก โบสถ์พระคูหาศักดิ์สิทธิ์ กรุงเยรูซาเลม (ภาพโดย Anna Sulencka ใน Pixabay)

มัสยิดอัล-อักซอ (Al-Aqsa Mosque) และ โดมแห่งศิลา (Dome of the rock) 1 ใน 3 ศาสนสถานยอดนิยมของชาวมุสลิม รองจากนครมักกะฮ์และมะดีนะฮ์ ความศรัทธาที่ชาวมุสลิมมีต่อที่นี่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่านครมักกะฮ์ สถานที่ประกอบพิธีฮัจญ์ เพราะ “ต้องไปเยือนสักครั้งในชีวิต”

แม้จะผ่านการบูรณะหลายต่อหลายครั้ง แต่มัสยิดอัล-อักซอถือเป็นศาสนสถานเก่าแก่ที่สุดในศาสนาอิสลามที่ยังหลงเหลืออยู่ และถือเป็นต้นแบบสถาปัตยกรรมอิสลามยุคแรกเริ่ม

มัสยิดอัล-อักซอ เยรูซาเลม ทิศตะวันตก คือ กำแพงร่ำไห้
มัสยิดอัล-อักซอ (ภาพจาก Wikimedia Commons)

ส่วนโดมแห่งศิลาคือสิ่งปลูกสร้างที่มียอดเป็นโดมสีทอง ฐานเป็นอาคารทรงแปดเหลี่ยม สร้างขึ้นระหว่าง ค.ศ. 685-691 ตัวอาคารสร้างครอบแท่นศิลาศักดิ์สิทธิ์ หรือ “หินลอย” จุดที่เชื่อว่านบีมูฮัมหมัดเดินทางสู่ชั้นฟ้า

โดมแห่งศิลา อิสลาม เยรูซาเลม
โดมแห่งศิลา (ภาพโดย ibrahim abed ใน Pixabay)

นอกจากนี้ บริเวณที่ตั้งของมัสยิดอัล-อักซอและโดมแห่งศิลา ยังเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของศาสนายูดาห์เช่นกัน เพราะเคยเป็นที่ประทับของกษัตริย์โซโลมอนตามที่ระบุไว้ในพระคัมภีร์ไบเบิล

ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนานหลายพันปีของนครเยรูซาเลม ตั้งแต่การเข้ามาตั้งรกรากจนพัฒนาเป็นชุมชนเมืองของชาวคานาอัน ถูกสถาปนาให้เป็นศูนย์กลางอำนาจอาณาจักรอิสราเอลโบราณ ถูกพิชิตและปกครองโดยมหาอำนาจยุคโบราณครั้งแล้วครั้งเล่า กระทั่งจักรพรรดิคอนสแตนตินแห่งจักรวรรดิโรมันเปลี่ยนโฉมให้กลายเป็นเมืองของชาวคริสต์ราวศตวรรษที่ 4 ก่อนถูกจักรวรรดิเปอร์เซียเข้าครอบครองช่วงสั้น ๆ และเปลี่ยนมือไปสู่ยุคของชาวอาหรับมุสลิมในศตวรรษที่ 7 เยรูซาเลมแทบไม่ว่างเว้นจากสงครามและการแย่งชิงเลย

สายธารแห่งประวัติศาสตร์หล่อหลอมเยรูซาเลมให้กลายเป็นนครศักดิ์สิทธิ์ มีศาสนิกชนหลายศาสนาอาศัยอยู่รวมกัน “เยรูซาเลม จึงเป็นทั้งอัญมณีแห่งความรุ่งโรจน์ของอารยธรรมมนุษย์ และเป็นทั้งชนวนเหตุแห่งความขัดแย้งของผู้คนนับครั้งไม่ถ้วน…

อ่านเพิ่มเติม : 

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่ 


อ้างอิง :

https://www.britannica.com/topic/Western-Wall 

https://www.britannica.com/topic/Al-Aqsa-Mosque

https://www.touristisrael.com/holy-sites-in-jerusalem/45601/

https://www.touristisrael.com/church-of-the-holy-sepulchre/28951/


เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 9 ตุลาคม 2566